เราอาจเห็นปลาทูน่าตามร้านอาหารหรู ซูเปอร์มาร์เก็ต ผลิตภัณฑ์อัดกระป๋อง ยันตลาดนัด ปลาทูน่าอยู่แทบทุกหนแห่ง เผลอๆ เราได้เห็นเมนูนี้มากกว่าปลาทูไทยเสียอีก แต่หารู้ไม่ว่า เมื่อดูจากตัวเลขในการจับปลาทูน่าแล้ว ในอนาคตปลาทูน่าอาจไม่ได้หากินง่ายอีกต่อไป
ผลการศึกษาใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Fisheries Research ซึ่งจัดทำโดยกลุ่มนักวิจัยชาวแคนาดา ค้นพบว่า มีบางอย่างผิดปกติเกี่ยวกับตัวเลขรายงานการจับปลาทูน่า ทำให้พวกเขาเชื่อว่า ปลาทูน่ากำลังลดจำนวนลงอย่างมาก แม้จะมีการโฆษณาอย่างหนัก จนผู้คนเชื่อว่า ปลาเหล่านั้นถูกจับโดยกลไกแบบยั่งยืนก็ตามที
นักวิจัยได้รวบรวมข้อมูลจาก 5 องค์กรด้านการจัดการประมง มาวิเคราะห์ภาพรวม แองจี โคลเตอร์ นักวิจัยหน่วยงาน Oceans and Fisheries ของมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย ระบุว่า อุตสาหกรรมปลาทูน่าจะดำเนินต่อไปได้ “หากหน่วยงานในกว่า 100 ประเทศ ร่วมมือกัน” และการศึกษานี้เธอยังระบุว่า นับว่าเป็นครั้งแรกที่มีการหยิบข้อมูลตัวเลขการจับปลาทูน่าจากทั่วโลกมารวบรวมเพื่อให้เห็นภาพทั้งหมด
นักวิจัยพบว่า มีการจับปลาทูน่าเพิ่มขึ้นกว่า 1,000% ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา สร้างความเสี่ยงทำให้สายพันธุ์ปลาทูน่าสูญพันธุ์ อันเป็นปัญหาระดับโลก ซึ่งคนจำนวนมากเลี่ยงจะเผชิญ และไม่มีทางรู้ได้เลย หากไม่จัดเก็บตัวเลขอย่างชัดเจน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานทั่วโลก
“เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งในการระบุว่า มีการจับปลาอะไร ที่ไหน และจำนวนเท่าไร เพื่อให้มั่นใจว่า เราไม่ได้กำลังทำร้ายจำนวนประชากรของปลาอย่างน่ากังวล และจะมีปลามากพอให้ลูกหลานเราในอนาคต” เธอระบุในรายงาน “พวกเราหวังว่า ผลของการวิจัยจะช่วยกระตุ้นให้เหล่าผู้ถือหุ้นและผู้บังคับใช้กฎหมายหันมาจริงจังกับเรื่องดังกล่าวมากขึ้น และส่งต่อข้อมูลไปจนถึงหาทางออกและข้อตกลงที่พยายามลดจำนวนการจับปลาที่มากเกินไป เพื่อให้ปลาทูน่ายังอยู่กับเราไปอีกนาน”
ตัวเลขของทีมวิจัยยังแสดงให้เห็นอีกว่า อุตสาหกรรมประมงในปัจจุบัน “จับปลาถึง 55-90% ของจำนวนปลาในมหาสมุทรบนโลก” ทีมวิจัยระบุเสริมในรายงาน “ส่งผลให้เรามาถึงจุดที่เสี่ยงมากๆ ในการจับปลาทูน่า เนื่องจากไม่มีพื้นที่ใหม่ให้จับ และผลของโลกร้อนทำให้สูญเสียพื้นที่จับเดิม ดังนั้น เพื่อทำให้การจับปลาทูน่าดำเนินต่อไปได้ เราต้องอาศัยการจัดการเพื่อความยั่งยืนในระยะยาวอย่างจริงจัง เพื่อรักษาระบบนิเวศและทรัพยากรเอาไว้”
ท้ายที่สุดแล้ว แม้งานวิจัยนี้จะระบุว่า ปลาทูน่าจะหมดโลกในวันพรุ่งนี้ แต่ก็ได้เผยถึงความกังวลอย่างมาก และบอกเป็นนัยว่า พวกเขาเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าปลาทูน่านั้นจะอยู่กับเราไปได้อีกนานแค่ไหน ถ้าการจับปลามากเกินจำเป็นยังคงดำเนินต่อไป
ว่าแต่นักกินอย่างเราจะสามารถช่วยอะไรได้บ้าง ครั้งหน้าที่คุณเดินเข้าร้านอาหารหรือซูเปอร์มาร์เก็ต ลองมาตั้งข้อสังเกตกันสักหน่อยคงไม่เสียหายว่า ปลาทูน่าที่เห็นมาจากแหล่งใด ผู้ขายสามารถให้ความรู้ได้มากน้อยเพียงใด หากหาคำตอบไม่ได้ หันมาสั่งกุ้ง หอย ปู ปลากะพงพื้นบ้านจากเรือเล็กกินกันบ้าง เราว่าปลาทูน่าคงดีใจ
อ่านเรื่อง เรื่องของ Win-Win Diet กินแบบรักษ์โลกและรักษ์ตัวเอง ได้ที่นี่ thestandard.co/win-win-diet
อ่านเรื่อง อลาสก้าแซลมอน ปลาแซลมอนตามธรรมชาติแหล่งสุดท้าย ได้ที่นี่
thestandard.co/wildcaughtsalmon
ภาพ: Shutterstock
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: