×

‘ก.ล.ต.’ ยกระดับการบังคับใช้กฎหมายหลักทรัพย์ ดึงเทคโนโลยีเข้าช่วย หวังลดเคสหุ้นปั่น

28.09.2021
  • LOADING...
ก.ล.ต.

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ยกระดับการบังคับใช้กฎหมาย (Enforcement) โดยการดึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยเสริม 3 โครงการด้านการตรวจจับธุรกรรมการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ผิดปกติ เผยช่วยร่นระยะเวลาและกระบวนการให้เร็วขึ้น 20-30% เมื่อเทียกับกระบวนการเดิม 

 

รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ก.ล.ต. ได้ดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงการปฏิบัติงาน เพื่อให้รองรับการพัฒนาตลาดทุนไทยและดูแลผู้ลงทุนอย่างทั่วถึง โดยล่าสุดได้มีเสนอแก้ไขข้อกฎหมายบางประการใน พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 เพื่อให้สามารถกำกับดูแลภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งได้นำเสนอต่อกระทรวงการคลังไปแล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน 

 

และสำหรับการบังคับใช้กฎหมาย หรือ Enforcement ก.ล.ต. ก็พัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและผู้ลงทุน โดยมีการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาและปรับใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน 

 

ศักรินทร์ ร่วมรังษี รองเลขาธิการ ก.ล.ต.​ กล่าวเสริมในประเด็นนี้ว่า ในส่วนของการบังคับใช้กฎหมายในตลาดทุน โดยเฉพาะการกำกับดูแลการกระทำอันไม่เป็นธรรมในการซื้อขาย จะมีกฎหมายที่กำกับดูแลโดย ก.ล.ต.​ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และกฎตลาด ซึ่งกำกับดูแลโดย ตลท. ซึ่งที่ผ่านมามีการประสานการทำงานกันมาโดยตลอด

 

ในส่วนของมาตรการกำกับการซื้อขายหุ้นที่ร้อนแรง หรือมาตรการแคชบาลานซ์ และ Trading Alert List นั้น ที่ผ่านมามีทั้งสามารถควบคุมได้และควบคุมไม่ได้  ทำให้ ก.ล.ต. ก็ได้หารือกับ ตลท. เพิ่มเติมว่าจะมีมาตรการเพิ่มเติมอย่างไรได้บ้าง

 

ขณะเดียวกัน ในการดำเนินการของ ก.ล.ต. เอง จะเน้นการตรวจจับและสืบสวนมากขึ้น จึงมีกระบวนการ E-Enforcement เข้ามาช่วยยกระดับการดูแลความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแลและการบังคับใช้กฎหมาย 

 

ทางด้าน เอนก อยู่ยืน ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ภาพโครงการ E-Enforcement แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ

 

  1. AI Enforcement ใช้ AI เข้ามาตรวจสอบการกระทำความผิดในด้านราคาในตลาดหลักทรัพย์ โดยจะช่วยชี้พฤติกรรมการซื้อขายที่ผิดปกติ และระบุช่วงเวลาที่เกิดพฤติกรรมที่ผิดปกติ โครงการนี้เริ่มพัฒนาตั้งแต่ปี 2563 และเริ่มใช้งานตั้งแต่ไตรมาส 4/63 จนถึงปัจจุบันเริ่มนำมาใช้งานจริง และอยู่ระหว่างการพัฒนาเฟส 2 และ 3 ให้ AI จับพฤติกรรมที่ไม่เป็นธรรมในการซื้อขายหุ้น โดย AI จะไปช่วยจับพฤติกรรมที่มีความผิดปกติในหุ้นนั้น เก็บสถิตินำมาวิเคราะห์พฤติกรรมการส่งคำสั่งและแตกคำสั่ง

 

  1. Corporate Surveillance เป็นการใช้ระบบออนไลน์ในการช่วยตรวจสอบความผิดปกติเกี่ยวกับฐานะการเงิน และผลการดำเนินงานความเชื่อมโยงสัมพันธ์ส่วนบุคคล ช่วยตรวจจับคัดกรองการกระทำผิดได้เร็วขึ้น โดยระบบดังกล่าวเริ่มใช้งานตั้งแต่ไตรมาส 2/64 อยู่ระหว่างการพัฒนาเฟส 2 ที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและนิติบุคคล ส่วนระยะที่ 3 จะดำเนินการนำ AI เข้ามาใช้ในการคาดการณ์ความผิดปกติและอาจเกิดทุจริตและตกแต่งงบการเงิน ซึ่งคาดว่าจะได้เห็นในปี 2565

 

  1. E-Link เป็นระบบเชื่อมโยงความสัมพันธ์บุคคลและการเงิน ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฏหมายที่ดีและรวดเร็วมากขึ้น ช่วยยับยั้งความเสียหายที่เกิดจากการใช้ความสัมพันธ์หรือการมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดที่เร็วขึ้น

 

“ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีปัจจุบัน ทำให้สำนักงาน ก.ล.ต. ดำเนินการโครงการ E-Enforcement เพื่อช่วยกระชับและสร้างความรวดเร็ว แม่นยำในการตรวจสอบ ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาจากการทำงานเดิมระดับ 20-30%” เอนกกล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising