4 วันหลังการแถลงรายละเอียดนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งจะแจกเงินดิจิทัลผ่านแอปเป๋าตังที่จะปรับปรุงใหม่ใช้เป็นบล็อกเชนในการทำงานระบบหลังบ้าน ครอบคลุมคนไทยอายุ 16 ปี ที่เงินเดือนน้อยกว่า 70,000 บาท หรือเงินฝากน้อยกว่า 500,000 บาท กว่า 50 ล้าน
แต่ประเด็นที่สังคม นักวิชาการ หรือนักกฎหมาย รวมถึงนักการเมืองหลายคนออกมาวิจารณ์คือการ ‘กู้เงิน’ ราว 5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในโครงการนี้ที่อาจขัดต่อกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ เนื่องจากการออกกฎหมายกู้เงินในครั้งนี้ขาดสิ่งที่ฝ่ายคัดค้านเรียกว่า ‘จำเป็นเร่งด่วน’
และเช้าวันนี้ (13 พฤศจิกายน) ศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน และ สนธิญา สวัสดี สมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ เดินหน้าร้องเรียนให้องค์กรอิสระตรวจสอบนโยบายแจกเงินหมื่นของรัฐบาลทันที
ศรีสุวรรณร้องผู้ตรวจการแผ่นดินส่งศาล รธน.วินิจฉัย กฎหมายกู้เงินมาแจก ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่
ศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 231 (1) ประกอบ ม.23 (1) แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน 2560 เพื่อเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2560 ม.140 ประกอบ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 มาตรา 53 หรือไม่
“แหล่งเงินที่จะนำมาแจกคือ การออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ เศรษฐาพูดมาโดยตลอดว่าจะไม่กู้เงินมาดำเนินการโครงการนี้แต่อย่างใด อันถือเป็นการตระบัดสัตย์ของผู้นำประเทศ ที่ทำให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างรุนแรง” ศรีสุวรรณระบุ
“การกลืนน้ำลายตัวเองโดยใช้ช่องทางในการกู้เงินมาแจกดังกล่าวเป็นไปเพื่อสร้างความนิยมทางการเมืองเท่านั้นอาจขัดต่อ มาตรา 9 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561”
ศรีสุวรรณยังระบุด้วยว่า การกู้เงินดังกล่าวไม่เข้าข่ายเป็นกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทันตามมาตรา 53 ของกฎหมายดังกล่าวแต่อย่างใด อีกทั้งการจะออกกฎหมายกู้เงินดังกล่าว ซึ่งเป็นกฎหมายการเงินจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ 2548 โดยเคร่งครัดด้วย โดยเฉพาะในมาตรา 20 และ 22
และยังอาจไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 140 ที่บัญญัติไว้ชัดเจนว่าการจ่ายเงินแผ่นดินจะกระทำได้เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หรือกฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณ กฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง หรือกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ เว้นแต่ในกรณีจำเป็นรีบด่วนเท่านั้น
“การที่รัฐบาลของเศรษฐาจะกู้เงินมาแจกโดยออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงินนั้น เป็นการเลี่ยงบาลี เพื่อต้องการสร้างภาพในการตอบสนองนโยบายที่พรรคของตนเคยหาเสียงไว้ในช่วงเลือกตั้งเท่านั้น แต่คนไทยทั้ง 70 ล้านคนจะต้องมาร่วมกันแบกรับหนี้ เพื่อร่วมกันใช้ดอกเบี้ย ร่วมกันใช้หนี้ในอนาคตกันทุกคนไม่ว่าจะรวยหรือจน จึงเป็นการสร้างภาระให้กับคนในอนาคตต่อไปด้วย”
สนธิญาถาม กกต. นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตไม่ตรงปกผิดกฎหมายหรือไม่
สนธิญา สวัสดี สมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ ยื่นหนังสือต่อถามคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรณีที่ กกต. อนุมัตินโยบายหาเสียงแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทของพรรคเพื่อไทย เนื่องจากขณะนี้นโยบายดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงไป ไม่เหมือนกับที่เคยพรรคเพื่อไทยเคยชี้แจงรายละเอียดนโยบายดังกล่าวต่อ กกต. ก่อนการเลือกตั้ง
“ขณะนี้เงื่อนไขเปลี่ยนไปหมดแล้ว ไม่เหมือนที่พรรคการเมืองยื่นให้กับ กกต. ไม่ว่าเงินจะมาจากการกู้ หรือไม่แจกเงินตามจำนวนคน 56 ล้านคน ซึ่งไม่ตรงกับปีงบประมาณที่ กกต. เคยตอบคำถามผม”
สนธิญาระบุว่า วันนี้ไม่ได้มายื่นสอบพรรคเพื่อไทย แต่มาสอบถามว่านโยบายดังกล่าวขัดหรือแย้งกับข้อกฎหมายหรือไม่
โดยมีคำถามที่สอบถามดังนี้
- การเปลี่ยนแปลงนโยบาย ไม่ตรงกับที่ชี้แจงในเอกสาร ถือเป็นการให้เอกสารอันเป็นเท็จ เข้าข่ายความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 137 หรือไม่
- การที่พรรคการเมืองแจ้งนโยบายมา แล้วไม่เป็นไปตามที่ประกาศไว้กับประชาชนขัดต่อ พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 57 (1) (2), มาตรา 72, มาตรา 92 เกี่ยวกับเรื่องการยุบพรรคการเมือง
- นโยบายเหล่านั้นเมื่อไม่ได้ทำตามที่แจ้งไว้กับคณะกรรมการการเลือกตั้งก็เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 258 (2) (3) ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ
“ผมมาร้องเพื่อไม่ต้องการให้การเลือกตั้งครั้งต่อไป ประกาศ 15 ชั้นฟ้า 14 ชั้นดินว่าทำได้ แต่เมื่อถึงเวลาแล้วทำไม่ได้ แล้วพี่น้องประชาชนก็จะเสียหาย จะเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตย” สนธิญากล่าวทิ้งท้าย