×

สิงคโปร์สั่งปรับ Grab และ Uber รวม 13 ล้านเหรียญ เหตุผูกขาดการให้บริการหลังควบรวมกิจการ

24.09.2018
  • LOADING...

คณะกรรมการด้านการแข่งขันและผู้บริโภคของประเทศสิงคโปร์ (Competition and Consumer Commission of Singapore: CCCS) สั่งปรับผู้ให้บริการร่วมเดินทาง Ride-Hailing อย่าง Grab และ Uber รวม 13 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 422 ล้านบาท เนื่องจากมองว่า การควบรวมกิจการของทั้งคู่เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม และผูกขาดการให้บริการ

 

ถ้ายังจำกันได้ เดือนมีนาคมที่ผ่านมา Uber ตัดสินใจขายกิจการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมดให้ Grab เพื่อแลกกับการได้ถือครองหุ้นบริษัท Grab กว่า 27.5% พร้อมเปิดทางให้ ดารา คอสราวชาฮี ซีอีโอของ Uber ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นหนึ่งในบอร์ดบริหารของ Grab

 

ด้วยเหตุนี้ CCCS จึงตัดสินใจสั่งปรับ Grab และ Uber เป็นจำนวนเงิน 6.58 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 6.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ โดยให้เหตุผลตามแถลงการณ์ว่า การควบรวมกิจการของทั้งคู่ถือเป็นการลดการแข่งขันในตลาดผู้ให้บริการร่วมเดินทางของประเทศ มีความผิดตามมาตรา 54 ว่าด้วยกฎหมายด้านการแข่งขันของธุรกิจการค้า

 

โท ฮาน ลี ผู้บริหารประจำคณะกรรมการด้านการแข่งขันและผู้บริโภคของประเทศสิงคโปร์กล่าวว่า “การรวมกิจการของทั้งคู่ถือเป็นการลดการแข่งขันของผู้ให้บริการเป็นอย่างมาก และถือเป็นเรื่องที่ห้ามกระทำ CCCS จึงต้องดำเนินการต่อต้านการควบกิจการของ Grab และ Uber เพราะ Grab ได้ตัดคู่แข่งรายสำคัญของตัวเองไป ส่งผลให้เกิดความเสียหายกับทั้งคนขับและผู้โดยสาร บริษัทต่างๆ สามารถสร้างนวัตกรรมในตลาดนี้ได้ผ่านวิธีการอื่นๆ ที่ไม่ใช่การควบรวมกิจการ”

 

คณะกรรมการด้านการแข่งขันและผู้บริโภคของประเทศสิงคโปร์ยังได้กำชับผู้ให้บริการร่วมเดินทางทั้ง 2 ราย ต้องช่วยกันลดผลกระทบจากการรวมกิจการของทั้งคู่ที่ส่งผลต่อคนขับและผู้โดยสารให้ได้มากที่สุด เพื่อเปิดตลาดให้ผู้เล่นใหม่ๆ เข้ามาแข่งขันได้ เช่น ยกเว้นการผูกขาดการให้บริการของ Grab กับแท็กซี่ทุกรายในสิงคโปร์, เปิดอิสระให้คนขับสามารถไปขับรถให้บริการกับผู้ให้บริการรายอื่นๆ, คงระดับผลตอบแทนคนขับให้อยู่ในราคาเท่าเดิมก่อนที่จะรวมกิจการ และให้ Uber ขายรถของตัวเองจากผู้ให้บริการเช่ายืมรถ Lion City Rentals ให้ผู้ให้บริการร่วมเดินทางรายอื่นๆ

 

ปัจจุบันมีรายงานว่า Grab ครองสัดส่วนตลาดผู้ให้บริการร่วมเดินทางในสิงคโปร์มากกว่า 80% ขณะที่ผู้ให้บริการรายอื่นๆ อย่าง Ryde, Kardi, TADA ฯลฯ มีส่วนแบ่งทางการตลาดลดหลั่นกันไป เท่ากับว่า Grab แทบจะผูกขาดตลาดนี้แบบเบ็ดเสร็จแล้วก็ว่าได้ นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ CCCS ต้องลงมาจัดการกับปัญหาความไม่เป็นธรรมด้านการค้าด้วยตัวเอง

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising