×

ประชามติสองแคว้นดอนบาส-สองแคว้นยูเครนใต้ กับสงครามรัสเซีย-ยูเครนเฟสใหม่ที่ไม่ไกลเกินเอื้อม

23.09.2022
  • LOADING...
สงครามรัสเซีย-ยูเครน

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ‘ปฏิบัติการทางทหาร’ เป็นคำจำกัดความที่รัสเซียใช้มาโดยตลอดเพื่อเลี่ยงบาลี แต่ก็จำกัดความสามารถของรัสเซียในการเคลื่อนไหวในสงครามครั้งนี้
  • ‘ไครเมียโมเดล’ ไพ่ตายอีกใบที่ถูกรัสเซียนำมาใช้ เพื่อผนวกดินแดนเข้ากับรัสเซีย หลังจากที่ยูเครนดึงดันไม่เจรจา
  • ปูตินสั่งระดมพล (บางส่วน) เพื่อเตรียมพร้อมกำลังพลประจำการใน (ว่าที่) ดินแดนใหม่ที่กำลังจะผนวกเข้ากับรัสเซียตามผลประชามติที่คาดการณ์ได้ไม่ยาก
  • ฉากทัศน์ถัดไปของสมรภูมิจากระดับ ‘ปฏิบัติการทางทหาร’ จะเข้มข้นขึ้น จนอาจกลายเป็น ‘สงครามเต็มรูปแบบ’

สถานการณ์ความขัดแย้งใน ‘ปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครน’ หรือ ‘การสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครน’ ในช่วงเวลานี้ถือว่าเข้าสู่ช่วงต้องจับตามองอีกครั้ง อันเนื่องมาจากการรุกคืบใหญ่ของยูเครนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และแน่นอนว่ารัสเซียเองก็มองว่า การที่ยูเครนหยัดยืนมาได้จนถึงการรุกกลับครั้งใหญ่นั้น จะเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าประเทศตะวันตกไม่สนับสนุน 

 

ในขณะที่ฝ่ายยูเครนและตะวันตกเรียกสิ่งนี้ว่า ‘สงคราม’ อย่างชัดเจน และมีแนวปฏิบัติแบบการเกิดสงคราม ทั้งการระดมพล ระดมอาวุธต่างๆ แต่ในขณะที่รัสเซียนับตั้งแต่วันแรกยังคงหลีกเลี่ยงที่จะใช้คำว่า ‘สงคราม’ แต่ใช้คำว่า ‘ปฏิบัติการทางทหาร’ อย่างเคร่งครัด ไม่ว่าใครก็แล้วแต่ ตั้งแต่ผู้แทนรัฐบาลไปจนถึงสื่อในประเทศต่างก็พร้อมใจใช้คำว่าปฏิบัติการทางทหารกันถ้วนหน้า (ถ้าขืนใช้คำว่าสงครามอาจถูกฟ้องเรื่องการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จได้)

 


 

บทความเกี่ยวข้อง

 


 

แต่ความพยายามเลี่ยงบาลีด้วยการใช้คำว่าปฏิบัติการทางทหาร ก็เป็นสิ่งที่ผูกมัดตัวรัสเซียเช่นเดียวกัน กล่าวคือ ที่ผ่านมารัสเซียไม่ได้ระดมใช้ทรัพยากรอย่างเต็มที่ในการโจมตียูเครน เรามักจะได้ยินข่าวจากฝั่งตะวันตกเรื่องความอ่อนแอ หรือการพ่ายแพ้ในจุดยุทธศาสตร์จุดต่างๆ อันที่จริงก็มีความจริงส่วนหนึ่ง แต่หลายส่วนในภาพใหญ่ก็ไม่ได้รบไม่ไหวเหมือนที่สื่อเหล่านี้พยายามฉายภาพ ทั้งอาวุธหนัก อาวุธเชิงยุทธศาสตร์หลายชุดยังไม่ถูกเอามาใช้ ยังไม่มีการระดมสรรพกำลังเพื่อเข้ามาขับเคลื่อนแบบในช่วงศึกสงครามอย่างเต็มกำลัง

 

พูดในอีกแง่หนึ่งคือ ยูเครนประเคนทั้งหมัด ศอก เข่า ภายใต้การสนับสนุนของตะวันตก แต่รัสเซียยังคงสงวนท่วงท่าปล่อยหมัดได้ไม่เต็มที่ตามกรอบของคำว่าปฏิบัติการทางทหาร จนก่อให้เกิดความยืดเยื้อขึ้น

 

รัสเซียต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อบีบบังคับยูเครนให้ยอมอ่อนข้อ นอกจากวิถีทางการทำศึก นั่นคือกลเม็ดเด็ดพรายทางการเมือง

 

และโมเดลที่ว่าคือ ‘ไครเมียโมเดล’

 

สงครามรัสเซีย-ยูเครน

ภาพ: Sergei Guneyev / AFP

 

หากยังจำกันได้ในคราวความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนเฟสแรก ตั้งแต่ปี 2014 ที่ความสัมพันธ์ของทั้งสองเดินมาถึงจุดที่ย่ำแย่ จนมองหน้ากันไม่ได้เป็นครั้งแรก (ก่อนหน้านี้เป็นเพื่อนบ้านที่ดี และเกื้อกูลสนับสนุนกันมาโดยตลอด บางช่วงสนิทกับรัสเซีย บางช่วงพยายามแสวงหาพันธมิตรจากตะวันตก แต่ก็ไม่เคยเลวร้ายแบบหลังจากที่มีการปฏิวัติไมดานในปี 2013 ที่พาให้ยูเครนเข้าหาโลกตะวันตกแบบไม่มีวันกลับมาหารัสเซียอีก) 

 

ยูเครนมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลอย่างฉับพลัน จนส่งผลให้มีนโยบายที่กระทบกระทั่งกับคนที่มีเชื้อสายและ/หรือพูดภาษารัสเซีย โดยเฉพาะในไครเมีย จนเปิดช่องให้เกิดการลงประชามติขอแยกตัวเองออกจากยูเครนมาเป็นดินแดนเอกราชสั้นๆ ก่อนที่จะมีการลงประชามติอีกครั้ง เพื่อเข้ารวมกับรัสเซียแบบมีความชอบธรรม ทั้งนี้ ผลของประชามตินั้นมีผู้สนับสนุนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 โดยที่ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารต่างก็ยินยอมพร้อมใจอ้าแขนรับ และช่วยบูรณาการระบบให้กับเขตการปกครองน้องใหม่อย่าง ‘สาธารณรัฐไครเมีย’ ด้วย เพื่อเป็นการปกป้องผลประโยชน์ชนกลุ่มน้อยชาวรัสเซีย ผู้พูดภาษารัสเซีย และฝักใฝ่รัสเซีย นี่คือสิ่งที่เรียกว่า ‘ไครเมียโมเดล’

 

เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า รัสเซียกำลังจะใช้กลเม็ดเด็ดพรายดังเช่นเมื่อ 8 ปีก่อนหน้านี้อีกครั้ง กับดินแดนที่เข้าไปแทรกแซง 4 พื้นที่ ทั้ง สาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์ สาธารณรัฐประชาชนลูฮันสก์ จังหวัดซาปอริชเชีย และจังหวัดเคอร์ซอน (สองแห่งแรกรัสเซียถือว่าเป็นเอกราชอย่างเต็มตัว และสนับสนุนในฐานะประเทศพี่เลี้ยงใหญ่ แต่สองแห่งหลังยังอยู่ในสถานะที่เป็นดินแดนของยูเครน ภายใต้การยึดครองโดยรัสเซีย ยังไม่ทันได้มีกระบวนการตามขั้นตอนแบบที่ไครเมียและดอนบาส (ก่อนหน้านี้กระบวนการเหล่านี้ก็ช่วยให้รัสเซียดูมีความชอบธรรมมากขึ้นไม่มากก็น้อยในการผนวกรวมดินแดน) 

 

พูดกันตรงๆ ก็คือ งานด่วน งานหยาบ ข้าพเจ้าจะเอาตอนนี้แล้ว เพื่อกดดันยูเครนให้มากขึ้นไปอีก ดูอย่างไครเมียที่นับจนบัดนี้ในทางนิตินัย ประชาคมโลกส่วนใหญ่ยังถือว่ายูเครนมีสิทธิ แต่ในความเป็นจริงคือยูเครนทำอะไรไม่ได้กับดินแดนนี้แล้ว ถ้าหากอีกสี่แคว้นเป็นแบบนี้อีก และถ้ารัสเซียระดมทรัพยากรมาจัดหนักจนสำเร็จ พื้นที่ติดชายฝั่งทะเลจะหดหายไปหมดเหลือเพียงฉนวนทางภาคตะวันตกเฉียงใต้เท่านั้น นั่นจึงเป็นที่มาของ ‘การเรียกระดมพล (บางส่วน)’ หรือ Частичная Мобилизация – ชัสติชนาย่า มาบะลิซ้าทเซีย โดยกฤษฎีกาของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ที่มีคำสั่งเรียกกำลังพลสำรองราว 3 แสนคนกลับเข้ารับการฝึกอีกครั้ง กำลังพลสำรองเหล่านี้ก็คือ ชายชาวรัสเซียที่เคยผ่านการเกณฑ์ทหารมาแล้ว และปลดประจำการเป็นทหารกองหนุน ไปทำมาหากินตามวิชาชีพของตัวเองแล้ว

 

สงครามรัสเซีย-ยูเครน

ภาพ: Olga Maltseva / AFP

 

ผู้สันทัดกรณีหลายท่านตั้งข้อสังเกตว่า การระดมพลลักษณะนี้นับเป็นครั้งแรก นับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้คนในอย่างชาวรัสเซียแตกตื่นพากันเดินทางออกนอกประเทศ จากประสบการณ์ส่วนตัวของผมคือ ขอให้ได้มาอยู่ที่ไทย มาทำงาน ทำธุรกิจอะไรก็ได้ไปก่อน รวมไปถึงการก่อหวอดประท้วงใหญ่ นับจากการประท้วงในวันแรกๆ หลังจากที่รัสเซียเปิดฉากโจมตียูเครน (ก่อนหน้านี้เผาหลอก ครั้งนี้น่าจะเผาจริง เพราะเคสของคนรู้จักของผู้เขียนหลายคนเป็นแบบนั้นจริงๆ ได้ยินมาหลายเคส) หลีกเลี่ยงหมายเรียก รวมถึงคนนอกอย่างชาวโลกทั้งเราๆ ท่านๆ คิดไปว่า ปูตินจะเอากำลังพล 3 แสนรายนี้ไปบุกตะลุยยูเครนให้ยับเลยเชียวหรือ?

 

ถ้าคิดตามข้อเท็จจริงแล้ว นี่เป็นการมองการณ์ไกลแบบหนึ่ง คือรัสเซียรู้ดีว่า ผลประชามติทั้งสี่แคว้นจะออกมาเป็นแบบใด แน่นอนว่า คงต้องเป็นแบบไครเมียโมเดล คือมีผู้สนับสนุนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 ที่เห็นดีเห็นงามกับการเข้ามารวมกับรัสเซีย ดังนั้นเมื่อมีเขตการปกครองใหม่ ก็ต้องมีกำลังพลและบุคลากรเข้ามาดูแลพื้นที่ตรงนี้ อย่างที่เคยชี้ไปในบทความก่อนหน้านี้ว่า ลำพังกำลังพลที่มีตอนนี้ยังดูแลแนวรบปัจจุบันไม่ทั่วถึง นับประสาอะไรจะดูแลในดินแดนใหม่ รวมไปถึงการที่ต้องดูแลความมั่นคงในภูมิภาคอื่นๆ อีก อย่าลืมว่ารัสเซียเป็นประเทศที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในโลก จัดตั้งบรรจุอัตรากำลังพลในดินแดนใหม่คือจุดประสงค์หลัก แต่ในอนาคตคงหนีไม่พ้นการโจมตีโต้กลับของยูเครนในวันใดวันหนึ่ง ดังนั้นผลพลอยได้ (หรือพลอยเสีย?) ก็คือ มีความเป็นไปได้สูงที่จะต้องได้มารบกับยูเครนอยู่ดี

 

ก่อนหน้านี้รัสเซียก็ดูมีทีท่าอยากจะเจรจาและหาทางลง แต่ทว่ายูเครนก็ไม่เปิดโอกาส หนำซ้ำยังมีข้อเสนอสำคัญที่ไม่ว่าอย่างไรรัสเซียก็ไม่มีวันยอม นั่นคือการคืนแคว้นไครเมีย 

 

(ขอย้ำว่าไครเมียคือพื้นที่พิเศษจริงๆ ต่อให้คนรัสเซียที่ต่อต้านปูตินและต่อต้านสงคราม ยังบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ไครเมียคือรัสเซีย จากประสบการณ์ตรงของผู้เขียน ในไครเมียก็พบเจอแต่คนที่คิดว่าตัวเองเป็นรัสเซีย ไม่เคยเป็นยูเครนและสนับสนุนรัสเซียอย่างสุดใจ เรื่องของไครเมีย ทุกท่านสามารถตามอ่านย้อนหลังในบทความก่อนๆ หน้าได้) 

 

ดังนั้น สิ่งนี้คือการบีบให้ปูตินต้องใช้ไม้นี้ในสมรภูมิยูเครน

 

สงครามรัสเซีย-ยูเครน

ภาพ: Tali Mayer / NurPhoto / Corbis via Getty Images

 

จึงพูดได้ว่าต่อแต่นี้ไป สิ่งที่พูดกันว่าโลกนั้นไม่เหมือนเดิม มันจะยิ่งไม่เหมือนเดิมหนักกว่าเก่า ที่ผ่านมา 7 เดือนที่ว่าดุเดือดเลือดพล่านแล้ว อาจกลายเป็นสิ่งธรรมดาๆ ไปเลย เมื่อเทียบกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนับจากนี้ ทั้งสองฝ่ายมีโอกาสที่จะเข้าห้ำหั่นกันมากกว่าที่ผ่านมา

 

ดูจากภาษากายของปูติน และเคสของคนรู้จักชาวรัสเซียหลายคนจากประสบการณ์สดๆ ร้อนๆ ของผู้เขียนเองแล้ว

 

บอกได้คำเดียวว่า ต้องติดตาม ต้องเผื่อใจ เพราะครั้งนี้จะไม่ธรรมดากว่าที่ผ่านมาเป็นแน่

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X