และแล้วก็มาถึงวันที่ความขัดแย้งทางทหารระหว่างรัสเซียกับยูเครนดำเนินมาครบ 1 ปีเต็ม
โลกยังคงจำช่วงเวลาแห่งความตกตะลึงในเช้าวันที่ 24 กุมภาพันธ์ปีที่แล้ว รัสเซียได้ตัดสินใจทิ้งไพ่ใบสุดท้ายลงเดิมพันเกมขับเคี่ยวทางอำนาจโลก ด้วยการระดมยิงจรวดร่อนและเครื่องบินทิ้งระเบิดถล่มยูเครน ประเทศบ้านพี่เมืองน้องของตัวเองอย่างที่เราก็ไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะได้เห็นภาพแบบนี้ในปี 2022 ก่อนที่จะตามมาด้วยการดำเนินมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียมากที่สุดในประวัติศาสตร์ จนแทบจะเรียกได้ว่ารัสเซียกลายเป็นประเทศที่โดนมาตรการคว่ำบาตรมากที่สุดในโลกเกิน 5,000 รายการไปแล้ว ซึ่งมากกว่าที่กลุ่มประเทศ Axis of Evil ที่สหรัฐอเมริกาเคยเรียกไว้อย่างที่อิหร่าน คิวบา และเกาหลีเหนือโดนเสียอีก
พันธมิตรตะวันตกคงหวังว่า ด้วยมาตรการตัดขาดรัสเซียจากเศรษฐกิจโลก รวมไปถึงการที่ผู้ประกอบการแบรนด์ต่างๆ ระดับโลกพากันถอนตัวออกจากรัสเซียเพื่อเป็นการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ต่อนโยบายของรัฐบาลรัสเซียต่อยูเครนนั้น จะทำให้รัสเซียพังพาบและพากันเฮโลดีใจกันใหญ่ เมื่อมีปรากฏการณ์เงินรูเบิลตกเป็นประวัติการณ์ หลังจากมีมาตรการคว่ำบาตรต่างๆ ออกมา ในขณะนั้นมีการพูดคุยกันถึงขนาดที่ว่า เศรษฐกิจรัสเซียคงอยู่ได้อีกไม่เกิน 3 เดือน และเมื่อถึงจุดจุดนั้นรัสเซียจะพังทลายจนต้องถอนตัวหรือยุติการปฏิบัติการทางทหารในยูเครนในท้ายที่สุด
แต่แล้วอย่างที่ผู้เขียนเคยเขียนถึงไว้หลายๆ ครั้งว่า อย่าประมาทรัสเซีย ด้วยเหตุที่รัสเซียเป็นมหาอำนาจใหญ่อีกประเทศหนึ่งที่ไม่อาจที่จะร่วมมือกันบ่อนทำลายให้พังทลายได้ง่ายๆ อย่างที่คิด ด้วยความที่เป็นประเทศมหาอำนาจที่ยังมีทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ อย่างเช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และแร่ธาตุอื่นๆ อันมหาศาลที่ยังสามารถใช้ค้ำยันสถานะของประเทศ รวมไปจนถึงคณะผู้ปกครองด้วย อย่างน้อยที่สุดเราก็ได้เห็นแล้วว่า 1 ปีผ่านไปพวกเขาก็ยังคงหยัดยืนอยู่ได้
1 ปีผ่านไปจนผู้คนรอบข้างเราเริ่มรู้สึกชินชากับข่าวสงครามและ (อาจจะ) ทำใจได้ (ทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ) ว่าสิ่งนี้คือ ‘New Normal’ ที่จะต้องอยู่กับเราไปอีกพักใหญ่ๆ
ผลกระทบต่อโลกและไทย
แน่นอนว่าผลกระทบโดยตรงของสงครามคือ การเสียชีวิตของผู้คน และแน่นอนว่าคนกลุ่มแรกคือ บรรดาเหล่าทหาร/นักรบของแต่ละฝ่าย แต่ตัวเลขผู้สูญเสียมักจะไม่ตรงกัน เพราะแต่ละฝ่ายมักนำเสนอจำนวนผู้เสียชีวิตของฝ่ายตัวเองด้วยตัวเลขที่ต่ำและนำเสนอจำนวนผู้เสียชีวิตของฝ่ายตรงข้ามด้วยตัวเลขที่สูงไว้ก่อน เพื่อจุดประสงค์ในการโฆษณาชวนเชื่อ หรือพูดเพราะๆ คือการไม่ทำลายขวัญกำลังใจของฝ่ายตัวเอง แต่ต่อให้เอาตัวเลขที่น้อยที่สุดของแต่ละฝ่ายมาพูดกันก็น่าจะแตะครึ่งแสนได้แล้วในรอบ 1 ปี ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงอยู่ดี เมื่อเทียบกับจำนวนทหารโซเวียตที่เสียชีวิตในสงคราม 10 ปีในอัฟกานิสถานที่อยู่ราว 15,000 นาย
ต่อมาคือพลเรือนที่ต้องสูญเสียชีวิต บ้านเรือน ทรัพย์สิน หรือไม่ก็ต้องอพยพโยกย้ายหนีการสู้รบไปยังดินแดนต่างๆ ใกล้เคียง โดยเฉพาะทั้งยุโรปและรัสเซียเอง (ผู้อพยพโยกย้ายมีมาจากทุกฝั่ง ทั้งฝั่งที่อยู่กับรัฐบาลเคียฟแล้วหนีทหารรัสเซีย รวมไปถึงฝั่งที่สนับสนุนรัสเซียและดอนบาสก็ต้องหนีทหารยูเครนลี้ภัยเข้าไปในรัสเซีย) จำนวนตัวเลขอยู่ที่ราว 5-8 ล้านคน ซึ่งนับว่าเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 6 ของประชากรทั้งประเทศยูเครน แต่แน่นอนว่าถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนจากตะวันตก เศรษฐกิจก็พังพาบได้เหมือนกัน และเมื่อเกิดเป็นปัญหาคลื่นผู้อพยพต่อให้ในตอนแรกบอกว่า ยินดีอ้าแขนรับทุกคน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในภายหลังบรรดาผู้อพยพก็ทำให้รัฐบาลยุโรปประเทศต่างๆ ต้องแบกรับต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในการโอบอุ้มผู้อพยพเช่นกัน กลายเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นลูกโซ่ต่อๆ กันอย่างเลี่ยงไม่ได้
วิกฤตที่ทั้งโลกต้องเผชิญในรอบปีที่ผ่านมาคือ วิกฤตพลังงานที่ทำให้ต้นทุนด้านพลังงานพุ่งสูงขึ้นจากการเล่นเกมตั้งแง่กันโดยรัสเซียและมหาอำนาจตะวันตก ด้วยความที่พันธมิตรตะวันตกพากันคว่ำบาตรจนรัสเซียไม่เหลือที่ยืนก็เป็นความจำเป็นของฝ่ายรัสเซียที่จะต้องงัดไม้แข็งออกมา โดยใช้เรื่องพลังงานที่ตนเองครอบครองเป็นจำนวนมากจนเป็นผู้ควบคุมอุปทานรายใหญ่ของโลกที่ถ้าขยับใหญ่เมื่อไรโลกก็ต้องสะเทือนไม่มากก็น้อย คนธรรมดาอย่างเราๆ ต่างสัมผัสได้ว่า ค่าน้ำมันขึ้น ค่าไฟขึ้น ค่าตั๋วเครื่องบินและการเดินทางอะไรต่างๆ นานาแพงขึ้นทั้งนั้น สิ่งนี้พิสูจน์ได้ว่า เรื่องของการเมืองระหว่างประเทศส่งผลเชื่อมโยงกับทุกคน ทุกมุมโลก
ทางฝั่งรัสเซียเอง ถ้าไม่พูดถึงก็ไม่ได้ว่าต้องเผชิญกับความท้าทายมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ถูกตัดขาดจาก SWIFT ราวกับถูกตัดแขนขาจากระบบเศรษฐกิจโลก ชาวรัสเซียมีความยากลำบากมากขึ้นในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ บรรดาแหล่งฐานข้อมูลเทคโนโลยีต่างๆ รวมไปถึงวัตถุดิบหลายๆ ชนิดก็ไม่สามารถเข้าถึงได้ ในวันแรกๆ ที่รัสเซียโดนคว่ำบาตรจะว่าไปก็มีช่วงที่รัสเซียเมาหมัดมาตรการคว่ำบาตรเต็มพิกัดของพันธมิตรตะวันตกอยู่เหมือนกัน ตัวอย่างเช่น มีอยู่ช่วงหนึ่งที่กระดาษกลายเป็นสินค้าที่มีราคาแพงมาก เพราะต้นทุนการนำเข้าสูงขึ้นหลายเท่าตัว
ในขณะเดียวกันดูเหมือนว่าประเทศที่ ‘ไม่ได้อยู่ในรายชื่อประเทศที่ไม่เป็นมิตร’ กับรัสเซียอย่างไทยและจีนกลับได้ประโยชน์ทางอ้อมจากสถานการณ์นี้อย่างปฏิเสธไม่ได้ โดยจีนกลายเป็นประเทศคนกลางที่ทั้งรัสเซียและยูเครนต่างสามารถคุยด้วยได้ สปอตไลต์จึงส่องมาที่จีนได้ง่ายๆ ไม่ยากเลยที่จีนจะวางตัวเป็นกาวใจหลักให้กับทั้งสองฝ่าย อีกทั้งจีนในฐานะโรงงานผลิตสิ่งของทุกประเภท ตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบของโลกต่างได้อานิสงส์คำสั่งซื้อจากรัสเซียที่เทเข้ามาแทนการสั่งซื้อจากพันธมิตรตะวันตกอันเนื่องมาจากมาตรการคว่ำบาตรดังกล่าว
ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ในช่วงแรกก็ได้รับผลกระทบอย่างมากจากวิกฤตพลังงาน แต่พอผ่านพ้นปลายปี 2022 รวมไปถึงการผ่านพ้นนโยบายจำกัดต่างๆ ในเรื่องโควิด และเมื่อประเทศไทยเปิดประเทศเต็มที่อีกครั้งในช่วงเวลานี้ในฐานะเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของทั้งชาวรัสเซียที่เป็นนักท่องเที่ยวตัวยงที่อึดอัดจากยุคโควิด รวมถึงชาวรัสเซียที่อาจจะเซ็งๆ กับบรรยากาศในรัสเซีย โดยเฉพาะพลเมืองเพศชายที่ไม่ต้องการมีความเสี่ยงในการถูกเรียกให้เข้าไปรับราชการในส่วนใดๆ ของกองทัพก็พากันอพยพออกนอกประเทศ โดยมีประเทศไทยเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักที่สำคัญที่คนรัสเซียจะเดินทางมา เนื่องจากประเทศไทยในสายตาคนรัสเซียนั้นเป็นประเทศที่เป็นมิตร ผู้คนอัธยาศัยดี และมีธรรมชาติที่สวยงาม
จากประสบการณ์โดยตรงของผู้เขียน ตั้งแต่เข้าปีใหม่ 2023 ที่ผ่านมา จนถึงทุกวันนี้สามารถบอกได้กลายๆ ว่านี่อาจเป็นปีทองอีกปีสำหรับการทำธุรกิจกับทางฝั่งรัสเซีย โอกาสเข้ามาทั้งภาครัฐและเอกชน ในระดับผู้กำหนดนโยบายมีการติดต่อหารือกันบ่อยครั้งมากขึ้น มีการติดต่อจากทั้งภาครัฐและเอกชนให้ผู้เขียนไปมีส่วนร่วมในการเจรจาหรือการประชุมนั้นในฐานะผู้แปลภาษา จึงยิ่งได้เข้าใจในสิ่งที่ทางฝั่งรัสเซียกำลังคิดจะทำ ยกตัวอย่างเช่น เริ่มมีองค์กรมหาชนที่ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากรัฐบาลรัสเซียเข้ามาติดต่อพูดคุยกับทางองค์กรมหาชนฝั่งไทยในการให้เป็นแม่แบบการจัดการฐานข้อมูลในแวดวงหนึ่ง เพราะด้วยความที่ทางฝั่งรัสเซียถูกตัดขาดจากตะวันตกและในฐานะที่ตัวแทนฝั่งไทยเรามีองค์ความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากตะวันตก จึงเป็นโอกาสที่จะได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ หรือแม้กระทั่งว่าเริ่มมีผู้ประกอบการชาวรัสเซียที่คิดจะนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่ผลิตในประเทศที่คว่ำบาตรรัสเซียโดยมาหาซื้อผ่านประเทศไทย
สิ่งนี้เป็นเพียงตัวอย่างไม่กี่ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความกระตือรือร้นจากทางฝั่งรัสเซียที่จะมีปฏิสัมพันธ์เชิงบวกกับทางฝั่งไทย ยังไม่นับรวมถึงกระแสนักท่องเที่ยวรัสเซียที่เข้ามาเยือนไทย ทำให้ผู้เขียนเองนึกย้อนไปช่วงปี 2011-2012 ที่ยอดนักท่องเที่ยวรัสเซียทุบสถิติที่ 1.5 ล้านคนว่า เป็นบรรยากาศแบบเดียวกัน
พูดสั้นๆ คือ ไม่ว่าจะเป็นรัสเซียที่เป็นภาครัฐ หรือภาคเอกชนที่เห็นด้วยกับภาครัฐหรือไม่เห็นด้วยกับภาครัฐฯ ต่างก็มีจุดร่วมมองประเทศไทยแบบเดียวกัน นั่นก็คือประเทศไทยเป็นมิตรและเป็นโอกาส
ทั้งยังสะท้อนว่า นโยบายรักษาความเป็นกลางในกรณีความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนนี้ เราค่อนข้างมาถูกทางแล้ว
ภาพ: GagoDesign / Shutterstock