×

เรื่องของ Win-Win Diet กินแบบรักษ์โลกและรักษ์ตัวเอง

13.09.2019
  • LOADING...
Win-Win Diet

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • เปเปอร์ชิ้นหนึ่งจาก Lancet รวบรวมผู้เชี่ยวชาญในด้านสุขภาพ อาหาร เกษตรกรรม สิ่งแวดล้อม และรัฐศาสตร์ เพื่อหาข้อสรุปว่า การรับประทานอาหารแบบไหนที่ส่งผลดีต่อทั้งสุขภาพมนุษย์และสุขภาพของดาวโลก และจะร่วมกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างไร เพื่อนำไปสู่สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนต่อไปในระยะยาว
  • อาหารที่เป็น Lose-Lose Diet เพราะส่งผลเสียทั้งต่อสุขภาพและโลกใบนี้คือ เนื้อแดง เนื้อแปรรูป และอาหารน้ำตาลสูง หากประชากรโลกเพิ่มขึ้นถึง 1 หมื่นล้านคนในปี 2050 อย่างที่คาดการณ์กันนั้น โลกจะประสบปัญหาขาดแคลนอาหาร และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามมาอีกมาก

เวลาถูกถามว่า นิยามของอาหารเพื่อสุขภาพ หรือ Healthy Diet ในมุมมองของหมอผิงเป็นอย่างไร? หมอมักตอบว่า เป็นอาหารที่กินแล้วดีต่อสุขภาพกาย สุขภาพใจ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ 

 

แต่คำตอบของคำถามนี้ได้เปลี่ยนไปเมื่อไม่นานมานี้ หลังหมอได้มีโอกาสอ่านเปเปอร์ชิ้นหนึ่งจาก Lancet ซึ่งได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญในด้านสุขภาพ อาหาร เกษตรกรรม สิ่งแวดล้อม และรัฐศาสตร์ จาก 16 ประเทศทั่วโลก เพื่อหาข้อสรุปว่า การรับประทานอาหารแบบไหนที่ส่งผลดีต่อทั้งสุขภาพมนุษย์และสุขภาพของดาวโลก และจะร่วมกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างไร เพื่อนำไปสู่สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนต่อไปในระยะยาว

 

Win-Win Diet

 

ด้วยประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น ความต้องการอาหารมาเลี้ยงประชากรจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดการเติบโตขึ้นของอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร พบว่า กระบวนการผลิตอาหาร (Food Production) ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้คือสาเหตุที่สำคัญสุดของปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environmental Change) กว่า 30% ของก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้น เป็นผลพวงจากกระบวนการผลิตอาหาร 

 

เมื่อนำกระบวนการผลิตอาหารแต่ละประเภทมาวิเคราะห์ว่า ต้องใช้ทรัพยากรโลกและเกิดผลกระทบต่อโลกมากน้อยเพียงใด โดยพิจารณาจากการผลิตก๊าซเรือนกระจก การใช้ทรัพยากรผืนดิน การใช้พลังงาน การเกิดความเป็นกรดในดินและแหล่งน้ำ และการเกิดมลพิษทางน้ำ พบว่า อาหารที่ใช้ต้นทุนสิ่งแวดล้อมในการผลิต และส่งผลกระทบต่อโลกสูงสุดแบบนำโด่งในทุกด้านคือ เนื้อสัตว์ใหญ่ เช่น วัว แกะ ตามมาด้วยหมู ไก่ และอาหารทะเล ส่วนอาหารกลุ่มที่จัดว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมคือ ธัญพืช ผัก ผลไม้ ถั่ว และกลุ่มที่อยู่ในระดับกลางคือ นมวัวและไข่ 

 

Win-Win Diet

 

จากสุขภาพของดาวโลก กลับมาสู่สุขภาพของมนุษย์เรา ทีมวิจัยได้รวบรวมข้อมูลจากงานวิจัยที่มีอยู่ในปัจจุบัน และสรุปลักษณะการรับประทานอาหารที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ ได้ข้อสรุปที่น่าสนใจ ดังนี้

 

  • โปรตีนที่รับประทาน ควรเน้นโปรตีนจากพืช ถั่วต่างๆ อาหารที่ผลิตจากถั่วเหลือง ถั่วเปลือกแข็ง และปลา ส่วนไก่และไข่ควรรับประทานพอประมาณ และที่ควรรับประทานให้น้อยคือ เนื้อแดง (หมู วัว แกะ) โดยเฉพาะเนื้อแปรรูป
  • ไขมันควรรับประทานไขมันไม่อิ่มตัวจากพืช ควบคุมการรับประทานไขมันอิ่มตัวให้ไม่มากจนเกินไป และไม่รับประทานไขมันทรานส์
  • ควรเน้นคาร์โบไฮเดรตจากธัญพืชไม่ขัดสี (ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต ขนมปังโฮลวีต) ลดการรับประทานแป้งขัดขาว และจำกัดการรับประทานน้ำตาลให้ไม่เกิน 5% ของพลังงานในแต่ละวัน
  • รับประทานผักและผลไม้รวมกันให้ถึง 5 กำมือต่อวัน (มันฝรั่งไม่นับรวมในกลุ่มผักผลไม้)
  • รับประทานนมวัวหรือผลิตภัณฑ์จากนมวัวพอประมาณ (เป็นทางเลือก)

 

Win-Win Diet

Photo: สลัก แก้วเชื้อ / THE STANDARD

 

นักวิจัยยังระบุต่อไปว่า อาหารที่น่าจะจัดว่าเป็น Lose-Lose Diet เพราะส่งผลเสียทั้งต่อสุขภาพและโลกใบนี้คือ เนื้อแดง เนื้อแปรรูป และอาหารน้ำตาลสูง แต่ความจริงที่น่าเศร้าคือ ประชากรส่วนใหญ่ในโลกยังเลือกที่จะรับประทานอาหารกลุ่มนี้เป็นหลัก ซึ่งหากประชากรโลกเพิ่มขึ้นถึง 1 หมื่นล้านคนในปี 2050 อย่างที่คาดการณ์กันนั้น โลกจะประสบปัญหาขาดแคลนอาหารและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามมาอีกมาก จึงมีความพยายามที่จะผลักดันกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อให้คนหันมารับประทานอาหารที่มาจากพืชเป็นหลัก หรือ Plant-Based Diet มากขึ้น เพื่อผลในระยะยาวต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

 

การเลือกที่จะให้อาหารแต่ละอย่างผ่านเข้าสู่ร่างกายของเรา เป็นทางเลือกที่แต่ละคนอาจมีเหตุผลต่างกันไป บางคนอาจเลือกที่รสชาติ บ้างอาจเลือกที่ความสะดวก โดยส่วนตัวหมอเองแล้ว หมอเลือกที่จะรับประทาน Healthy Diet (แม้จะพ่ายแพ้ต่อความอยากบ้างในบางครั้ง) ซึ่งนิยาม Healthy Diet ของหมอคือ อาหารที่ดีต่อสุขภาพกายใจ และดีต่อสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน เพราะหมอเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ เริ่มจากจุดเล็กๆ คือตัวเราก่อนเสมอ เรามาเริ่มต้น Win-Win Diet เพื่อลดโรคและรักษ์โลกไปด้วยกันนะคะ 

 

อ่านเรื่อง นมวัว VS นมพืช ดื่มแบบไหนได้ประโยชน์สูงสุด ได้ที่นี่

 

อ่านเรื่อง ผลวิจัยชี้ ผักผลไม้มีไม่เยอะพอ หากคนทั้งโลกรับประทานตามคำแนะนำ ได้ที่นี่

 

ภาพ: Shutterstock, สลัก แก้วเชื้อ

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • Willett, Walter, et al. “Food in the Anthropocene: the EAT–Lancet Commission on healthy diets from sustainable food systems.” The Lancet 393.10170 (2019): 447-492.
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising