×

ก้าวสู่ปีที่ 20: สงครามยังอยู่ในภาคใต้ของรัฐไทย

29.06.2023
  • LOADING...
สงครามภาคใต้

“การกำเนิดของแนวคิดในการต่อต้านการก่อความไม่สงบสมัยใหม่ 

เริ่มต้นด้วยเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001”

L. R. Smith and David M. Jones (2015)

 

ค่ำคืนวันที่ 4 มกราคม 2547 เป็นจุดพลิกผันของสถานการณ์ความมั่นคงไทยในยุคหลังสงครามเย็นอย่างไม่คาดคิด แน่นอนว่าไม่เคยมีใครเคยคิดมาก่อนว่าการปล้นปืนจากค่ายทหารในคืนวันนั้นจะเปลี่ยนสภาวะและวิถีของชีวิตและสังคมในสามจังหวัดชายแดนใต้ไปหมดทุกด้าน และเป็นการเปลี่ยนอย่างที่ไม่มีใครสามารถเรียกคืนอดีตของชีวิตผู้คนในสังคมชายแดนใต้ก่อนวันที่ 4 มกราคมให้กลับมาได้เหมือนเดิมอีกต่อไป เรื่องราวชีวิตของพี่น้องต่างศาสนาและต่างความศรัทธาก่อนคืนวันที่ 4 จึงกลายเป็นเพียงบันทึกประวัติศาสตร์วันวาน

 

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเช่นนี้อาจกล่าวได้ว่า เหตุการณ์ปล้นปืน 4 มกราคม 2547 ได้สร้าง ‘ภูมิทัศน์ความมั่นคงใหม่’ ของไทยให้พลิกผันไปอีกแบบ และกลายเป็น ‘ภูมิทัศน์สงครามภายใน’ ที่ยังไม่มีจุดจบ และยังไม่มีใครคาดเดาได้ว่าบทสุดท้ายของสงครามในภาคใต้ไทยจะเป็นเช่นไร

 

สงครามใหม่-ความท้าทายใหม่

 

ข่าวสารจากจังหวัดชายแดนใต้จากวันนั้นจนถึงวันนี้ล้วนเต็มไปด้วยความรุนแรง ความตาย ความสูญเสีย จนอาจต้องเรียกพื้นที่เช่นนี้ว่าเป็นดัง ‘พื้นที่สงคราม’ ที่กัดกร่อนชีวิตผู้คนทุกฝ่าย ทุกกลุ่ม และทุกศาสนา อย่างไม่มีข้อยกเว้นในเรื่องเพศและวัยแต่อย่างใด แม้สิ่งที่เกิดขึ้นจะมิใช่ภาวะของสงครามขนาดใหญ่ก็ตาม

 

แน่นอนเหลือเกินว่าชีวิตก่อนคืนวันที่ 4 มกราคม ไม่ได้เป็นอะไรที่สมบูรณ์ หรือเป็นสิ่งที่ไม่มีที่ติในเชิงอุดมคติ เพราะในความเป็นจริงแล้วชีวิตก่อนวันดังกล่าวในบริบททางการเมืองนั้นยังมีหลายเรื่องที่เป็นประเด็นค้างคาอยู่ในใจของผู้คนในพื้นที่ แต่อย่างน้อยคงต้องยอมรับว่า แม้จะมีปัญหาซุกซ่อนอยู่ใต้พรมเช่นไรก็ตาม ความรุนแรงไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็น ‘สถานการณ์ประจำวัน’ ในพื้นที่ดังเช่นที่เราเห็นจากข่าวในปัจจุบัน และที่สำคัญความรุนแรงจากการใช้อาวุธไม่ใช่ปรากฏการณ์หลักของชีวิตประจำวันในวันวาน

 

เมื่อสังคมในสามจังหวัดชายแดนใต้เดินมาถึงจุดพลิกผันในวันที่ 4 มกราคม 2547 แล้ว สิ่งที่ตามมากลายเป็นปรากฏการณ์ความมั่นคงที่สำคัญของไทยจวบจนปัจจุบัน อันอาจกล่าวในบริบทของสถานการณ์ความรุนแรงได้ว่า พื้นที่สามจังหวัดชายแดนกำลังเผชิญกับการมาของ ‘สงครามก่อความไม่สงบ’ (Insurgency Warfare) อีกครั้ง หรือเราอาจเรียกในบริบทของกรอบเวลาความมั่นคงได้ว่า รัฐไทยกำลังเจอกับ ‘สงครามก่อความไม่สงบในยุคหลังสงครามคอมมิวนิสต์’ และเป็นโจทย์ความมั่นคงชุดใหญ่และชุดใหม่ที่รัฐไทยต้องคิดให้ได้ ทั้งในทางยุทธศาสตร์และยุทธวิธี

 

นอกจากนี้ หากพิจารณาสถานการณ์ความมั่นคงชุดนี้ เราอาจเห็นถึงผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงในเวทีโลกต่อความมั่นคงในภูมิภาคและความมั่นคงไทยอีกด้วย ไม่เพียงแต่จะเห็นได้ถึงการสิ้นสุดสงครามเย็นเท่านั้น หากยังเห็นถึงการมาของ ‘ความรุนแรงชุดใหม่’ ในเวทีโลก อันเป็นผลจากการเปิดการโจมตีสหรัฐอเมริกาด้วยการก่อการร้ายในวันที่ 11 กันยายน 2544 หรือที่เรียกกันว่าเหตุการณ์ 9/11 ความรุนแรงชุดนี้ทำให้ประเด็นเรื่องการก่อการร้ายกลายเป็นวาระความมั่นคง (Security Agenda) ที่สำคัญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งเรายังเห็นถึงการก่อการร้ายที่เกิดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่บาหลีและจาการ์ตาในอินโดนีเซีย เป็นต้น

 

ผลที่ตามมาอย่างน้อยในเชิงภาษาคือ ทำให้เรามีคำย่อสองคำที่ต้องเรียนรู้ในขณะนั้น คือ AQ (กลุ่มอัลกออิดะห์) และ JI (กลุ่มเจไอ) และเป็นสองคำที่นักความมั่นคงในภูมิภาคต้องเรียนรู้อย่างมาก ขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่างการก่อความไม่สงบและการก่อการร้ายเข้าด้วยกันอย่างแยกไม่ได้

 

เงื่อนไขของความรุนแรงเช่นนี้มีคำถามสำคัญคือ รัฐและสังคมไทยจะหาทางออกจากบริบทแห่งความรุนแรงในยุคหลังสงครามเย็นอย่างไร โดยเฉพาะคำถามที่ตามมาในขณะนั้นคือ ทำอย่างไรที่ไทยจะไม่กลายเป็น ‘สนามรบใหม่’ ของสงครามต่อต้านการก่อการร้ายในยุค 9/11 และคำถามคู่ขนานคือ ทำอย่างไรที่รัฐไทยจะเอาชนะ ‘สงครามก่อความไม่สงบใหม่’ จากพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เริ่มขึ้นในปี 2547

 

แน่นอนว่าโจทย์ของความท้าทายชุดใหม่เช่นนี้ไม่ง่ายเลย!

 

ความรุนแรงในโลกสมัยใหม่

 

ในด้านหนึ่งโจทย์ชุดนี้อาจมีความซับซ้อนในอีกแบบที่ต่างจาก ‘สงครามคอมมิวนิสต์’ ในอดีตที่รัฐและสังคมไทยเคยเผชิญมาแล้ว และความสำเร็จในการยุติสงครามเย็นที่ไทยไม่กลายเป็น ‘โดมิโนตัวที่สี่’ หลังการล่มสลายของรัฐบาลนิยมตะวันตกในอินโดจีนในปี 2518 อาจไม่ใช่หลักประกันว่าเราจะสามารถรับมือกับปัญหาความมั่นคงชุดใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

 

อีกทั้งการเอาชนะสงครามก่อความไม่สงบของพรรคคอมมิวนิสต์ก็ไม่ได้เป็นคำตอบในตัวเองว่า เราจะสามารถเอาชนะการก่อความไม่สงบในภาคใต้ของไทยได้โดยไม่ต้องคิดอะไรใหม่

 

สงครามก่อความไม่สงบของพรรคคอมมิวนิสต์ไทยในอดีตกับสงครามก่อความไม่สงบของขบวนการติดอาวุธในภาคใต้ไทยในปัจจุบันอาจเปรียบเทียบได้ทั้งความเหมือนและความต่าง แต่บริบทของสถานการณ์โลกและสถานการณ์ภายในของไทยเองเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องเรียนรู้เสมอ เพราะเป็นปัจจัยที่มีส่วนโดยตรงต่อการกำหนดความเป็นไปของปัญหาในยุคสมัยของเรา… “ความรุนแรงในเวลาหนึ่งย่อมดำรงอยู่ภายใต้เงื่อนไขหนึ่งๆ” หรืออาจกล่าวได้ว่า “ไม่เคยมีความรุนแรงที่ดำรงอยู่โดยปราศจากบริบทที่ล้อมรอบตัว”

 

ว่าที่จริงแล้วในอีกด้านหนึ่งสังคมไทยเองก็ไม่เคยมีบทสรุป-บทเรียนทางยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนถึงชัยชนะในสงครามคอมมิวนิสต์ครั้งก่อน มีแต่เพียงความคิดแบบหยาบๆ ที่แทบไม่ได้ตอบโจทย์ทางยุทธศาสตร์ของประเทศอย่างจริงจัง ดังนั้นเราอาจต้องตั้งหลักทางความคิดว่า ในยามที่ประเทศต้องเผชิญโจทย์ของความรุนแรงชุดใหม่ ชุดความคิดในทางยุทธศาสตร์จึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างมากที่รัฐและสังคมจะต้องเรียนรู้ร่วมกันในการหาทางออกจากวังวนนี้ให้ได้

 

ถ้าสงครามคอมมิวนิสต์มีอุดมการณ์การเมืองเป็นแรงขับเคลื่อนแล้ว สงครามภาคใต้อาจมีองค์ประกอบหลายประการ และชวนให้เราต้องคิดต่อในทางทฤษฎี… อะไรคือแรงขับเคลื่อนของความรุนแรงในการก่อความไม่สงบของยุคปัจจุบัน 

 

คำถามเช่นนี้เป็นประเด็นเดียวกันในทางทฤษฎีอีกแบบ… อะไรคือแรงขับเคลื่อนของความรุนแรงในการก่อการร้ายในยุคโลกาภิวัตน์

 

เราต้องตระหนักว่าแรงขับเคลื่อนชุดนี้มีเงื่อนไขของเวลาที่เป็นยุคโลกาภิวัตน์เป็นบริบทล้อมรอบ ดังนั้นปรากฏการณ์ความรุนแรงในยุคปัจจุบันจึงชักชวนให้นักคิดด้านความมั่นคงทั้งหลายต้องพยายามที่จะหาคำตอบให้สังคม

 

คำถามเช่นนี้นำไปสู่หนังสือและงานวิจัยเป็นจำนวนมากที่ปรากฏออกมาในบรรณพิภพหลังเหตุการณ์ 9/11 ที่นิวยอร์ก… หากมีใครไปสำรวจผลงานเหล่านี้แล้ว จะพบอย่างไม่น่าเชื่อว่ามีหนังสือออกมาเป็นจำนวนมาก มากจนไม่มีทางที่จะอ่านได้หมดอย่างแน่นอน และยิ่งเมื่อสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรตะวันตกเดินหน้าเข้าสู่สงครามในอัฟกานิสถานและอิรักด้วยแล้ว ก็ยิ่งมีงานวิชาการออกมาให้เราอ่านอย่างมากมาย 

 

แรงขับเคลื่อนในบริบทไทย

 

อย่างไรก็ตาม คำถามดังกล่าวข้างต้นยิ่งชวนให้เราต้องคิดเพิ่มทั้งในทางทฤษฎีและในทางปฏิบัติ เพราะหากมองจากบริบทโลกแล้ว เรากำลังเห็นความรุนแรงของสังคมไทยในยุคโลกาภิวัตน์เช่นเดียวกัน ถ้าเช่นนั้นแล้วความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้เช่นนี้จะมีอะไรเป็นปัจจัยร่วมกับสถานการณ์ความรุนแรงที่เราเห็นจากสังคมอื่นในเวทีโลก 

 

ถ้ามองความรุนแรงจากเวทีโลก เราอาจได้คำตอบประการหนึ่งว่า ปัญหาความแตกต่างด้านชาติพันธุ์มักถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นคำตอบเสมอ เพราะหากจัดการอย่างเหมาะสมไม่ได้แล้ว ประเด็นนี้อาจขยับตัวกลายเป็นปัญหาความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์ (Ethnic Conflict) และนำไปสู่ความรุนแรงในวงกว้างได้ไม่ยาก ดังเช่นบทเรียนสำคัญจากปัญหาสงครามในยูโกสลาเวียเดิม เช่น สงครามในโคโซโว เป็นต้น

 

ในทางรัฐศาสตร์แล้ว ความรุนแรงจากปัญหาความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด และเป็นโจทย์เก่าที่ทั้งนักรัฐศาสตร์และนักยุทธศาสตร์ต้องเรียนรู้เสมอ หากแต่ความใหม่ที่เราเห็นในปัจจุบันคือ ความรุนแรงจากปัญหานี้เกิดในบริบทของโลกาภิวัตน์ที่มีการเชื่อมต่อของโลกในมิติต่างๆ ดังเช่นในปัจจุบัน 

 

หากเรายอมรับสมมติฐานเช่นนี้ เราอาจเห็นภาพคู่ขนานในภูมิภาคระหว่างสามจังหวัดชายแดนใต้ของไทยกับปัญหาความรุนแรงในรัฐยะไข่ของเมียนมา จนอดคิดไม่ได้ว่าประเด็นของสองประเทศนี้มีลักษณะเป็นภาพสะท้อนซึ่งกันและกันใช่หรือไม่ อีกทั้งถ้าทดลองมองออกไปจากภูมิภาคเรา ปัญหาความขัดแย้งในซินเจียงของจีน ใช่เรื่องเดียวกันหรือไม่

 

สมมติฐานเช่นนี้ชวนให้คิดอย่างมากถึง ‘ปัญหาร่วมทางด้านชาติพันธุ์’ ในซินเจียงของจีน สามจังหวัดชายแดนของไทย และรัฐยะไข่ของเมียนมา และปัญหาชาติพันธุ์เช่นนี้ยังทับซ้อนอยู่กับเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนอย่างมากในทางสังคมศาสตร์คือ ‘ปัจจัยทางด้านศาสนา’ และถูกนำไปผนวกกับชุดความคิดในเรื่องของชาตินิยมของผู้คนในพื้นที่ ซึ่งมีนัยถึงชาติพันธุ์นิยมนั่นเอง

 

ไม่มีกราฟเส้นตรงในสงคราม

 

แน่นอนว่าสุดท้ายแล้วเราอาจพบว่าความรุนแรงมีแรงผลักดันมาจากหลายประเด็นที่เป็นปัจจัยภายใน ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม รวมถึงปัญหาสำคัญในโลกยุคปัจจุบันคือปัญหาอาชญากรรม คู่ขนานไปกับรากฐานของปัญหาความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์ หรืออีกนัยหนึ่งเรากำลังเห็นการผสมผสานของปัญหาทั้งหลายเหล่านี้ที่ถูกจับใส่ลงไปใน ‘Melting Pot’ ของจังหวัดชายแดนใต้ ความรุนแรงที่เกิดและยกระดับขึ้นเป็นการก่อความไม่สงบจึงเป็นภาพสะท้อนอีกด้านของปัญหาดังกล่าว โดยมีปัญหา ‘ชาติพันธุ์ + ชาตินิยม’ เป็นฐานล่างที่รองรับความรุนแรงที่เกิดขึ้น 

 

ขณะเดียวกันปัญหาดังกล่าวยังถูกนำไปใช้ในการสร้างตัวตนของขบวนการติดอาวุธในพื้นที่ที่เป็นปัญหา และประเด็นดังที่กล่าวแล้วข้างต้นถูกนำไปเป็นแรงขับเคลื่อนความรุนแรงได้อย่างลงตัวอีกด้วย

 

ประเด็นเหล่านี้ล้วนชวนให้เราต้องคิดต่อทั้งสิ้น และคำตอบอาจไม่มีเพียงหนึ่งเดียวด้วยในแบบวิชาคณิตศาสตร์ หรืออาจกล่าวในอีกแบบว่า คำตอบในสาขาสังคมศาสตร์และวิชาความมั่นคงไม่เคยเป็น ‘กราฟเส้นตรง’ หรืออาจกล่าวได้ว่าไม่เคยมีคำตอบที่เป็น Linear สำหรับปัญหาความรุนแรงทั่วโลก รวมทั้งในภาคใต้ของไทย และไม่มีอย่างแน่นอนด้วย 

 

ฉะนั้นหากใครคิดจะหาคำตอบเดียวที่เป็นสูตรสำเร็จในการแก้ปัญหาแล้ว อาจต้องเลิกคิดไปเลย ดังเช่นบทเรียนจากสงครามในอิรักและอัฟกานิสถาน… ถ้าเช่นนั้นแล้วรัฐบาลใหม่ที่ (กำลังเกิดขึ้นที่) กรุงเทพฯ จะคิดวางกรอบทางยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหานี้อย่างไรในปีที่ 20 ของสงคราม

 

ยุทธศาสตร์และความไม่แน่นอน

 

ในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการเปิดเวทีสัมมนาและประชามติด้วยการเข้าร่วมทั้งนักการเมืองและคนรุ่นใหม่ในภาคใต้นั้น ต้องถือเป็นการยกระดับของปัญหา และทำให้เราควรต้องหันกลับมาสนใจปัญหาความรุนแรงในภาคใต้มากขึ้น แต่ก็มีข้อดีที่สถานการณ์ความรุนแรงจากการก่อการร้ายจากกลุ่มติดอาวุธของโลกมุสลิมไม่มีความรุนแรงดังเช่นที่ผ่านมาในช่วงต้นของยุค 9/11 อันส่งผลให้กระแสความรุนแรงจากปัจจัยภายนอกลดแรงกระทบอย่างมาก

 

อย่างไรก็ตาม ภาพคู่ขนานในภาวะเช่นนี้ก็คือ ‘ความไม่แน่นอน’ ทางการเมืองของรัฐไทยหลังการเลือกตั้งพฤษภาคม 2566 ซึ่งยังไม่มีใครตอบได้ว่าความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่กรุงเทพฯ จะเกิดขึ้นในรูปแบบใด และเมื่อเกิดแล้วจะส่งผลอย่างไรกับการแก้ไขปัญหาภาคใต้ อีกทั้งถ้าเกิดรัฐบาลใหม่ที่กรุงเทพฯ แล้ว จะเป็นความหวังให้เกิดการสร้างยุทธศาสตร์ภาคใต้ใหม่ เพื่อรองรับต่อการแก้ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ได้จริงเพียงใด!

 

เช่นนี้แล้ว… การเมืองกรุงเทพฯ ที่เกี่ยวโยงกับความหวังของการสร้างสันติภาพภาคใต้จึงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามเสมอ!

 

ภาพ: Patrick Aventurier / Gamma-Rapho via Getty Images

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising