×

แบงก์ชาติเปิดตัว ‘QR Code มาตรฐาน’ จุดเปลี่ยนประเทศไทยสู่สังคมไร้เงินสด?

30.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศเปิดตัว Standard QR Code เพื่อใช้รับ-ชำระเงินกับบริการและร้านค้าด้วย QR มาตรฐานเดียวกัน ร่วมกับธนาคารและผู้ให้บริการบัตรเป็นครั้งแรก โดยประเดิมกับ Promptpay QR ตั้งแต่วันนี้ คาดว่าจะใช้จริงในไตรมาสที่ 4
  • จุดเด่นของ Standard QR Code คือใช้ได้กับทุกธนาคาร รองรับบัตรเครดิต MasterCard, UnionPay, Visa, American Express และ JCB รวมทั้งบัตรเดบิต และ e-Wallet
  • ปัจจุบัน KBank และ SCB กำลังพัฒนาและทดสอบใช้ระบบ QR Payment บน Sandbox ของ ธปท.
  • Standard QR Code คือทางเลือกหนึ่งที่นำไปสู่สังคมไร้เงินสดตามนโยบายของรัฐบาล

     ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้เห็นการปรับตัวของบรรดาธนาคารที่พร้อมใจกันโปรโมตแอปฯ บริการชำระเงินด้วย QR Code ตามร้านค้าและบริการต่างๆ กันไปแล้ว เช่น K PLUS SHOP ของกสิกรไทย SCB EASY ของไทยพาณิชย์ KMA ของกรุงศรีอยุธยา และ MyMo Pay ของออมสิน แม้แต่สาย Non-bank อย่าง TrueMoney ก็ยังเข้าร่วมด้วย

     เราเชื่อว่าหลายคนคงตื่นเต้นไปกับภาพวินมอเตอร์ไซค์แขวนป้าย QR Code ที่กลายเป็นไวรัลบนโลกออนไลน์ในขณะนี้ เพราะถือเป็น ‘จุดเปลี่ยน’ ของการชำระเงินที่ใกล้ตัวคนเมืองสุดๆ แต่นี่เป็นเพียงการทดลอง ซึ่งจะปูทางไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น!

     เพราะในอนาคตอันใกล้ เราจะสามารถซื้อกาแฟ เข้าร้านอาหารตามสั่ง ขึ้นรถแท็กซี่ โอนเงินข้าม e-Wallet หรือแม้แต่ซื้อของใช้ตามร้านค้าต่างๆ ได้ด้วย QR!

     วันนี้ (30 สิงหาคม 2560) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้แถลงข่าวเปิดตัว Standard QR Code ซึ่งก็คือ QR Code ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ให้ผู้บริโภคและร้านค้าสามารถรับ-จ่ายเงินในรูปแบบ QR Payment ผ่านบัตรเครดิต/เดบิต บัญชีเงินฝากธนาคาร หรือบริการของกลุ่ม Non-Bank ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยประเดิมที่บริการผ่านพร้อมเพย์เป็นเจ้าแรก! หวังดันประเทศไทยสู่สังคมไร้เงินสดตามนโยบายของรัฐบาล

     QR Payment คืออะไร? นวัตกรรมนี้จะเข้ามาพลิกมิติการใช้ชีวิตของเราไปในทิศทางไหน? ไทยจะเป็นสังคมไร้เงินสดในเร็วๆ นี้หรือไม่

 

Photo: ธนาคารแห่งประเทศไทย

 

Standard QR Code เชื่อมโยงบริการรับ-ชำระเงินทุกธนาคาร

     อธิบายง่ายๆ QR Code คือ รหัสชนิดหนึ่งที่ถูกพัฒนามาจากบาร์โค้ด (barcode) แต่ใช้งานง่ายกว่าและเก็บข้อมูลได้มากกว่า ปัจจุบันนิยมนำมาใช้หลายรูปแบบ เช่น ใช้เป็นช่องทางการรับชำระเงินที่ร้านค้า เข้าถึงข้อมูลเว็บไซต์ต่างๆ เพียงแค่สแกนผ่าน Mobile Application บนสมาร์ตโฟน

     QR Payment ไม่ใช่รูปแบบบริการชำระเงินใหม่ล่าสุดซะทีเดียว ตัวอย่างที่เห็นได้บ่อยก็เช่น แอปพลิเคชัน Alipay ในเครือ Alibaba Group และ WeChat Pay ของ Tencent ที่ชาวจีนนิยมใช้รับ-ชำระเงินผ่านสมาร์ตโฟน ซึ่งสองเจ้านี้ถือเป็นคู่แข่งรายใหญ่ที่ขับเคี่ยวกันดุเดือดบนสมรภูมิ e-Payment ของจีน

     จีนถือเป็นประเทศที่เปิดรับ QR Payment อย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่ปี เราสามารถพบเห็นชาวจีนสแกน QR Code ชำระเงินได้ตามตลาด ร้านค้า ยันห้างสรรพสินค้า FT Confidential Research ของ Financial Times ได้สำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคเกี่ยวกับการเลือกบริการชำระเงินในจีน จำนวน 1,000 คนในช่วง 3 เดือน (18 พฤษภาคม 2560) พบว่า 82.6% เลือกใช้ Alipay เป็นบริการหลัก โดยเฉพาะประชากรที่อาศัยในเมืองรองระดับ 2 (2nd Tier Cities) และหัวเมืองหลัก (1st Tier Cities) เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางโจว เซินเจิ้น ขณะที่สัดส่วนของผู้ใช้บริการ WeChat คิดเป็น 64.3%

 

 

     แต่รูปแบบของ QR Payment ในจีนมีลักษณะเป็น Closed loop โดยใช้ QR Code หลายสี ตามบริการของแต่ละเจ้า เช่น UnionPay Quick, WeChat, Alipay ขณะที่ Standard QR Code ของไทยนั้นใช้มาตรฐาน QR Code เดียวกันหมด

 

     ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เริ่มพัฒนา Standard QR Code ขึ้นบน Regulatory Sandbox หรือสนามทดลองนวัตกรรมทางการเงิน (FinTech) เพื่อใช้จ่ายค่าสินค้าและบริการตามร้านค้าทั่วไป รวมทั้งร้านค้าออนไลน์ พร้อมย้ำว่าจะตอบโจทย์ในวงกว้างในรูปแบบ Open Platform และสามารถรองรับ Sources of Funds ได้หลากหลาย โดยเริ่มจากการจับมือกับ EMVco หน่วยงานต่างประเทศที่ดูแลและสนับสนุนการเชื่อมต่อเครือข่ายการชำระเงินระหว่างประเทศ อาทิ MasterCard, UnionPay, Visa, American Express และ JCB เมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 และนำมาพัฒนาต่อยอดกับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ไปจนถึงระบบ PromptPay
     บริการแรกที่เราจะได้เห็นกันก่อนก็คือ PromptPay QR ที่เปิดใช้ตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคมนี้เป็นต้นไป พร้อมชูจุดขายตรงที่มีค่าธรรมเนียมต่ำหรือไม่คิดค่าธรรมเนียมในบางกรณี

     ธปท. กล่าวว่าปัจจุบันบรรดาธนาคารกำลังพัฒนาและทดลองใช้ในวงจำกัดบน Sandbox  ได้แก่ กสิกรไทย และ ไทยพาณิชย์ ซึ่งเริ่มโปรโมตว่ามีร้านค้าและบริการอีกมากมายที่จะรองรับระบบนี้ในอนาคต เช่น วินมอเตอร์ไซค์ แท็กซี่ ร้านริมทางตามย่านการค้าและแหล่งท่องเที่ยว ส่วนธนาคารที่รออนุมัติเข้ามี 6 ราย คือ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารทหารไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารธนชาติ และธนาคารออมสิน

     ทางด้านสมาคมธนาคารไทยเปิดเผยว่า กลุ่ม e-Wallet จะลิงก์เข้ากับธนาคารโดยตรงในวันที่ 15 กันยายนนี้

     คาดว่าเราจะได้ใช้งานกันจริงจังในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ งานนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าไหนจะพัฒนาได้สำเร็จก่อนกัน รวมทั้งผ่านการทดสอบระบบงาน การดูแลลูกค้า และการดูแลความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดของ Sandbox

     นับเป็นครั้งแรกที่ทุกธนาคารร่วมกันพัฒนาเพื่อใช้ QR Code มาตรฐานเดียวกัน

     “โจทย์ของเราคือ QR เดียว ใช้ได้หลายแบงก์ หลายบริการ เช่น จ่ายด้วยบัตรวีซ่า มาสเตอร์การ์ด บัตรเดบิตในประเทศ บัตรเดบิตต่างประเทศ หรือจ่ายด้วยพร้อมเพย์ เราให้คนเลือกเอง เราควบคุมแหล่งเงินทุนหมุนเวียน หรือ Sources of funds ได้เอง” ตัวแทนจากสมาคมธนาคารไทยกล่าว

 

Standard QR Code มีอะไรน่าสนใจบ้าง

     THE STANDARD ได้รวบรวมข้อมูลสำคัญของ Standard QR Code ว่ามีคุณสมบัติเด่นและข้อสังเกตอย่างไรบ้าง

 

ฝ่ายผู้บริโภคทั่วไป

จุดเด่น

  • รองรับการชำระเงินที่หลากหลาย เชื่อมต่อกับบัตรเดบิต บัตรเครดิต บัญชีเงินฝากทุกธนาคาร บัญชี e-Wallet และรองรับการชำระเงินจากต่างประเทศ (เฉพาะบางประเทศ)
  • โอนเงินข้ามธนาคารผ่านพร้อมเพย์ ซึ่งมีค่าธรรมเนียมต่ำหรือไม่มีค่าธรรมเนียม
  • สแกน QR ผ่าน Mobile Banking ของธนาคารใดก็ได้
  • สะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องพกเงินสด
  • ปลอดภัย ลดความเสี่ยงของการพกเงินสด การให้ข้อมูลบัญชีธนาคาร/รหัส CVV ของตัวเองแก่ร้านค้า
  • ระบบที่รองรับถูกพัฒนาอยู่บนโครงสร้างพื้นฐานการให้บริการในปัจจุบัน
  • ตรวจสอบความถูกต้องได้จากชื่อบัญชีและจำนวนเงินที่แสดงบน QR Code ของร้านค้า
  • ใช้ username และ password เพื่อเข้าสู่ Mobile Application ก่อนเลือกชำระเงิน

 

ฝ่ายร้านค้า

     มี QR Code ให้เลือกใช้ 2 ระบบด้วยกันคือ
     1. Static ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ร้านค้าสามารถพิมพ์และติดไว้ที่ร้านค้าได้เลย จนกว่าจะเปลี่ยนข้อมูลชำระเงิน โดยลูกค้าเป็นคนใส่จำนวนเงินเอง

      2. Dynamic จะเปลี่ยนโค้ดในทุกรายการ โดยร้านค้าจะเป็นคน generate โค้ดแต่ละรายการ ลูกค้าไม่ต้องใส่จำนวนเงิน

 

จุดเด่น

  • เพิ่มช่องทางการชำระเงิน ทั้งสำหรับร้าน Physical และ Online
  • สามารถเลือกใช้ ได้ทั้งระบบ Static และ Dynamic
  • ลดการใช้เงินสด
  • ลดค่าใช้จ่ายการติดตั้งเครื่องรูดบัตร (EDC)
  • ใช้ username และ password เพื่อเข้าสู่ Mobile Application ก่อนเลือกชำระเงิน

 

ข้อสังเกต

  • การรองรับของบริการ/ร้านค้ายังจำกัด
  • การคิดค่าธรรมเนียมขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการแต่ละราย
  • ยังไม่รองรับบริการระบบขนส่งมวลชน (Transit) ซึ่งต้องอาศัยความเร็วเป็นหลัก เช่น เทคโนโลยี NFC ขณะที่ QR Code กินเวลามากกว่า

 

     ถึงเราจะได้ใช้กันจริงๆ อย่างเป็นทางการในไตรมาสที่ 4 ของปี 2560 ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าอนาคตของสังคมไร้เงินสดอยู่อีกไม่ไกลเกินเอื้อมแล้ว!

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising