×

พันธนาการคดีฟอกเงิน สว.: รอรุกฆาต หรือเปิดโต๊ะเจรจา

07.03.2025
  • LOADING...
การเมืองเรื่องคดีฟอกเงิน สว. เปิดทางให้ DSI สอบสวนภายใน 3 เดือน เป็นพันธนาการและโอกาสต่อรองระหว่างพลังสีแดงกับพลังสีน้ำเงิน

การตีความกฎหมายไทยบ่อยครั้งมีโอกาสได้คำตอบที่มากกว่า ‘หัว’ หรือ ‘ก้อย’ เพราะเมื่อสถานการณ์บังคับให้ต้องเลือกเดินสองทางแพร่ง ที่ไม่ว่าทางไหนผลลัพธ์ก็ดูไม่สู้ดี ก็มักเกิด ‘แพร่งที่ 3’ อุบัติขึ้นมาภายหลังเสมอ

 

เช่นเดียวกับมติของคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ที่โยนโจทย์ให้สังคมลุ้นกันตั้งแต่มีการเลื่อนมติในการประชุมเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 ว่าจะ ‘รับ’ หรือ ‘ไม่รับ’ เรื่องร้องเรียนกรณีพฤติการณ์ไม่สุจริตเที่ยงธรรมของกระบวนการเลือก สว. หรือ ‘การฮั้ว’ เป็นคดีพิเศษหรือไม่ 

 

ผ่านไป 1 สัปดาห์ มติ กคพ. กลับกลายเป็น “ถูกทุกข้อ” คือทั้ง รับและไม่รับ กล่าวคือ กรณีเดียวกันกลับถูกแบ่งแยกเป็น 2 ทาง

 

การเมืองเรื่องคดีฟอกเงิน สว. เปิดทางให้ DSI สอบสวนภายใน 3 เดือน เป็นพันธนาการและโอกาสต่อรองระหว่างพลังสีแดงกับพลังสีน้ำเงิน

สื่อมวลชนเฝ้าติดตามการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษที่กระทรวงยุติธรรม วันที่ 6 มีนาคม 2568

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 

2 กลไกอำนาจ คู่คิดหรือคู่แข่ง?

 

เดิมทีเรื่องร้องเรียนจากบรรดา สว. ในบัญชีรายชื่อสำรอง หรืออดีตผู้สมัคร สว. ที่สอบตก ยื่นมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผลพวงมาจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ล่าช้าในการดำเนินการรับคำร้องจำนวนมากเกี่ยวกับการฮั้ว สว. ขัดต่ออารมณ์ของสังคม ที่รู้สึกว่าหลักฐานต่างๆ ชัดเจนในระดับโจ๋งครึ่ม

 

ครั้น DSI ขยับจะรับมาเป็นคดีพิเศษ พร้อมพยานหลักฐานจำนวนมากที่บ่งชี้ว่าเข้าข่ายความผิดฐานอั้งยี่ ตลอดจนขัดต่อกฎหมายด้านความมั่นคง ก็ถูกตั้งแง่วิพากษ์วิจารณ์จากอีกฝ่าย ว่าเป็นการแทรกแซงบทบาทหน้าที่ขององค์กรอิสระอย่าง กกต. ที่รับผิดชอบการเลือก สว. โดยตรง หากรั้นเดินหน้าต่อก็มีความเสี่ยงทางกฎหมาย

 

กระสุนจึงตกมาที่คณะกรรมการคดีพิเศษ ทั้ง 22 คน ซึ่งไม่ว่าจะเดินทางใดก็มีผู้คัดค้าน ในการประชุมเมื่อวานนี้ (6 มีนาคม) จึงปรากฏภาพที่คณะกรรมการหลายคนซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญต่อมติที่ประชุม กลับไม่ได้มาเข้าร่วมประชุมด้วยตนเอง

 

เก้าอี้ว่างของคณะกรรมการบางคนที่ไม่ปรากฏตัวในการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 

ทั้ง ปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งคราวก่อนตั้งป้อมค้านด้วยเหตุผลทางกฎหมาย รวมถึง อรรษิษฐ์ สันพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่มีรายงานว่าสู้ยิบตา หนนี้ก็กลายเป็นอธิบดีกรมการปกครองเข้าประชุมแทน

 

เมื่อความเห็นแย้งงวดเข้ามาเต็มที่ ผลลัพธ์จึงเกิดเป็นทางแพร่งที่ 3 ด้วยมติ 11 เสียง ชี้ขาดให้กรณี ‘ฮั้ว สว.’ ถูกแบ่งออกเป็น 2 ทาง

 

  • คดีฟอกเงิน ซึ่งมีข้อบ่งชี้จากหลักฐานการใช้เงินอันสะพัดมาจากขบวนการที่ทุจริตการเลือก สว. ส่วนนี้กลายเป็น ‘คดีพิเศษ’ ของ DSI โดยอัตโนมัติ ไม่ต้องผ่านมติ 15 เสียงของคณะกรรมการคดีพิเศษ
  • คดีฮั้วเลือกตั้ง อยู่ในการดูแลของ กกต. โดยตรง

 

มองได้ว่า เป็นมติที่ ‘หาทางลง’ แบ่งสรรอำนาจระหว่าง 2 กลไก คือ DSI และ กกต. สร้างพลวัตทางการเมือง ที่ทั้งกดดัน สว. ชุดปัจจุบันได้บ้าง แต่ไม่ถึงขั้นแตกหักกันสิ้นเชิง

 

สอดคล้องกับคำแถลงหลังจบประชุมของ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการคดีพิเศษ ว่า ไม่เป็นการก้าวล่วงอำนาจของ กกต. แต่ “เป็นการทำงานคู่ขนานประสานงานร่วมมือกัน”

 

ส่วนข้อกล่าวหา อั้งยี่ ซ่องโจร หรือเรื่องความมั่นคง กลับอันตรธานหายไปจากวงประชุม

 

การเมืองเรื่องคดีฟอกเงิน สว. เปิดทางให้ DSI สอบสวนภายใน 3 เดือน เป็นพันธนาการและโอกาสต่อรองระหว่างพลังสีแดงกับพลังสีน้ำเงิน

ภูมิธรรมรับดอกไม้แสดงความขอบคุณและให้กำลังใจจากกลุ่มอดีตผู้สมัคร สว. ที่มาติดตามการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 

ไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมการปกครอง ผู้เข้าร่วมประชุมแทนอรรษิษฐ์ ได้เปิดเผยในรายการ THE STANDARD NOW ว่า ที่ประชุมไม่ได้มีการพูดถึงข้อหาอั้งยี่ซ่องโจรแต่อย่างใด แต่ได้หยิบยกเรื่องความผิดฐานฟอกเงินซึ่งเป็นอำนาจของ DSI และต้องมีทรัพย์สินตั้งแต่ 300 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งมีคณะกรรมการ 11 คนที่เห็นว่าเรื่องของการฟอกเงินอยู่ในอำนาจของ DSI

 

อย่างไรก็ตาม ตัวเขาเองเป็น 1 ใน 4 เสียงของที่ประชุมซึ่งลงมติไม่เห็นด้วยกับการรับเป็นคดีพิเศษฐานฟอกเงิน เพราะมองว่า เรื่องทรัพย์สิน 300 ล้านบาท ยังไม่มีหลักฐานเส้นทางการเงินที่จะโยงไปว่าแต่ละท่านใช้เงินเท่าใด แล้วคูณออกมาเป็นจำนวนเงินที่คาดคะเน

 

“ผมได้ทักท้วงในที่ประชุมไปแล้ว ส่วนคณะกรรมการที่เห็นชอบ ก็เนื่องจากแต่ละคนมีดุลยพินิจที่ต่างกัน เราคงไม่ก้าวล่วง” ไชยวัฒน์ บอกกับ THE STANDARD NOW

 

สร้างพันธนาการ รอวันรุกฆาต

 

ว่ากันตามขั้นตอนกฎหมายแล้ว มติของคณะกรรมการคดีพิเศษก็เป็นเสมือนเพียงโซ่พันธนาการ สว. ทว่าไม่ได้มีผลต่อสถานะหรืออำนาจของสภาสูงโดยตรง เนื่องจากกระบวนการยังอีกยาวไกล กว่าจะรวบรวมหลักฐาน ตลอดจนสอบพยานซึ่งปรากฏรายชื่อกว่าหลายพันคน จนน่าเกรงว่าจะทันต่อวาระ 5 ปี ที่ สว. ชุดนี้จะอยู่ในตำแหน่งหรือไม่

 

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดวันนี้ (7 มีนาคม) พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่กำกับดูแล DSI รวมถึงเป็นรองประธานคณะกรรมการคดีพิเศษ เปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายให้ DSI ดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานไม่เกิน 3 เดือน เนื่องจากเป็นคดีที่เริ่มทำมานานแล้ว จึงมองได้ว่า การทำคดีนี้น่าจะเร่งรัดและได้รับความสนใจเป็นพิเศษ

 

ส่วนข้อสงสัยว่าทรัพย์สินในคดีจะถึง 300 ล้านบาทตามกฎหมายกำหนดหรือไม่นั้น พ.ต.อ. ทวี อธิบายว่า ที่ประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษใช้มูลฐานความเชื่อได้ว่า ในคดีนี้มีพยานยืนยันว่า มีการใช้เงิน 400-500 ล้านบาท โดยการจ่ายเงินเป็นช่วงๆ

 

พ.ต.อ. ทวี แถลงผลการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 

นอกจากนี้ ความผิดฐานอั้งยี่ การได้มาซึ่ง สว. หรือการฮั้ว และความผิดอื่นๆ เช่น ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐ ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.116 (3) ที่มีการร้องทุกข์ไว้ ก็ยังไม่ถึงกับหายไปเสียทีเดียว เพราะ พ.ต.อ. ทวี ชี้ว่า  หากในกระบวนการสืบสวนพบว่ามีความเชื่อมโยง ก็ให้ถือเป็นคดีพิเศษด้วย

 

ยังไม่นับรวมว่า อีกไม่นาน พ.ต.ต. ยุทธนา แพรดำ อธิบดี DSI จะต้องลงนามแต่งตั้งคณะพนักงานสอบสวนพิเศษ และอัยการก็จะมีเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการนี้ด้วย และหลังจากเสร็จกระบวนการ มีแนวโน้มว่า DSI จะสั่งฟ้องต่อศาลเอง เพื่อจะได้ไม่ต้องผ่านองค์กรอื่นๆ ซึ่งกระบวนการศาลจะใช้เวลานานกว่า จึงอาจเป็นเหตุให้เร่งรัดระยะเวลาสอบสวนขึ้นมา

 

เมื่อพิจารณาจากความหนักหนาของคดีแล้ว ซึ่งอาจมีการขุดคุ้ยให้กลายเป็นคดีอั้งยี่ด้วยในภายหลัง แม้จะใช้เวลานาน สว. ที่อยู่ในตำแหน่งเวลานี้ก็คงไม่อาจอยู่ได้อย่างสบายใจ เพราะถึงจะอยู่ครบวาระก็จริง แต่ก็มีความเสี่ยงที่คดีและบทลงโทษจะตามติดตัวไป หากศาลชี้ว่ามีความผิดจริง

 

กลุ่มผู้ตามหาความยุติธรรมแสดงละครล้อเลียนกระบวนการฮั้วเลือก สว. โดยแต่งกายเป็นเจ้าหน้าที่ศาลไคฟงและนักโทษ

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 

ห้วงเวลาสืบสวน เปิดโต๊ะต่อรอง

 

คงไม่ต้องยืนยันซ้ำอีกแล้วว่า ปรากฏการณ์ทางกฎหมายนี้ เป็นภาพสะท้อนระหว่าง 2 ขั้วอำนาจทางการเมืองไทยปัจจุบัน คือฝ่าย ‘พลังสีแดง’ ที่กุมอำนาจบริหารของรัฐบาล และฝ่าย ‘พลังสีน้ำเงิน’ ซึ่งมีอิทธิพลเหนือวุฒิสภา และเชื่อมโยงไปยังการแต่งตั้งบุคคลเข้าสู่องค์กรอิสระต่างๆ

 

หากขั้วสีน้ำเงินยังกุมสภาพในวุฒิสภาไว้ได้ ก็เป็นการยากต่อขั้วสีแดงที่จะผลักดันให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่างๆ ตั้งแต่การแก้รัฐธรรมนูญ นิรโทษกรรม ตลอดจนบ่วงคดีทางการเมืองที่ยึดโยงกับองค์กรอิสระ

 

ดังนั้น ในทางการเมือง ช่วงเวลาที่การสอบสวนคดีฟอกเงินของ สว. กำลังดำเนินไป คือโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายเปิดโต๊ะเจรจาต่อรอง เพื่อให้พลังสีน้ำเงินคลายตัวจากวุฒิสภาลงทีละน้อย และปล่อยให้พลังสีแดงมีส่วนเข้าไปกำหนดเกมได้บ้าง

 

กล่าวอย่างง่ายที่สุดคือ การต่อรองเพื่อ ‘เปลี่ยนสี สว.’ นั่นเอง เพื่อเปิดทางให้การขับเคลื่อนกฎหมายต่างๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องนโยบายรัฐบาล เป็นไปได้ง่ายขึ้น

 

แต่จะสำเร็จหรือไม่ ต้องคอยติดตามการลงมติของ สว. ในวาระสำคัญๆ ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด โดยเฉพาะในช่วงต้นเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ คาดว่าจะวาระให้ความเห็นชอบบุคคลที่สมควรดำรงตำแหน่งประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่ จำนวน 2 คน จะเป็นเวลาสำคัญที่จะทำให้เห็นว่า ทิศทางของ สว. จะเปลี่ยนไปมากน้อยเพียงใด

 

พล.ต.ต. ฉัตรวรรษ แสงเพชร สว. รวมรายชื่อยื่นตรวจสอบจริยธรรมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและอธิบดี DSI ต่อประธานวุฒิสภา

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising