×

กมธ.สันติภาพชายแดนใต้ ขอให้เร่งถอดบทเรียนป้องกันซ้ำรอย ‘ตากใบ’ ด้านแม่ทัพภาคที่ 4 ยอมรับ เจ้าหน้าที่ผิดพลาด

โดย THE STANDARD TEAM
24.10.2024
  • LOADING...

วันนี้ (24 ตุลาคม) ที่อาคารรัฐสภา คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นำโดย จาตุรนต์ ฉายแสง สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ แถลงข่าวผลการประชุม หลังเชิญหน่วยงานด้านความมั่นคงเข้าชี้แจงเพื่อวิเคราะห์กรณีตากใบและแนวทางสร้างสันติภาพ

 

จาตุรนต์เผยว่า พล.ท. ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 ยอมรับในที่ประชุมกรรมาธิการว่า เหตุการณ์ตากใบเป็นความผิดพลาดในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้น ตนจึงต้องการใช้กระบวนการยุติธรรมเปิดเผยความจริง และยังมีเจ้าหน้าที่ในราชการ 2 คนที่ต้องการให้นำตัวกลับมาต่อสู้คดีในชั้นศาล

 

คณะกรรมาธิการยังแสดงความกังวลที่มีเจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจทหารพรานไปเยี่ยมเยียนประชาชนที่เป็นโจทก์ฟ้องในคดีตากใบหลายคนในสุไหงปาดีและเจาะไอร้อง ทำให้ประชาชนรู้สึกถูกคุกคาม จึงขอให้รับรองความปลอดภัยของประชาชนและยุติภารกิจดังกล่าว

 

นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการยังสอบถามถึงการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยในการควบคุมฝูงชน โดยแม่ทัพภาคที่ 4 ชี้แจงว่า การควบคุมฝูงชนเป็นหน้าที่ของตำรวจในพื้นที่ แต่กรรมาธิการมีความเห็นว่า ที่ผ่านมาการควบคุมฝูงชนมีปัญหาเรื่องใครเป็นผู้ปฏิบัติการหลัก จึงขอให้พิจารณาในเรื่องเหล่านี้ 

 

ด้าน ฉัตรชัย บางชวด เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ชี้แจงว่า สำหรับเหตุการณ์ตากใบ รัฐบาลในอดีตได้เยียวยาและขอโทษ ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามติดตามตัวผู้ต้องหาอย่างเต็มที่ และมีข้อสั่งการของ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้เฝ้าระวังและเตรียมยกระดับป้องกันการชุมนุมภายใต้หลักการชุมนุมอย่างสงบ และให้ระวังการแทรกแซงจากมือที่สาม

 

สมช. ยังคาดการณ์ว่าจะมีการก่อเหตุรุนแรงมากขึ้นหลังหมดอายุความ ซึ่งภาครัฐเพิ่มการดูแลพื้นที่ พร้อมกำชับให้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย อย่างเคร่งครัด และเยียวยาจิตใจของผู้เสียหาย ดูว่าทำอะไรเพิ่มเติมได้อีก รวมถึงเดินหน้ากระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

ทั้งนี้ สมช. เตรียมทำข้อเสนอต่อรัฐบาลให้แต่งตั้งคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ใหม่ ภาครัฐยินดีเปิดพื้นที่ให้พูดคุยแสดงออกทางการเมืองอย่างสร้างสรรค์ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ ขณะที่ผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ฝ่ายมาเลเซียก็มีความจริงจังอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในรอบหลายปีที่ผ่านมา 

 

นอกจากนี้ ภาครัฐยังพิจารณาเรื่องลดการใช้กฎหมายพิเศษ ใช้กฎหมายอื่นแทน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แยกแยะลักษณะของผู้เห็นต่าง พิจารณาเรื่องส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคม และพัฒนาพื้นที่ให้สอดคล้องกับวัฒนธรรม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการลดความขัดแย้งและเพื่อสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

จาตุรนต์กล่าวว่า ตนเองในฐานะประธานกรรมาธิการฝากความเห็นว่า ควรเร่งสรุปบทเรียนจากเหตุการณ์ตากใบ ตั้งแต่การควบคุมผู้ชุมนุม การบังคับใช้กฎหมาย และการดำเนินคดี ให้เกิดความยุติธรรมที่เคยล้มเหลวไป เพราะการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมจำนวนมากเป็นบาดแผลของสังคมไปรอบหนึ่งแล้ว และเมื่อพบว่าไม่สามารถดำเนินคดีกับใครได้เลย เมื่อหมดอายุความแล้วก็จะเป็นบาดแผลที่สำคัญมากขึ้น จึงควรหาแนวทางเยียวยาเพิ่มเติม และหาวิธีการควบคุมบังคับใช้กฎหมายให้กระบวนการยุติธรรมสามารถคืนความเป็นธรรมให้ประชาชนได้จริง

 

จาตุรนต์ทิ้งท้ายว่า กรรมาธิการจะเชิญหน่วยงานด้านความมั่นคงมาหารืออีกในเร็วๆ นี้ เพื่อสอบถามและแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับยุทธศาสตร์และนโยบายในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้ได้ข้อมูลล่าสุดที่ตรงกับความเป็นจริงประกอบการทำรายงานของกรรมาธิการ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X