×

วิทยาศาสตร์ของความหน้าตาดี: ความสวย หล่อมีจริงไหม หรือเป็นแค่ ‘เปลือกนอก’ ที่คิดกันไปเอง

26.11.2019
  • LOADING...
วิทยาศาสตร์ของความหน้าตาดี

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • คำถามที่น่าสนใจคือ ‘ความหน้าตาดี’ มีอะไรเป็นตัวกำหนดการรับรู้หรือเปล่า หรือว่าความหน้าตาดีมีลักษณะที่เป็น ‘สากล’ อยู่ด้วยไหม และเรื่องนี้วิทยาศาสตร์พอหาคำตอบให้เราได้หรือเปล่า ว่าทำไมคนส่วนใหญ่ถึงมีความเห็นพ้องต้องกันได้ ว่าใครบางคนหน้าตาดีกว่าใครบางคน 
  • ที่จริงแล้ว ความ ‘หน้าตาดี’ นั้นเป็นแค่เรื่องระดับผิว เพราะถ้าเอาผิวออกไปเสีย ให้เหลือแต่กะโหลกหรือตับไตไส้พุง ไม่ว่าจะเป็นใครล้วนอยู่ในสภาพของ ‘ก้อนเนื้อ’ แบบเดียวกันทั้งนั้น ต่อให้เป็นแค่เรื่อง ‘ผิวๆ’ ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องสำคัญ ที่นักวิทยาศาสตร์ต่างก็พยายามหาคำตอบกันว่าทำไมใครบางคนถึงสวยหล่อขึ้นมาได้ 
  • Beauty Bias อาจเป็นเรื่องเชิงสังคมหรือวัฒนธรรมก็ได้ แต่ถ้ามองด้วยสายตาแบบวิทยาศาสตร์ มันอาจไม่ใช่อคติหรือ Bias ที่เกิดขึ้นแค่เพราะชื่นชอบความสวยหล่อเท่านั้น ทว่าเป็นเรื่องที่ ‘ฝัง’ อยู่ในกระบวนการวิวัฒนาการและการคัดเลือกทางเพศกันเลยทีเดียว

คุณเคยสงสัยไหมว่า ทำไมคนบางคนถึง ‘หน้าตาดี’ กว่าคนอื่น

 

ที่จริงแล้ว การที่ใครจะหน้าตาเป็นอย่างไรนั้นไม่น่าสงสัยเท่าไร เพราะหลักๆ เป็น ‘ความบังเอิญทางพันธุกรรม’ ทั้งนั้น ที่กำหนดให้ผิวออกมาละเอียด ตากลมโต ผมเส้นเล็กสลวย หรือจมูกโด่งคมเป็นสัน สีของนัยน์ตากระจ่างสวย ฯลฯ

 

แต่ความหน้าตาดีไม่ได้ขึ้นอยู่กับลักษณะทางกายภาพของตัวเราเองเท่านั้น ความหล่อสวยเป็นเรื่องของเราครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งเป็นเรื่องของ ‘คนอื่น’ ที่จะเห็นว่าเราสวยหล่อหรือไม่ หน้าตาดีหรือไม่ อย่างที่เชกสเปียร์บอกว่า ความงามอยู่ในสายตาของผู้มองนั่นแหละ

 

ดังนั้น คำถามที่น่าสนใจก็คือ ‘ความหน้าตาดี’ มีอะไรเป็นตัวกำหนดการรับรู้หรือเปล่า หรือว่าความหน้าตาดีมีลักษณะที่เป็น ‘สากล’ อยู่ด้วยไหม และเรื่องนี้วิทยาศาสตร์พอหาคำตอบให้เราได้หรือเปล่า – ว่าทำไมคนส่วนใหญ่ถึงมีความเห็นพ้องต้องกันได้ ว่าใครบางคนหน้าตาดีกว่าใครบางคน (และทำไมไม่เป็นเรา – หือ!)

 

เรารู้กันดีอยู่นะครับ ว่าไม่ควรไปตัดสินใครที่หน้าตา ซึ่งจะเข้าข่ายการเหยียดเพราะรูปร่างหน้าตาหรือที่เรียกว่า Lookism ได้ แต่กระนั้นคนบางคนก็มีใบหน้าที่ ‘น่ามอง’ แตกต่างไปจากคนอื่นๆ จริงๆ และก็มีงานวิจัยพบว่า คนที่ ‘หน้าตาดี’ นั้น มักมีรายได้หรือหน้าที่การงานที่ดีกว่าคนหน้าตาไม่ดีด้วย ซึ่งอาจฟังดูไม่ค่อยยุติธรรมสักเท่าไร

 

ที่จริงแล้ว ความ ‘หน้าตาดี’ นั้นเป็นแค่เรื่องระดับผิว (ซึ่งหมายถึง ‘ผิว’ จริงๆ) เพราะถ้าเอาผิวออกไปเสีย ให้เหลือแต่กะโหลกหรือตับไตไส้พุง ไม่ว่าจะเป็นใครล้วนอยู่ในสภาพของ ‘ก้อนเนื้อ’ แบบเดียวกันทั้งนั้น 

 

แต่ต่อให้เป็นแค่เรื่อง ‘ผิวๆ’ (ที่บางคนบอกว่าเป็นเรื่อง ‘เปลือก’) ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องสำคัญ เรื่องที่นักวิทยาศาสตร์ต่างก็พยายามหาคำตอบกันนะครับ ว่าทำไมใครบางคนถึงสวยหล่อขึ้นมาได้ และแม้ความสวยหล่อจะเป็นเรื่องอัตวิสัย ความงามอยู่ในสายตาของผู้มองอย่างที่เชกสเปียร์ว่า แต่ในอีกด้านหนึ่ง ความสวยหล่อก็มีบางลักษณะที่เป็นสากลได้เหมือนกัน

 

เรื่องแรกสุดเลยที่รู้กันมานานแล้ว ก็คือเรื่องของ ‘สมมาตร’ หรือ Symmetry ของใบหน้า

 

เคยมีการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Comparative Psychology และวารสาร Journal of Evolution & Human Behaviour ที่แสดงให้เราเห็นว่า เมื่ออยู่ในเงื่อนไขของการทดลอง คนเราจะชอบใบหน้าที่ ‘มีสมมาตร’ มากกว่า

 

เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้ใหญ่เท่านั้นนะครับ เพราะมีการศึกษาในทารกที่มองเห็นและแสดงอาการตอบสนองได้แล้ว โดยให้ทารกมองดูภาพของใบหน้าคนที่หลากหลาย พบว่าทารกจะชอบ (คือดูภาพนานกว่า) คนที่มีใบหน้าสมมาตรมากกว่า คนที่ได้รับความนิยมจากทารกมากที่สุดในการทดลองที่เกิดขึ้นในทศวรรษ 90 ก็คือ เดนเซล วอชิงตัน ที่ใบหน้ามีสมมาตรสูงมาก โดยพบว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับสีผิวหรือเชื้อชาติเลย เพราะไม่ว่าจะเป็นทารกเชื้อชาติอะไร ก็มีแนวโน้มจะจ้องมองใบหน้าของ เดนเซล วอชิงตัน มากกว่าคนอื่นๆ ทั้งสิ้น

 

ปรากฏการณ์แบบนี้ไม่ได้เกิดแค่กับทารกที่เป็นมนุษย์เท่านั้น เพราะเคยมีการศึกษาในลิง พบว่า ลิงจะจ้องมองใบหน้าที่มีความสมมาตรนานกว่าใบหน้าที่ไม่สมมาตรด้วยเช่นกัน พูดง่ายๆ ก็คือ ผลการทดลองในลิงกับทารกเป็นแบบเดียวกัน

 

นักวิทยาศาสตร์พยายามอธิบายปรากฏการณ์นี้ โดยบอกว่าใบหน้าที่มีสมมาตรนั้น เป็นใบหน้าที่เป็นผลมาจากสุขภาพที่ดีกว่า ใบหน้าสมมาตรได้ส่วน เติบโตสองฟากเหมือนกันนั้น ต้องเป็นใบหน้าที่พัฒนามาจาก ‘ยีนที่ดี’ ทั้งยังต้องได้รับสารอาหารมากเพียงพอตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ดังนั้นการมีใบหน้าสมมาตรจึงแสดงให้เห็นทั้งเรื่องของ Nature (คือพันธุกรรม) และ Nurture (คือเรื่องของการเลี้ยงดู) ดังนั้น ลึกๆ แล้ว ความชื่นชอบใบหน้าสมมาตร จึงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการคัดเลือกทางเพศ (Sexual Selection) นั่นเอง

 

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องมี ‘แต่’ ตัวใหญ่ๆ อยู่ด้วยนะครับ เพราะมีอีกการทดลองหนึ่ง (ดูรายงานของ Business Insider ได้ที่นี่) ของมหาวิทยาลัย Brunel บอกว่าไม่จริงเสมอไปที่เรื่องนี้จะเกี่ยวข้องกับสุขภาพ

 

มีการศึกษาในวัยรุ่นราว 5,000 คน ไม่พบสหสัมพันธ์ระหว่างสมมาตรของใบหน้ากับสุขภาพที่ดีโดยรวม (แต่ไม่ได้แปลว่าคนไม่ชอบใบหน้าสมมาตรนะครับ) เพราะฉะนั้น เหตุผลที่ว่านี้จึงอาจยังใช้อธิบายไม่ได้แน่ๆ ว่าทำไมคนเราถึงชอบคนที่มีใบหน้าสมมาตร

 

ความสมมาตรคือการมีใบหน้าสองซีกเหมือนเป็นกระจกส่องสะท้อนกัน อาจไม่ถึงขั้นเป็นภาพเหมือนที่สมบูรณ์แบบ (ไม่มีมนุษย์คนไหนมีใบหน้าสมมาตรร้อยเปอร์เซ็นต์หรอกนะครับ) แต่ต้องเหมือนกันมากพอจะทำให้ดวงตาของผู้มองเห็นได้ว่าสองซีกของใบหน้านั้นเหมือนกัน คนเราจะมีใบหน้าสองซีกที่แตกต่างกันเล็กๆ น้อยๆ อยู่แล้ว ดังนั้น การเห็นความสมมาตรจึงเป็นความสามารถของสมองผู้มองด้วย

 

อีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้คนเราเห็นว่าใครหน้าตาดี คือสิ่งที่หลายคนอาจต้องเลิกคิ้วด้วยความประหลาดใจ เพราะมันคือ ‘ความอยู่ในค่าเฉลี่ย’ หรือ Averageness

 

เรามักคิดว่า คนหน้าตาดีน่าจะเป็นคนที่หน้าตาโดดเด่น จึงมีใบหน้าดูดีสูงกว่าค่าเฉลี่ย แต่คำว่า ‘ค่าเฉลี่ย’ ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงคนที่มี ‘หน้าตางั้นๆ’ หรือ ‘หน้าตากลางๆ’ นะครับ คำว่า ‘เฉลี่ย’ ที่ว่านี้ หมายถึงค่าเฉลี่ยในทางคณิตศาสตร์ของลักษณะบนใบหน้าคน (หรือเรียกว่า ‘เครื่องหน้า’) ซึ่งคือการนำเอาปัจจัยต่างๆ มาคำนวณ ตัวอย่างเช่น ระยะห่างระหว่างดวงตาบนใบหน้า ซึ่งคนทั่วไปจะมีระยะห่างที่ว่านี้แตกต่างกันออกไป บางคนก็ตาห่างมาก บางคนก็ตาห่างน้อย หรือจมูกเมื่อเทียบกับปากและตาแล้วอยู่ต่ำสูงอย่างไร เป็นต้น

 

คนที่ ‘หน้าตาดี’ จะมีระยะห่างนี้ใกล้เคียงกับ ‘ค่าเฉลี่ย’ มากที่สุด นั่นคือถ้าเราเอาระยะต่างๆ ของเครื่องหน้ามาบวกกันแล้วหารด้วยจำนวนคน เราจะได้ค่าเฉลี่ยนี้ออกมา พบว่ามนุษย์ที่มนุษย์ด้วยกันชื่นชอบ จะมีเครื่องหน้าที่มีระยะห่างต่างๆ ใกล้เคียงกับ ‘ค่าเฉลี่ย’ มากที่สุด นี่เป็นผลวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนียในซานดิเอโก และมหาวิทยาลัยโทรอนโตในแคนาดา

 

ที่จริงเรื่องนี้ไม่ใหม่นัก เคยมีรายงานมาตั้งแต่ปี 1878 ในวารสาร Nature แล้วว่า คนที่ถูกมองว่าหน้าตาดีที่สุด คือคนที่มีลักษณะต่างๆ บนใบหน้าผสมกลมกลืนมากที่สุด พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือมีทุกอย่างอยู่ในค่าเฉลี่ยนั่นเอง เช่น จมูกต้องไม่โด่งหรือแบนไป ปากไม่กว้างหรือแคบไป เป็นต้น

 

ถ้าถามว่าทำไมถึงเป็นอย่างนี้ ก็มีคำอธิบายจากการศึกษาอีกชิ้นหนึ่งที่เสนอว่า ใบหน้าที่เป็น ‘ค่าเฉลี่ย’ นั้น แสดงให้เห็นว่าเป็นคนที่มีพันธุกรรมในตัวหลากหลายมาก คือถ้าเหวี่ยงไปทางใดทางหนึ่งมากเกินไป แปลว่ามีพันธุกรรมเฉพาะที่ไม่หลากหลายเท่า โดยทั่วไป คนที่มีพันธุกรรมหลากหลาย (เช่น เป็นลูกครึ่ง) มีข้อได้เปรียบทางสุขภาพมากกว่า เพราะพันธุกรรมหลากหลายย่อมต่อสู้กับเชื้อโรคและความป่วยไข้ต่างๆ ได้ดีกว่า เราก็เลยมีแนวโน้มจะมองว่าคนที่มี ‘หน้าค่าเฉลี่ย’ เป็นคนที่หน้าตาดี (อย่างเป็นสากล) มากกว่า

 

ยังมีอีกคำอธิบายหนึ่งว่า ใบหน้าของคนที่อยู่ในค่าเฉลี่ยมากๆ นั้น ทำให้คนอื่นอยากมองมากกว่า เพราะมันมีคุณสมบัติทุกอย่างที่เอื้อให้คนจำนวนมากรู้สึก ‘คุ้นเคย’ มากกว่าใบหน้าที่ไม่อยู่ในค่าเฉลี่ย เรื่องนี้มีงานวิจัยรองรับ โดยเป็นการศึกษาชาวอังกฤษกับชาวฮัดซา (Hadza) ซึ่งเป็นชนเผ่าล่าหาอาหารในแทนซาเนีย เพื่อดูว่าคนสองกลุ่มที่มีปูมหลังทางวัฒนธรรมต่างกันมากๆ จะมองความงามอย่างไร โดยให้คนทั้งสองกลุ่มได้ดูภาพสองภาพ แล้วถามว่าคนในภาพไหนสวยหล่อกว่ากัน ภาพหนึ่งเป็นใบหน้าของคนอังกฤษกับคนฮัดซา พบว่าคนทั้งสองกลุ่มจะชอบภาพใบหน้าของคนที่มีค่าเฉลี่ยมากกว่าทั้งคู่ แต่ที่ต่างไปก็คือ คนอังกฤษชอบทั้งภาพคนอังกฤษเองและภาพชาวฮัดซา ในขณะที่ชาวฮัดซามีแนวโน้มจะชอบภาพชาวฮัดซาที่มีใบหน้าค่าเฉลี่ยมากกว่า ซึ่งก็เป็นไปได้ว่า เพราะชาวฮัดซายังไม่ ‘คุ้น’ กับภาพของคนขาวเท่าไร จึงยังหวนกลับไปอ้างอิงในสิ่งที่คุ้นเคยอยู่ด้วย

 

เคยมีการศึกษาของมหาวิทยาลัยเท็กซัส โดยวัดคลื่นไฟฟ้าสมองพร้อมกับให้ดูภาพใบหน้าต่างๆ คือใบหน้าที่สวยหล่อดูดีมีสมมาตร ใบหน้าที่ไม่สวยหล่อ รวมไปถึงใบหน้าที่คอมพิวเตอร์สร้างขึ้นโดยนำเอาลักษณะเฉลี่ยๆ ต่างๆ มารวมกัน และบางภาพก็นำเอาเครื่องหน้าของลิงชิมแปนซีมาปะปนด้วย แล้วจากนั้นก็ดูรูปแบบของคลื่นไฟฟ้าสมอง พบว่า ถ้าเป็นภาพมนุษย์ สมองของผู้เข้าทดลองจะประมวลผลได้เร็วกว่าภาพที่มีใบหน้าของลิงชิมแปนซีปะปนอยู่ (โดยที่ผู้ดูภาพไม่รู้ตัวว่ากำลังดูภาพที่มีความเป็นลิงอยู่ด้วย) นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะคนเราจะชอบหรือประมวลผลเร็วกว่า กับสิ่งที่เรา ‘คุ้นเคย’ มากกว่า ซึ่งในกรณีนี้ก็คือลักษณะของใบหน้าแบบมนุษย์

 

ที่น่าสนใจก็คือ สมองของผู้เข้าทดลองจะประมวลผลหรือมีกิจกรรมทางไฟฟ้าตอบสนองต่อภาพของคนหน้าตาดีมากกว่าคนหน้าตาไม่ดี แต่ที่สมองตื่นตัวมากกว่าคนหน้าตาดี ก็คือตื่นตัวต่อภาพของคนที่มี ‘ลักษณะเฉลี่ย’ ต่างๆ (ที่คอมพิวเตอร์สร้างขึ้น) มากที่สุด

 

เคยมีการทดลองต่อเนื่อง ด้วยการตั้งคำถามกับอาสาสมัครว่า – คิดว่าคนหน้าตาดีกับหน้าตาไม่ดีมีลักษณะนิสัยอย่างไร พบว่าคนส่วนใหญ่มักคิดว่าคนหน้าตาดีฉลาดกว่า เป็นมิตรกว่า ซึ่งก็สอดคล้องกับการสำรวจก่อนหน้าที่ว่าคนหน้าตาดีกว่ามักจะได้งานดีกว่า รวมถึงมีรายได้มากกว่าเพื่อนร่วมงานที่หน้าตาไม่ดีด้วย

 

ใช่ – เรื่องนี้ฟังดูไม่ยุติธรรมเลย เพราะมันคือสิ่งที่นักสังคมวิทยาเรียกว่า Beauty Bias อคติต่อรูปร่างหน้าตาของคนอื่นที่ฝังลึกอยู่ข้างในตัวเรา

 

เวลาเราพูดว่า – ความงามอยู่ในสายตาของผู้มองนั้น นัยหนึ่งก็คือเรากำลังถือดาบพิพากษารูปร่างหน้าตาของคนอื่นอยู่ โดยรู้ว่าเรามีสิทธิอำนาจนั้นเต็มตัว เพราะมันคือความชอบที่ก็เกิดจากต้นทุนหลายๆ อย่างในตัวเราอีกนั่นแหละ

 

Beauty Bias อาจเป็นเรื่องเชิงสังคมหรือวัฒนธรรมก็ได้ แต่ถ้ามองด้วยสายตาแบบวิทยาศาสตร์ มันอาจไม่ใช่อคติหรือ Bias ที่เกิดขึ้นแค่เพราะชื่นชอบความสวยหล่อเท่านั้น ทว่าเป็นเรื่องที่ ‘ฝัง’ อยู่ในกระบวนการวิวัฒนาการและการคัดเลือกทางเพศกันเลยทีเดียว

 

ดังนั้น ความชื่นชอบเรื่องสวยหล่อ จึงไม่ใช่แค่เรื่อง ‘เปลือกผิว’ เท่านั้น แต่ที่จริงแล้วอยู่ในแก่นของความเป็นมนุษย์อย่างหนึ่ง ซึ่งเมื่อเราค้นพบและ ‘รู้’ แล้วว่า – นี่เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งในตัวมนุษย์ แต่เป็นธรรมชาติที่อาจก่อให้เกิดความไม่ยุติธรรมขึ้นได้ในสังคมสมัยใหม่ เราก็อาจสามารถใช้สติปัญญาคอยควบคุมและระมัดระวังอคตินี้ได้

 

การศึกษา ‘วิทยาศาสตร์แห่งความหน้าตาดี’ จึงอาจมีประโยชน์อย่างนี้นี่เอง

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X