×

สาทิตย์ ขอตัดงบกระทรวงพลังงาน 7% หลังไม่แก้ปัญหาคนยากจนไม่มีไฟฟ้าใช้ ชี้หลังโควิดคนไร้บ้านเพิ่ม มีปัญหาที่อยู่อาศัย ใช้น้ำและไฟ เพราะหมดตัว

โดย THE STANDARD TEAM
20.08.2021
  • LOADING...
Sathit Wongnongtoey

วันนี้ (20 สิงหาคม) ที่อาคารรัฐสภา สาทิตย์ วงศ์หนองเตย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดตรัง พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อภิปรายขอสงวนคำแปรญัตติเพื่อขอปรับลดงบประมาณในส่วนของกระทรวงพลังงานลงที่ 7% โดยขอสอบถามไปยังคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณ ว่าเหตุใดท่านจึงปรับลดงบประมาณในส่วนของกระทรวงพลังงานลงน้อยมาก โดยท่านได้ทำหน้าที่ในการจะดูแลเรื่องความเป็นธรรม เรื่องราคาพลังงานต่อพี่น้องประชาชนคนยากคนจนมากน้อยเพียงใด ซึ่งที่ผ่านมาตนได้เห็นข่าวที่เกิดขึ้นว่าจะมีการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ระหว่างปี 2564-2568 โดยกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้เห็นชอบกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศ โดยประเด็นดังกล่าวจะต้องถูกส่งไปยังคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งเมื่อพิจารณาในรายละเอียดการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้านั้นมีอยู่โครงการหนึ่งของสำนักนโยบายและแผนพลังงาน พูดถึงเรื่องโครงการศึกษาและพัฒนาแนวทางกำกับดูแลกิจการและราคาพลังงาน ซึ่งนั่นหมายความว่ากระทรวงพลังงานยังมีแนวความคิดดังกล่าวอยู่บ้าง

 

สาทิตย์กล่าวต่อไปว่า ประเด็นคือยังมีประชาชนกลุ่มหนึ่งภายในประเทศที่ยังคงอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่า อุทยาน และพื้นที่ของการรถไฟ และที่สงวนหวงห้ามต่างๆ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ทั่วประเทศมีจำนวนหลายล้านคน กลุ่มคนเหล่านี้ไม่สามารถที่จะขอติดตั้งมิเตอร์แบบถาวรได้ และหากจะขอติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าถาวรจะต้องไปขออนุมัติจากหน่วยงานนั้นๆ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินให้อนุมัติให้ก่อน แต่ก็ไม่เคยมีหน่วยงานไหนอนุมัติให้ เพราะไปตีตราเขาว่าเป็นผู้บุกรุก ทั้งๆ บางพื้นที่เป็นการประกาศเขตป่าทับที่ของชาวบ้าน โดยเชื่อว่ามีอยู่ในทุกเขตเลือกตั้ง และในเมืองก็มีพี่น้องอยู่ที่พื้นที่รถไฟ 

 

“กลุ่มคนเหล่านี้เมื่อขอมิเตอร์ถาวรไม่ได้จึงจำเป็นที่จะต้องขอมิเตอร์แบบชั่วคราว ซึ่งเมื่อดำเนินการขอมิเตอร์ชั่วคราวและความไม่เป็นธรรมก็คือการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าในส่วนการไฟฟ้าของภูมิภาค ได้กำหนดอัตราไว้สำหรับผู้ที่อยู่อาศัยจะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าอยู่ที่หน่วยละประมาณ 2.3 บาท และถ้าใช้ไฟฟ้าที่ 400 หน่วยขึ้นไปค่าไฟฟ้าจะอยู่ที่ 4.4 บาทต่อหน่วย แต่พี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ป่า ในเขตพื้นที่อุทยาน หรือพื้นที่การรถไฟ ตามประกาศของการไฟฟ้าในเรื่องอัตราการใช้ไฟฟ้าของมิเตอร์ชั่วคราวนั้นจะต้องจ่ายค่าไฟอยู่ที่หน่วยละ 6.8 บาท นั่นแปลว่าคนรวยที่อยู่ที่บ้านที่มีที่ดินเป็นของตนเองนั้นจ่ายค่าไฟที่ถูกกว่ากลุ่มประชาชนที่ไม่มีที่ดินและที่พักอาศัยเป็นของตนเอง” สาทิตย์กล่าว 

 

สาทิตย์ยังกล่าวอีกว่า หากสังเกตจะเห็นว่าประชาชนที่อาศัยริมทางรถไฟและในพื้นที่ชนบทในหลายที่มีมิเตอร์ไฟฟ้าเพียงหนึ่งลูกแต่พ่วงออกไปอีก 10 บ้าน ซึ่งบางบ้านขายการพ่วงสายไฟเพิ่มอีก 10 บาทต่อหน่วย ทำให้พี่น้องประชาชนคนยากจนเหล่านั้นจะต้องจ่ายค่าไฟที่แพงขึ้นอีก ตนเคยต่อสู้เรื่องนี้แล้วโดยการส่งเรื่องไปยังคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม โดยเชิญผู้แทนจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเข้าชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น คำตอบในขณะนั้นทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอ้างว่าได้มีการผ่อนผันให้แล้ว และอ้างไปถึงมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2556 ซึ่งต้องเรียนว่าในข้อผ่อนผันให้นั้นไม่สามารถที่จะปฏิบัติได้ เนื่องจากในข้อผ่อนผันได้กำหนดไว้ว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคไม่สามารถกำหนดให้การใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ป่าสงวน อุทยาน รถไฟ หรือพื้นที่อื่นที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของพื้นที่เป็นลายลักษณ์อักษรใช้ไฟฟ้าในอัตราประเภทถาวรได้ เนื่องจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะต้องปฏิบัติตามมติของคณะรัฐมนตรีและมติของอนุกรรมาธิการวิสามัญ กลับมาที่การเรื่องร้องเรียนซึ่งกำหนดไว้ว่า ในการขอใช้ไฟฟ้าจะต้องได้รับหนังสือยินยอมจากภาครัฐซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ อุทยานไม่อนุญาต ป่าไม้ไม่อนุญาต รถไฟแม้กระทั่งขอเช่าที่ก็ไม่อนุญาต คนเหล่านี้ทั่วประเทศมีเท่าไร และนี่คือความไม่เป็นธรรม

 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดนี้เชื่อว่าจะทั้งในพื้นที่สลัม พื้นที่รถไฟ หรือพื้นที่ป่า และพื้นที่ต่างๆ ของรัฐ อาจจะมีคนเพิ่มเยอะขึ้นอีก เนื่องจากโควิดทำคนหมดเนื้อหมดตัว ต้องถูกยึดบ้านยึดช่อง ซึ่งบุคคลเหล่านี้จะต้องประสบกับความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมเหล่านี้อีก

 

“ผมจึงขอถามคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ ว่าท่านได้ทำหน้าที่เพื่อประชาชนในการเรียกร้องให้มีการปรับราคาโครงสร้างค่าไฟที่เป็นธรรมหรือไม่ ดังนั้นจึงยืนยันที่จะขอตัดงบประมาณของกระทรวงพลังงานลง” สาทิตย์กล่าว 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising