×

‘สมโภชน์ อาหุนัย’ ท้าชิงประธาน ส.อ.ท. ชูมายด์เซ็ต ‘ประเทศไทยหมดยุคทำของถูกขายแล้ว’

29.02.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 MIN READ
  • เม็ดเงินเข้าประเทศราว 5.18 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถึง 32.06% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ล้วนมาจากภาคอุตสาหกรรม                                  
  • ‘สมโภชน์ อาหุนัย’ แม่ทัพแห่ง EA ชิงดำเก้าอี้ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ คนใหม่ ต่อจาก เกรียงไกร เธียรนุกุล ที่กำลังจะหมดวาระในเดือนเมษายนนี้ พร้อมเปิดใจทำไมมากลางเทอม
  • บทบาทแห่งความฝัน มองประเทศไทยติดกับดักหนี้ครัวเรือน นักลงทุนไม่เลือกไทย หากต้องรอนานถึง 4 ปี จะเหมือนมะเร็งร้ายที่รักษาไม่ได้แล้ว

ไทยเป็นหนึ่งในประเทศซัพพลายเชนโลก เพราะในแต่ละปีเม็ดเงินไหลเข้าประเทศราว 5.18 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถึง 32.06% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่งล้วนมาจากแรงขับเคลื่อนจากภาคอุตสาหกรรม

 

แต่ท่ามกลางแรงกดดันภาวะเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนไป บวกกับภาวะเศรษฐกิจไทย และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ขีดความสามารถแข่งขันที่สูงขึ้น ต้องสู้กับต้นทุน, ค่าไฟฟ้า, ค่าแรง, การรับมือกับผลกระทบสินค้าจากจีนที่เข้ามาทุ่มตลาด, มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี, สิ่งแวดล้อม และอีกหลายปัญหา กำลังเป็นเหมือน ‘วาระชาติ’ ที่ต้องอาศัยแรงจากทุกคน

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

“ผมว่าประเทศไทยป่วย แต่การป่วยยังอยู่ในระดับที่รักษาได้” สมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เกริ่นนำก่อนเปิดใจต่อบทบาทใหม่นอกเหนือจากนักธุรกิจ

 

วันนี้ (29 กุมภาพันธ์) สมโภชน์ในฐานะสมาชิก และรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยถึงการสมัครตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมฯ คนที่ 17 ในวาระปี 2567-2569 ว่า “เป็นความฝันของตัวผมเองที่อยากจะเป็นคนหนึ่งที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงสังคมไทย อยากเห็นประเทศไทยเจริญ อยากเห็นช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยหายไป อยากเห็นคนไทยที่เชื่อมั่นในคนไทยของเราเองว่ามีดี ทำได้ ไม่ใช่คนที่มีมายด์เซ็ตเป็นผู้แพ้ที่ว่าคนไทยทำไม่ได้หรอก ต่างประเทศดีกว่าหมด ทั้งที่เรามีคนเก่งในประเทศมากมาย นี่คือตัวตนผมและก็ทำสิ่งเหล่านี้มาหลายปี

 

“วันนี้ผมจึงคิดว่าเดินมาถึงจุดหนึ่งที่สังคมเริ่มรู้จัก สามารถพิสูจน์ได้ว่าตั้งใจทำจริงๆ จะนำเอาประสบการณ์มาต่อยอดสร้างประโยชน์ประเทศ มันเป็นเหมือนอินเนอร์ของผมที่อยากจะทำให้เกิดขึ้นได้จริง ผมเชื่อว่าเวทีของสภาอุตสาหกรรมฯ จะเป็นเวทีที่เหมาะสมและเป็นองค์กรที่รัฐบาลให้ความเชื่อมั่น ดังนั้นถ้าผมได้ทำหน้าที่นี้ จะนำเอาแนวคิดไปขยายต่อให้สมาชิกได้อย่างมีคุณภาพ 

 

“โดยสิ่งแรกที่อยากจะทำคือการทำให้สภาอุตสาหกรรมฯ เป็นหนึ่งเดียว จะรับฟังเสียงสะท้อนจากสมาชิกก่อนว่าประเด็นไหนเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไข แล้วนำมาสรุปเชิงนโยบายเพื่อส่งเสียงสะท้อนไปถึงรัฐบาล”

 

เปิดบ้านดึงดูดทุนต่างชาติ (FDI) มาไทย 

 

“ผมมองว่าสาเหตุที่การลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) ไทยลดลงนั้นเป็นปัญหาที่สะสมมานาน แต่ขอชวนคิดจุดหนึ่งว่าการที่ต่างชาติจะมาลงทุนที่ไทย เขาคิดไม่เยอะ มีไม่กี่ข้อ เช่น มาลงทุนได้กำไรมากกว่าไปที่อื่นหรือไม่ มาลงทุนที่นี่เพราะไทยมีความพร้อมกว่าไหม และคนที่จะรู้ว่าไทยมีศักยภาพแค่ไหนคือผู้ประกอบการ ซึ่งสภาอุตสาหกรรมฯ มีสมาชิกเก่งๆ เป็นหมื่นๆ คน หากนำเอาฟีดแบ็กเหล่านี้เสนอรัฐบาลก็จะยิ่งตรงเป้า 

 

“อีกทั้งวันนี้ไทยติดกับดักรายได้ปานกลางมาเป็นระยะเวลายาวนาน ผมว่าประเทศไทยป่วย แต่การป่วยยังอยู่ในระดับที่รักษาได้”

 

เนื่องด้วยในสถานการณ์ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยไม่ควรอยู่ในสภาพตั้งรับ แต่ควรอยู่ในเชิงรุก เพราะอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ซึ่งมี 2 ทางเลือกว่าจะเป็นอาร์เจนตินาแห่งที่ 2 หรือจะเป็นประเทศที่ศิวิไลซ์ขึ้นจากความเสี่ยงรอบด้านของปัจจัยโลก แต่ไทยเลือกได้ว่าจะคว้าวิกฤตหรือโอกาส ตนจึงวางแผนทำงานไว้ภายใต้ 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

 

  • ทำงานเชิงรุกในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจของประเทศให้สอดประสานระหว่างภาครัฐกับเอกชน 
  • สร้างพลังและเพิ่มขีดความสามารถของสมาชิกสภาอุตสาหกรรมฯ ทั่วประเทศ 
  • ประสานภาครัฐให้ช่วยส่งเสริม สนับสนุน SMEs ผู้ประกอบการรายย่อย-รายใหม่ ในการผลิตสินค้าที่มีมูลค่า 
  • นำเอาความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ที่มี มาบูรณาการในเชิงรุกและเชิงรับทุกมิติ

 

 

เนื่องจากโลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก แต่ละอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบแตกต่างกันออกไป ที่หนักสุดคือกลุ่ม SMEs ที่ต้องเข้าไปส่งเสริม สนับสนุน ช่วยแก้ไขปัญหา 

 

“ผมเคยเป็น SMEs มาก่อน รู้วิธีการว่าจะปรับให้ยั่งยืนได้อย่างไร วันนี้บางอุตสาหกรรมเริ่มแข่งขันไม่ได้แล้ว กลุ่มที่เคยเป็นดาวรุ่ง ถ้าไม่ช่วยบูรณาการก็อาจไปไม่ได้ไกล ไทยหมดยุคทำของถูกขายของถูกแล้ว ถึงเวลาต้องยกระดับ เปลี่ยนแปลง และทำงานอย่างมียุทธศาสตร์ ร่วมมือกันทั้งรัฐและเอกชน เพื่อให้ชื่อของประเทศไทยไปอยู่ในเวทีโลกได้อย่างแข็งแกร่ง

 

“ไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งเป็นเหมือนหลุมดำส่งผลให้อุตสาหกรรมไทยแข่งขันได้ไม่เต็มที่ ท่ามกลางคนในประเทศที่ยังเถียงกันไม่ตกว่าเศรษฐกิจไทยเวลานี้วิกฤตแล้วหรือยัง”

 

อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนเร่งตัวขึ้น เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจนั่นคืออุตสาหกรรมเริ่มหมดแรง ดังนั้นเมื่อภาคอุตสาหกรรมไม่แข็งแรง เศรษฐกิจจะไปต่อไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ช่วง 8 ปีที่ผ่านมาตนได้มีโอกาสทำหน้าที่ฐานะสมาชิก และเป็นรองประธานสภาอุตสาหกรรมฯ ด้วยจิตอาสาแล้ว

 

วันนี้จึงถือเป็นโอกาสสำคัญที่อยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นไปพร้อมกับไทยแลนด์ทีมระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะเป็นสะพานเชื่อมของหลายอุตสาหกรรมภายใต้รัฐบาลเป็นแม่ทัพ ไปพร้อมกับเอกชนเป็นขุนพล ทำงานกันเป็นทีมมากยิ่งขึ้น 

 

“หากได้รับความไว้วางใจให้เป็นประธานสภาอุตสาหกรรมฯ คนที่ 17 นอกจากจะเร่งเสนอยุทธศาสตร์ผ่านอุตสาหกรรมแต่ละประเภท ทรานส์ฟอร์มธุรกิจ เพื่อรองรับการแข่งขันในเวทีโลกทุกมิติ จะปรับปรุงกฎหมายหรือกฎระเบียบเพื่อให้ทันกติการะดับสากล ยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน (BCG & ESG) มุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ซึ่งเป็นเมกะเทรนด์ของโลกในปัจจุบัน 

 

แก้ค่าไฟแพง หนุนคนไทยใช้ EV 

 

นอกจากนี้ในฐานะที่อยู่ในวงการพลังงาน ประเด็นแนวทางแก้ค่าไฟแพงมองว่าต้องอยู่ภายใต้ปริมาณการใช้ไฟที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้ต้นทุนถูกลง ควรสนับสนุนให้คนในประเทศหันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อาจเป็นทางออกที่ดี  

 

 

ถัดมาจะเกิดการลงทุนโรงไฟฟ้าได้ทั้งในรูปแบบโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่จะมีราคาถูก เกิดฐานผลิตอุตสาหกรรมใหม่ แม้อาจมีผู้ผลิตน้ำมันที่เสียประโยชน์ไปบ้าง 

 

อย่างไรก็ตาม สภาอุตสาหกรรมฯ จะเป็นตัวแทนทุกๆ อุตสาหกรรม ทั้งโรงไฟฟ้า ยานยนต์ น้ำมัน และกลุ่มเกษตรกรรม หากสามารถเจรจาหารือกันได้ก็จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติในระยะยาว 

 

เปรียบเศรษฐกิจเหมือนคนป่วยมะเร็ง หากไม่รีบรักษาจะป่วยระยะสุดท้าย

 

ต่อคำถามที่ว่า เหตุใดจึงไม่รอให้เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ หมดวาระที่ 2 ก่อนนั้น   

 

“อีก 2 ปี เพราะผมมองว่าประเทศไทยรอไม่ได้ เพราะภาระหนี้ครัวเรือน การลงทุนไม่เข้าไทยเลย หากรออีก 2 ปี จะเปรียบเหมือนคนที่เป็นมะเร็งขั้นที่ 1 ก็อาจรอได้ แต่ถ้าเป็นถึงขั้นที่ 4 รอนานเกินไปก็รักษาไม่ได้แล้ว”

 

สมโภชน์ทิ้งท้ายว่า วันนี้ผมพร้อม นี่คืออุดมการณ์ที่ผมมีมาตั้งนานแล้วจากหน้าที่บริหารธุรกิจในกลุ่มพลังงานบริสุทธิ์ จากนี้ต้องการนำเสนอไอเดียที่มี เพื่อให้เกิดอิมแพ็กต์มากกว่าที่ทำอยู่ในปัจจุบัน

 

ย้อนดูบทบาทสภาอุตสาหกรรมฯ สำคัญอย่างไร มีหน้าที่อะไรบ้าง

 

รายงานข่าวระบุว่า วันที่ 25 มีนาคม 2567 จะมีการเลือกประธานสภาอุตสาหกรรมฯ คนใหม่ เนื่องจากเกรียงไกร ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ คนที่ 16 ชุดปัจจุบัน กำลังจะหมดวาระสมัยที่ 1 (ปี 2565-2567) ในเดือนเมษายนนี้ ขณะเดียวกันเกรียงไกรต้องการต่ออีก 1 สมัย คือปี 2567-2569

 

สำหรับสภาอุตสาหกรรมฯ เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ตามพระราชบัญญัติสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2530 มีบทบาทต่อกลไกการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ประสานกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และพิทักษ์ผลประโยชน์ของชาติในวงการเศรษฐกิจโลก ภายใต้วิสัยทัศน์เป็นแกนกลางเสริมสร้างความเข้มแข็งและผลิตภาพอุตสาหกรรมไทยให้สามารถแข่งขันได้ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของไทยให้ยั่งยืน

 

 

หลังจากนี้คงต้องติดตามบทบาทผู้นำขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยซึ่งอาจไม่ง่าย ท่ามกลางโจทย์หินอันท้าทาย ประเทศไทยในฐานะซัพพลายเชนโลกไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบเศรษฐกิจโลกได้ หากไม่เร่งปรับตัวและเร่งดึงดูดการลงทุน สร้างแต้มต่อการแข่งขันเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนมาไทย ก็อาจสายเกินไปหรือไม่

 

ภาพ:

  • wenjin chen / Getty Images
  • Teera Konakan / Getty Images
  • da-kuk / Getty Images
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X