×

ทนายนกเขาควงจตุพรยื่นจดหมายถึง โจ ไบเดน ขอสหรัฐฯ หยุดแทรกแซง-หวั่นมิตรประเทศมองไทยเลือกข้าง

โดย THE STANDARD TEAM
12.05.2022
  • LOADING...
ทนายนกเขา

วันนี้ (12 พฤษภาคม) นิติธร ล้ำเหลือ หรือ ทนายนกเขา แกนนำกลุ่มประชาชนคนไทย (ปท.) พร้อมด้วย จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และเครือข่ายภาคประชาชน เดินทางไปยื่นหนังสือถึง โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เพื่อเรียกร้องยกเลิกแถลงการณ์ร่วมไทย-สหรัฐฯ และพันธกรณีจากแผนยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก และองค์การ NATO-2

 

โดยกลุ่มรวมประชาชนมีข้อกังวลว่าจะเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนจากนานามิตรประเทศว่า ประเทศไทยไม่รักษาดุลยภาพของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หากเกิดความขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธขึ้นภายในภูมิภาคนี้ จึงขอเรียกร้องมายังรัฐบาลและประชาชนของสหรัฐฯ ดังนี้

 

  1. ยกเลิกแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมระหว่างไทย-สหรัฐฯ ค.ศ. 2020 ว่าด้วยการยกระดับความเป็นพันธมิตรและความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันประเทศเพื่อร่วมต่อต้านศัตรู เนื่องจากผู้แทนรัฐบาลไทยไปลงนามโดยไม่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา และประชาชนไม่ทราบในรายละเอียดและข้อเท็จจริง จนสร้างผลกระทบต่อความสัมพันธ์อันดีกับมิตรประเทศอื่นๆ ของไทย 

 

  1. ยกเลิกพันธกรณีที่มีผลสืบเนื่องมาจากยุทธศาสตร์ดังกล่าวและพันธกรณีที่มีผลสืบเนื่องไปสู่การจัดตั้งองค์กร NATO-2 ขึ้นในอาเซียน 

 

  1. ขอให้สหรัฐฯ ยุติการอ้างสนธิสัญญา ข้อตกลง แถลงการณ์ร่วม เพื่อนำไปสู่บทสรุปแต่เพียงฝ่ายเดียวว่า ประเทศไทยจะเป็นพันธมิตรร่วมรบหรือเลือกอยู่ข้างสหรัฐฯ ในการต่อต้านศัตรู ย่อมไม่ถือเป็นมารยาททางการทูตที่ดีต่อมิตรประเทศ เนื่องจากเป็นเป้าหมายยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ แต่เพียงฝ่ายเดียว รวมทั้งจะก่อปัญหาให้เกิดกับประเทศไทย ดังนั้นสหรัฐฯ จึงไม่ควรกระทำการดังกล่าวซ้ำอีก

 

  1. หากสหรัฐฯ จะอาศัยข้ออ้างในการประชุมสุดยอดสหรัฐฯ และผู้นำอาเซียนสมัยพิเศษเพื่อดำเนินการใดๆ ร่วมกับ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา จนก่อให้เกิดข้อสงสัยในความสัมพันธ์อันดีของประเทศไทยกับมิตรประเทศอื่นๆ อันเสมือนเป็นการเลือกข้างนั้น ย่อมถือเป็นการกระทำโดยไม่ได้รับฉันทานุมัติจากปวงชนชาวไทย และประชาชนชาวไทยจะร่วมคัดค้านอย่างถึงที่สุด

 

ทั้งนี้ กลุ่มรวมประชาชนจึงเรียนมาเพื่อขอยืนยันว่า ประชาชนไทยยังคงความเป็นมิตรกับสหรัฐฯ อันถือเป็นความสัมพันธ์ต่อเนื่องยาวนานกว่า 600 ปี บนพื้นฐานความร่วมมือในหลากหลายมิติที่ต้องเคารพยอมรับความมีอธิปไตย ให้เกียรติซึ่งกันและกันอย่างเท่าเทียม และประเทศไทยยึดมั่นในนโยบายต่างประเทศที่เป็นอิสระ พร้อมเป็นพันธมิตรกับทุกประเทศ ยึดมั่นในเส้นทางของการพัฒนาอย่างสันติ ยืนหยัดต่อความถูกต้อง เพื่อความก้าวหน้าอย่างยั่งยืนของมวลมนุษยชาติ

 

นิติธรย้ำด้วยว่า หากเป็นการทำเพื่อภาคการท่องเที่ยวหรือภาคเศรษฐกิจ สามารถยอมรับได้ แต่ถ้ากระทำเป็นการแทรกแซงทางการเมือง ประเด็นนี้ยอมรับไม่ได้

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising