×

ผิวแพ้ง่าย กลับมาแข็งแรงได้ แค่เข้าใจและเลือกบำรุงผิวอย่างถูกวิธี

01.03.2021
  • LOADING...
ผิวแพ้ง่าย กลับมาแข็งแรงได้ แค่เข้าใจและเลือกบำรุงผิวอย่างถูกวิธี

HIGHLIGHTS

2 mins. read
  • รู้จักต้นตอของปัญหาผิวแพ้ง่าย ที่เกิดจากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกที่อยู่ล้อมรอบตัวเรา รวมถึงแนะวิธีรักษาและเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์

ปัญหาผิวแพ้ง่ายกลายเป็นปัญหาที่เริ่มขยายวงกว้างมากขึ้นทุกที เพราะโลกเปลี่ยนไปทุกวัน ทำให้ผิวเสี่ยงที่จะไวต่อสิ่งรบกวนภายนอกได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะสารเคมีและสภาพอากาศ รวมถึงฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ไม่เคยหายไป ส่งผลให้ผิวหนังเกิดอาการผื่นแดง บางคนมีตุ่มนูน แสบ คัน และทำให้ผิวลอกได้ แม้มันจะเป็นปัญหาผิวที่ดูน่ารำคาญ จะใช้ผลิตภัณฑ์อะไรก็ลำบาก เพราะบางคนแพ้ส่วนประกอบบางอย่างในผลิตภัณฑ์ แต่ถ้าหากเราทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งกับผิวแพ้ง่าย ผิวของเราก็สามารถ กลับมาแข็งแรงได้เหมือนเดิม ขอเพียงไม่ยอมแพ้ มีวินัยในการดูแลผิว และเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ 

 

รู้จักต้นตอของผิวแพ้ง่าย

We Say: นอกจากปัจจัยภายนอก เช่น สิ่งแวดล้อม แสงแดด มลพิษทางอากาศ สารเคมีจากผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง รวมถึงผลข้างเคียงจากการรักษาโรคบางอย่างที่ต้องรับประทานยา หรือรักษาด้วยวิธีการเลเซอร์ ก็ส่งผลให้ผิวแห้งและบอบบางกว่าเดิมได้แล้ว ปัจจัยภายในก็มีส่วนสำคัญอย่างมากที่ก่อให้เกิดผิวแพ้ง่ายได้เช่นกัน อาทิ กรรมพันธุ์ หรือเป็นโรคที่มีความผิดปกติทางผิวหนังต่างๆ เช่น ผิวหนังอีกเสบ ผิวระคายเคืองจากสิ่งกระตุ้นภายนอก เช่น น้ำ ความร้อน ความเย็น ความชื้นในอากาศ รวมถึงลมพิษ และผื่นผิวหนังอักเสบ ก็ล้วนเป็นสาเหตุของอาการผิวแพ้ง่ายได้ทั้งสิ้น

 

สำหรับบางคนหากยังไม่ทราบแน่ชัดว่าผิวของตัวเองนั้นไวต่อสิ่งกระตุ้นตัวไหนกันแน่ บริษัท Kanebo ประเทศญี่ปุ่น ที่ศึกษาวิจัยอย่างตั้งใจ โดยใช้เวลากว่า 40 ปีเพื่อให้เข้าใจผิวแพ้ง่ายแนะนำว่า อาจจะเริ่มจากการหลีกเลี่ยงปัจจัยหลักๆ ที่อาจทำให้ทุกสภาพผิวระคายเคืองได้ เช่น แสงแดด, อากาศที่ร้อนหรือหนาวจัด, ผลิตภัณฑ์ผลัดเซลล์ผิวที่เข้มข้นสูง เช่น AHA Retinol, การใส่เสื้อผ้าเนื้อหนา และรัดรูปจนเกินไป, การทำความสะอาดผิวไม่หมดจด, การเช็ดถูผิว รวมถึงหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีสารก่อระคายเคือง ซึ่งมักกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ เช่น แอลกอฮอล์, พาราเบน (สารกันเสีย), สี, น้ำหอม เป็นต้น

 

เช็กให้ชัวร์ว่าตัวเองเป็นคนที่ผิวแพ้ง่ายหรือไม่

We Say: การเช็กให้ชัวร์นั้นทำได้หลายวิธี แต่ต้องไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะสามารถเช็กการแพ้ได้หลายวิธี เช่น ใช้ Patch Test ที่เป็นวิธียอดนิยมในการทดสอบภูมิแพ้ผิวหนัง แพทย์จะปิดแผ่นแปะผิวหนังที่ป้ายสารก่ออาการแพ้ 20-30 ชนิดเพื่อทำการทดสอบ และทิ้งไว้นาน 48 ชั่วโมง (ระหว่างนี้ห้ามโดนน้ำและห้ามโดนเหงื่อ) หากครบกำหนดแล้วพบว่าผิวหนังเกิดผื่นแดงแสดงว่าผู้รับการทดสอบแพ้สารชนิดนั้นๆ อีกวิธีคือการสะกิด ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้ตรวจสารก่อภูมิแพ้ได้มากถึง 40 ชนิดในครั้งเดียว วิธีการคือแพทย์จะหยดสารทดสอบที่คาดว่าจะก่อให้เกิดอาการแพ้ไว้ตามท้องแขนหรือแผ่นหลัง จากนั้นจะใช้เข็มสะกิดผิวแล้วทิ้งไว้ 15 นาที หากตำแหน่งที่แพ้จะปรากฏเป็นผื่นแดงหรือตุ่มคล้ายยุงกัด และอีกวิธีคือการตัดชิ้นเนื้อจากผิวหนังส่งตรวจ โดยการส่องกล้องจุลทรรศน์เพื่อหาสาเหตุของอาการผิดปกติ 

 

รับมือกับผิวแพ้ง่าย ด้วยความเข้าใจและรักษาถูกวิธี

We Say: จากบทความสุขภาพของเว็บไซต์พบแพทย์ระบุว่า วิธีการรับมือกับผิวแพ้ง่ายนั้นทำได้หลายวิธี อาทิ เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้า รวมถึงสกินแคร์และเครื่องสำอางที่มีความอ่อนโยนต่อผิวเป็นหลัก และต้องปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของตัวเองเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาผิวแพ้ง่าย ซึ่งทำได้ดังนี้ 

 

  • ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำหอม แอลกอฮอล์ และส่วนผสมที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ เช่น เรตินอยด์ กรดอัลฟาไฮดรอกซี (Alpha-Hydroxy Acids: AHA) ทัลคัม (Talc) ไมกา (Mica) สารเคมีระงับกลิ่นกาย รวมถึงสารเคมีที่มีคุณสมบัติทำลายหรือยับยั้งแบคทีเรีย
  • ไม่ผลัดเซลล์ผิวบ่อยๆ หากต้องการผลัดเซลล์ผิว ควรทำภายใต้การดูแลของแพทย์ 
  • หลีกเลี่ยงเครื่องสำอางแบบกันน้ำ หรือเครื่องสำอางที่มีสารกันเสียเป็นส่วนประกอบ ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์หมดอายุ 
  • หลีกเลี่ยงแสงแดด หมั่นทำความสะอาดที่นอน ปลอกหมอน ผ้าปูที่นอนเสมอ
  • เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมและอ่อนโยนต่อผิว

 

การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนและเหมาะสมกับผิวแพ้ง่ายอาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยปกป้องผิวและเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับผิว และให้เช็กดูว่าผลิตภัณฑ์นั้นต้องผ่าน อย. ควรใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ที่มีผิวแพ้ง่ายโดยเฉพาะ และต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการทดสอบและได้รับการยืนยันว่าไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ อย่าลืมทาครีมกันแดดที่มีค่าป้องกันแสงแดด หรือ SPF ตั้งแต่ 30 ขึ้นไปเป็นประจำ โดยเฉพาะก่อนออกแดด ควรเลือกครีมกันแดดสูตร Non-Chemical  

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • Freeplus
  • Pobpad
  • Healthline.com
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X