‘ความเป็นหนึ่งเดียวกันทางชาติพันธุ์’ เป็นประเด็นที่ถูกตั้งคำถามมาโดยตลอดในสังคมสเปน ความรู้สึกที่อัตลักษณ์ของตนถูกกดทับ ถูกจำกัดพื้นที่และไม่ได้รู้สึกถึงความเป็นชาติร่วมกัน ส่งผลให้ชาวคาตาลันในแคว้นกาตาลุญญา (Catalunya) หรือเเคว้นคาตาโลเนีย (Catalonia) ของสเปนต่างเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิในการปกครองตนเอง จนรัฐบาลสเปนยอมรอมชอมต่อปัญหาที่เกิดขึ้น โดยอนุญาตให้ชาวคาตาลันมีสิทธิในการจัดตั้งรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อปกครองตนเองในระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ
แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศที่ย่ำแย่และสภาพสังคมที่มีรอยร้าวอย่างชัดเจน เนื่องจากความแตกต่างทางชาติพันธุ์ ประกอบกับความรู้สึกที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในสังคม ชาวคาตาลันจึงพยายามเรียกร้องเอกราชและผลักดันให้เกิดการลงประชามติ ขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคมที่จะถึงนี้ ก่อนที่จะเดินหน้าประกาศแยกตัวจากสเปนอย่างเต็มกำลัง หากประชาชนลงมติเห็นชอบ
เมื่อวันที่ 11 กันยายนที่ผ่านมา ตรงกับวันชาติของกาตาลุญญา ชาวคาตาลันจำนวนมากออกมาเดินขบวนเรียกร้องและสนับสนุนการจัดประชามติดังกล่าว หลังศาลรัฐธรรมนูญสเปนตัดสินให้ยกเลิกการจัดประชามติที่จะมีขึ้นในอีก 2 อาทิตย์ข้างหน้าตามกำหนดเดิม ทั้งนี้ก็มีชาวคาตาลันบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับการแยกตัวเป็นเอกราชของแคว้นกาตาลุญญานี้
จากความพยายามผลักดันให้มีการจัดลงประชามติขึ้น ส่งผลให้นายกเทศมนตรีในเมืองต่างๆ ของแคว้นกาตาลุญญามากกว่า 700 คน ถูกศาลสเปนเรียกเข้าพบ พร้อมทั้งถูกเรียกร้องให้ร่วมกันแบนการลงประชามติในครั้งนี้
ทางด้านนายโฆเซ่ มานูเอล มาซ่า (José Manuel Maza) อัยการสูงสุดของสเปน กล่าวว่า “ผู้นำเมืองใดก็ตามที่สนับสนุนการลงประชามติที่จะถูกจัดขึ้นในต้นเดือนหน้า ควรจะต้องถูกจำคุก”
ส่วนสภาเมืองเพื่ออิสระในการปกครองตนเอง (Association of Municipalities for Independence) ก็ได้ร่างจดหมายถึงเจ้าหน้าที่ทางการเมืองชาวคาตาลันทั้งหมด เพื่อยืนยันว่า “พวกเขาไม่ได้กำลังทำสิ่งที่ผิดในการร่วมมือกันผลักดันให้เกิดการจัดลงประชามติขึ้น ถึงแม้ว่าสิ่งที่พวกเขาทำจะดูเป็นการท้าทายอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญของสเปนก็ตาม”
พร้อมกันนี้นายการ์เลส ปิกเดมองต์ (Carles Puigdemont) ประธานาธิบดีของชาวคาตาลันได้ออกมายืนยันว่า “การหยั่งเสียงประชามติ เพื่อสำรวจความคิดเห็นกรณีแยกตัวออกจากสเปนจะมีขึ้นตามกำหนดเดิมคือ ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้” ถึงแม้หลายฝ่ายจะมองว่า เขาใช้งบประมาณของรัฐไปในทางมิชอบ แต่เขาพร้อมและยินดีที่จะเข้าคุก เพื่อเเลกกับอิสรภาพของเเคว้นบ้านเกิดของเขา แม้ว่าเว็บไซต์ทางการของการลงประชามติจะถูกศาลสั่งปิดไปแล้วเมื่อวานนี้ (13 ก.ย.) ก็ตาม
แคว้นกาตาลุญญา ถือว่าเป็นหนึ่งในแคว้นที่ร่ำรวยที่สุดของสเปน ด้วยสถาปัตยกรรมที่ไม่โดดเด่น มีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะเมืองบาร์เซโลนา พร้อมกับเป็นสังคมที่เปิดกว้างทางความคิดและปรับตัวไปกับกระเเสต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลก จึงทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนเเคว้นนี้หลายล้านคนต่อปี รายได้ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในแคว้นจะต้องถูกส่งไปให้รัฐบาลที่กรุงมาดริด ก่อนที่รัฐบาลจะจัดสรรงบเหล่านั้นกลับมาให้รัฐบาลกาตาลุญญา สิ่งที่เกิดขึ้นสร้างคำถามให้แก่ชาวคาตาลันไม่น้อยถึงความไม่ยุติธรรม นี่จึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ผลักดันให้ชาวคาตาลันอยากจะแยกตัวเป็นเอกราช
ในขณะที่นายมาริอาโน ราฆอย (Mariano Rajoy) นายกรัฐมนตรีของสเปนและสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมของเขาได้ออกมาคัดค้านการผลักดันดังกล่าว พร้อมกับประกาศว่า “ผมจะทำทุกวิถีทางที่จะยุติการจัดลงประชามติในครั้งนี้ให้ได้” พร้อมกับเน้นย้ำว่า การลงประชามติของชาวคาตาลันนี้ไม่สามารถที่จะจัดขึ้นได้ เนื่องจากขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 1978 ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของชาติ
ต้องมาจับตาดูกันว่า จะมีการจัดลงประชามติเกิดขึ้นหรือไม่ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ และอนาคตของแคว้นกาตาลุญญานี้จะเป็นอย่างไร หากผลประชามติเห็นชอบ
… หรือประชาคมระหว่างประเทศกำลังจะมีสมาชิกใหม่ที่ชื่อว่า ‘ประเทศกาตาลุญญา’
Photo: AFP
อ้างอิง:
- www.aljazeera.com/news/2017/09/spain-summons-catalan-mayors-independence-vote-170913153323027.html
- www.telegraph.co.uk/news/2017/09/13/spain-threatens-arrest-700-catalan-pro-referendum-mayors
- www.bbc.com/news/world-europe-41262254
- www.telegraph.co.uk/news/2017/06/09/tensions-grow-spain-catalonia-independence-referendum-confirmed