×

ดินแดนใดบ้างของยูเครนเตรียมจัดลงประชามติ ขอแยกตัวเพื่อรวมเป็นส่วนหนึ่งกับรัสเซีย

21.09.2022
  • LOADING...
ยูเครน

วันนี้ (21 กันยายน) ประเด็นเกี่ยวกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน ร้อนระอุยิ่งขึ้นไปอีก หลังดินแดนบางส่วนของยูเครนที่อยู่ภายใต้การยึดครองของกองทัพรัสเซียและกลุ่มผู้สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนที่โปรรัสเซียประกาศ เตรียมจัดการลงประชามติเพื่อขอแยกตัวเป็นเอกราชจากยูเครน ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงมากว่าหากมีมติเห็นชอบ ดินแดนเหล่านี้จะผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งกับรัสเซียในท้ายที่สุด

 

คาดว่าบางดินแดนจะเริ่มเปิดลงประชามติเร็วสุดภายในสัปดาห์นี้ และคาบเกี่ยวไปถึงช่วงสัปดาห์หน้า (23-27 กันยายน) ซึ่งหลายฝ่ายมองว่ารัสเซียพยายามสนับสนุนการลงประชามติดังกล่าว เพื่อใช้สิ่งนี้เป็นข้ออ้างในการสร้างความชอบธรรม และนำไปสู่การประกาศผนวกรวมดินแดนเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ดังเช่นที่เคยทำกับไครเมียมาแล้วเมื่อปี 2014

 

เบื้องต้นมี 4 ดินแดนของยูเครนที่พื้นที่บางส่วนอยู่ภายใต้การยึดครองของรัสเซีย และเตรียมจัดลงประชามติ ได้แก่

 

1. โดเนตสก์ (Donetsk) และ 2. ลูฮันสก์ (Luhansk)

 

สองแคว้นสำคัญในภูมิภาคดอนบาส หรือพื้นที่ทางภาคตะวันออกของยูเครน ซึ่งเป็นดินแดนที่ถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายและจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของกองทัพรัสเซีย นั่นคือการปลดปล่อยให้ทั้งโดเนตสก์และลูฮันสก์ กลายเป็น ‘รัฐอิสระ’ เนื่องจากมองว่าผู้คนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในดินแดนนี้มีเชื้อชาติเดียวกันกับตน อีกทั้งยังมองว่ารัฐบาลยูเครนปฏิบัติต่อคนกลุ่มนี้อย่างไม่เป็นธรรม

 

โดยก่อนหน้าที่กองทัพรัสเซียจะเปิดฉากทำสิ่งที่ตนเองมองว่าเป็น ‘ปฏิบัติการพิเศษทางการทหาร’ หรือ ‘สงครามรุกรานยูเครน’ ในสายตาตะวันตก เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 นั้น ทางการรัสเซียเคยประกาศรับรองสถานะให้โดเนตสก์และลูฮันสก์มีสถานะเป็นรัฐอธิปไตยในนามสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์ (Donetsk People’s Republic) และสาธารณรัฐประชาชนลูฮันสก์ (Luhansk People’s Republic) ตามผลการลงประชามติที่มิชอบด้วยกฎหมายในภูมิภาคดอนบาส ที่เคยจัดขึ้นมาแล้วเมื่อปี 2014

 

นอกจากรัสเซียที่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตและรับรองสถานะความเป็นรัฐให้กับโดเนตสก์และลูฮันสก์แล้ว ยังมีอีกเพียง 2 ประเทศเท่านั้นในประชาคมโลกที่รับรองสถานะดังกล่าว ได้แก่ ซีเรีย (29 มิถุนายน 2022) และเกาหลีเหนือ (13 กรกฎาคม 2022)

 

3. เคอร์ซอน (Kherson)

 

หนึ่งในเมืองท่าที่สำคัญที่สุดของยูเครน ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ ติดกับทะเลดำ และอยู่ฝั่งตะวันตกของปากแม่น้ำนีเปอร์ ซึ่งควบคุมเส้นทางสู่คาบสมุทรไครเมีย ดินแดนที่รัสเซียผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเมื่อปี 2014 และมีพื้นที่บางส่วนติดกับโดเนตสก์ หนึ่งในดินแดนทางภาคตะวันออกที่เคยประกาศเอกราชแต่เพียงฝ่ายเดียวก่อนหน้านี้ เพื่อขอแยกตัวออกจากยูเครน

 

อีกทั้งในอดีตเมืองเคอร์ซอนยังเคยเป็นที่ตั้งฐานทัพของกองเรือทะเลดำของรัสเซียมาก่อน นอกจากนี้ยังเป็นหนึ่งในจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการเชื่อมเส้นทางเดินทัพและลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์ ที่จะยิ่งทำให้ปฏิบัติการพิเศษทางทหารในครั้งนี้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น กองทัพรัสเซียจึงตัดสินใจยึดดินแดนแห่งนี้โดยเร็ว โดยเคอร์ซอนถือเป็นเมืองใหญ่เมืองแรกที่ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของกองทัพรัสเซีย หลังสงครามเปิดฉากได้เพียงราว 1 สัปดาห์เท่านั้น

 

4. ซาปอริซเซีย (Zaporizhzhia)

 

เป็นศูนย์กลางการปกครองของแคว้นซาปอริซเซีย ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครน ไม่ไกลจากภูมิภาคดอนบาส มักจะได้ยินชื่อเมืองดังกล่าวจากข่าวของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่มีชื่อเดียวกันนี้ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรป การสู้รบกันในพื้นที่ของซาปอริซเซีย โดยเฉพาะในจุดที่ใกล้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ สร้างความกังวลใจให้กับหลายฝ่ายไม่น้อย หวั่นเกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในเหตุการณ์โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลระเบิดเมื่อปี 1986

 

โดยทางการซาปอริซเซียที่โปรรัสเซียและมีอำนาจอยู่ในขณะนี้ เผยว่าพวกเขาจะเดินไปเคาะประตูบ้านแต่ละหลัง เพื่อเชิญชวนให้ผู้คนในเมืองพากันออกมาลงประชามติ ปลดปล่อยตนเองจาก ‘ลัทธินาซี’ ซึ่งคาดว่าคูหาลงประชามติจะเปิดขึ้นอย่างเป็นทางการในวันศุกร์นี้ (23 กันยายน)

 

ท่าทีของฝ่ายโปรรัสเซียและสนับสนุนการลงประชามติ

 

หนึ่งในผู้สนับสนุนรัสเซียชี้ว่า การสนับสนุนให้จัดลงประชามติดังกล่าวอาจเป็นเหมือนสัญญาณที่ชี้ให้เห็นแล้วว่ารัสเซียพร้อมที่จะทำสงครามเต็มรูปแบบกับชาติตะวันตกในกรณีของยูเครน หากสถานการณ์บานปลายไปถึงจุดนั้น เนื่องจากประเด็นดังกล่าวนี้ผูกโยงอยู่กับความมั่นคงของอธิปไตยรัสเซีย

 

ด้าน มาการิตา ซีโมนยาน หัวหน้าสำนักข่าว RT ของรัสเซีย และหนึ่งในผู้สนับสนุนการทำสงครามในครั้งนี้ชี้ว่า การจัดลงประชามติแบบเร่งด่วนนี้คือฉากทัศน์เดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับไครเมีย

 

“วันนี้ จัดลงประชามติ พรุ่งนี้ ประกาศรับรองและผนวกรวมดินแดนดังกล่าวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย วันมะรืน การสู้รบในดินแดนของรัสเซียกลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบระหว่างยูเครน-NATO และรัสเซีย ซึ่งจะยิ่งสร้างความชอบธรรมให้แก่รัสเซียในการทำสงครามปกป้องอธิปไตยของตน”

 

ขณะที่ ดมิทรี เมดเวเดฟ รองประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติรัสเซีย อดีตประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีรัสเซีย ระบุว่า “การลงประชามติเหล่านี้จะมีส่วนช่วยปรับเปลี่ยนทิศทางการพัฒนารัสเซียในช่วงหลายทศวรรษไปอย่างสิ้นเชิง นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมการลงประชามติในครั้งนี้จึงทำให้ยูเครนและพวกตะวันตกต่างหวาดกลัว นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงจำเป็นต้องทำสิ่งนี้ให้สำเร็จ”

 

ท่าทีของยูเครนและพันธมิตร

 

ทางด้าน ดมิโทร คูเลบา รัฐมนตรีต่างประเทศของยูเครน ชี้ว่า การจัดลงประชามติดังกล่าวไม่อาจป้องกันยูเครนจากความพยายามที่จะปลดปล่อยดินแดนของตนที่ถูกต่างชาติยึดครองได้ การรุกคืบและการโต้กลับ เพื่อยึดดินแดนคืนจะยังคงดำเนินต่อไป

 

“การลงประชามติจะไม่สร้างความเปลี่ยนแปลงใดๆ รัสเซียจะยังคงเป็นผู้รุกรานที่ทำการยึดครองดินแดนบางส่วนของยูเครนอย่างผิดกฎหมายระหว่างประเทศ ยูเครนมีสิทธิ์ที่จะเดินหน้าปลดปล่อยดินแดนเหล่านั้นให้เป็นอิสระจากการยึดครอง ไม่ว่ารัสเซียจะพูดอย่างไรก็ตาม”

 

ในขณะที่ประชาคมโลก โดยเฉพาะพันธมิตรชาติตะวันตกต่างร่วมประณามการกระทำดังกล่าวของรัสเซีย โดย เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของทำเนียบขาวชี้ว่า “การลงประชามติที่จะจัดขึ้นเหล่านี้ ล้วนละเมิดศักดิ์ศรีและอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนที่ประชาคมโลกต่างยึดถือ หากสิ่งนี้เกิดขึ้นจริง สหรัฐอเมริกาไม่มีวันรับรองการอ้างกรรมสิทธิ์ใดๆ เหนือดินแดนยูเครนที่ถูกรัสเซียผนวกรวมอย่างแน่นอน”

 

ทางด้าน เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ระบุว่า “ประชาคมโลกจะไม่รับรองการจัดลงประชามติดังกล่าวนี้ที่รัสเซียเป็นฝ่ายสนับสนุน” ขณะที่ โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ชี้ว่า “การจัดลงประชามตินี้จะไม่เป็นที่ยอมรับในประชาคมโลก การลงประชามติเหล่านี้ไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศ”

 

ขณะที่ เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการ NATO ประณามความพยายามในการจัดการลงประชามติ พร้อมระบุว่า “การลงประชามตินี้ไม่มีความชอบธรรม สิ่งนี้ไม่สามารถเปลี่ยนความจริงที่ว่ารัสเซียเป็นผู้ก่อสงครามรุกรานยูเครนได้ นี่จะทำให้สงครามของปูตินในครั้งนี้ขยายตัวยิ่งขึ้น”

 

ภาพ: Yekaterina Shtukina / RIA-NOVOSTI / AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising