×

เข้าคาเฟ่สเปเชียลตี้มัทฉะ สั่งเครื่องดื่มอย่างไรให้ไม่เฟล?

05.03.2022
  • LOADING...
Specialty Matcha

ความนิยมเมนูมัทฉะในบ้านเรานั้น จริงๆ ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร แต่หากสังเกตเทรนด์ความนิยมของนักดื่มโดยเฉพาะ 2-3 ปีที่ผ่านมาจะพบว่า ปัจจุบันนี้วงการคนรักมัทฉะได้เติบโตขึ้นมากจริงๆ จากเดิมที่มัทฉะอาจเป็นเพียงเมนูทางเลือกในร้านกาแฟ แต่ตอนนี้บ้านเราได้ต้อนรับคาเฟ่สเปเชียลตี้มัทฉะเพิ่มมากขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ ซึ่งเราเชื่อว่าเทรนด์ของคาเฟ่ชาประเภทสเปเชียลตี้และคาเฟ่สเปเชียลตี้มัทฉะนั้นไม่หยุดลงเท่านี้แน่นอน   

 

หากคุณเป็นคนรักเครื่องดื่มที่อยากลิ้มลองประสบการณ์อะไรใหม่ๆ เราอยากพาคุณมาลองทำความรู้จัก ‘สเปเชียลตี้มัทฉะ’ เพิ่มเติมกันดูอีกสักที เพราะการเดินเข้าไปในร้านที่เชี่ยวชาญเรื่องมัทฉะโดยเฉพาะนั้นอาจจะดูเหมือนง่าย แต่จริงๆ ที่นี่มีทั้งเรื่องราวของวิธีการชง พรีเซนเทชัน เทสโน้ตที่แตกต่าง ออกมาเป็นเครื่องดื่มหลากหลายหมวดหมู่  


THE STANDARD POP จึงรวบรวมเรื่องราวพื้นฐาน พร้อมชวนคุณมาทำความคุ้นเคยกับเครื่องดื่มในร้านคาเฟ่สเปเชียลตี้มัทฉะกันแบบคร่าวๆ ดู จะมีอะไรบ้าง เรารวบรวมไว้ให้แล้ว 

 

มัทฉะ

ภาพ: เมนูมัทฉะลาเต้ร้อนที่ Khaam Khaoyai

#1 เมนูใส่นม หรือมัทฉะลาเต้ (Matcha Latte)

มัทฉะลาเต้ ถือเป็นเมนูยอดฮิต และขายดีที่สุดท่ามกลางเมนูมัทฉะในทุกหมวดหมู่ เพราะด้วยรสชาติที่เข้มข้น เข้าถึงง่าย แถมยังได้โน้ตชาชัดเจนจึงส่งผลให้เมนูนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่คอมมูนิตี้คนรักชา อีกทั้งยังเป็นเมนูโปรดของใครหลายๆ คนเลยก็ว่าได้

สำหรับเมนูลาเต้นั้น โดยปกติแล้วทางคาเฟ่เองก็มีวิธีการชงทั้งหมด 2 แบบ ซึ่งได้แก่

 

ภาพ: คลาสสิกมัทฉะลาเต้ที่ MTCH

 

คลาสสิกมัทฉะลาเต้ (Matcha Latte) วิธีการชงแบบดั้งเดิม (Traditional) และสากล นั่นก็คือการนำผงมัทฉะไปชงด้วยน้ำร้อน เพื่อเป็นการดึงโน้ตของชาและประสิทธิภาพออกมาอย่างสูงสุด แล้วจึงนำไปราดลงบนแก้วที่ร้านใส่นมและน้ำแข็งไว้ก่อน และคนให้ชั้นมัทฉะกับนมเข้ากันพร้อมดื่ม การชงแบบนี้จะได้เมนูมัทฉะลาเต้ที่เน้นความเบาสบาย ได้โน้ตชาชัดเจน ดื่มง่าย และให้สัมผัสที่นวลของนม

แต่ไม่ต้องตกใจหากคุณถ่ายรูปไปสักพักแล้วเจอกับตะกอนชาที่ตกลงมาในชั้นนม เพราะมัทฉะคือใบเทนฉะที่ผ่านกระบวนการโม่บดเป็นผง จึงเป็นเรื่องปกติที่จะมีตะกอนตกลงมาบ้าง และนี่คือสัญญาณที่ว่าคุณควรจะรีบคนเพื่อดื่มได้แล้วนะ 

 

ภาพ: การตีมัทฉะด้วยนมเย็นที่ Grow tea.studio

 

มัทฉะลาเต้แบบประยุกต์ คือวิธีการชงมัทฉะด้วยการใช้นมทั้งหมดแทนการชงด้วยน้ำร้อน หรือสายมัทฉะจะคุ้นหูกันดีในชื่อ ‘Cold Whisk Latte’ อีกหนึ่งวิธีการยอดฮิตที่นอกจากจะทำให้เมนูมัทฉะลาเต้มีความเข้มข้น สัมผัสนมที่มันและหนักแน่นแล้วนั้น สำหรับบางคน การชงด้วยวิธีนี้ก็ยังให้อรรถรสในการดื่มแบบลื่นไหลจากความเป็นเนื้อเดียวกันของเครื่องดื่ม ต่างจากวิธีการชงแบบดั้งเดิมที่จะมีชั้นของน้ำคั่นกลางอีกด้วย

โดยปกติวิธีการชงมัทฉะด้วยนมนั้น คือการนำผงมัทฉะมาร่อน แล้วแบ่งอัตราส่วนนมเทลงไปก่อนจะตีด้วยแปรง หรือใช้วิธีการปั่นแล้วใส่ไซรัปเพื่อดึงโน้ตของชา พร้อมให้ความหวานกับเครื่องดื่ม จากนั้นจึงนำมาเทลงในแก้วพร้อมเสิร์ฟ

 

นอกจากนี้บางร้านอาจะเพิ่มเทคนิคเสิร์ฟเป็นชั้น ที่นำมัทฉะไปตีด้วยนม ก่อนเทลงในแก้วที่เตรียมนมแยกไว้เพื่อความสวยงามเป็นเลเยอร์ เมื่อคนแล้วก็จะให้รสชาติที่อยู่กึ่งกลางระหว่างคลาสสิกมัทฉะลาเต้และมัทฉะลาเต้แบบประยุกต์ 

 

หรือบางร้านก็อาจจะนิยมการเสิร์ฟแบบโคลด์บรูว์ (Cold Brew Matcha Latte) อีกหนึ่งแบบที่ใช้วิธีการชงด้วยนมล้วนแล้วจึงนำไปบ่มไว้เพื่อเพิ่มความเข้มข้น เพิ่มความสนุกในการดื่มไปอีกแบบ

 

มัทฉะ

ภาพ: เมนูมัทฉะใส grow° Usucha จาก Grow tea.studio

 

#2 เครื่องดื่มใส หรือมัทฉะเย็น (Iced Matcha)

มัทฉะเย็น (Iced Matcha) หรือที่หลายๆ คนอาจจะรู้จักกันในชื่อของ ‘Clear Matcha’ เครื่องดื่มมัทฉะใสแบบไม่ใส่นม โดนใจทั้งคนรักสุขภาพ และสายดื่มมัทฉะเพียวแบบไม่ผสม ซึ่งด้วยความที่ไม่ใช่มัทฉะคาเฟ่ทุกร้านจะเสิร์ฟมาในรูปแบบพิธีการดั้งเดิม ด้วยสถานที่และอุปกรณ์ที่ไม่เอื้ออำนวยจึงทำให้เมนูมัทฉะแบบใสนี้เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกสำหรับคนที่ชอบมัทฉะเพียวได้

เมนู Iced Matcha นั้นคือการนำผงมัทฉะมาชงด้วยน้ำร้อน ก่อนจะเทลงแก้วน้ำแข็งที่มีน้ำเปล่าใส่เอาไว้ ให้ความรู้สึกคลับคล้ายกับเมนูอเมริกาโน (Americano) ของสายกาแฟ ซึ่งทางร้านก็อาจจะมีการใส่น้ำเชื่อมลงไปนิดหน่อยเพื่อดึงโน้ตของชาออกมา หากใครที่ไม่ต้องการหวานเลยจริงๆ ก็สามารถบอกทางร้านได้เลยเช่นกัน (มีหมายเหตุเล็กน้อยว่า เมนูมัทฉะเย็นในบางร้านอาจจะใช้น้ำอุณหภูมิห้องหรือน้ำเย็นในการตีมัทฉะแทนใช้น้ำร้อนด้วยก็ได้) 

 

ภาพ: การชงชาแบบพิธีการที่ Koto Tea Space

 

#3 เครื่องดื่มมัทฉะแบบพิธีการ

สำหรับเมนูเครื่องดื่มแบบพิธีการ ทางร้านจะนิยมตีมัทฉะในถ้วยชา (Chawan) พร้อมเสิร์ฟในถ้วยนั้นให้ลูกค้าเลยทันทีเพื่ออรรถรสในการดื่มและวิธีการดื่มที่ถูกต้อง โดยส่วนใหญ่เมนูมัทฉะแบบพิธีการจะมีในคาเฟ่ที่ต้องการนำเสนอศาสตร์ชาแบบดั้งเดิม ดูได้จากคาเฟ่ที่มีคำห้อยท้ายอย่าง ‘ทีสเปซ’ หรือ ‘ทีเฮาส์’ เพราะตัวมัทฉะที่จะนำมาชงแบบพิธีการได้นั้นมักจะมีราคาที่ค่อนข้างสูง เหมาะสำหรับกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการดื่มมัทฉะที่ค่อนข้างเจาะจงเข้ามาอีกหน่อย อย่างเมนู Usucha หรือ Koicha นั่นเอง

 

ภาพ: การชงแบบ Usucha ที่ Koto Tea Space


Usucha คือการชงมัทฉะในพิธีแบบบาง หรืออธิบายแบบง่ายๆ ได้ว่าคือการนำผงมัทฉะเกรดพิธีชงชา (Ceremonial Grade) มาตีเร็วๆ ด้วยน้ำร้อนให้ตัวชานั้นมีฟองฟูเนียนสวยคล้ายฟิล์มเคลือบไว้ตรงผิวหน้า ก่อนให้ลูกค้าซดดื่มตัวชาจนหมดถ้วย การดื่มแบบนี้ทำให้ลูกค้าได้รับรสชาติของชาแต่ละชนิด แต่ละตัวอย่างแท้จริง ยิ่งเกรดชายิ่งสูงเท่าไรก็จะให้สีเขียวที่สว่างสวย และรสขมฝาดน้อยลงไปตามลำดับ

 

ภาพ: การชงแบบ Koicha ที่ Koto Tea Space

 

Koicha คือการชงในพิธีแบบข้น หรือการนำมัทฉะเกรดพิธีชงชาสำหรับ Koicha (มัทฉะพิธีชงชาที่มีเกรดสูงขึ้น โดยจะสามารถชงได้ทั้ง Usucha และ Koicha) มานวดด้วยน้ำร้อนในอัตราส่วนชาต่อน้ำที่ลดหลั่นลงมาจาก Usucha ที่พิจารณาตามความชอบของผู้ดื่ม ผู้ชง และตัวชา โดย Koicha นั้นจะให้เท็กซ์เจอร์ของชาที่ข้นคล้ายกับสีอะคริลิก ดื่มแล้วจะให้รสชาที่ชัดเจน จัดจ้าน อูมามิ หนักแน่นแต่ไม่ขม เพราะด้วยตัวเกรดของชาที่สูงย่ิงๆ ขึ้นไปนั่นเอง

 

ภาพ: AOI AOI เมนูมัทฉะและน้ำอ้อยจาก minimalmeal

 

#4 มัทฉะแบบฟิวชัน 

เมนูมัทฉะแบบฟิวชัน คือเครื่องดื่มมัทฉะที่นำมาประยุกต์ให้ดื่มสนุกและสดชื่นเพิ่มขึ้นด้วยการเพิ่มวัตถุดิบอื่นๆ แทนการใช้น้ำหรือนมเพียงอย่างเดียว โดยวิธีการในการชงมัทฉะแบบฟิวชันนั้นจะยังคงวิธีการชงเหมือนเมนูเครื่องดื่มมัทฉะใส เพียงแค่เปลี่ยนวัตถุดิบในแก้วน้ำแข็งที่เตรียมไว้ ให้กลายเป็นน้ำผลไม้ เครื่องดื่มประเภทโซดา หรือสปาร์กลิงแทน อย่างเมนูมัทฉะน้ำมะพร้าว มัทฉะฮันนี่เลมอน มัทฉะสปาร์กลิงยูซุ หรือเมนูสุดครีเอทีฟอื่นๆ ที่เป็นซิกเนเจอร์ของทางร้านนั่นเอง

ภาพ: (ซ้าย) Honey Yuzu Fizz และ (ขวา) Sunrise จาก Khaam Khaoyai 

 

#5 เครื่องดื่มแบบไม่มีชา (Other Drinks or Non-Tea)

แต่สำหรับใครที่ไม่ดื่มชา หรือเมื่อดื่มชาเสร็จแล้วอยากเมนูปิดท้ายซะหน่อยก่อนออกจากร้าน โดยส่วนใหญ่แล้วในร้านคาเฟ่สเปเชียลตี้มัทฉะก็จะมีทางเลือกให้คุณทั้งนั้น ไม่ต้องห่วงไป โดยส่วนใหญ่จะนิยมใส่เมนูเครื่องดื่มน้ำผลไม้ โซดา-สปาร์กลิง หรือวัตถุดิบอื่นๆ ที่ทางร้านใช้ทำมัทฉะฟิวชันอยู่แล้วมาทำเป็นเวอร์ชันไม่ใส่ชา เราว่าโดยเฉพาะใครที่ไปลิ้มลองชา เทสต์มัทฉะเรียบร้อยแล้ว ปิดท้ายด้วยแก้ว Non-Tea ก่อนกลับถือว่าจบได้ดีเลยทีเดียว 

 

ภาพ: เมนูต่างๆ จาก MTCH

 

ทำความรู้จักกับ 5 หมวดหมู่เครื่องดื่มในร้านมัทฉะไปแล้ว ทีนี้ก็เดินเข้าร้านมัทฉะได้เลยแบบไม่ต้องงง ทีนี้ก็เป็นเรื่องของมัทฉะแต่ละสายพันธุ์ที่ทางร้านตั้งใจนำเสนอมาแล้ว การได้ลองมัทฉะหลายๆ สายพันธุ์ที่ให้เทสโน้ตแตกต่างกัน ไม่แน่คุณอาจจะมีตัวโปรดหรือเมนูโปรดเมนูใหม่ก็ได้ 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising