×

ทำความรู้จักเชื้อรา Cordyceps จุดกำเนิดเชื้อรามรณะจากเกมและซีรีส์ The Last of Us

21.01.2023
  • LOADING...
Cordyceps

นับว่าเป็นซีรีส์ที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุด ณ เวลานี้ สำหรับ The Last of Us ซีรีส์จาก HBO ที่ดัดแปลงมาจากเกมยอดฮิตของค่ายผู้พัฒนา Naughty Dog กับเรื่องราวของโลกที่ล่มสลายจากการแพร่ระบาดของเชื้อรามรณะที่เปลี่ยนมนุษย์ให้กลายเป็นซอมบี้

 

โดยจุดเริ่มต้นสำคัญของตัวเกม The Last of Us เริ่มต้นหลังจากที่ค่าย Naughty Dog พึ่งจะประสบความสำเร็จจากเกมแอ็กชันผจญภัยอย่าง Uncharted เมื่อ Neil Druckmann หนึ่งในผู้สร้าง The Last of Us ที่ ณ เวลานั้นเขาดำรงตำแหน่งเป็นหนึ่งในทีมงานออกแบบให้กับเกม Uncharted ได้มีการพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานอย่าง Bruce Straley (ผู้สร้างร่วมกับ Neil Druckmann ในเวลาต่อมา) เกี่ยวกับพล็อตเรื่องของตัวเกมใหม่ โดยหนึ่งในไอเดียที่พวกเขารู้สึกสนใจคือ เรื่องราวของเชื้อราชนิดหนึ่งที่มีอยู่จริงในชื่อ Cordyceps ที่สามารถควบคุมและเปลี่ยนมดให้กลายเป็นซอมบี้ จากนั้นพวกเขาจึงนำไอเดียดังกล่าวมาต่อยอดและเสริมแต่งจินตนาการเข้าไป จนเกิดเป็นเรื่องราวของโรคที่เชื้อรา Cordyceps สามารถแพร่เชื้อมาสู่มนุษย์และเปลี่ยนทุกคนให้กลายเป็นซอมบี้ จนเป็นเหตุให้โลกต้องล่มสลาย

 


 

บทความที่เกี่ยวข้อง

 


 

วันนี้ THE STANDARD POP ขอพาผู้ชมไปทำความรู้จักกับเชื้อรา Cordyceps ที่เป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้กับเกมและซีรีส์ The Last of Us กัน

 

ภาพ: WarnerMedia

 

สำหรับ Cordyceps คือเชื้อราประเภทหนึ่งซึ่งมีหลากหลายสปีชีส์ โดยหนึ่งในสปีชีส์ที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางคือ Ophiocordyceps Unilateralis หรือที่รู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า เชื้อราซอมบี้ (Zombie Fungus) ซึ่งเป็นปรสิตเชื้อราที่จะแพร่เชื้อในมดช้างไม้และมักจะพบได้ในบริเวณป่าเขตร้อน

 

ภาพ: shutterstock

 

โดยกระบวนการติดเชื้อของ Ophiocordyceps Unilateralis นั่นมันจะเข้าไปเกาะติดและเติบโตในร่างกายของมด ด้วยการค่อยๆ กัดกินสารอาหารจากร่างกาย และหลังจากการติดเชื้อประมาณหนึ่งสัปดาห์ เชื้อราจะเข้าควบคุมให้มดเดินออกจากรังและปืนขึ้นต้นไม้ในความสูงประมาณ 25 เซนติเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีอุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสมเพื่อให้เชื้อราเติบโต จากนั้นเชื้อราจะเข้าครอบคลุมร่างกายของมด ก่อนที่จะยืดก้านยาวออกมาจากลำตัวและปล่อยสปอร์ออกมาเพื่อไปเกาะกับมดตัวอื่นๆ และค่อยๆ ทำให้มดตายลงในที่สุด

 

David Hughes ศาสตราจารย์ด้านกีฏวิทยาและชีววิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย และยังเป็นที่ปรึกษาให้กับทีมพัฒนาเกม The Last of Us ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการแพร่เชื้อของ Ophiocordyceps Unilateralis เพื่อหาคำตอบว่าทำไมเชื้อราดังกล่าวถึงสามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของมดได้

 

ภายหลังจากการทดลอง David Hughes และทีมของเขาพบว่า เมื่อเชื้อราเริ่มเข้าสู่ร่างกายของมดหรือโฮสต์ที่เกาะติดอยู่ เซลล์เดี่ยวของเชื้อราจะค่อยๆ เชื่อมต่อเข้าด้วยกันเพื่อใช้สำหรับการสื่อสารระหว่างเซลล์ และดูดซับสารอาหารจากร่างกายของมด พร้อมกับแทรกซึมเข้าไปในเซลล์กล้ามเนื้อของมดเพื่อควบคุมการเคลื่อนไหว ผ่านการปล่อยสารที่ทำให้กล้ามเนื้อหดตัวเข้าสู่บริเวณข้อต่อของกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นบริเวณที่เซลล์กล้ามเนื้อและเซลล์ประสาทของสมองมารวมตัวกัน โดยไม่จำเป็นต้องไปทำลายสมองของมดโดยตรง

 

ภาพ: PlayStation

 

จากนั้นทีมพัฒนาจึงหยิบนำเชื้อรา Cordyceps มาเสริมแต่งเรื่องราวเพิ่มเติม จนเกิดเป็น Cordyceps Brain Infection (CBI) หรือกระบวนการติดเชื้อของเชื้อรา Cordyceps ที่จะลุกลามไปยังสมองของมนุษย์อย่างช้าๆ พร้อมกับช่วงชิงการมองเห็น ความนึกคิด ใบหน้า และเปลี่ยนมนุษย์ให้กลายเป็นซอมบี้ในที่สุด ซึ่ง David Hughes ก็ได้กล่าวชื่นชมทีมพัฒนาในการสร้างสรรค์โลกของ The Last of Us ไว้ว่าทีมพัฒนาทำผลงานออกมาได้อย่างยอดเยี่ยมจริงๆ

 

โดยนอกจาก Ophiocordyceps Unilateralis แล้ว ยังมีเชื้อราชนิดอื่นๆ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน เช่น Ophiocordyceps Sinensis ที่จะแพร่เชื้อในตัวอ่อนของหนอนผีเสื้อกลางคืน หรือที่เรารู้จักในชื่อ ถั่งเช่า ซึ่งถูกนำไปทำเป็นยาสมุนไพร

 

รับชมตัวอย่างซีรีส์ได้ที่นี่:

 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising