×

ขายสินค้าต้องมีเรื่องราว! โรงเบียร์ซัปโปโรเปลี่ยนของเสียจากกระบวนการผลิตเบียร์ มาทำเป็น ‘กางเกงยีนส์’ สนนราคา 11,000 บาท

19.06.2022
  • LOADING...
กางเกงยีนส์

เมื่อได้รับผลกระทบจากโรคระบาด โรงเบียร์ซัปโปโรซึ่งตั้งอยู่ในฮอกไกโดได้ตัดสินใจเข้าสู่ธุรกิจใหม่ โดยใช้ของเสียจากกระบวนการผลิตเบียร์ ไม่ว่าจะเป็น มอลต์ลีส์ ก้านฮอปส์ และใบฮอปส์ มาทำเป็น ‘กางเกงยีนส์’ (Blue Jeans)

 

ในเดือนเมษายนโรงเบียร์ซัปโปโรได้วางขายกางเกง Blue Jeans จำนวน 30 ตัวในช่องทางออนไลน์ ด้วยราคา 41,800 เยน หรือราว 11,000 บาท แต่ปรากฏว่าหลังจากนั้นมีคำสั่งซื้อเข้ามากว่า 1,600 รายการ

 

“เราไม่คิดว่าจะมีคนสนใจเยอะขนาดนี้” ชินโนะซึเกะ อารากิ ผู้ช่วยผู้จัดการของโรงเบียร์ซัปโปโรกล่าว

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 


 

เหตุใดผู้คนจึงมีความต้องการกางเกงยีนส์ที่ทำจากของเสีย? คำตอบหนึ่งคือการ ‘อัปไซเคิล’ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนของเสียให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม

 

โรงเบียร์ญี่ปุ่น เกษตรกร และผู้ผลิตอาหารพิเศษอื่นๆ ที่หันมาใช้วิธี ‘อัปไซเคิล’ หลังจากได้รับผลกระทบจากโรคระบาด ซึ่งนอกจากนำของเหลือมาก่อให้เกิดประโยชน์แล้วยังกระตุ้นลูกค้าและสร้างความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์อีกด้วย

 

Black Label Malt & Hops JEANS (Handmade) ของซัปโปโร ร่วมมือกับ Shima Denim Works ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตเสื้อผ้าโดยใช้ชานอ้อย ซึ่งเป็นเศษอ้อยหลังจากคั้นน้ำผลไม้แล้ว มาร่วมกันผลิตผ้าเดนิมอัปไซเคิลที่มีน้ำหนักเบาและระบายอากาศได้ดี

 

“เมื่อลูกค้าสัมผัสหนึ่งในแบรนด์ของเราผ่านผลิตภัณฑ์อัปไซเคิล แบรนด์นั้นจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของพวกเขา” ไอโกะ ไซโตะ ตัวแทนฝ่ายการตลาดของ Black Label อธิบาย พร้อมเสริมว่า นี่เป็นผลให้ “พวกเขาจะเป็นแฟนตัวยงของแบรนด์มากยิ่งขึ้น”

 

ผู้ผลิตเบียร์อีกรายหนึ่งกำลังนำเศษอาหารเหลือทิ้งไปเป็นเบียร์ชนิดใหม่ โดย Asahi Group ร่วมมือกับเกษตรกรผู้ปลูกชาในจังหวัดไซตามะ ใช้เปลือกต้นที่นำออกระหว่างกระบวนการชงชา และส่วนใหญ่ทิ้งหรือใช้เป็นปุ๋ยมาทำเป็น ‘เบียร์’ ซึ่งทำให้ส่วนผสมของเบียร์มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ของชา

 

แนวโน้มดังกล่าวได้เกิดขึ้นกับบริษัทอาหารเช่นกัน Sakaeya ​​Seipan ร้านเบเกอรี ซึ่งจะครบรอบ 100 ปีในปี 2023 กำลังจะนำขอบขนมปังที่เหลือจากการทำแซนด์วิชวันละ 400 กิโลกรัมมาทำเป็นเบียร์ที่ชื่อ Upcycle

 

เช่นเดียวกับแบรนด์เบเกอรีอย่าง Number Nine Brewery, Tokamachi และ Oriental Brewing ล้วนใช้ของที่เหลือจากการทำงเบเกอรีเพื่อผลิตเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ต่ำ

 

“ผู้บริโภคต้องการผลิตภัณฑ์อาหารที่มีเรื่องราว” เคนอิจิ โยชิโอกะ ผู้บริหารของ Sakaeya Seipan ผู้ริเริ่มโครงการอัปไซเคิลกล่าว “เราคิดว่าเราจำเป็นต้องทำบางสิ่งที่ไม่ใช่แค่อร่อยหรือดึงดูดสายตาเท่านั้น”

 

การระบาดของโควิดส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมเบเกอรี ความต้องการอาหารกลางวันของโรงเรียนลดลง และการซื้อในห้างสรรพสินค้าหยุดลงชั่วครู่ Sakaeya Seipan เคยส่งขนมปังจำนวน 5 คันรถไปยังพื้นที่มหานครโตเกียวทุกวัน 

 

แต่แล้วจู่ๆ จำนวนสินค้าที่ส่งก็กลายเป็นรถบรรทุกหนึ่งคัน หากสถานการณ์ยังดำเนินต่อไปอีก 6 เดือน โยชิโอกะกล่าวว่าบริษัทจะต้องพิจารณาที่จะเลิกกิจการ ดังนั้นเขาถึงได้หาวิธีในการหาธุรกิจใหม่เพื่อเพิ่มรายได้ โดยทำออกมาเป็นเบียร์ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจาก ‘เบียร์โทสต์เอล’ ซึ่งเป็นเบียร์ชนิดหนึ่งของอังกฤษที่ทำด้วยขนมปัง

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising