×

เกิดอะไรขึ้นกับอุตสาหกรรมไทย? FDI อินโดฯ-เวียดนามพุ่ง สวนทาง ‘ไทย’ หากเดินช้าเสี่ยงหลุดสถานะผู้นำเศรษฐกิจอาเซียน

19.02.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนส่งผลให้อินโดนีเซียและเวียดนามเป็นประเทศที่ได้รับอานิสงส์หลักจากการกระจายฐานการผลิตออกจากจีน
  • การลดลงของ FDI ในอาเซียนในปี 2566 เป็นผลพวงจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และการขึ้นดอกเบี้ยที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติชะลอการลงทุนออกไปก่อน แต่สำหรับอินโดนีเซียและเวียดนาม FDI ยังคงเพิ่มขึ้น สวนทาง FDI ไทยและมาเลเซียที่ลดลง
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ เวียดนามและอินโดนีเซียมีแต้มต่อเหนือกว่า ยึด FDI ภูมิภาคอาเซียน ถึงเวลาแล้วที่ไทยต้องเร่งเครื่อง
  • เอกชนห่วง FDI ไทยเริ่มทิ้งห่างเพื่อนบ้าน หากช้าเสี่ยงสูญเสียสถานะผู้นำทางเศรษฐกิจภูมิภาค

ช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ เริ่มร้อนแรง ส่งผลให้การค้าโลกเปลี่ยนทิศทาง แต่กลับผลักดันให้ภูมิภาคอาเซียนก้าวขึ้นมาเป็นตลาดใหม่ที่เนื้อหอมอย่างรวดเร็ว สามารถดึงดูดเม็ดเงินของทุนต่างชาติได้ไม่น้อย และน่าสนใจว่าในบรรดาประเทศเพื่อนบ้าน อินโดนีเซียและเวียดนามเป็นประเทศที่ได้รับอานิสงส์หลักจากการกระจายฐานการผลิตออกจากจีนมากที่สุดในเวลานี้ 

 

แล้วไทยอยู่ตรงไหน?

 

เมื่อศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์การลงทุนต่างประเทศ (FDI) ในตลาดอาเซียน สรุปว่า แม้ว่าเม็ดเงิน FDI ในอาเซียนจะลดลงในปี 2566 แต่ FDI ในภาคอุตสาหกรรมของอินโดนีเซียและเวียดนามยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยฉายภาพ FDI โลกมีแนวโน้มลดลงจากภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งปี 2566 มูลค่า FDI โลกเพิ่มขึ้นเล็กน้อย (3%) จากฐานที่ต่ำ และเป็นการเพิ่มขึ้นในตลาดยุโรป ขณะที่ภูมิภาคอื่นหดตัวลงต่อเนื่อง

 

ขณะที่ FDI จีนชัดเจนว่าเริ่มลดลงจากการปิดโรงงานของบรรษัทข้ามชาติในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการผลิตชิปในจีนกว่า 10,900 บริษัทปิดตัวลงไป 

 

 

อินโดนีเซียและเวียดนามดาวเด่น

 

ขณะที่การลงทุนต่างชาติในอาเซียนก็พบว่า อินโดนีเซียและเวียดนามเป็นประเทศที่ได้รับอานิสงส์สูงสุดจากการย้ายฐานผลิตออกจากจีน เมื่อเทียบกับไทยและมาเลเซียที่ลดลง

 

เมื่อย้อนดูมูลค่า FDI ไหลเข้าสุทธิสะสมในช่วงปี 2561 จนถึงเดือนมกราคม-กันยายน 2566 ของอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น 21.4% ขณะที่เวียดนามเพิ่มขึ้น 44.1% เมื่อเทียบกับช่วงปี 2555-2560

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 


 

แต่ในทางตรงกันข้าม มูลค่า FDI ไหลเข้าสุทธิสะสมของไทย ‘ลดลง’ 20.3% เช่นเดียวกับมาเลเซียที่ลดลง 15.3% 

 

 

ปัจจัยหลักๆ มาจากการกระจุกตัวในภาคอุตสาหกรรม รวมไปถึง

 

  • การปิดกิจการของธุรกิจต่างชาติ เช่น การขายกิจการของปั๊ม ESSO 
  • การปิดโรงงานของบริษัทต่างชาติในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ จากการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีเข้าสู่รถยนต์ไฟฟ้า (EV)

 

โดยช่วงเดือนมกราคม-กันยายน 2566 มูลค่า FDI ไหลเข้าสุทธิของไทยรวม 4,438 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปี 2565 ที่มีเม็ดเงินเข้ามา 9,011 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็น

 

  • อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 1,465 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลง)
  • อุตสาหกรรมปิโตรเคมี -1,372 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลง)
  • อุตสาหกรรมยานยนต์ -522 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลง)

 

อย่างไรก็ตาม หากมองเฉพาะในด้านมูลค่าเม็ดเงิน FDI ไหลเข้า ส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุน ‘อุตสาหกรรมแห่งอนาคต’ จากมูลค่า FDI ที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ปี 2566 ยังคงเพิ่มขึ้น 72% มาอยู่ที่ระดับ 6.6 แสนล้านบาท มาจาก

 

  • อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 3.4 แสนล้านบาท (+265%) 
  • อุตสาหกรรมเครื่องจักรและยานยนต์ 8.4 หมื่นล้านบาท (-22%) 

 

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลข้างต้นยังคงสะท้อนว่า เวียดนามและอินโดนีเซียยังคงเป็นแหล่งดึงดูดเม็ดเงิน FDI ในภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญของอาเซียน

 

ดังนั้น หลังจากนี้ไทยควรเร่งออกนโยบายที่เอื้อแก่การลงทุนมากขึ้น เช่น การลดขั้นตอนและความซ้ำซ้อนของเอกสารในการขอใบอนุญาตต่างๆ เพื่อเอื้อต่อนักลงทุน โดยเฉพาะลดขั้นตอนในการส่งออกและนำเข้าสินค้า รวมทั้งการเร่งความคืบหน้าการเจรจาความตกลงทางการค้า (FTA) โดยเฉพาะกับสหภาพยุโรป (EU)

 

ไทยเสี่ยงสูญเสียสถานะผู้นำทางเศรษฐกิจภูมิภาค 

 

กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย และนักวิชาการเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญความท้าทายทุกมิติ โดยเฉพาะอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลงประมาณ 3% ต่อปี มากกว่ามาเลเซียและจีนที่ 5% ต่อปี เนื่องจากขาดความสามารถในการแข่งขันและเม็ดเงินนักลงทุนต่างชาติ  

 

“หากการเติบโตที่ช้าและติดกับดักอยู่เช่นนี้ ประเทศไทยก็จะสูญเสียสถานะการเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ซึ่งจะเป็นปัญหาใหญ่”  

 

จุดที่น่าสนใจคือ การลงทุนจากต่างประเทศในไทยน้อยลงกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตปี 2540 (วิกฤตต้มยำกุ้ง) อย่างมาก เพราะกฎหมายและหลายๆ ปัจจัยที่ไม่เอื้อต่อการลงทุน มากไปกว่านั้น ประเทศไทยมีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) น้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม

 

“ไทยเคยเป็นผู้นำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในด้านการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ แต่ปัจจุบันไทยได้สูญเสียสถานะดังกล่าวให้กับเวียดนามแล้ว และเรากำลังถูกทิ้งไว้ข้างหลังและเริ่มทิ้งห่างออกไปไกล”

 

ส่วนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยอาจช่วยได้เล็กน้อย แต่ไม่ได้ช่วยให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้น หากจะกระตุ้นให้เศรษฐกิจ (GDP) เติบโตที่ 4.5% ต่อปี จะต้องได้รับแรงหนุนจากการลงทุน การปรับโครงสร้างการผลิต นวัตกรรมใหม่ๆ และกระจายภาคการท่องเที่ยวจากเมืองหลักสู่เมืองรอง

 

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมไทยเริ่มหมดเสน่ห์เนื่องจากกฎหมายล้าหลัง ค่าไฟ-ค่าแรงไทยแพง และจำนวนแรงงานไทยไม่เพียงพอ แม้ไทยมีจุดแข็งทางภูมิศาสตร์ แต่ต้องเร่งปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อเป็นตัวขับเคลื่อนและสร้างมูลค่าเศรษฐกิจใหม่ 

 

นี่อาจเป็นหนึ่งโจทย์ใหญ่ของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี หรือไม่ เพราะในการเข้ารับตำแหน่งเมื่อปีที่แล้ว เศรษฐาประกาศแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในช่วง 4 ปีต้องเติบโตไม่ต่ำกว่า 5% ต่อปี และมั่นใจว่าภายใน 6 เดือนจะดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่เข้ามาให้ได้มากที่สุด 

 

ณ วันนี้ หนึ่งสิ่งที่สะท้อนการเติบโตระยะสั้น จากคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ที่ล่าสุด (19 กุมภาพันธ์ 2567) สภาพัฒน์ระบุว่า ปี 2566 ขยายตัวได้เพียง 1.9% อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าเศรษฐกิจไทยกำลังยืนอยู่จุดไหนในภูมิภาค 

 

เพราะน่าห่วงหรือไม่ว่า นอกจาก FDI ที่ลดลง ตัวเลขย้อนหลัง 10 ปี GDP ไทยยังคงขยายตัวเพียง 2-3%  

 

แทบจะอยู่รั้งท้ายเพื่อนบ้านอาเซียน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising