×

ส่องอนาคตธุรกิจหลักทรัพย์ มุ่งทรานส์ฟอร์ม หันเจาะตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล แต่ไม่ใช่ทุกรายที่จะไปรอด

29.01.2022
  • LOADING...
ส่องอนาคตธุรกิจหลักทรัพย์ มุ่งทรานส์ฟอร์ม หันเจาะตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล แต่ไม่ใช่ทุกรายที่จะไปรอด

HIGHLIGHTS

5 mins. read
  • หุ้นกลุ่มธุรกิจหลักทรัพย์นับเป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนดีราว 16% ในปีที่ผ่านมา จากมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่สูงขึ้น
  • แต่ภาพรวมตลาดหุ้นเริ่มเผชิญความท้าทายใหม่ๆ จากทั้งสภาพคล่องในตลาดที่มีแนวโน้มลดลง หลังธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกเตรียมดูดสภาพคล่องกลับ ประกอบกับนักลงทุนบางส่วนหันเทรดตลาดคริปโตเคอร์เรนซีกันมากขึ้น
  • โบรกเกอร์ในวงการตลาดหุ้นหลายแห่งเริ่มปรับตัวเข้าสู่ตลาดคริปโตมากขึ้น เพื่อเป็นช่องทางในการหารายได้เพิ่มเติม
  • นักวิเคราะห์ประเมินว่า ไม่ใช่ทุกโบรกเกอร์จะปรับตัวเข้าตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลได้ เพราะต้องมีทั้งฐานทุนที่ใหญ่และมีเครือข่ายที่กว้างขวาง ดังนั้นแล้วโบรกเกอร์รายเล็กๆ อาจถูกบีบให้ออกจากธุรกิจไป

ปี 2564 หุ้นกลุ่มธุรกิจหลักทรัพย์นับเป็นหุ้นอีกหนึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมที่สามารถสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุนได้อย่างงดงามถึง 16.3% สูงกว่าผลตอบแทนของดัชนีตลาดหุ้นไทยที่ทำได้ 14% 

 

ปัจจัยสนับสนุนให้หุ้นกลุ่มหลักทรัพย์ปรับตัวขึ้นร้อนแรงในปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่เพิ่มขึ้นแตะระดับ 8.8 หมื่นล้านบาท เทียบกับปีก่อนหน้าที่มีวอลุ่มการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่ 6.7 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นการปรับเพิ่มขึ้นถึง 30% 

 

อย่างไรก็ตาม มูลค่าการซื้อขายที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสภาพคล่องที่ล้นตลาดการเงิน หลังจากที่ธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกอัดฉีดสภาพคล่องเพื่อหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจ 

 

แต่สำหรับปี 2565 สถานการณ์เหล่านี้กำลังจะกลับทิศ เพราะนอกจากธนาคารกลางเหล่านี้จะลดการฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบแล้ว ตรงกันข้ามยังอาจจะดูดซับสภาพคล่องที่เคยปล่อยออกไปกลับคืนมาด้วย เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อมูลค่าการซื้อขายในตลาดหุ้นไม่มากก็น้อย

 

นอกจากนี้ภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้นยังเผชิญความท้าทายจากคู่แข่งใหม่ เช่น ตลาดคริปโตเคอร์เรนซี ที่นับวันมูลค่าการซื้อขายทยอยสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากผู้ลงทุนรายใหม่ที่ยังไม่เคยลงทุนในตลาดใดๆ มาก่อน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าอีกส่วนเป็นผลจากนักลงทุนที่เคยลงทุนในตลาดหุ้น เริ่มหันมาลงทุนในตลาดคริปโตกันมากขึ้น 

 

และนี่คือโจทย์สำคัญที่ทำให้ธุรกิจหลักทรัพย์ต้องเริ่มปรับเปลี่ยนตัวเอง โดยระยะหลังเราจะเห็นโบรกเกอร์ในแวดวงตลาดทุนหลายรายเริ่มกระโดดเข้าสู่ตลาดคริปโตกันมากขึ้น 

 

โดยกลุ่มที่ประกาศตัวชัดเจนแล้วว่าจะเดินหน้าสู่ธุรกิจนี้ คือ บมจ.คันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (CGH) ที่เข้าถือหุ้นสัดส่วน 25% ในบริษัท คริปโตมายด์ ซึ่งเป็นบริษัทแรกที่ได้รับใบอนุญาตที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

 

ทั้งนี้ คริปโตมายด์ เป็น One Stop Service ด้านคริปโตระดับโลก ที่พร้อมขยายเครือข่ายและสร้างพันธมิตรเชื่อมโยงกับตลาดคริปโตรายใหญ่ของโลก

 

ล่าสุด CGH ได้ประกาศแผนเชิงรุกในการเร่งศึกษาเพื่อผลักดันให้บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ในเครือ คือ บล.คันทรี่ กรุ๊ป (CGS) กลายเป็นผู้นำเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ นวัตกรรม และบริการทางการเงินด้วยระบบเทคโนโลยีดิจิทัล ด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล ชื่อ ‘Pi’ เริ่มต้นจากแอปพลิเคชัน Pi เพิ่มเป็นโซลูชันด้านการซื้อขายหุ้นและการลงทุนส่วนบุคคล ซึ่งจะเปิดตัวในเดือนมีนาคม 2565

 

ด้าน บล.ฟินันเซีย ไซรัส (FSS) เป็นอีกหนึ่ง บล. ที่ยื่นขอใบอนุญาตเป็นนายหน้าซื้อขายและใบอนุญาตเป็นผู้ออกและเสนอขายคริปโต เช่นเดียวกับ XPG ที่กระโดดเข้าสู่ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลด้วยเช่นกัน

 

ส่วน บล.ทรีนีตี้ (TNITY) ที่ประกาศความพร้อมเป็นผู้แนะนำลูกค้าให้แก่ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด และบริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด รวมทั้งศึกษาการระดมทุนด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านระบบบล็อกเชนให้แก่บริษัทต่างๆ 

 

โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ TNITY 2 ราย คือ บริษัท คอมลิงค์ จำกัด และ นพ.นิติพล ชัยสกุลชัย ได้ขายหุ้นที่ถืออยู่รวมจำนวนทั้งสิ้น 49.829 ล้านหุ้น คิดเป็น 23.24 ของทุนชำระแล้ว ให้กับกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่กลุ่มใหม่ คือ ณัฐพงศ์ ศีตวรรัตน์ และ สุทธิพจน์ อริยสุทธิวงศ์ ซึ่งกลุ่มนี้ถือเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในการลงทุนในธุรกิจที่หลากหลาย ทั้งธุรกิจการเงิน การลงทุน และธุรกิจที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งจะช่วยเสริมทัพการเดินหน้าขยายธุรกิจได้ตามแผนงานที่วางไว้

 

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมการพลิกฟื้นธุรกิจหลักทรัพย์จาก Red Ocean สู่ Blue Ocean จะมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ยังต้องติดตามกันต่อไป

 

‘ก้องเกียรติ’ มองตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลแหล่งรายได้ใหม่

 

ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เอเซีย พลัส กรุ๊ป

โฮลดิ้งส์ (ASP) ให้สัมภาษณ์ทีมข่าว THE STANDARD WEALTH ว่า โบรกเกอร์จำเป็นต้องปรับตัว และส่วนใหญ่เริ่มปรับตัวกันมานานแล้ว จากเดิมที่พึ่งพารายได้จากค่าคอมมิชชัน, ค่าธรรมเนียมการเป็นที่ปรึกษาระดมทุน ทั้งการขายหุ้นให้กับนักลงทุนทั่วไปครั้งแรก (IPO) และการออกหุ้นกู้ มาสู่การหารายได้เพิ่มและกระจายการหารายได้ด้วยการทำธุรกิจใหม่ๆ เช่น Wealth Management, Private Banking รวมไปถึงการแนะนำให้ลูกค้าลงทุนในหุ้นหรือกองทุนต่างประเทศ  ซึ่งก็มีการลงทุนในกองทุนสินทรัพย์ดิจิทัลด้วย เนื่องจากตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลหรือตลาดคริปโตเติบโตอย่างร้อนแรงในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา

 

“ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล หรือบางคนอาจจะเรียกกันว่าคริปโต เป็นอีกตลาดหนึ่งที่ บล. จะต้องไป แต่การจะเข้าไปในตลาดนี้ก็ไม่ง่าย ต้องมีเงิน และก็ต้องมาดูกันว่าใครจะเข้าไปในลักษณะไหน”

 

ฐานทุนแบ่งเกรดโบรกเกอร์

 

ขณะที่ กิติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์รายย่อย บล.ซีจีเอส ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในอนาคตทิศทางการทำธุรกิจหลักทรัพย์จะแยกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มที่มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย จึงจำเป็นต้องเกาะเทรนด์สินค้าใหม่ๆ ทำให้ขณะนี้มี บล. หลายรายต้องศึกษาและวางแผนเข้าไปในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล กลุ่มนี้จะเป็น บล. ขนาดใหญ่ที่มีเงินทุนมาก

 

  1. กลุ่ม บล. ที่เน้นบริการ ส่วนใหญ่จะเป็น บล. ขนาดกลางและเล็ก ซึ่งอาจมีเงินทุนไม่มากนัก กลุ่มนี้จะหันมาสร้างตลาดเฉพาะของตัวเอง หรือเลือกที่จะใช้วิธีสร้างพันธมิตรทางธุรกิจที่หลากหลายมากกว่าการลงทุนเอง แต่สามารถสร้างผลตอบแทนในระดับที่นักลงทุนพอใจได้

 

“ผมมองว่าโบรกเกอร์คงจะไม่ไปแนวคริปโตหรือสินทรัพย์ดิจิทัลทุกราย ตอนนี้ตลาดนี้เป็นเทรนด์ที่กำลังบูม ก็ถือเป็นทางเลือกเพื่อกระจายความเสี่ยง แต่ก็ไม่ใช่ว่านักลงทุนจะไปตลาดนั้นกันหมด คนที่ชอบเรื่องหุ้น ไม่อยากลองกับอะไรใหม่ๆ ก็ยังมีเยอะ ดังนั้นฐานลูกค้าและความชำนาญจะเป็นตัวแบ่งประเภทของโบรกเกอร์เอง  

 

โบรกเกอร์ที่จะเข้าไปในตลาดนี้ หากทำแล้วประสบความสำเร็จก็ดี จะมีช่องทางสร้างรายได้เพิ่ม แต่ถ้าต้องลงทุนมากก็ต้องคิดด้วยว่าทำแล้วจะคุ้มทุนหรือไม่ ทำให้บริษัทส่วนมากเลือกที่จะหาพันธมิตรมากกว่าลงทุนเอง” 

 

กิติชาญกล่าวว่า การทำธุรกิจหลักทรัพย์ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในปี 2565 เนื่องจากรายได้อ้างอิงกับมูลค่าการซื้อขายในตลาดหุ้น และแม้ว่าตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันมูลการซื้อขายต่อวันจะสูงถึง 9.4 หมื่นล้านบาท แต่ช่วงที่เหลือของปีนี้ยังต้องติดตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ซึ่งคาดว่าทั้งปีนี้จะปรับขึ้น 4 ครั้ง จะส่งผลกระทบให้สภาพคล่องในตลาดหุ้นไทยลดลงจากปีก่อน

 

นอกจากนี้ การเก็บภาษีขายหุ้น หากดำเนินการจริงคาดว่าจะส่งผลกระทบให้มูลค่าซื้อขายในตลาดหุ้นไทยหดหายไป 30-40% หรือมีมูลค่าซื้อขาย 5-6 หมื่นล้านบาทต่อวัน จึงส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่กับรายได้และกำไรของ บล. ด้วย

 

“ยังไม่ต้องมองไปไกล เอาแค่ปีนี้ก่อน ผมว่าปีนี้โบรกเกอร์น่าจะเหนื่อยกว่าปีก่อน ตลาดหุ้นจะผันผวนมากกว่า พอร์ตโบรกเกอร์กำไรน่าจะลดลง วอลุ่มตลาดน่าจะลดลง กำไรโบรกเกอร์จะไม่ดีเหมือนปีที่ผ่านมา”

 

โบรกเล็กล้มหายตายจากตลาด

 

ด้านกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์และนักกลยุทธ์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า บล. ต้องการเข้าสู่ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลหลายปีแล้ว แต่ที่ล่าช้าเพราะรอ ตลท. จัดตั้งศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล

ดังนั้นหากทุกอย่างพร้อม จะเห็น บล. เข้าสู่ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้นอย่างแน่นอน 

 

เนื่องจากพฤติกรรมของผู้ลงทุนที่มีอายุน้อยลง รับความเสี่ยงได้สูงขึ้น คาดหวังผลตอบแทนในระยะเวลาที่สั้นลง อีกทั้งสินทรัพย์ดิจิทัลมีความหลากหลายและนำไปประยุกต์ได้หลายรูปแบบ รวมทั้งสามารถใช้ในการระดมทุน แต่ต้องใช้เงินลงทุน 

 

ดังนั้นจะมีเพียง บล. ขนาดใหญ่ หรือที่มีฐานทุนหรือเครือข่ายกว้างขวางที่จะทำได้ ส่วน บล. ขนาดเล็ก ในอนาคตน่าจะต้องถูกบังคับให้ออกจากธุรกิจไป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising