×

5 ประเทศน่าจับตา ที่พยายามเปิดประเทศและใช้ชีวิตร่วมกับโควิด

17.09.2021
  • LOADING...
5 countries

นับตั้งแต่โควิดแพร่ระบาดมานานกว่า 1 ปี 8 เดือน หลายประเทศตัดสินใจที่จะคลายมาตรการรับมือโควิด บางประเทศเริ่มทยอยเปิดประเทศ อนุญาตให้ประชาชนและธุรกิจห้างร้านต่างๆ กลับมาใช้ชีวิตและทำกิจกรรมต่างๆ ให้เหมือนช่วงที่โควิดยังไม่แพร่ระบาดมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

 

นี่คือ 5 ประเทศน่าจับตา ที่พยายามเปิดประเทศและใช้ชีวิตร่วมกับโควิด

 

Denmark

 

เดนมาร์ก: ประเทศที่ประกาศว่า “โควิดไม่ใช่ภัยคุกคามร้ายแรงอีกต่อไป”

 

เดนมาร์กเป็นประเทศแรกๆ ในยุโรปที่รัฐบาลประกาศยกเลิกมาตรการรับมือและป้องกันโควิดทั้งหมด นับตั้งแต่ 10 กันยายนที่ผ่านมา พร้อมประกาศว่า “โควิดไม่ใช่ภัยคุกคามร้ายแรงของสังคมเดนมาร์กอีกต่อไป” หลังจากที่ทางการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดไว้ได้ โดยมีปัจจัยที่สำคัญคือ ความเชื่อมั่นที่รัฐบาลและประชาชนมีต่อกัน ผลักดันให้การฉีดวัคซีนโควิดในเดนมาร์กรุดหน้าเป็นอย่างมาก

 

ประชาชนไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัยและเว้นระยะห่างทางสังคมแล้ว ไม่จำเป็นต้องแสดงวัคซีนพาสปอร์ตเพื่อเข้าใช้บริการในบางสถานที่ เช่น ไนต์คลับ และพิพิธภัณฑ์อีกต่อไป กลับมารวมกลุ่มขนาดใหญ่ในพื้นที่สาธารณะ เข้าชมกีฬาและคอนเสิร์ตได้ 

 

มหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอปกินส์ระบุว่า เดนมาร์กมีผู้ติดเชื้อสะสมแล้ว 3.55 แสนราย เสียชีวิตแล้ว 2,621 ราย ผู้ติดเชื้อรายใหม่ระดับราวหลักร้อยต่อวัน ขณะที่ผู้เสียชีวิตขณะนี้อยู่ในระดับเพียงหลักหน่วยเท่านั้น ทางการเดินหน้าฉีดวัคซีนให้ประชาชนแล้ว 8.7 ล้านโดส มีประชาชน 4.31 ล้านราย หรือคิดเป็น 74.11% ของประชากรทั้งหมดเข้ารับวัคซีนครบโดสแล้ว 

 

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ชมคลิป: ทำไม ‘เดนมาร์ก’ จึงเป็นประเทศแรกๆ ในยุโรปที่คลายมาตรการโควิดทั้งหมด’

 

ภาพ: Ole Jensen / Getty Images

 

Singapore

 

สิงคโปร์: ประเทศที่พยายามจะใช้ชีวิตร่วมกับโควิด แต่เดลตาอาจทำให้ความพยายามนั้นล้มเหลว

 

รัฐบาลสิงคโปร์เผยถึงแนวทางที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนใช้ชีวิตภายใต้ความปกติใหม่ อยู่ร่วมกับเชื้อโควิดที่แพร่ระบาดมาอย่างมาต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดด้วยการเร่งฉีดวัคซีนและโฟกัสที่การรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาล แทนที่จะสร้างเงื่อนไขและข้อจำกัดในการใช้ชีวิตของประชาชน

 

ก่อนที่ทางการจะเริ่มผ่อนคลายมาตรการรับมือโควิดตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เริ่มอนุญาตให้ผู้ที่เข้ารับวัคซีนครบโดสแล้วสามารถเข้าไปใช้บริการนั่งทานอาหารภายในร้านได้ รวมถึงอนุญาตให้มีการรวมกลุ่มกันในพื้นที่สาธารณะได้จาก 2 ราย เพิ่มเป็น 5 ราย 

 

แต่การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดสายพันธ์ุเดลตาอาจทำให้ความพยายามเหล่านั้นล้มเหลว จนอาจนำไปสู่การยกระดับมาตรการคุมเข้มรับมือโควิดครั้งใหม่ในอนาคต หากการแพร่ระบาดบานปลายและรัฐบาลไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้

 

มหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอปกินส์ระบุว่า สิงคโปร์มีผู้ติดเชื้อสะสมแล้ว 7.48 หมื่นราย เสียชีวิตแล้ว 59 ราย โดยมียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อเดลตา แต่อัตราผู้เสียชีวิตยังอยู่ระดับต่ำมาก (ราว 0.7%) เมื่อเทียบกับหลายประเทศในย่านอาเซียน 

 

ทางการเดินหน้าฉีดวัคซีนให้ประชาชนแล้ว 9 ล้านโดส มีประชาชน 4.48 ล้านราย หรือคิดเป็น 78.59% ของประชากรทั้งหมดเข้ารับวัคซีนครบโดสแล้ว โดยนายกรัฐมนตรีลีเซียนลุงของสิงคโปร์เข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น (Booster Shot) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน โดยหวังว่าวัคซีนเข็มกระตุ้นนี้จะช่วยพลิกสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในสิงคโปร์ได้

 

ภาพ: Suhaimi Abdullah / NurPhoto via Getty Images

 

South Africa

 

แอฟริกาใต้: ประเทศที่คลายมาตรการรับมือโควิด หลังอัตราผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง

 

รัฐบาลแอฟริกาใต้เริ่มทยอยคลายมาตรการรับมือโควิด หลังอัตราผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง ผ่านพ้นการระบาดระลอกที่ 3 ไปได้ ทางการจึงตัดสินใจย่นระยะเวลาเคอร์ฟิวลงให้เป็น 23.00-04.00 น. อีกทั้งยังอนุญาตให้มีการรวมตัวกันภายในอาคารสถานที่สูงสุดถึง 250 ราย ขณะที่รวมตัวด้านนอกอาคารได้สูงสุดถึง 500 ราย รวมถึงยังปรับลดข้อจำกัดในการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อีกด้วย

 

มหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอปกินส์ระบุว่า แอฟริกาใต้มีผู้ติดเชื้อสะสมแล้ว 2.87 ล้านราย เสียชีวิตแล้ว 8.57 หมื่นราย นับเป็นหนึ่งในประเทศที่เผชิญการแพร่ระบาดของโควิดรุนแรงที่สุดในทวีปแอฟริกา โดยผู้ติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ยในช่วง 7 วันที่ผ่านมาอยู่ที่ราว 4,300 ราย ลดลงจากราว 20,000 ราย ในช่วงการแพร่ระบาดสูงสุดของระลอกที่ 3 ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา 

 

แต่อย่างไรก็ตาม การเดินหน้าฉีดวัคซีนในแอฟริกาใต้อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างช้า ฉีดวัคซีนไปแล้ว 15.6 ล้านโดส มีประชาชนไม่ถึง 1 ใน 5 ที่เข้ารับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 โดส ขณะที่ประชาชนราว 13% ของประชากรทั้งหมดที่เข้ารับวัคซีนครบโดสแล้ว ทางด้านประธาธิบดีไซริล รามาโฟซา ระบุว่า ขณะนี้รัฐบาลได้จัดซื้อจัดหาวัคซีนโควิดครอบคลุมจำนวนประชากรทั้งหมดแล้ว พร้อมแนะให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนโดยเร็ว และเตรียมพิจารณายกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านภัยพิบัติที่ประกาศใช้มาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2020

 

ภาพ: Rodger Bosch / AFP

 

Chile

 

ชิลี: ประเทศที่เตรียมเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ หลังการฉีดวัคซีนรุดหน้า 

 

ชิลีถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสัดส่วนประชากรเข้ารับวัคซีนโควิดครบโดสแล้วมาเป็นอันดับต้นๆ ของโลก จากข้อมูลล่าสุดของกระทรวงสาธารณสุขชิลีระบุว่า ผู้ที่มีสิทธิ์เข้ารับวัคซีนโควิดในชิลี เข้ารับวัคซีนครบโดสแล้วเกือบ 87% อีกทั้งทางการยังเริ่มฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น (Booster Shot) และขยายกลุ่มอายุของผู้มีสิทธิ์เข้ารับวัคซีนให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อเดลตาแล้ว 

 

แม้จะยังตรวจพบผู้ติดเชื้อรายใหม่อย่างต่อเนื่อง แต่รัฐบาลชิลีประกาศเตรียมเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้ ซึ่งตรงกับฤดูร้อนที่ถือเป็นฤดูของการท่องเที่ยวทางภาคใต้ของประเทศ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและภาคการท่องเที่ยวของชิลี โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของทางการชิลี แสดงผลตรวจที่ไม่พบการติดเชื้อ และต้องกักตัวเป็นระยะเวลา 5 วัน

 

ภาพ: Javier Torres / AFP

 

Thailand

 

ไทย: ประเทศที่ทยอยคลายมาตรการรับมือโควิด เตรียมเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

 

หลังจากที่ไทยเผชิญหน้ากับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหญ่ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ล่าสุดยอดผู้ติดเชื้อที่ได้รับการรายงานมีแนวโน้มลดลงจากช่วงกลางเดือนสิงหาคม ที่ถือเป็นช่วงที่ผู้ติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ยในช่วง 7 วันสูงกว่า 20,000 ราย 

 

รัฐบาลไทยได้มีการคลายมาตรการรับมือโควิดและปรับลดข้อจำกัดบางประการ ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่า ไทยมีผู้ป่วยยืนยันสะสมตั้งแต่ปี 2020 อยู่ที่ 1,448,729 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมสูงกว่า 15,000 รายแล้ว อัตราการป่วยของไทยอยู่ที่ 20,694 ต่อประชากร 1 ล้านคน ขณะที่อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 216 ต่อประชากร 1 ล้านคน (17 กันยายน 2021 เวลา 10.00 น.)

 

โดยฉีดวัคซีนไปแล้ว 43,342,103 โดส มีประชาชนเข้ารับวัคซีนครบโดสแล้ว 14.28 ล้านราย หรือคิดเป็นราว 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมดเกือบ 70 ล้านราย (ข้อมูลถึงวันที่ 16 กันยายน 2021)

 

ทางด้าน ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เผยถึงแผนการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตามนโยบายเปิดประเทศใน 120 วัน ของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินหน้าแผนระยะที่ 1 สำเร็จแล้ว คือ การทดลองเปิดพื้นที่นำร่องในรูปแบบแซนด์บ็อกซ์ อาทิ Phuket Sandbox 

 

ส่วนแผนระยะที่ 2 นั้น ยังยืนยันเดินหน้าตามแผนที่วางไว้ โดยพบว่า มี 4 จาก 5 จังหวัด ที่พร้อมเปิดตามแผนในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ได้แก่ จังหวัดชลบุรี (พัทยา, อำเภอบางละมุง, อำเภอสัตหีบ), จังหวัดเชียงใหม่ (อำเภอเมืองเชียงใหม่, อำเภอแม่แตง, อำเภอแม่ริม, อำเภอดอยเต่า), จังหวัดเพชรบุรี (ชะอำ) และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) ขณะที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เลื่อนออกไปเปิดรับนักท่องเที่ยวในวันที่ 15 ตุลาคมนี้แทน เนื่องจากต้องรอฉีดวัคซีนให้คนในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 70% ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ก่อน และถัดไปจะเป็นระยะที่ 3 จะเริ่มในวันที่ 15 ตุลาคม 2021 จากแผนล่าสุดจะเป็นการเปิดเพิ่มอีก 25 จังหวัด

 

ล่าสุด พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ยืนยันไม่เปิดกรุงเทพฯ แซนด์บ็อกซ์ 15 ตุลาคมนี้ ชี้วัคซีนครบ 2 เข็ม ยังไม่ถึง 70% อีกทั้งยังตั้งเป้าไว้ให้ได้ร้อยละ 70 ภายในวันที่ 22 ตุลาคมนี้ แต่หากได้รับการจัดสรรวัคซีนเร็วจะครบตามเป้าเร็วขึ้น ขณะที่ตอนนี้มีผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็ม 2 เพียง 37% เท่านั้น

 

ภาพ: Lillian Suwanrumpha / AFP

 

บทความที่เกี่ยวข้อง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising