×

‘ศิริกัญญา’ เปิดที่มาแหล่งเงินใช้ทำ Digital Wallet วงเงิน 5.6 แสนล้านบาท ชี้มาจากการกู้แบงก์ออมสิน

26.09.2023
  • LOADING...
ศิริกัญญา ตันสกุล

รู้แล้วที่มางบทำ Digital Wallet มาจากการกู้แบงก์ออมสิน ขยายกรอบวินัยการเงินการคลังขึ้นไปเป็น 45% ของงบปี 2567 จากเดิม 32% ไม่ได้มาจากงบประมาณตามที่ได้หาเสียง

 

ศิริกัญญา ตันสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) บัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคก้าวไกล เปิดเผยผ่านรายการ THE STANDARD NOW ว่า ที่มาของแหล่งเงินที่จะนำมาใช้เพื่อดำเนินนโยบาย Digital Wallet วงเงิน 5.6 แสนล้านบาท จะมาจากการกู้แบงก์รัฐ คือ ธนาคารออมสิน โดยการขยายกรอบวินัยการเงินการคลังตามมาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ ขึ้นไปเป็น 45% ของงบประมาณปี 2567 จากเดิม 32% ไม่ได้มาจากงบประมาณตามที่ได้หาเสียงของพรรคเพื่อไทย 

 

เนื่องจาก เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ให้ข้อมูลว่าจะขยายกรอบวินัยการเงินการคลัง อีกทั้งพรรคก้าวไกลได้ตรวจสอบกลับไปอีกครั้งเพื่อยืนยันความถูกต้องของข้อมูลตามที่เคยได้มีกระแสข่าวมาก่อนหน้านี้ ทำให้เชื่อได้ว่าจะเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง

 

สำหรับมาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ เปรียบเป็นเหมือนกับบัตรเครดิตของนายกรัฐมนตรีที่ถูกนำมาใช้สำหรับความจำเป็นในการใช้จ่าย

“จากแหล่งข่าวที่ให้ข้อมูลบอกว่า เงินที่จะใช้ทำ Digital Wallet จะมาจากการกู้ธนาคารออมสิน ส่วนการยืนยันต้องให้รัฐบาลออกมายืนยันว่าจะกู้แบงก์รัฐไหน แต่คอนเฟิร์มข้อมูลแล้วว่าเงินที่จะใช้ไม่ได้มาจากงบประมาณแน่ จะเป็นการกู้แบงก์รัฐ 100%”

 

สำหรับการกู้เงินจากธนาคารออมสินจะมีข้อดีคือ จะได้เงินครบตามจำนวนที่ต้องการ อีกทั้งหนี้ที่เกิดจากการกู้แบงก์รัฐจะไม่ถูกนับเป็นหนี้สาธารณะตามกฎหมาย แต่สุดท้ายการกู้ดังกล่าวก็จะเป็นภาระของรัฐบาลและประชาชนในอนาคต

 

ส่วนข้อเสียมีดังนี้ 

  1. เป็นหนี้อย่างไรก็ต้องจ่ายคืน ทุกวันนี้ต้องจ่ายคืนปีละเกือบแสนล้านบาทให้กับ ธ.ก.ส. และรัฐวิสาหกิจอื่นๆ อยู่แล้ว ถ้าจ่ายคืนออมสินปีละ 5 หมื่นล้านบาทก็เป็นภาระไปอีก 10 ปี รวมแล้วงบประมาณต้องใช้คืนหนี้ทั้งหมดก็จะพุ่งไปราว 5 แสนล้านบาท เบียดบังงบประมาณที่ต้องใช้พัฒนาประเทศอื่นๆ

 

  1. ใช้งบประมาณสูงมากโดยไม่ต้องผ่านสภา ใช้แค่มติ ครม. ก็สามารถกู้เงินได้ทันที ไม่ต้องมีการตรวจสอบใดๆ การกู้ผ่านมาตรา 28 ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะทั้งจำนวน หน่วยงานเจ้าหนี้ และภาระการคืนเงินต้นและดอกเบี้ย

 

  1. กระทบกรอบวินัยการเงินการคลัง ที่ต้องการจำกัดการใช้เงินนอกงบและนโยบายกึ่งการคลังให้น้อยลง

 

  1. สภาพคล่องของธนาคารออมสินอาจมีปัญหา ทั้งจากการระดมทุนเวลานี้และหากรัฐไม่ใช้คืนตามสัญญา ซึ่งสถานการณ์ปัญหาดังกล่าวธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. เจอมาโดยตลอด ซึ่งจะทำให้บริหารเงินสดได้ยากลำบาก

 

อยากถามนายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐว่า ท่านรู้ตัวไหมว่ากำลังทำอะไรอยู่

 

สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามตรวจสอบต่อไปคือ รัฐบาลจะมีเงื่อนไขอย่างไรในการนำเงินกู้จากธนาคารออมสินใช้ ทั้งในด้านผลตอบแทนที่เป็นดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายคืนให้กับธนาคารออมสินในฐานะผู้ให้กู้ รวมถึงติดตามปัญหาสภาพคล่องของไทยที่กำลังขาดปัญหาสภาพคล่อง หลังนักลงทุนต่างชาติเทขายตราสารหนี้ของไทยออกมาต่อเนื่อง หากธนาคารออมสินมีเงินไม่เพียงพอในการปล่อยกู้อาจมีความจำเป็นต้องมาระดมเงินผ่านตลาด ขณะที่ปัจจุบันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของไทย (Government Bond Yield) มีการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่นายกรัฐมนตรีแถลงนโยบายในวันรับตำแหน่ง รวมถึงการรักษากรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐบาล

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising