×

รู้จัก Salary Cap เพดานค่าจ้างสร้างความเท่าเทียมที่ทำให้กีฬาอเมริกันเกมส์มีเอกลักษณ์

28.06.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • Salary Cap หรือเพดานค่าจ้าง คือวงเงินที่จำกัดให้แต่ละทีมอาชีพสามารถใช้ในการจ้างผู้เล่นแต่ละปีได้
  • NBA คือลีกแรกซึ่งเริ่มนำ Salary Cap มาใช้ โดยมีเป้าหมายคือการป้องกันทีมใหญ่ที่มีเงินถุงเงินถังไม่ให้กวาดผู้เล่นชั้นนำเข้าไปอยู่ในทีมเดียวกันจนหมด
  • จุดเริ่มต้นมาจากเจ้าของทีมทำข้อตกลงกับสหภาพผู้เล่นที่เรียกว่า ‘ข้อตกลงเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน’ (Collective Bargaining Agreement) โดยนำเอารายได้ต่างๆ ของลีกมาแบ่งให้ผู้เล่น ซึ่ง NFL แบ่งให้ 47% และ NBA แบ่งให้ 49% 

ฟุตบอลหรือที่หลายชาติในโลกเรียกกันว่า Soccer คือกีฬาอันดับ 1 ของโลกอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะมีทั้งยอดคนดูและรายได้เกิดขึ้นมหาศาลในแต่ละปี

ถึงเงินจะสะพัดมหาศาล แต่หลายครั้งเรามักจะได้ยินข่าวการล้มละลายจากหลายทีมที่เราคุ้นหู โดยเฉพาะทีมที่เคยอยู่ระดับหัวแถวเมื่อยุค 90 อย่าง ปาร์มา ฟิออเรนตินา หรือกลาสโกว์ เรนเจอร์ส แม้แต่ลิเวอร์พูลเองก็เคยเกือบประสบหายนะ ก่อนจะเปลี่ยนมือเจ้าของทีมเป็นเฟนเวย์ สปอร์ตส กรุ๊ป (FSG)

 

 

แต่น่าแปลกที่เหตุการณ์เหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้นกับแวดวงอเมริกันฟุตบอล NFL บาสเกตบอล NBA เบสบอล MLB หรือฮอกกี้น้ำแข็ง NHL ซึ่งเป็น 4 ลีกใหญ่ของสหรัฐอเมริกา และตลาดหลักๆ ของพวกเขาเดิมทีก็อยู่เพียงในประเทศแค่นั้น

และนั่นอาจจะเป็นเพราะสิ่งที่เรียกกันว่า ‘เพดานค่าจ้าง’ หรือ Salary Cap ที่หลายคนอาจคุ้นหู แต่หลายคนก็อาจยังไม่เคยรู้จัก

Salary Cap อธิบายแบบง่ายๆ ก็คือ วงเงินที่จำกัดให้แต่ละทีมอาชีพจะสามารถใช้จ้างผู้เล่นในแต่ละปีได้

ระหว่างช่วงเวลา ฟรีเอเจนต์ หรือผู้เล่นหมดสัญญาเดิมนั้น การมี Salary Cap จะช่วยป้องกันทีมเงินถุงเงินถังไม่ให้กวาดผู้เล่นชั้นแนวหน้าเข้าไปจนหมด ต่างจากวงการฟุตบอลที่ครั้งหนึ่งบาร์เซโลนาเคยได้ฉายาว่า ‘เจ้าบุญทุ่ม’ หรือทุกวันนี้ทีมไหนก็ตามที่มีเจ้าของทีมจากตะวันออกกลางเข้าไป ก็หมายถึงโชคชะตาของทีมที่สามารถพลิกผันเพียงข้ามคืน

พื้นฐานคำว่า เพดานค่าจ้าง จึงหมายถึงความพยายามให้มีการแข่งขันอย่างสูสีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

แน่นอนว่า Salary Cap ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมดอยู่แล้ว เพราะต้องอาศัยองค์ประกอบหลายอย่างในการบริหารทีมกีฬา ไม่เช่นนั้นคงไม่มีทีมอย่าง คลีฟแลนด์ บราวน์ส ใน NFL หรือ ฟีนิกซ์ ซันส์, ซาคราเมนโต้ คิงส์ ใน NBA ซึ่งไม่เคยสัมผัสกับรอบเพลย์ออฟมานานนับทศวรรษ หรือทีมอย่าง เอ็ดมอนตัน ออยเลอร์ส ใน NHL ซึ่ง 13 ปีเคยเข้ารอบแค่หนเดียว

ถ้ามองในมุมของบรรดาผู้เล่น พวกเขาอาจไม่ชอบคำว่าเพดานค่าจ้างนัก ลองนึกดูว่าถ้าคุณทำงานบริษัทแล้วดันโดนกติกาคุมเงินเดือนเอาไว้ ใครจะชอบบ้าง

แม้ผู้เล่นจะมีโอกาสรับทรัพย์จากสปอนเซอร์ส่วนตัวหรืออื่นๆ เพิ่มเติม พวกเขาก็ยังอดมองไม่ได้ว่าการมี Salary Cap ทำให้รายได้ลด ส่วนพวกมหาเศรษฐีเจ้าของทีมกลับเสวยสุข

แต่ในมุมของเจ้าของทีม การมี Salary Cap จะช่วยให้จัดการทีมเพื่อแข่งขันได้มากขึ้น โดยเฉพาะพวกที่อยู่ในเมืองเล็ก รายได้ไม่มาก

สำหรับแฟนๆ พวกเขาน่าจะพอใจในระดับหนึ่ง เพราะเท่ากับว่าทุกซีซัน ความหวังในการลุ้นแชมป์มีอยู่อย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะลีกที่แข่งฤดูกาลปกติกันแค่ 16 เกมอย่าง NFL

 



ประวัติศาสตร์ของเพดานค่าจ้าง
NBA คือลีกแรกที่เริ่มนำ Salary Cap มาใช้ในกีฬาของสหรัฐอเมริกา ระหว่างซีซัน 1984-85 หลังจากเกิดการโต้แย้งกันหลายปีกับระบบเก่า ซึ่งมีเงื่อนไขสัญญาทำให้ผู้เล่นจำต้องอยู่กับทีมที่ดราฟต์พวกเขาตลอดอาชีพ ไม่ต่างจากระบบทาส เท่านั้นยังไม่พอ ค่าจ้างผู้เล่นก็กระจ้อยร่อย เพราะถือว่าสโมสรคือเจ้าของผู้เล่นดังกล่าว

 

 

ผมเองก็โตทันวงการฟุตบอลที่เกิดการเปลี่ยนแปลงเพราะกฎบอสแมน ซึ่งเหมือนการเลิกทาสของผู้เล่นเมื่อปลายปี 1995

ไล่เลี่ยกันในปี 1976 ก็มีข้อตกลงระหว่างผู้เล่นกับเจ้าของทีม ที่จะวางโครงสร้างตลาดฟรีเอเจนต์ยุคใหม่ โดยยกเลิกเงื่อนไขทาสออกไป ทำให้ผู้เล่นสามารถเข้าสู่ความเป็นฟรีเอเจนต์ ย้ายไปอยู่กับทีมไหนก็ตามซึ่งให้ผลตอบแทนดีที่สุดหลังสัญญาเดิมหมดลง

 

 

ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือ ทีมที่รายได้น้อย งบน้อย ก็ไม่มีปัญญาสู้ทีมรายได้มหาศาลที่อยู่ในเมืองใหญ่ มีงบประมาณไม่จำกัด แข่งกัน 10 ซีซัน แชมป์ก็แทบจะวนกันอยู่ไม่กี่ทีม จึงมีการคิดระบบเพื่อหาความทัดเทียมกันขึ้นมา เป็นจุดกำเนิดของคำว่า Salary Cap

ตอนนั้น Salary Cap ยังกระจ้อยร่อยมาก เพียงแค่ 3.6 ล้านเหรียญ ปัจจุบันประเมินว่า NBA มีเพดานค่าจ้างราว 109 ล้านเหรียญ (3,488 ล้านบาท) เพื่อจ้างผู้เล่น 15 คนในหนึ่งฤดูกาล

Salary Cap ของ NBA จะมีความผ่อนปรน คือสามารถใช้เกินงบได้อีกราว 20 ล้านเหรียญ ถ้าเกินกว่านั้นก็ต้องจ่ายค่าปรับ

Salary Cap ของ NBA ยังเป็นไอเดียให้อีกสองลีกเจริญรอยตาม อย่าง NFL เริ่มใช้หนแรกเมื่อปี 1994 ด้วยวงเงิน 34.6 ล้านเหรียญ ปัจจุบันกลายเป็น 188.2 ล้านเหรียญ (6,022 ล้านบาท) เพื่อจ้างผู้เล่น 53 คนในหนึ่งฤดูกาล

หลังการล็อกเอาต์ หรือไม่มีการแข่งขันของ NHL ทำให้ต้องยกเลิกซีซัน 2004-05 ลีกก็นำเอาคำว่า Salary Cap มาใช้เช่นกัน ซึ่งปัจจุบันยอดอยู่ที่ราว 80 ล้านเหรียญ (2,560 ล้านบาท)

ทั้ง NFL กับ NHL ใช้คำว่า ฮาร์ดแคป นั่นคือแต่ละทีมห้ามจ้างผู้เล่นเกินเพดานค่าจ้างอย่างเด็ดขาด ไม่อย่างนั้นจะเกิดการลงโทษรุนแรงชนิดได้ไม่คุ้มเสีย

รายของ NFL จะมีทั้งการลงโทษปรับ 5 ล้านเหรียญ ยกเลิกสัญญา และหรือริบสิทธิ์ดราฟต์ตัวผู้เล่นด้วยซ้ำ

 

 

 

เมเจอร์ลีกเบสบอลคือลีกเดียวของสหรัฐอเมริกาที่ยังไม่ได้ใช้ Salary Cap อย่างจริงจัง ดังนั้นถ้าเกิดปีไหนเจ้าของทีมกล้าได้กล้าเสีย ทุ่มเงินจ้างผู้เล่นเข้ามา ก็มีโอกาสประสบความสำเร็จทันที

อย่างไรก็ตาม พักหลังหลายทีมก็พยายามริเริ่ม Salary Cap แบบหลวมๆ กันขึ้นมา (ใครจ่ายเกินก็โดนค่าปรับ) อย่างปีล่าสุดก็มีแค่บอสตัน เรดซ็อกซ์, ชิคาโก้ คับส์ และฮิวสตัน แอสโทรส์ เท่านั้น ซึ่งใช้เงินจ้างผู้เล่นเกินงบ 206 ล้านเหรียญ (6,592 ล้านบาท)

แต่พวกเขายังไม่มี Salary Floor หรือค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ดี มันจึงเกิดความเหลื่อมล้ำของค่าจ้างมหาศาล ยกตัวอย่าง เรดซ็อกซ์ จ้างผู้เล่นเกือบ 233 ล้านเหรียญ แต่ โอริโอลส์ กลับจ้างน้อยสุดในลีกแค่ 68.4 ล้านเหรียญ ห่างกว่ากันร่วม 1 ส่วน 3 ทีเดียว

ด้วยความที่สหภาพผู้เล่น MLB แข็งแกร่งมาก ทำให้โอกาสจะเกิด Salary Cap ในเวลาอันใกล้ดูริบหรี่ แลกกับความน่าเบื่อที่ทีมรวยจากเมืองใหญ่เข้ารอบเพลย์ออฟบ่อยๆ และกลายเป็นแชมป์ในบั้นปลายทุกทีไป

ใครที่เคยดูหนังเรื่อง Moneyball เมื่อปี 2011 จะเห็นการทำงานอย่างกระเสือกกระสนของ บิลลี บีน ผู้จัดการทีมซึ่งมีงบสร้างโอ๊กแลนด์ แอตเลติกส์อย่างจำกัดจำเขี่ย และต้องพยายามใช้มันออกมาให้คุ้มค่าที่สุด

จากลีกที่เคยเป็นตัวแทนของคำว่า ‘กีฬาของคนอเมริกัน’ กลับกลายเป็นลีกที่โดน NFL แซงมานานมากแล้ว และตลาดยุคใหม่ก็กำลังเป็นของ NBA ที่มาแรงเช่นกัน ดูเหมือนพวกเขาคงยังไม่แคร์เรื่องดังกล่าว ตราบใดที่ยังกอบโกยรายได้มหาศาลจากลิขสิทธิ์ทีวีและทางอื่นอยู่

ก่อนจะเป็น NFL อย่างที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ พวกเขาก็เคยลองผิดลองถูกมาหลายครั้ง อย่างครั้งหนึ่งเคยมีลีกออล-อเมริกัน ฟุตบอล คอนเฟอเรนซ์ เกิดขึ้นเมื่อยุค 1940 ซึ่งขณะนั้น คลีฟแลนด์ บราวน์ส (ใช่แล้ว บราวน์สซึ่งเป็นหมูน้อยมานานในความทรงจำของพวกคุณ) กำลังอยู่ในช่วงที่ฟอร์มของทีมสุดยอดมาก เพราะรวบรวมผู้เล่นเก่งๆ เอาไว้จนไร้ต้าน ปรากฏว่าแค่ 4 ปีลีกก็เจ๊ง เนื่องจากบราวน์สชนะเกือบทุกนัด (แพ้แค่ 3 หน) และคว้าแชมป์อยู่ตลอด

คุณคงมองเห็นแล้วว่าการที่มีทีมเก่งและได้เปรียบคู่แข่งเกินไปมันส่งผลกับความน่าสนใจจากคนดูและสปอนเซอร์เพียงใด



Salary Cap มาจากไหน

 

 

โดยหลักๆ แล้วก็มาจากลิขสิทธิ์ทีวี, การขายสินค้า, ขายตั๋วชมการแข่งขัน และบรรดาสปอนเซอร์ต่างๆ เท่าที่แต่ละลีกจะหามาได้ โดยฝั่งเจ้าของทีมจะทำข้อตกลงกับฝั่งสหภาพผู้เล่น เรียกกันว่าข้อตกลงเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน (Collective Bargaining Agreement) ขณะนี้ NFL ซึ่งเป็นลีกทำเงินมากสุดของประเทศ แบ่งให้ผู้เล่น 47% ส่วน NBA ให้ส่วนแบ่งอยู่ที่ 49%

ข้อตกลงของ NFL ที่มีผลมาตั้งแต่ 2011 จะหมดลงหลังฤดูกาล 2020 ดังนั้นเราอาจได้ยินคำว่าล็อกเอาต์ หรือปิดสำนักงานเกิดขึ้นอีกครั้ง เพราะฝั่งสหภาพยืนยันว่าพวกเขาควรมีส่วนแบ่งมากกว่านี้อย่างน้อยก็คือ 50% ส่วนของ NBA จะมีผลถึงอย่างน้อยก็ฤดูกาล 2022-23

โดยทั่วไปแล้วสื่อจะหาข้อมูลเรื่องการเงินใน NFL ได้จาก Green Bay Packers เพราะถือเป็นทีมเดียวที่มีการขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไป จึงต้องมีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว ซึ่งจะออกมาในราวเดือนกรกฎาคมของทุกปี

ข้อมูลเมื่อปี 2018 พบว่า NFL แบ่งเงินรายได้อย่างเป็นประวัติการณ์เกิน 8 พันล้านเหรียญ (256,000 ล้านบาท) ให้กับทั้ง 32 ทีมในลีก หารออกมาแล้วแต่ละทีมจะรับกัน 255 ล้านเหรียญ (8,160 ล้านบาท) เลยทีเดียว

ขนาด Green Bay Packers เป็นทีมจากเมืองเล็กๆ ยังมีรายได้เพิ่มขึ้น 15 ฤดูกาลติด อย่างปี 2017 ได้รับเงินจากส่วนท้องถิ่นซึ่งไม่ต้องแบ่งใครอีก 199 ล้านเหรียญ (6,368 ล้านบาท) รวมออกมา พวกเขามีรายรับ 454.9 ล้านเหรียญ แต่เมื่อหักค่าใช้จ่ายในการจ้างผู้เล่นและบริหารงานส่วนอื่นๆ ก็จะเหลือกำไรอยู่ 34.1 ล้านเหรียญ (1,091 ล้านบาท)

ขนาดผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจยังประเมินว่า NFL ผ่านจุดพีกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้วในเรื่องเรตติ้งคนดูทีวีเมื่อราว 2 ปีก่อน แต่การขายแฟรนไชส์ล่าสุดอย่าง แคโรไลนา แพนเทอร์ส ก็ยังได้ราคาถึง 2.3 พันล้านเหรียญ (73,600 ล้านบาท) ค่าโฆษณาที่เข้ามาก็เป็นประวัติศาสตร์ที่ 4.6 พันล้านเหรียญ (147,200 ล้านบาท) โดยในซูเปอร์โบวล์โฆษณาตัวหนึ่ง 30 วินาที ราคา 5.24 ล้านเหรียญ (167 ล้านบาท) ซึ่งคงไม่มีรายการแข่งขันกีฬาอะไรในโลกที่มีค่าโฆษณาแพงหูดับตับไหม้ขนาดนี้

 

 

เอาแค่จากปี 2012 NFL ก็มีรายได้เพิ่มขึ้นเกิน 47% โดย โรเจอร์ กูเดลล์ คอมมิชชันเนอร์ตั้งเป้าว่า เมื่อถึงปี 2027 ต้องมีรายได้กลายเป็น 25,000 ล้านเหรียญ (8 แสนล้านบาท) เท่ากับว่าทุกปีต้องเติบโตราว 6%

ความนิยมในตัวกีฬาส่งผลกับ Salary Cap อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะยิ่งได้รับความนิยม รายได้ก็ไหลมาเทมา

แม้ NBA คือลีกมาแรง แต่ยังตามหลัง NFL พอสมควร ปี 2017 ขนาดรอบชิง NBA เกมเรตติ้งดีสุด ระหว่าง โกลเดน สเตท วอร์ริเออร์ส-คลีฟแลนด์ คาวาเลียร์ส ยังแพ้ยอดคนดูฤดูกาลปกติของ NFL ถึง 4 เกมด้วยกัน

ช่องทางการหารายได้ของกีฬาอาชีพในสหรัฐอเมริกายังมีปัจจัยบวกเข้ามาจากเมื่อ พฤษภาคมปีก่อน

เดิมทีสหรัฐอเมริกามีกฎหมาย ‘ห้ามนักกีฬาเกี่ยวข้องกับการพนันและการโฆษณาการพนันทุกชนิดโดยเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นนักกีฬาอาชีพหรือสมัครเล่น’ ชื่อกฎหมายว่าด้วยเรื่องการปกป้องกีฬาอาชีพและสมัครเล่น (Professional and Amateur Sports Protection Act 1992) โดยสภาคองเกรสให้เหตุผลในการออกกฎหมายไว้ 3 ประการคือ เพื่อให้เกิดการควบคุมการดำเนินการของรัฐเกี่ยวกับการพนันที่เกี่ยวกับกีฬา, เพื่อคงไว้ซึ่งคุณค่าและความดีงามของการกีฬา, เพื่อลดการแพร่กระจายของการพนันในหมู่เด็กและเยาวชนของสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับนี้กลับยกเว้นที่รัฐเนวาดา ซึ่งเป็นที่ตั้งของลาสเวกัส เมืองสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมการพนัน

กระทั่งศาลสูงสุดของประเทศมีคำตัดสินเพื่อเปิดทางให้มีการแทงพนันกีฬาได้ทุกรัฐ ซึ่งเดลาแวร์กับนิวเจอร์ซีย์เป็นสองรัฐแรกที่เด้งรับโดยทันที

ประเมินกันว่า NFL จะมีรายได้จากการพนันถูกกฎหมายอีกปีละ 2.3 พันล้านเหรียญ(73,600 ล้านบาท) พร้อมเพิ่มฐานความสนใจของคนดูแบบที่ชอบเดิมพันให้จดจ่อกับเกมยิ่งขึ้น

อย่าง NBA ก็คิดไวทำไว จากที่เคยต่อต้านมาหลายทศวรรษแล้ว ไม่ให้บ่อนแทงพนันเกมของพวกเขา โดยใช้เวลาถึง 6 ปีเพื่อหยุดความพยายามของนิวเจอร์ซีย์ ซึ่งจะเปิดบ่อนพนันกีฬาเสรี ก่อนจะแพ้ในศาลสูงสุดของประเทศ

ล่าสุดพวกเขากลายเป็นลีกใหญ่แห่งแรกของสหรัฐอเมริกาที่จับมือกับบ่อนพนันชื่อดัง MGM Resorts ให้เป็นบ่อนแทงพนันถูกกฎหมายของ NBA และ W NBA

นอกจากนี้ MGM Resorts ยังได้สิทธิ์เอาไฮไลต์, โลโก้ และข้อมูลสดโดยตรงจากลีกไปใช้งานให้คนแทงสดๆ หน้าจอลุ้นกันแบบนาทีต่อนาทีได้ด้วย

แหล่งข่าวเผยว่า สัญญาของทั้งสองฝ่ายคือ 3 ปี อย่างน้อย 25 ล้านเหรียญ (800 ล้านบาท)

อดัม ซิลเวอร์ คอมมิชชันเนอร์ของ NBA บอกว่า ลีกพยายามหาทางทำให้ MGM Resorts ได้เปรียบบ่อนคู่แข่งด้วยการสร้างประสบการณ์สุดยอดให้กับคนแทง

“บ่อนที่จะมอบประสบการณ์ชั้นยอดให้ลูกค้าได้คือบ่อนซึ่งมีข้อมูลอย่างเป็นทางการ อันได้รับอนุญาตจากลีกเราและลีกอื่นๆ เช่นกัน พวกเขาจะเอาชนะใจลูกค้าได้” ซิลเวอร์กล่าวระหว่างงานแถลงความร่วมมือที่นิวยอร์กซิตี้

บ่อน MGM Resorts จะสามารถใช้โลโก้ลีกและทีมขึ้นบนบอร์ดราคาต่อรองได้ ซึ่งในลาสเวกัสไม่สามารถทำเช่นนั้น

ประเมินกันว่า อีก 3-5 ปีจะมีเกิน 20 รัฐที่เปิดให้แทงพนันถูกกฎหมายได้

ในสหราชอาณาจักร การแทงพนันกีฬาถูกกฎหมายมาหลายสิบปีแล้ว โดยยอดแทงสดระหว่างเกมยังมากกว่ายอดแทงก่อนแข่งเสียอีก

และทั้งหมดนี้คือเรื่องเงินๆ ทองๆ ในแวดวงกีฬาสหรัฐฯ ที่ยังคงมี Salary Cap เป็นกลไกสำคัญและขับเคลื่อนทั้งอุตสาหกรรมมานานกว่าทศวรรษ

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising