×

จากกะเหรี่ยงแก่งกระจานถึงบ้านบางกลอย ‘หนึ่ง สถาพร’ อดีตนักข่าวผู้ขุดคุ้ยความลับจากป่ามาตีแผ่

15.03.2021
  • LOADING...
สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา

HIGHLIGHTS

8 mins. read
  • ปี 2554 หนึ่ง-สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา เคยเข้าไปทำข่าวในพื้นที่แก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี หลังจากได้ยินข่าวเฮลิคอปเตอร์ตก ซึ่งกลายเป็นพาดหัวใหญ่ของสื่อหลายๆ แห่ง
  • ผ่านมาอีกหนึ่งทศวรรษ ชื่อของกะเหรี่ยงบางกลอยซึ่งเมื่อก่อนถูกเรียกในชื่อกะเหรี่ยงแก่งกระจาน ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นในสังคมอีกหน เมื่อพวกเขาที่ครั้งหนึ่งถูกรุกไล่จากบ้านบางกลอยบน ตัดสินใจกลับขึ้นไปยังถิ่นที่อยู่และที่ทำกินอีกหน ขณะที่รัฐพยายามหาทางจัดการเพื่ออนุรักษ์พื้นที่ส่วนนั้นไว้ในนามอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน 
  • สถาพรบอกว่าสิบปีที่แล้วผมทำข่าวนี้ไปไม่มีใครสนใจผมเลย มีกลุ่มเล็กๆ มาสนใจ ข่าวก็ไม่มีเรตติ้ง ทำข่าวแบบนี้มันทำใจอยู่แล้ว แต่วันนี้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ในปี 2554 หนึ่ง-สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา เคยเข้าไปทำข่าวในพื้นที่แก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี หลังจากได้ยินข่าวเฮลิคอปเตอร์ตก ซึ่งกลายเป็นพาดหัวใหญ่ของสื่อหลายๆ แห่ง 

 

เพียงแต่เป้าหมายของเขาไม่ได้ไปทำข่าวเหตุการณ์นั้นโดยตรง ลึกไปกว่านั้น ด้วยนิสัยและอาชีพนักข่าวสืบสวน เขาตั้งคำถามถึงสาเหตุที่ทำให้เฮลิคอปเตอร์ลำนั้นมุ่งตรงไปยังแก่งกระจาน และมันได้กลายเป็นคำถามสำคัญที่นำพาเขาไปสู่เหตุการณ์ที่เป็นเสมือนหมุดหมายครั้งใหญ่ของรอบปีนั้น นั่นคือเหตุการณ์เผาหมู่บ้านของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บางกลอย

 

การสำรวจ ขุดค้น และสืบสวนข้อเท็จจริงของสาเหตุการเผาครั้งนั้น ไม่เพียงแต่ทำให้สถาพรได้เข้าไปใกล้ชิดกับชุมชนชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ รวมถึง ปู่คออี้ ผู้นำทางจิตวิญญาณของผู้คน ตลอดจน บิลลี่-พอละจี รักจงเจริญ หลานชายของปู่ที่ถูกอุ้มหายไปในปี 2557 แต่ยังทำให้เขาพบเจอกับโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่ทำให้เขาต้องหันหลังให้ชีวิตการเป็นนักข่าวสืบสวนในเวลานั้น

 

ผ่านมาอีกหนึ่งทศวรรษ ชื่อของกะเหรี่ยงบางกลอยซึ่งเมื่อก่อนถูกเรียกในชื่อกะเหรี่ยงแก่งกระจาน ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นในสังคมอีกหน เมื่อพวกเขาที่ครั้งหนึ่งถูกรุกไล่จากบ้านบางกลอยบน ตัดสินใจกลับขึ้นไปยังถิ่นที่อยู่และที่ทำกินอีกหน ขณะที่รัฐพยายามหาทางจัดการเพื่ออนุรักษ์พื้นที่ส่วนนั้นไว้ในนามอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จนเกิดข้อถกเถียงถึงความชอบธรรมของข้อกฎหมาย ของการกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐ ตลอดจนเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ดูห่างไกลจากความเข้าใจของรัฐเสมอมา

 

และใครจะเหมาะสมในการสนทนาประเด็นนี้มากไปว่า หนึ่ง สถาพร อดีตนักข่าวที่เคยเป็นผู้จุดประกายประเด็นกะเหรี่ยงแก่งกระจานขึ้นมาเมื่อสิบปีที่แล้วอีกเล่า

 

หนึ่ง สถาพร

 

แล้วอุทยานเข้าไปทำอะไรในนั้น ก็ได้รับคำตอบว่าเขาไปขับไล่ชาวกะเหรี่ยงออกจากป่า เราเลยถามต่อว่าไล่ทำไมล่ะ เขาอยู่ในป่าแล้วไปไล่เขาออกมาทำไม เลยมารู้ว่ามันมีการขับไล่ที่ใช้วิธีการค่อนข้างรุนแรง อย่างการเผาบ้าน เผายุ้งข้าว ไปอุ้มลงมา

 

ไปทำข่าวแก่งกระจานได้อย่างไร

ตอนนั้นมันเกิดคดีเฮลิคอปเตอร์ตก แต่ว่าเราไม่อยากให้โยงกับกรณีนั้นนะ

 

ความสนใจต่างๆ ของเรามันเริ่มมาจากเหตุเฮลิคอปเตอร์รุ่นฮิวอี้ตกลำแรก มันเป็นเฮลิคอปเตอร์เก่าและมีโอกาสตกได้ เราเลยไม่สงสัยอะไร แล้วทีนี้ก็มีการส่งทีมไปค้นหาฮิวอี้ด้วยเฮลิคอปเตอร์แบล็กฮอว์ก แล้วก็มีการบอกกันว่าคนที่อยู่บนเครื่องฮิวอี้ลำแรกทั้ง 5 คนเสียชีวิตหมดแล้ว 

 

ดังนั้นภารกิจของทีมไปค้นหาจึงเป็นการนำร่างผู้เสียชีวิตออกมาโดยใช้แบล็กฮอว์ก โดยส่งคนไปอีก 9 คนรวมทั้ง ผบ.พล.ร.9 ตอนนั้น และทหารฝีมือดีไปด้วย ทีนี้แบล็กฮอว์กหายไปจากจอเรดาร์อีก ตอนนั้นเราอยู่ Thai PBS ก็ยืนดูข่าวอยู่ที่ออฟฟิศนี่แหละ เราเป็นนักข่าวทีมเฉพาะกิจ ทำข่าวเจาะ ข่าวเชิงสืบสวน อีกหน้าที่หนึ่งคือทำข่าวม็อบ 

 

ทีนี้ตอนนั้นเราทำข่าวเรื่องบุกรุกที่สวนผึ้งของพวกนักการเมือง ผู้มีอิทธิพล เลยพอรู้จักคนที่อยู่แถวๆ ราชบุรีเยอะอยู่ พอมาเกิดเหตุในพื้นที่เดียวกัน เลยพอจะมีแหล่งข่าวอยู่บ้าง เลยไปบอกหัวหน้าว่าอยากไปทำข่าวนี้ แต่ไม่ได้จะไปทำข่าวเฮลิคอปเตอร์ตกนะ แต่อยากจะรู้ว่าเฮลิคอปเตอร์ลำแรกที่เข้าไป เขาเข้าไปทำอะไรกัน เพราะตอนนั้นยังไม่มีใครบอกว่าฮิวอี้ลำแรกที่ตก เขาเข้าไปทำอะไร 

 

ตอนที่ไปถึงเราก็ไม่ได้ไปอยู่ตรงวอร์รูมที่เขาจัดกำลังค้นหากัน เพราะคงไม่ได้อะไร เราเลยไปที่อื่นตามหน่วยงานในพื้นที่ ขับรถไปเลย ไปขอคุยกับเขาบอกว่าอยากรู้ว่าฮิวอี้ลำแรกเข้าไปทำอะไร เลยมาได้เรื่องว่าเขามีภารกิจในการเข้าไปรับเจ้าหน้าที่ของอุทยาน อุทยานนี้เขาใช้เฮลิคอปเตอร์ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เอาคนชุดหนึ่งออกมาแล้ว แต่ว่าอากาศมันปิด เลยขอกำลังสนับสนุนจากทางฝ่ายทหารเพื่อให้เข้าไปรับ ฉะนั้นทหารในเฮลิคอปเตอร์ไม่ได้เข้าไปร่วมภารกิจอะไรกับใครเขาหรอก แต่พอขอกำลังสนับสนุนมาเลยเข้าไปรับ โชคร้ายที่เฮลิคอปเตอร์ตก

 

คำถามคือ แล้วอุทยานเข้าไปทำอะไรในนั้น ก็ได้รับคำตอบว่าเขาไปขับไล่ชาวกะเหรี่ยงออกจากป่า เราเลยถามต่อว่าไล่ทำไมล่ะ เขาอยู่ในป่าแล้วไปไล่เขาออกมาทำไม เลยมารู้ว่ามันมีการขับไล่ที่ใช้วิธีการค่อนข้างรุนแรง อย่างการเผาบ้าน เผายุ้งข้าว ไปอุ้มลงมา หนึ่งในคนที่ถูกอุ้มลงมาด้วยคือปู่คออี้ ตอนนั้นยังไม่มีใครรู้จักปู่คออี้เลย แต่ทางเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานเขาใช้คำว่าไปจับผู้นำทางจิตวิญญาณของเขามา

 

เราเลยรู้สึกว่ามันมีความขัดแย้งแล้ว และน่าสนใจเลยบอกเขาว่า ขอเข้าไปคุยกับเขาได้ไหม แล้วไม่รู้ยังไง เขาก็พาเราเข้าไป แล้วตอนนั้นไม่มีนักข่าวคนไหนรู้เรื่องนี้เลยนะ เราก็ไปกับเขาแหละ นั่งแค็ปรถกระบะเข้าไป พอผ่านด่านเขามะเร็ว ซึ่งเป็นด่านที่ บิลลี่ พอละจี หายตัวไปนี่แหละ เราก็ต้องหมอบเพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่ประจำด่านเห็น พอขึ้นไปฝนก็จะตก หมายความว่าอยู่นานไม่ได้ เพราะทางขึ้นบ้านบางกลอยมันผ่านลำห้วยห้าแห่ง ทีนี้ถ้าน้ำป่าลงมา น้ำจะท่วมทางและกลับไม่ได้ เลยต้องรีบไปรีบกลับแล้วไปนั่งคุยกับชาวบ้าน ซึ่ง ณ วันนี้คือจำไม่ได้เลยว่านั่งคุยกับใครบ้าง เพราะตอนนั้นยังไม่รู้จักใครเลย 

 

หนึ่ง สถาพร

 

ตอนนั้นหมู่บ้านบางกลอยเป็นอย่างไรบ้าง

ไม่เหมือนทุกวันนี้นะ ดูแย่กว่าเยอะ เป็นเพิงอะไรแบบนั้นเลย

 

พอเข้าไปนั่งคุย เขาก็พูดเรื่องว่าถูกขับไล่ ถูกเผาบ้าน แล้วมีปัญหาเรื่องภาษาด้วยนะ คือมีคนที่พูดไทยได้แต่ไม่ได้คุยกันอย่างง่ายๆ ทีนี้เราบอกว่า อยากเจอผู้นำทางจิตวิญญาณของคุณ แต่พวกเขาบอกไม่อยู่ แต่เราเข้าใจว่าอยู่นะเพราะเขาจะไปไหนล่ะ เพียงแต่เขาไม่ให้เราเจอ เพราะเขาก็คงคิดว่าคุณเป็นใครล่ะ เป็นพวกไหน เขาไม่ไว้ใจด้วยนะ เพราะเขาเพิ่งผ่านเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านความขัดแย้งมา เราก็เข้าใจว่าเขาไม่ไว้ใจจะให้เราเจอ 

 

เราจึงได้ข้อมูลมาระดับหนึ่งแล้ว แต่ไม่ได้บันทึกอะไรมาเลย เพราะถ้าทำอย่างนั้นจะไม่ได้คุยเลย ถ่ายภาพนิ่ง อินเสิร์ชอะไรเล็กๆ น้อยๆ มา แล้วกลับมายังแก่งกระจาน นั่งคิดว่าจะเขียนข่าวนี้ยังไง เพราะเราเป็นโทรทัศน์ ต้องมีภาพ เสียง บทสัมภาษณ์ แล้วในวันที่กลับมาก็เป็นวันที่เขาเจอแบล็กฮอว์กและผู้เสียชีวิต บรรยากาศอาลัยมาก โศกเศร้ากันเพราะมีเจ้าหน้าที่รัฐเสียชีวิต เพื่อนเราที่เป็นช่างภาพช่อง 5 ที่อยู่บนเฮลิคอปเตอร์ลำนั้นก็เสียชีวิต

 

ตอนนั้นเราเห็นแล้วว่าจังหวะมันไม่ดี เพราะบรรยากาศมันอยู่ในความโศกเศร้า คนที่เสียชีวิตก็ไม่ได้เกี่ยวกับยุทธการตะนาวศรีหรือปฏิบัติการเผาบ้านขับไล่อะไร เขาเป็นแค่หน่วยสนับสนุนที่ถูกร้องขอให้ไปช่วยรับคน 

 

เราเลยลังเลและรอก่อน แต่บอกหัวหน้าแล้วว่าได้ประเด็นนี้มาแล้วแต่ไม่รู้จะออกข่าวยังไง

 

หนึ่ง สถาพร

 

ความยากคืออะไร

หนึ่งในประเด็นที่ค่อนข้างยากคือ ณ วันที่เขาเจอเฮลิคอปเตอร์ คนที่ถูกยกย่องมากคือหัวหน้าอุทยาน เป็นตัวละครในเรื่องที่ว่าไปขับไล่ชาวบ้าน หมายความว่าขณะที่คนทั้งประเทศกำลังชื่นชมคนนี้อยู่ กูจะต้องไปบอกคนว่าไอ้คนนี้มันไปเผาบ้านกะเหรี่ยงนะ แล้วเครดิตของเรากับของเขา ณ เวลานั้นมันต่างกันมาก มันคือการรบกับฮีโร่ อยู่ดีๆ จะไปบอกว่า Iron Man ชั่วมากเลย คือถ้าเป็นสมัยนี้คงมีทัวร์ลง เราเลยทำข่าวนี้แบบเงียบๆ ไปก่อน

 

แล้วอีกอย่างคือมันมีจุดที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราไปต่อไม่ได้ เพราะเราไม่สามารถคอนเน็กกับปู่คออี้ได้ คุยไม่ได้ เข้าไม่ถึง จะไปนั่งคุยกับชาวบ้านมาน้ำหนักก็เบา ไม่น่าสนใจเท่าไร

 

ทีนี้ก่อนหน้านั้นเราไปค้นข้อมูลและมีเพื่อนนักข่าวในพื้นที่ที่เป็นคนราชบุรี บอกเราว่าให้ไปลองค้นหาคำว่า ‘ใจแผ่นดิน’ ในความรู้สึกเราคือเหมือนมึงพูดถึงเมืองลับแลอะไรสักอย่างเลย มันมีอยู่จริงหรือเปล่าวะ เลยไปค้นในกูเกิล ถ้าเสิร์ชวันนี้ก็จะเฉยๆ ไง แต่ถ้าย้อนกลับไปตอนนั้นคือ ไม่มีใครพูดถึงคำว่าใจแผ่นดินมาก่อน แล้วอีกคำหนึ่งคือ ‘บุตรชายของกะเหรี่ยงแก่งกระจาน’ ซึ่งคือ อาจารย์ป๊อด-ทัศน์กมล โอบอ้อม เราเลยคิดว่าคนนี้แหละที่จะพาเราไปคอนเน็กกับปู่คออี้ได้ มันยากมากนะที่จะหาว่าใครสักคนที่เขาไว้ใจแล้วจะพาเราเข้าไปคุย

 

หนึ่ง สถาพร

 

อะไรทำให้คุณกัดไม่ปล่อยขนาดนี้ ถ้าเป็นบางคนเจอทางตันอาจถอย ไม่ทำแล้ว

เฮ้ย มันท้าทายนะ คุณไปเจอเรื่องใหม่ แล้วด้วยเซนส์ของการเป็นนักข่าว เราคิดว่ามันคือข่าวที่เป็นประเด็นคลาสสิกระดับโลกเลยนะเอาจริงๆ มันไม่เคยถูกพูดถึงมาก่อนเท่านั้นเอง แล้วเราถูกฝึกมาให้เป็นนักข่าวสืบสวน เป็น Investigative Reporters เราก็สนใจ ปกติปีหนึ่งๆ เราจะทำเรื่องใหญ่ๆ เรื่องเดียว ทำข่าวก็ทำไป แต่สักปีจะมีเรื่องหนึ่งที่เกาะ อย่างเช่นบุกรุกที่สวนผึ้ง ทำไป 40 ตอน ทำอยู่ 6 เดือนเรื่องเดียว เราเป็นคนแบบนั้นอยู่แล้ว

 

หนึ่ง สถาพร

 

ทีนี้มันมีรายงานเรื่องยุทธการตะนาวศรีเข้าไปด้วย ขอไม่บอกว่าได้มาอย่างไรแล้วกัน แต่ในรายงานมันมีภาพเผาที่เราเห็นกันทุกวันนี้แหละ มีภาพเจ้าหน้าที่อุทยานไปยืนตรงยุ้งข้าวที่โดนไฟไหม้ อยู่บนหลังคาบ้าน มีเฮลิคอปเตอร์โรยตัวต่างๆ เราเป็นคนเผยแพร่ภาพนี้เป็นคนแรก

 

แล้วหาทางติดต่ออาจารย์ป๊อด ทัศน์กมลได้อย่างไร

โชคดีที่เขาเคยเป็นผู้สมัคร ส.ส. เคยลงการเมืองท้องถิ่น เลยพอจะหาเบอร์โทรศัพท์ไปได้ แล้วคืนนั้นก็โทรไปหาเขาเลย เขาบอกมาว่า “ผมไม่ยุ่ง ไม่เอา ไม่อยากยุ่งกับเรื่องนี้แล้ว” เราก็บอกว่า ถ้าอาจารย์ไม่ยุ่ง จะไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้ได้แล้วนะ จะไม่มีใครนำเรื่องนี้มาเผยแพร่แล้วนะ แล้วที่กะเหรี่ยงถูกเผาบ้านก็ต้องหายไปเลย 

 

เถียงกันอยู่แบบนี้ 2 ชั่วโมงกว่า เราพยายามหว่านล้อมทุกอย่าง เราก็คิดว่าถ้าเขาไม่พูดก็เลิกแล้ว เพราะไม่รู้จะไปต่อยังไง จนกล่อมไปกล่อมมา จำไม่ได้ว่ากล่อมยังไงบ้าง ทีเด็ดคืออะไร เขาบอกงั้นพรุ่งนี้เจอกันที่ท่ายาง ตรงริมแม่น้ำที่ตอนนี้เป็นตลาดน้ำ เราก็นั่งคุยกัน เขาบอกว่าผมเปลี่ยนใจแล้ว จะพูด ทีนี้เนื้อหาค่อนข้างเข้มข้น ดุดันจนเรากลัวแทน มันพาดพิงหลายอย่าง แล้วภาษาที่เขาใช้ก็ค่อนข้างรุนแรง เพราะพอเขาให้ใจเขาก็มาเต็มเลย 

 

ความที่เราเป็นคนทำข่าว ทำยาวๆ เป็นซีรีส์อยู่แล้ว เราก็คิดแล้วว่าไปทีละนิดดีกว่า ค่อยๆ ปล่อย ไม่จำเป็นต้องปล่อยแรงๆ ไปทีเดียว ค่อยๆ ไต่ระดับเพื่อเซฟเขาด้วยไม่ให้อันตรายเกินไป เพราะตัวละครหลักมีคนเดียว ถ้ามันจะอันตรายเขาก็อันตรายอยู่คนเดียว ปรากฏอาจารย์ป๊อดเขาก็หงุดหงิด เขาบอกผมพูดไปแรงกว่านั้นนะ ใส่ไปเลย ผมไม่โกรธ เราก็บอกไปว่าใจเย็นๆ ค่อยๆ ไปจะดีกว่า

 

แต่ระหว่างนั้นแกก็พาเราไปเจอปู่คออี้ แต่ไม่ได้มีเราคนเดียวนะ มีเดลินิวส์ของท้องถิ่นและยังสู้เรื่องนี้อยู่จนปัจจุบัน กับอีกเจ้าคือประชาไท

 

แล้วเราไปได้รายงานของอุทยานที่ส่งให้ผู้ว่าฯ เพชรบุรี รายงานประจำเดือนว่าเดือนนี้หน่วยงานนี้ทำอะไรบ้าง ทีนี้มันมีรายงานเรื่องยุทธการตะนาวศรีเข้าไปด้วย ขอไม่บอกว่าได้มาอย่างไรแล้วกัน แต่ในรายงานมันมีภาพเผาที่เราเห็นกันทุกวันนี้แหละ มีภาพเจ้าหน้าที่อุทยานไปยืนตรงยุ้งข้าวที่โดนไฟไหม้ อยู่บนหลังคาบ้าน มีเฮลิคอปเตอร์โรยตัวต่างๆ เราเป็นคนเผยแพร่ภาพนี้เป็นคนแรก ซึ่งพอปล่อยไปอาจารย์ป๊อดก็เป็นที่รู้จัก สื่ออื่นๆ เลยเข้ามาสัมภาษณ์แกด้วย ซึ่งส่วนตัวผมว่าดี ไม่งั้นกูต้องไปสู้กับฮีโร่คนเดียว

 

หนึ่ง สถาพร

 

สิ่งที่ไม่เคยถูกพูดถึงในยุทธการตะนาวศรีเมื่อปี 2554 คือแรกเริ่มเดิมที การเอาเขาลงมาไม่ได้เอาเขาลงมาด้วยสมมติฐานว่า ห้ามอยู่ใจแผ่นดินหรือบางกลอยบนนะ แต่เป็นการไปกล่าวหาเขาว่าเป็นกลุ่มคนอื่น ที่ไม่ใช่คนไทย ไม่ใช่เป็นคนท้องถิ่นดั้งเดิม 

 

ไปเจอปู่คออี้ครั้งแรก คุยอะไรกัน

ปู่นอนอยู่แล้วลุกขึ้นมาพนมมือ สักพักแกก็พูดแล้วมีคนมาแปลให้ ซึ่งถ้าจำไม่ผิดคนแปลคือบิลลี่หรือไม่ก็ผู้ใหญ่บ้านนี่แหละ แกก็พูดว่าแกอยู่ที่นั่นมาตั้งแต่เกิด เกิดที่นั่น พ่อแม่ก็อยู่ที่นั่น โดยที่เรายังไม่ได้ถามอะไรสักคำเลย เดินเข้าไปนั่งปู่ก็ลุกขึ้นมาพูดเลย ปู่รู้อยู่แล้วว่ามึงมาถามกูเรื่องอะไร แล้วพันผ้าโพกหัว 

 

แล้วนั่นแหละที่เสียงปู่คออี้ถูกปล่อยออกมาครั้งแรก เราก็ดำเนินการต่อ เป็นเรื่องราวใหญ่โต ไปสัมภาษณ์ ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร เขามาคุยเรื่องเฮลิคอปเตอร์ตกที่สมาคมนักข่าว เราก็เอาภาพหลักฐานที่มีการเผาบ้านต่างๆ ไปถามให้เขาอธิบายหน่อย แล้วเผอิญมันมีประเด็นที่เขาจับ หน่อแอะ ลูกชายปู่คออี้ที่ตอนนี้พิการ แต่ตอนนั้นเขายังเดินได้ปกติ เขาโดนจับลงมาด้วยและโดนตั้งข้อหาว่าเป็นกองกำลังติดอาวุธ ซึ่งตอนนั้นข้อหาก็มีทั้งกองกำลังติดอาวุธ ทั้งชนกลุ่มน้อยที่อพยพเข้ามาใหม่ คือไม่ใช่คนที่อยู่ดั้งเดิม แล้วกองกำลังติดอาวุธที่ว่าคือ มีภาพถ่ายหลักฐานเป็นภาพมีด อุปกรณ์ทำการเกษตร พวกมีดดายหญ้า เคียวเกี่ยวข้าว ปืนแก็ปกระบอกหนึ่ง จริงๆ มีสัก 9 หรือ 10 กระบอกนี่แหละ แต่ใช้ได้กระบอกเดียว ที่เหลือเสียหมด และนี่แหละกองกำลังติดอาวุธ 

 

เราก็ถามคุณชัยวัฒน์นะ แล้วเขาก็ตอบว่า จริงๆ แล้วตอนเข้าไปเจอ มีฐานปืน พานท้ายปืนอาก้า มีเยอะแยะไปหมด พอถามว่าทำไมหัวหน้าไม่ถ่ายรูปมา เขาบอกเขาสงสาร นี่พูดแบบให้ความเป็นธรรมกับเขาเลย ไม่มีความเห็นว่าถูกหรือผิด แต่ก็เสนอข่าวตามนี้ อะไรที่เป็นคำถามก็ถามให้เขาชี้แจง

 

ทีนี้เขาก็บอกว่ากะเหรี่ยงเข้าไปบุกรุกป่า เป็นกลุ่มคนที่อพยพเข้ามาใหม่ และนี่แหละคือความจำเป็นที่เราต้องเริ่มพิสูจน์ว่ากะเหรี่ยงกลุ่มนี้ไม่ได้อพยพเข้ามาใหม่ 

 

สิ่งที่ไม่เคยถูกพูดถึงในยุทธการตะนาวศรีเมื่อปี 2554 คือแรกเริ่มเดิมที การเอาเขาลงมาไม่ได้เอาเขาลงมาด้วยสมมติฐานว่า ห้ามอยู่ใจแผ่นดินหรือบางกลอยบนนะ แต่เป็นการไปกล่าวหาเขาว่าเป็นกลุ่มคนอื่น ที่ไม่ใช่คนไทย ไม่ใช่เป็นคนท้องถิ่นดั้งเดิม 

 

ซึ่งตอนนี้หน่วยงานรัฐไม่พูดถึงแล้วว่าตอนปี 2554 คุณตั้งข้อหาอย่างนี้นะ เราเลยต้องไปพิสูจน์กัน เริ่มมีทีมจากสภาทนายความเข้ามา มีตัวละครเยอะขึ้น แม้แต่คุณชายที่ปู่คออี้เคยเอาช้างไปถวาย เพื่อที่จะบอกว่าเป็นคนดั้งเดิม อยู่มานานแล้ว เครือข่ายกะเหรี่ยงเริ่มเข้ามามีบทบาท

 

สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา

 

แต่อาจารย์ป๊อดก็ยังเป็นตัวละครหลักของเรื่องอยู่นะ เมื่อข่าวมันถูกตีออกมาได้สักเกือบเดือน ก็มีงานเสวนา มีอีเวนต์ต่างๆ เขาก็ต้องเชิญอาจารย์ป๊อดไปพูด ทีนี้สิ่งที่ถูกกลั่นกรองในข่าวของเรา มันก็ไม่ถูกกลั่นกรองในงานเหล่านั้นเพราะเขาพูดสด 

 

มีวันหนึ่งเรากลับไปแก่งกระจานอีกรอบ เขาเอาปู่คออี้ลงมาเพราะตาแกเป็นต้อ พาไปหาหมอที่โรงพยาบาล บิลลี่ก็มา อาจารย์ป๊อดและทีมทนายก็มา ไปพักกันที่รีสอร์ตแก่งกระจานนั่นแหละ ก็นั่งคุยกัน อาจารย์ป๊อดบอกรูปผมติดอยู่หน้าอุทยานรูปเบ้อเร่อเลย เป็นบุคคลห้ามเข้า แล้วเขาก็บอกผมไม่กลัวหรอก

 

หลังจากนั้นไม่กี่วัน เราไปทำงานที่ขอนแก่นต่อ เพื่อนอาจารย์ป๊อดโทรมาบอกว่าแกถูกยิง ตายแล้ว ผมทรุดเลย กำโทรศัพท์อยู่อย่างนั้น ทรุดกับพื้น ร้องไห้ ลุกไม่ขึ้นเลย ในใจตอนนั้นคือเลิกเป็นนักข่าวแล้วดีกว่า เรารู้สึกว่าเราทำให้เขาตาย แม้เราจะบอกว่าเราสกรีนให้เขาแล้ว เซฟแล้ว แต่ก็นึกถึงไอ้ 2 ชั่วโมงที่เราไปหว่านล้อมเขาให้ออกมาพูด เราเป็นคนไปดึงเขาออกมาให้อยู่ตรงนี้ เลยรู้สึกว่าทำให้เขาตาย รู้สึกแย่มาก จะไปงานศพก็ไม่ได้ไป ไปไม่ได้เพราะโดนห้าม เนื่องจากมีข่าวว่าเราก็เป็นเป้าหมายหนึ่ง แต่ก็ไม่ถูกสั่งห้ามให้ทำเรื่องนี้ต่อนะครับ 

 

เราจึงสกรีนตัวเอง เลิกทำ จิตใจเราไม่ไหว ทำต่อไม่ได้ ทนายด่าเลย เขาเป็นรุ่นน้องที่รามและสนิทกัน เขามาถามว่าทำไมไม่ทำวะ เราก็บอกว่าดูเรื่องอาจารย์ป๊อดสิ ไม่เอาแล้ว ทำต่อก็จะมีคนตายอีก เราปกป้องเขาไม่ได้ คือเราไปทำข่าว กลับมาก็เจองานออกอากาศ แต่เขาน่ะอยู่ที่นั่น อยู่ด้วยกัน จะกลับบ้านก็ต้องผ่านด่าน หมายความว่าเจ้าหน้าที่รัฐเขารู้หมดแหละว่าใครเข้าใครออก เราเลยตัดสินใจว่าขอเป็นผู้ชมดีกว่า

 

เราหยุดเลย แล้วก็มีช่องอื่นมาทำต่อ ข่าวมันเลยไม่ได้หายไป เราก็บอกทนายว่าเชื่อสิ เดี๋ยวก็มีคนตายอีก จนมาถึงบิลลี่ในปี 2557 

 

ซึ่งตอนนั้นคุณได้เข้าไปทำข่าวไหม

ไม่เลย ไม่ได้ยุ่งเลย ไม่รู้เรื่องอะไรด้วยเลยตอนนั้น ยังคุยกับทนายอยู่เลยว่าเห็นไหม แต่แน่ล่ะ คนที่ทำข่าวเขาก็ทำหน้าที่ของเขา เพียงแต่เราก็เห็นแล้วว่าเรื่องนี้เล่นกันหนัก เล่นกันถึงตาย

 

สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา

 

คุณว่าอะไรทำให้มันเล่นกันหนักขนาดนี้

ลองไปหาเบื้องหลังที่มากไปกว่านั้น เช่น การที่เขาไม่อยากให้กะเหรี่ยงอยู่ในป่า มันมีอะไรมากกว่าการที่บอกว่า เขาเป็นคนบุกรุกป่าหรือเปล่า เขาไปเห็นอะไรหรือเปล่า จริงๆ แล้วการอยู่ในป่าของกะเหรี่ยงมันเป็นเหมือนแนวรั้วอย่างหนึ่ง เป็นหูเป็นตาอย่างหนึ่ง 

 

ถ้าดูประวัติศาสตร์และบทเรียนที่ผ่าน จะเห็นว่ากะเหรี่ยงอยู่ในป่า ป่ามันไม่ได้หายไปไหน แต่พอมันมีคนมาทำสัมปทานป่าไม้ ปีเดียวป่าหายเป็นพันเป็นหมื่นไร่ เราตั้งกรมอะไรขึ้นมาสักกรม จำนวนป่าก็ลดลงอย่างรวดเร็ว ก็ลองคิดดู

 

เราพูดไม่ได้หรอก มันไม่มีหลักฐาน แต่รู้สึกว่ามันมีอะไรมากกว่าแค่เรื่องแนวคิดการอนุรักษ์ที่ต่างกัน

 

สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา

 

เทียบกันแล้วจากเหตุการณ์นั้นจนถึงบางกลอย เห็นความเปลี่ยนแปลงในเชิงประเด็นที่สังคมถกเถียงบ้างไหม

ในมุมของคนที่สนใจเรื่องการอนุรักษ์ เรามองว่าการอนุรักษ์ในไทยมีสองสาย เหมือนแนวคิดทางการเมืองมีขวามีซ้าย ขวานี่คือเขียวปี๋เลย คนห้ามไปแตะป่า ซึ่งสายของฝ่ายรัฐคิดแบบนี้แหละ พ.ร.บ. อุทยานฯ ก็มีกันพื้นที่ไข่แดงต่างๆ จะอยู่ได้ก็แค่โซนไข่ขาว แต่อนุรักษ์อีกสายคือฝ่ายซ้าย จะมองว่าคนอยู่กับป่าได้ คนเป็นรั้ว เป็นหูตาชั้นดี ทำหน้าที่ดูแลรักษาป่า แนวคิดนี้มันต่างกันตั้งแต่แรก เพียงแต่ว่ากฎหมายมันไปทางขวาอย่างเดียว

 

ตอนเด็กๆ เรียนหนังสือนี่มีคำว่าไร่เลื่อนลอยไหม มีนะครับ แต่ไม่มีคำว่าไร่หมุนเวียน หมายความว่าเราถูกให้ข้อมูลตั้งแต่เด็กว่าชาวเขาทำไร่เลื่อนลอยและทำลายป่า เราไม่เคยให้แนวคิด ให้ความรู้ว่าชาวเขาที่เขาดูแลรักษาป่ามันก็มี เขามีวิถีชีวิต มีภูมิปัญญา แต่เมื่อมันไม่อยู่ในหนังสือเรียน มันจะไปอยู่ในกฎหมายไหม ใช่ไหมล่ะ 

 

ชาติพันธุ์ก็เหมือนกัน ปัญหาของบางกลอยก็ไม่ต่างจากปัญหาของพี่น้องมุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้ ซึ่งมีความต่างทั้งเรื่องวิถีชีวิตและวัฒนธรรม เรื่องการใช้ชีวิต ภาษา

 

เวลาเราทำข่าว ถ้าใครเคยทำข่าวเรื่องบุกรุกที่ดินโดยนายทุน มันจะมีภาพถ่ายทางอากาศตรวจสอบว่าอยู่มาก่อนมี น.ส.3 ไหมหรืออยู่มาก่อนมี ส.ค.1 หรือเปล่า โฉนดนี้ออกถูกต้องไหม วิธีในการพิสูจน์สิทธิ์ในที่ทำกินคือใช้ภาพถ่ายทางอากาศย้อนหลัง เช่น ที่นี่ประกาศเขตป่าสงวนปี 2520 ใช้ภาพถ่ายทางอากาศปี 2518-2519 ดูว่าก่อนที่จะประกาศเขตป่าสงวนหรือป่าอนุรักษ์ มีการทำกินอยู่ก่อนไหมในแปลงนี้ที่อ้าง ถ้ามีการทำกินอยู่ก่อนคุณก็ได้สิทธิ์นั้นไป ออก ส.ค.1 ให้ได้ 

 

วิธีการอ่านคือแปลงนี้มีที่นาไหม มีสวนไหม ถ้ามีแล้วมองจากอากาศลงมาจะเห็นปลูกพืชเป็นแถวเป็นแนวเส้นตรง ดูว่ามีหลังคาบ้าน มีบ่อน้ำไหม ถ้ามีแสดงว่าอยู่มาก่อนการประกาศเขตป่าอนุรักษ์

 

แต่ทีนี้คุณใช้กฎหมายนี้กับไร่หมุนเวียนไม่ได้ เพราะเขาย้ายที่ไปเรื่อยๆ ทุก 7 ปี วนไป นอกจากนั้นไร่หมุนเวียนยังไม่ปลูกเป็นแถวเป็นแนว หว่านลงไปเลย มันจึงไม่มีสวนไม่มีแนว กฎหมายมันก็ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนกะเหรี่ยง และจะเถียงกันอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ถามว่าทำไมต้องเถียงกันไปเรื่อยๆ เพราะมันไม่มีในกฎหมายไง เจ้าหน้าที่รับก็บอกว่ากันตามกฎหมาย แล้วมันจะไปอยู่ในกฎหมายได้ยังไง ก็ในหนังสือเรียนมันยังไม่มีเลย คนกะเหรี่ยงไม่อยู่ในตำราเรียนไทย นับเป็นคนไทยในนิยามของกระทรวงศึกษาหรือเปล่ายังไม่รู้เลย

 

ชาติพันธุ์ก็เหมือนกัน ปัญหาของบางกลอยก็ไม่ต่างจากปัญหาของพี่น้องมุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้ ซึ่งมีความต่างทั้งเรื่องวิถีชีวิตและวัฒนธรรม เรื่องการใช้ชีวิต ภาษา แต่สามจังหวัดภาคใต้เขาเป็นชนกลุ่มน้อยที่ใหญ่ เขาเป็นสามจังหวัด มีคนจำนวนมาก แต่กะเหรี่ยงอยู่กระจัดกระจายไป ไม่ได้รวมกลุ่ม แล้วอยู่ตามแนวชายแดนไปเรื่อยๆ ที่สำคัญคือเสียงเบามากเนื่องจากว่าเขาอยู่อย่างเจียมตัวมาตลอด 

 

สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา

 

มองว่าบางกลอยจะลงเอยแบบไหน จะหายไปเงียบๆ ไหม

ไม่อยากวิจารณ์เลย แต่ผมคิดว่าสิ่งสำคัญคือการจัดการเรื่ององค์ความรู้ให้เป็นที่ประจักษ์ อาจสำคัญกว่าการที่เราต้องมานั่งเถียงกันเวลานี้ว่า ตกลงจะให้กลับขึ้นไปเลยไหม เช่น ทำให้ไร่หมุนเวียนเป็นที่ยอมรับ มันเป็นองค์ความรู้ ภูมิปัญญาที่ได้รับการยอมรับในระดับโลกว่าเป็นวิธีทำการเกษตรที่ดีที่สุดนั้นกางออกมาสู่เวทีวิชาการ ว่าภูมิปัญญาเป็นอย่างไร พอเป็นที่ยอมรับ ก็แปลว่าถ้าทำไร่หมุนเวียนตามทางนี้ก็ดีใช่ไหม 

 

ทำไมปู่ต้องอยากกลับไปอยู่ใจแผ่นดิน เพราะเขากลัวว่าอยู่ข้างล่างไปนานๆ ลูกหลานจะลืมเลือนเรื่องพวกนี้ไปทั้งหมด ต้องไปเป็นแรงงานในเมือง จะลืมวิถีชีวิตดั้งเดิม ลืมความเป็นคนกะเหรี่ยง 

 

แล้วกะเหรี่ยงมีอะไรมากกว่าไร่หมุนเวียน เช่น ถ้าคุณอยู่กับกะเหรี่ยงคุณจะรู้จักกับป่าสายสะดือ เด็กที่เกิดใหม่ เขาจะเอาเด็กไปผูกกับกับป่า เหมือนผูกจิตเป็นพี่น้องกัน ป่านี้เขาก็จะไม่ตัด ป่าช้าเป็นที่ฝังศพบรรพบุรุษก็จะไม่ตัด และนี่คือการรักษาป่า เคารพธรรมชาติของเขา หรือไปศึกษาที่งานศพของปู่คออี้ก็ได้ เป็นตัวจุดประกายให้เรากลับมาทำเรื่องนี้ใหม่เลย เพราะในงานศพนั้นการจะนำร่างปู่คออี้จากแก่งกระจานขึ้นไปที่บ้านบางกลอยล่าง ข้ามแม่น้ำทุกสายต้องลากสายสิญจน์ บอกแม่น้ำ บอกลำธาร บอกธรรมชาติว่าจะพาคนตายข้ามแม่น้ำ เขามีวิถีชีวิตที่เคารพธรรมชาติมาก ตั้งแต่ก่อนเกิด 

 

เขาจะบอกกันว่ากะเหรี่ยงเกิดจากต้นไม้ แล้วตอนตายก็กลับไปสู่ธรรมชาติ โลกหลังความตายก็มีว่าบรรพบุรุษจะไปรอตรงป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีพืชพรรณธัญญาหาร นี่คือสิ่งที่ปู่คออี้ห่วงแหน 

 

ทำไมปู่ต้องอยากกลับไปอยู่ใจแผ่นดิน เพราะเขากลัวว่าอยู่ข้างล่างไปนานๆ ลูกหลานจะลืมเลือนเรื่องพวกนี้ไปทั้งหมด ต้องไปเป็นแรงงานในเมือง จะลืมวิถีชีวิตดั้งเดิม ลืมความเป็นคนกะเหรี่ยง 

 

10 ปีที่แล้วผมทำข่าวนี้ไปไม่มีใครสนใจผมเลย มีกลุ่มเล็กๆ มาสนใจ ข่าวก็ไม่มีเรตติ้ง ทำข่าวแบบนี้มันทำใจอยู่แล้ว คุณไม่มีทางเอาชนะการแข่งขันทางธุรกิจได้หรอก

 

สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา

 

10 ปีที่ผ่านมา เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

บิลลี่ตาย อาจารย์ป๊อดตาย ปู่คออี้ตาย (ถอนหายใจ)

 

ถ้ามองในมุมที่ดี การเคลื่อนไหวต่างๆ ทำให้คนหันมาสนใจ 10 ปีที่แล้วผมทำข่าวนี้ไปไม่มีใครสนใจผมเลย มีกลุ่มเล็กๆ มาสนใจ ข่าวก็ไม่มีเรตติ้ง ทำข่าวแบบนี้มันทำใจอยู่แล้ว คุณไม่มีทางเอาชนะการแข่งขันทางธุรกิจได้หรอก มันก็ชี้ให้เห็นว่าจริงๆ 10 ปีที่แล้วกะเหรี่ยงไม่ได้ถูกสนใจจากคนส่วนใหญ่ ระหว่างเฮลิคอปเตอร์ตกกับกะเหรี่ยงถูกเผาบ้าน คนสนใจข่าวเฮลิคอปเตอร์ตก เด็กติดถ้ำ 13 คน มีแต่คนสนใจเต็มที่เลย แต่กะเหรี่ยงถูกเผาบ้านไม่มีใครสนใจ แต่พอเราบอกว่าปู่คออี้เป็นเหมือนคานธีแห่งกะเหรี่ยงเลยนะ คนถึงได้สนใจเรื่องนี้

 

แต่ปัจจุบัน น้องชายผมเป็นเด็กในเมือง วัยรุ่นโตในเมือง มันแชร์ #Saveบางกลอย ทุกข่าวเลย ไม่รู้แชร์เพราะพี่มันเขียนหรือแชร์เพราะมันอิน แต่อย่างน้อยการเคลื่อนไหวต่างๆ ก็ทำให้คนหันมาเห็น 

 

อย่างน้อยคำว่าสิทธิมนุษยชน การมองว่าคนเหล่านี้ก็เป็นคนที่ควรจะได้รับการปกป้องคุ้มครองดูแลและสวัสดิการเหมือนกับเรา ไม่ใช่จะไปเผาบ้านเขาเมื่อไรก็ได้ ไม่ใช่จะไปอุ้มเขาขึ้นเฮลิคอปเตอร์ หรือจับเขาโกนหัวเมื่อไรก็ได้ 

 

ทำไมป่าแอมะซอนที่มีชนเผ่าเต็มไปหมด ทำไมยังเป็นมรดกโลกได้ ไม่เห็นเขาต้องไล่คนออกจากป่าเลย และถือเป็นจุดขาย เป็นสิ่งดีด้วยซ้ำไปที่มีคนดั้งเดิมอยู่

 

เมื่อก่อนถ้ามีการตัดไม้แล้วไปจับคนตัดไม้ในป่า ใครไม่รู้ไปปลูกไร่ฝิ่นไร่กัญชา ก็พานักข่าวไปถ่ายรูปแล้วบอกฝีมือกะเหรี่ยงหรือชาวเขา 

 

ผมถามง่ายๆ ว่า ถ้ามึงไม่อนุญาตหรือสั่งให้เขาทำ เขาจะทำเหรอ พวกเขาอยู่อย่างเจียมตัวจะตายอยู่แล้ว ช้างตายสักตัวก็โทษกะเหรี่ยง ผมไม่เชื่อนะว่ากะเหรี่ยงกล้ายิงช้าง เขากลัวจะตาย คือมันอาจมีคนไม่ดีก็ได้ ทุกชนชาติมันมีคนดีไม่ดีเหมือนกันหมด แต่คุณด่าคนไม่ดีก็ถามสิว่าชื่ออะไร ไม่ใช่ไปถามว่า เชื้อชาติอะไร มันไม่เกี่ยวว่าเขาเชื้อชาติอะไร 

 

นี่เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าอย่างน้อยผ่านไป 10 ปี มันเป็นโอกาสที่เราน่าจะชวนภาครัฐมาคุยเรื่องไร่หมุนเวียน เรื่องภูมิปัญญากะเหรี่ยงไหม คนอยู่กับป่า การต่อสู้เรื่องกฎหมายป่าชุมชน สู้มา 30 กว่าปีสุดท้ายได้ พ.ร.บ. ง่อยๆ มาฉบับหนึ่ง คนก็ยังอยู่ในป่าแบบดีๆ ไม่ได้อยู่ดี หรือเรื่องมรดกโลก 

 

ทำไมป่าแอมะซอนที่มีชนเผ่าเต็มไปหมด ทำไมยังเป็นมรดกโลกได้ ไม่เห็นเขาต้องไล่คนออกจากป่าเลย และถือเป็นจุดขาย เป็นสิ่งดีด้วยซ้ำไปที่มีคนดั้งเดิมอยู่

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X