×

เศรษฐกิจชะลอ เงินเฟ้อพุ่ง ไทยเสี่ยงเข้าสู่ภาวะ Stagflation รายได้ลด แต่ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นหรือไม่

11.05.2021
  • LOADING...
เศรษฐกิจชะลอ เงินเฟ้อพุ่ง ไทยเสี่ยงเข้าสู่ภาวะ Stagflation รายได้ลด แต่ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นหรือไม่

HIGHLIGHTS

6 mins. read
  • เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว ‘วีเชพ’ นำมาซึ่งเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ทั้งจากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ที่เพิ่มขึ้น สร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อในประเทศไทย โดยเดือนเมษายน เงินเฟ้อไทยเพิ่มขึ้น 3.4% สูงสุดในรอบ 100 เดือน
  • เงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่มีความเสี่ยงว่าจะเผชิญภาวะถดถอยซ้ำซ้อน กลายเป็นคำถามว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญภาวะ Stagflation ซึ่งเป็นภาวะที่รายได้ชะลอ แต่ค่าครองชีพสูงขึ้นหรือไม่
  • บล.เกียรตินาคินภัทร ชี้ว่า ตามนิยามแล้วถือว่าไทยกำลังเผชิญภาวะดังกล่าว แต่เงินเฟ้อที่สูงอาจเกิดขึ้นชั่วคราว ห่วงแค่บางกลุ่มอุตสาหกรรมที่พึ่งพาการนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ ต้องเผชิญกับภาวะ Stagflation ซ้ำเติมความยากลำบากของผู้ประกอบการ 
  • ธนาคารทีเอ็มบีธนชาตแนะจับตาเงินบาท ห่วงอ่อนค่าแรง กดดันเงินเฟ้อในประเทศเร่งขึ้นจากการนำเข้าสินค้าพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์จากต่างประเทศ 
  • ธนาคารซีไอเอ็มบีไทยแนะภาครัฐเร่งดันนโยบายการคลัง เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชนจากเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น
  • EIC เชื่อยังไม่เกิด Stagflation แต่ห่วงบอนด์ยีลด์เร่งตัวขึ้น ทำตลาดเงินตึงตัว 

เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวในลักษณะ ‘วีเชพ’ ซึ่งมาพร้อมกับการเพิ่มขึ้นของ ‘เงินเฟ้อ’ ทำให้ธนาคารกลางหลายๆ ประเทศทั่วโลก ต้องเฝ้าติดตามดูการเพิ่มขึ้นของตัวเลขนี้อย่างใกล้ชิด ขณะที่ธนาคารกลางบางประเทศเริ่มส่งสัญญาณลดการผ่อนคลายนโยบายการเงินลง

 

สำหรับประเทศไทย แม้เศรษฐกิจยังมีความอ่อนแอและมีความเสี่ยงสูงที่จะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยซ้ำซ้อน หลังจากโรคโควิด-19 กลับมาแพร่ระบาดใหม่ในระลอกที่ 3 ทำให้ภาครัฐต้องใช้มาตรการดูแลที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งมาตรการเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทรุดตัวลง

 

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยแม้จะยังไม่หลุดพ้นจากภาวะวิกฤต แต่ก็เริ่มเห็น ‘เงินเฟ้อ’ เร่งตัวขึ้นอย่างชัดเจน โดยเดือนเมษายนที่ผ่านมา เงินเฟ้อทั่วไปขยายตัวถึง 3.41% เป็นระดับสูงสุดในรอบ 100 เดือน (8 ปี 4 เดือน) ซึ่งการขยับขึ้นของตัวเลขเงินเฟ้อดังกล่าว สาเหตุหลักๆ มาจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น (+36.38%) แน่นอนว่าส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่ต่ำในปีก่อนด้วย

 

มองไปข้างหน้า แนวโน้มเงินเฟ้อในประเทศไทยยังมีโอกาสที่จะสูงขึ้นจากราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ในตลาดโลก เช่น เหล็ก และทองแดง ที่ทะยานขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจเป็นแรงกดดันต่อสถานการณ์เงินเฟ้อของไทยในระยะข้างหน้า จึงกลายมาเป็นประเด็นว่า ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น (Stagflation) หรือไม่ 

 

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เกียรตินาคินภัทร

 

ไทยเสี่ยงเผชิญ Stagflation แนะเร่งดันเศรษฐกิจฟื้น

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า ถ้าตามนิยามของคำว่า Stagflation ก็ถือว่ากำลังจะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทย เพราะเงินเฟ้อของเราเริ่มสูงขึ้นตามต้นทุนพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น เพียงแต่ภาวะนี้ถ้าเป็นภาพเศรษฐกิจโดยรวมๆ อาจเกิดเพียงชั่วคราวเท่านั้น 

 

“อยากชี้นิดหนึ่งว่า ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนเมษายนกับพฤษภาคมเป็นผลจากฐานล้วนๆ เพราะราคาน้ำมันในช่วงเดียวกันของปีก่อนร่วงลงจนติดลบ เราจึงเห็นเดือนเมษายนเงินเฟ้อพุ่งสูงถึง 3.4% และก็คาดว่าของเดือนพฤษภาคมจะสูงถึง 3.5% แต่หลังจากนั้นในเดือนมิถุนายน-สิงหาคม น่าจะลดลงเหลือเติบโตราวๆ 1% เศษๆ โดยภาพรวมๆ จึงยังไม่ใช่เรื่องน่ากังวลนัก”

 

อย่างไรก็ตาม พิพัฒน์บอกว่า เรากำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวและไปคนละทางกับเศรษฐกิจไทย เพราะเวลานี้ทั่วโลกกำลังเตรียมเปิดประเทศ แต่ของไทยยังไม่สามารถเปิดได้ สิ่งที่เห็นคือ เศรษฐกิจโลกดีขึ้นชัดเจน แต่ของไทยไม่ได้เป็นเช่นนั้น 

 

ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับภาวะที่ราคาพลังงานสูงขึ้น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์แพงขึ้น ซึ่งสินค้าเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราต้องนำเข้าทั้งนั้น อีกทั้งยังไม่สามารถผลักภาระไปยังผู้บริโภคได้ สถานการณ์ทั้งหมดจึงบ่งชี้ว่า ภาคอุตสาหกรรมของไทยบางกลุ่มกำลังเผชิญกับภาวะ Stagflation อยู่ในปัจจุบัน

 

“น่าเป็นห่วงตรงที่ภาคอุตสาหกรรมของเราจะสามารถส่งผ่านต้นทุนไปยังผู้บริโภคได้หรือไม่ เพราะตอนนี้ผู้ประกอบการหลายๆ รายเริ่มมีปัญหา โดยเฉพาะกลุ่มค้าเหล็กและทองแดง ซึ่งกลุ่มเหล่านี้กำลังเผชิญกับภาวะ Stangflation แต่ยังไม่ถึงขั้นทำให้เศรษฐกิจไทยโดยรวมๆ เผชิญภาวะดังกล่าว เพราะทั้งเหล็กและทองแดงมีน้ำหนักในตะกร้าเงินเฟ้อน้อยมาก”

 

อย่างไรก็ตาม หากอยู่ๆ ราคาน้ำมันปรับขึ้นแรง ก็มีความเป็นไปได้เช่นกันว่าเศรษฐกิจไทยจะเผชิญกับภาวะดังกล่าวด้วย เพราะน้ำมันมีผลต่อเงินเฟ้อไทยค่อนข้างมาก เช่นเดียวกัน ถ้าเงินบาทอ่อนค่าลงค่อนข้างมาก ก็จะทำให้เงินเฟ้อไทยสูงขึ้นด้วย

 

พิพัฒน์กล่าวยอมรับว่า ในเชิงการทำนโยบาย ภาวะดังกล่าวถือเป็นโจทย์ยากต่อการแก้ไขปัญหา เพราะนโยบายการเงินคงไม่สามารถปรับขึ้นดอกเบี้ยได้ เนื่องจากจะเป็นการซ้ำเติมความยากลำบากของผู้คนในยามที่เศรษฐกิจยังอ่อนแอ สิ่งที่ทำได้คือ ต้องเร่งให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก ดังนั้นทางเดียวที่ต้องทำคือ การเร่งเปิดประเทศให้เร็วที่สุด

 

“ภาวะแบบนี้ถือเป็นโจทย์ที่แก้ยากสุดในเชิงนโยบาย วิธีแก้เดียวคือ ต้องทำให้เศรษฐกิจเราโตตามชาวบ้าน เพราะนี่คืออาการของเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวแต่เราไม่ฟื้น ก็เหมือนกับว่า คนอื่นเขาไปปาร์ตี้กันหมดแล้ว เหลือแต่เรายังนั่งเหงาอยู่กับบ้านคนเดียว”

 

นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต 

 

ห่วงเงินบาทอ่อนกดดันภาวะ Stagflation

นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต กล่าวว่า มีความเป็นไปได้เช่นกันที่จะเกิดภาวะ Stagflation ในประเทศไทย หากเงินบาทอ่อนค่าลงไปมากๆ หรือราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกปรับขึ้นรุนแรง เพราะเราต้องนำเข้าสินค้าเหล่านี้มาบริโภคภายในประเทศ

 

“หากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันหรือเหล็กปรับขึ้นไปมากๆ ตรงนี้จะมีผลต่อราคาขายในประเทศด้วย ยิ่งถ้าเงินบาทอ่อนค่าลงไปมากๆ ก็จะส่งผลให้ราคาขายสินค้าเหล่านี้ในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นด้วย หากเป็นเช่นนั้นเราก็คงอาจได้เห็นภาวะ Stagflation ได้เช่นกัน”

 

นริศกล่าวด้วยว่า ถ้าดูการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อในประเทศไทยรอบนี้ (ตัวเลขเดือนเมษายน) ส่วนใหญ่มาจากราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ จึงเป็นลักษณะของ Cost Push คือ ต้นทุนผลักดันให้เงินเฟ้อสูงขึ้น ซึ่งไม่ได้เกิดจาก Demand Pull หรือความต้องการซื้อของคนที่ดึงให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น จึงเชื่อว่าเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นในรอบนี้จะไม่กดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินแต่อย่างใด

 

“ถ้าดูในตะกร้าเงินเฟ้อ จะเห็นว่าตัวที่ดันขึ้นคือราคาพลังงานและอาหารสด แต่ถ้าเป็นพวกค่าเช่าบ้าน ค่าเดินทาง พวกนี้ปรับตัวลดลงและดึงเงินเฟ้อไม่ให้พุ่งขึ้นแรงมาก ผลกระทบต่อตลาดเงินจึงเชื่อว่า ตลาดน่าจะแยกแยะออกได้ และทำให้บอนด์ยีลด์ (ผลตอบแทนพันธบัตร) ของไทยไม่ได้เร่งตัวเร็วเกินไป”

 

อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย 

 

แนะรัฐเร่งนโยบายคลังสกัดเงินเฟ้อสูง

อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า แม้เงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้นค่อนข้างมาก แต่เบื้องต้นมองว่าอาจจะเป็นเพียงภาวะชั่วคราว และระดับของเงินเฟ้อในปัจจุบันก็ยังไม่สูงจนทำให้ไทยเข้าสู่ภาวะ Stagflation แต่ทั้งนี้ก็เป็นเรื่องที่เราไม่ควรประมาท ซึ่งถือเป็นโจทย์ใหญ่ของภาครัฐที่ต้องเริ่มดูว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เงินเฟ้อสูงขึ้นมากจนเกินไป

 

“เงินเฟ้อส่วนใหญ่ของบ้านเรานำเข้าจากต่างประเทศผ่านราคาน้ำมันและราคาอาหารสด (ที่มักปรับขึ้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์) ปัญหาของบ้านเราแน่นอนว่า เงินเฟ้อมีแนวโน้มขยับขึ้น แต่คงไม่แรงจนถึงขั้นเกิด Stagflation เพียงแต่สิ่งที่กังวลคือ เงินเฟ้อที่เริ่มสูงขึ้นแล้วผู้ประกอบการไม่สามารถผลักภาระนี้ไปยังผู้บริโภคได้ คนที่ได้รับผลกระทบก็คือตัวผู้ประกอบการเอง”

 

อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อที่สูงขึ้นไม่ใช่ทุกคนจะโดนผลกระทบหมด เพราะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์มักจะทำให้ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวขึ้นตามไปด้วย ที่ผ่านมาเราจึงเห็นรายได้เกษตรกรทยอยฟื้นตัวดีขึ้น 

 

อมรเทพย้ำว่า โจทย์ใหญ่ของภาครัฐจึงอยู่ที่ว่าจะใช้มาตรการอะไรมาดูแลเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจากต้นทุนสินค้าที่ขยับขึ้น ถือเป็นโจทย์ที่ยากในการแก้ไข เพราะการจะใช้นโยบายการเงินโดยการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดูแลเงินเฟ้อคงทำไม่ได้ ดังนั้นเราต้องหวังพึ่งนโยบายการคลังเพื่อดูแลการลดภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ

 

“Stagflation เป็นภาวะที่เงินเฟ้อขึ้นแรง พร้อมกับเศรษฐกิจที่ถดถอย แต่วันนี้เงินเฟ้อเรายังขึ้นมาเพียงแค่ 3% เศษๆ และมองว่าเป็นการขึ้นแค่ชั่วคราว จึงยังไม่ถือเป็น Stagflation เพียงแต่ก็เป็นสัญญาณเตือนว่า หากเราไม่ทำอะไรเลย หรือไม่เร่งทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว เราก็อาจโดนผลกระทบได้ จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรนิ่งนอนใจ ซึ่งผมเห็นว่าภาครัฐต้องพยายามใช้นโยบายการคลังมาช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน”

 

ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC)

 

EIC ห่วงเงินเฟ้อดันบอนด์ยีลด์พุ่ง ทำตลาดเงินเริ่มตึงตัว

ด้าน ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า เชื่อว่าภาวะ Stagflation ยังไม่น่าเกิดกับเศรษฐกิจไทย เพราะเงินเฟ้อแม้จะขึ้นมาแรง แต่ถ้าดูไส้ในส่วนใหญ่มาจากราคาน้ำมันเป็นหลัก ซึ่งเป็นผลจากฐานปีก่อนที่อยู่ระดับต่ำ ขณะที่ราคาสินค้าอื่นๆ ยังหดตัว สะท้อนกำลังซื้อของคนที่อ่อนแอ

 

“ถ้าดูตัวเลข 4 เดือนแรกของปีนี้ หากตัดหมวดที่เกี่ยวข้องกับพาหนะและการสื่อสารออกไป หมวดอื่นๆ ยังติดลบอยู่ราว 0.4% เราจึงยังไม่เข้าข่าย Stagflation และเราก็เชื่อว่า เงินเฟ้อที่มาจากราคาน้ำมันอาจจะสูงแค่ช่วงนี้จากฐานปีก่อนที่ต่ำ หลังจากนั้นก็คงค่อยๆ ลดลง ซึ่ง EIC ยังมองคาดการณ์เงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีที่ 1.3% ที่เราห่วงมากกว่าคือภาวะเงินฝืด”

 

สำหรับประเด็นที่ห่วงในขณะนี้คือ เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 อาจชะลอตัวหนักมาก จากผลกระทบโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยทาง EIC ประเมินว่า หากสถานการณ์ยืดเยื้อไม่สามารถควบคุมได้ภายใน 3 เดือน อาจกระทบต่อการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจที่หายไปราว 2.5 แสนล้านบาท ขณะที่มาตรการเยียวยาของรัฐที่ออกมามีวงเงินราว 2.4 แสนล้านบาท และส่วนใหญ่เกิดขึ้นช่วงครึ่งปีหลัง ถ้าเป็นเช่นนั้นมีความเป็นไปได้สูงที่จะเห็นการถดถอยของเศรษฐกิจในเชิงเทคนิค

 

นอกจากนี้อีกประเด็นที่ต้องกังวลคือ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวได้เร็วและมาพร้อมกับเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นแรง ทำให้บอนด์ยีลด์ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อบอนด์ยีลด์ของไทยที่ขยับขึ้นตาม ซึ่งตรงนี้กระทบต่อตลาดเงินที่ตึงตัวมากขึ้น การแก้ปัญหาที่ทำได้คือ ธปท. อาจต้องเข้าไปแทรกแซงในตลาดพันธบัตร เพื่อชะลอการเพิ่มขึ้นของบอนด์ยีลด์

 

ทำความรู้จักภาวะ Stagflation

Stagflation คือ ภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวแต่เงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้น โดยคำว่า Stagflation เป็นการรวบคำระหว่างคำว่า Stagnation (ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว) กับ Inflation ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกเศรษฐกิจที่กำลังอยู่ในภาวะชะลอตัว เช่น อาจเกิดจากอัตราการว่างงานที่สูงขึ้น และยังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อสูงในเวลาเดียวกัน โดยภาวะแบบนี้ถือเป็นการซ้ำเติมประชาชน เพราะนอกจากรายได้จะชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจแล้ว ยังต้องเผชิญกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นด้วย

 

ภาวะ Stagflation เกิดขึ้นครั้งแรกในสหรัฐฯ เมื่อปี 1970 โดยช่วงนั้นเงินเฟ้อของสหรัฐฯ สูงเกินกว่า 10% ท่ามกลางอัตราการว่างงานที่สูงเกือบๆ จะ 10% สาเหตุหลักของการเกิดภาวะ Stagflation ในช่วงนั้น เป็นผลจากราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้น ซึ่งโดยปกติแล้วทั้ง 2 เหตุการณ์นี้มักไม่เกิดขึ้นพร้อมกัน กล่าวคือ ปกติแล้วถ้า การว่างงานสูง เงินเฟ้อมักจะต่ำ (เพราะคนไม่มีกำลังซื้อ) หรือถ้าการว่างงานต่ำ เงินเฟ้อมักจะสูง (เพราะคนมีกำลังในการจับจ่ายใช้สอย) แต่ในช่วงนั้นเกิดปัญหาอุปทานราคาน้ำมัน จึงทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นและมีผลต่อเงินเฟ้อ  

 

ด้วยเหตุนี้ภาวะ Stagflation จึงเป็นเรื่องที่หลายประเทศกังวล เพราะการแก้ปัญหาจะค่อนข้างยากและกินเวลายาวนาน โดยเหตุการณ์ภาวะ Stagflation ที่เกิดกับสหรัฐฯ ในปี 1970 ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าทุกอย่างจะกลับมาเป็นปกติ

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising