×

ผ่าปม ‘ฮั้ว สว.’ เกมอำนาจผ่านกลไกรัฐ เดิมพันด้วยศรัทธาประชาชน

21.05.2025
  • LOADING...
คดีฮั้ว สว.

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การสืบสวนคดีกระบวนการทุจริตในการเลือก สว. หรือ ‘คดีฮั้วเลือก สว.’ ถูกมองเป็น ‘สงครามตัวแทน’ ระหว่างขั้วพลังการเมือง ‘สีแดง’ และ ‘สีน้ำเงิน’ นั้น ส่วนหนึ่งย่อมเป็นเพราะในแต่ละย่างก้าว มีความเกี่ยวเนื่องกับองค์กรและหน่วยงานต่างๆ จึงเสมือนเป็นการใช้กลไกทางอำนาจที่แต่ละฝ่ายการเมืองมีอย่างเต็มกำลัง เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของตน

 

ในภาพรวม เจ้าภาพของคดีฮั้ว สว. คือ คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน ชุดที่ 26 ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างเจ้าหน้าที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) แต่หากมองให้ลึกลงไป จะพบว่า บทบาทและท่าทีของทั้ง 2 องค์กรนี้ ก็ไม่ได้ผสานกันอย่างเป็นเอกภาพ ตรงกันข้าม กลับถูกมองเป็นตัวแทนของ 2 ขั้วพลังการเมืองเสียด้วยซ้ำ

 

บรรยากาศการเลือก สว. ระดับประเทศ เมืองทองธานี

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

ผู้คุมเกม คอยคุมเชิง: กกต.

 

กกต. เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบกระบวนการเลือก สว. ทุกขั้นตอน โดยมี แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. เป็นผู้อำนวยการเลือก สว. ระดับประเทศ ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์และตรวจสอบอย่างหนัก ว่าพบพิรุธมากมายที่โยงใยถึงการฮั้วและโอนเงินให้แก่กัน กกต. จึงไม่อาจหลีกเลี่ยงบทบาทของผู้รับผิดชอบไปได้ ทว่าผลการเลือก สว. 2567 กำลังจะครบ 1 ปี ในอีกไม่นานนี้ (9 กรกฎาคม 2568) ก็ยังไม่ปรากฏความกระจ่างเท่าที่สังคมตั้งคำถาม

 

ในเวลานี้ กกต. จึงมีบทบาทเสมือน ‘กรรมการ’ ผู้คุมเกม ซึ่งถูกวิจารณ์การทำหน้าที่โดยประชาชน หรือ ‘ผู้ชมนอกสนาม’ ว่าไม่ได้เป่านกหวีดหรือยกใบเตือน ทั้งที่มีหลักฐานฟ้องว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำผิดกติกา จึงทำให้ ‘ฝ่ายตรวจสอบ’ ต้องเปิดเกมรุกเพื่อรวบรวมหลักฐานทั้งหมด และผลักดันให้ผู้คุมเกมดำเนินการ

 

แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ตรวจสอบการขนส่งบัตรลงคะแนนเลือก สว.

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

ผู้ตรวจสอบ แต่ถูกเพ่งเล็ง: DSI

 

หลัง DSI ใช้สถานะความเป็นหน่วยงานรัฐบังคับใช้กฎหมายเข้ามาตรวจสอบข้อพิรุธเรื่องการฮั้วเลือก สว. เป็น ‘คดีพิเศษ’ (ซึ่งก็เผชิญอุปสรรคตั้งแต่แรกเริ่ม) นำมาสู่การสืบสวนและรวบรวมหลักฐานอย่างเข้มข้น โดยนำเทคโนโลยี AI ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตร์ มาประมวลหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่ามีการฮั้วและฟอกเงินขึ้นจริง ทั้งเส้นทางการเงินในกลุ่มผู้สมัคร สว. ตลอดจนวุฒิสมาชิกที่ได้คะแนนลำดับหัวตารางของแต่ละกลุ่มอาชีพ ก็มีคะแนนเกาะกลุ่มไล่เลี่ยกัน ทั้งรายชื่อก็ตรงตาม ‘โพย’ ที่เคยปรากฏออกมา

 

ทว่าเมื่อการตรวจสอบกำลังดุเดือด DSI ก็เผชิญ ‘สัญญาณ’ ที่บังคับให้ต้อง ‘แตะเบรก’ เมื่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตามคำร้องที่ สว. เสียงส่วนใหญ่ ยื่นไว้ นำมาสู่คำสั่งให้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หยุดปฏิบัติหน้าที่การกำกับดูแล DSI ที่ต่อมาจะกลายเป็นเชื้อไฟแก่ข้อสงสัยว่า การทำคดีของ DSI เป็นการ “แทรกแซง” และ “กลั่นแกล้ง” สว. ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติอย่างเกินอำนาจหน้าที่หรือไม่

 

 

กลุ่ม สว. สำรอง ยกมือไหว้ขอบคุณ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง หลังคณะกรรมการคดีพิเศษ มีมติเห็นว่าคดีฮั้ว สว. เป็นคดีพิเศษในประเด็นการฟอกเงิน

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 

ผู้ชมนอกสนามที่โดดมาร่วมวง: บรรดานักร้องเรียน

 

น่าสังเกตว่า ภายหลัง พ.ต.อ.ทวี ถูกสั่งหยุดกำกับดูแล DSI ก็เกิดความเคลื่อนไหวจาก ‘ภาคประชาชน’ ทั้งในรูปแบบของนักร้องเรียนเซียนกฎหมายอย่าง ณฐพร โตประยูร ตลอดจน ‘อดีตผู้เล่น’ อย่างบรรดาอดีตผู้สมัคร สว. และ สว. ในบัญชีรายชื่อสำรอง ที่เดินหน้ายื่นร้องเรียนต่อ กกต. และหน่วยงานต่างๆ ในประเด็นการฮั้วเลือก สว. มาอย่างต่อเนื่อง

 

กระนั้นเอง กุสุมาลวตี ศิริโกมุท อดีต สส. 3 สมัย ในฐานะอดีตผู้สมัคร สว. ได้สร้างแรงสั่นสะเทือน โดยการพุ่งเป้าไปที่พรรคภูมิใจไทย และกล่าวอ้างด้วยความมั่นใจว่ามีหลักฐานพิสูจน์ว่า สว. ยอมตนอยู่ใต้อาณัติของพรรคสีน้ำเงิน แถมลงลึกรายละเอียด ตั้งแต่พฤติกรรมของหัวหน้าพรรคที่เรียกบรรดา สว. ไปที่โรงแรมพูลแมน ซอยรางน้ำ เพื่อเซ็นใบลาออกไว้เป็นหลักประกัน ร้อนจนพรรคการเมืองผู้ถูกพาดพิงต้องโต้กลับอย่างเผ็ดร้อน หลังสงวนท่าทีมานาน

 

กุสุมาลวตี ศิริโกมุท เดินทางเข้ายื่นคำร้องยุบพรรคภูมิใจไทย ที่สำนักงาน กกต.

 

ผู้เล่นในเกมที่แพ้ไม่ได้: วุฒิสภา

 

สว. กลุ่มใหญ่ที่ถูกเรียกว่า ‘สว.สีน้ำเงิน’ ได้อาศัยเสียงข้างมากกุมสภาพเสียงโหวตในวุฒิสภามาตั้งแต่แรกเริ่ม แต่เวลานี้ต้องเริ่มเปิดเกมรับ ยิ่งคณะกรรมการสืบสวนฯ รุกหนัก ด้วยการออกหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาถึงที่บ้านพัก เชิญเข้ามาชี้แจงตนเอง สว. กลุ่มนี้ก็โต้กลับทันควัน เร่งฟ้องเจ้าหน้าที่ว่าดำเนินการโดยมิชอบ พร้อมย้ำว่า การตรวจสอบควรเป็นหน้าที่ของ กกต. ไม่ใช่ DSI ยิ่งตอกย้ำด้วยคำร้องที่ทำให้ พ.ต.อ.ทวี ต้องหลุดจากสมการนี้ไป ทำให้เห็นชัดว่า สว. ชุดนี้ ก็ไม่ได้ยอมถูกกระทำโดยง่าย

 

ฟาก สว.เสียงข้างน้อย อย่าง ‘สว.สีขาว’ หรือ ‘สว.พันธุ์ใหม่’ ที่ประกาศจุดยืนเป็นอิสระ ก็พยายามเคลื่อนไหวทีละน้อย ทั้งการเสนอให้เลื่อนวาระพิจารณาบุคคลในองค์กรอิสระออกไปก่อน จนถึงมาตรการรุนแรงอย่างขอให้ สว. ที่ถูกกล่าวหาหยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งแม้แต่ นันทนา นันทวโรภาส หัวหอกของ สว.พันธุ์ใหม่ ยังยอมรับว่า “ต้องลุ้นทุกขั้นตอน” เพราะถูกจำกัดไว้ด้วยคะแนนเสียงซึ่งเป็นตัวชี้ขาดในการประชุมวุฒิสภาทุกนัด

 

 

นันทนา นันทวโรภาส และ ภัทรพงศ์ ศุภักษร หรือ ‘อั๋น บุรีรัมย์’ โชว์เสื้อยืดมีข้อความ “มือปราบ สว.น้ำเงิน”

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

ผู้อยู่เบื้องหลัง ข้อครหารอการพิสูจน์: พรรคการเมือง

 

ในขณะที่การสืบสวนคดีฮั้ว สว. ดำเนินไป อีกฝ่ายที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดคือ พรรคภูมิใจไทย ซึ่งที่ผ่านมาลอยตัวเหนือข้อกล่าวหา กระทั่งคณะกรรมการสืบสวนฯ ลง ‘ดาบแรก’ ด้วยการเปิด 8 ชื่อผู้เกี่ยวข้องกับคดีฮั้ว สว. เพิ่มเติม ว่าเป็นนักการเมืองในสังกัดภูมิใจไทย อาทิ ศุภชัย โพธิ์สุ, นภินทร ศรีสรรพางค์, วาริน ชิณวงศ์ ตามด้วย ‘ดาบสอง’ จากคำร้องยุบพรรคของกุสุมาลวตีและณฐพร เผือกร้อนก็ถูกโยนเข้าใส่พรรคภูมิใจไทยเข้าเต็มมือ

 

แม้ อนุทิน ชาญวีรกูล ในฐานะหัวหน้าพรรคสีน้ำเงิน จะยืนยันความบริสุทธิ์ พร้อมประกาศฟ้องกลับเพื่อปกป้องตนเอง แต่คณะกรรมการสืบสวนฯ ที่สนธิข้อมูลจาก DSI ยังคงมี ‘ไพ่’ ในมืออีกมาก ที่รอวันทิ้งออกมาเรื่อยๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับท่าทีของพรรคภูมิใจไทยเองว่าจะรับมืออย่างไร จะแก้ข้อกล่าวหาอย่างสมเหตุสมผลได้หรือไม่ ก่อนไพ่ที่ผูกมัดตัวมากกว่านี้จะถูกทิ้งออกมาเป็นลำดับถัดไป

 

 

พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร นำคณะ สว. ยื่นสอบจริยธรรมและถอดถอน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ให้ประธานวุฒิสภาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

ความเคลื่อนไหวทั้งหมดก่อขึ้นเป็น ‘นิติสงคราม’ ที่จะกินระยะเวลายาวนาน และขยายรอยร้าวระหว่าง 2 ขั้วการเมืองให้หยั่งลึกลงต่อเนื่อง ในมุมของ ‘ผู้อยู่เบื้องหลัง’ เกมนี้อาจเดิมพันด้วยการช่วงชิงอำนาจและแต้มต่อทางการเมือง

 

แต่สำหรับประชาชนเอง เรื่องนี้เดิมพันด้วยความโปร่งใสและภาพลักษณ์ของฝ่ายนิติบัญญัติ ความยืดเยื้อของคดีที่ไม่ได้รับการพิสูจน์ จะสวนทางกับศรัทธาของประชาชนที่มีแต่จะลดน้อยถอยลงทุกวัน

 

สังคมไทยยังควรเตือนความจำด้วยว่า บ่อเกิดแห่งความขัดแย้งทั้งหมดนี้ ล้วนสืบย้อนไปที่รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ซึ่งกำหนดกติกาการได้มาซึ่ง สว. จากการเลือกกันเองตามกลุ่มอาชีพอย่างซับซ้อน ทว่าเกิด ‘ช่องโหว่’ ในกระบวนการที่รอให้พิสูจน์อยู่

 

หากใช้คำพูดของ สว.นันทนา คือ “ตอนนี้เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่สิ่งที่ต้องคิดดำเนินการต่อไปคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีปัญหา ทำให้เกิดความวิปริตในการได้มาซึ่ง สว.”

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising