×

รัสเซียเผย จะจัดหาระบบขีปนาวุธที่สามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ได้ให้กับเบลารุส

26.06.2022
  • LOADING...
รัสเซีย

วานนี้ (25 มิถุนายน) กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียเปิดเผยว่า วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีแห่งรัสเซีย กล่าวกับ อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก ประธานาธิบดีแห่งเบลารุส ว่า รัสเซียจะจัดหาระบบขีปนาวุธที่สามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ได้ให้กับเบลารุส

 

โดยในการพบปะกับปูตินในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์แสดงความกังวลเกี่ยวกับนโยบายของประเทศเพื่อนบ้านอย่างลิทัวเนียและโปแลนด์ ซึ่งเขาระบุถึงนโยบายว่า เป็นนโยบายที่ก้าวร้าว, เผชิญหน้า และน่ารังเกียจ

 

เขาขอให้ปูตินช่วยเบลารุสให้มี ‘การตอบสนองที่ได้สัดส่วน’ ต่อสิ่งที่เขาระบุว่า เป็นเที่ยวบินติดอาวุธนิวเคลียร์โดย NATO ซึ่งอยู่ใกล้กับพรมแดนของเบลารุส

 

ปูตินกล่าวว่า เขาไม่เห็นความจำเป็นในปัจจุบันสำหรับการตอบสนองที่ได้สัดส่วนดังกล่าว แต่เครื่องบินขับไล่ Su-25 ของเบลารุส ที่ผลิตโดยรัสเซีย สามารถอัปเกรดในโรงงานของรัสเซียได้หากจำเป็น

 

“เราจะโอนระบบขีปนาวุธทางยุทธวิธี Iskander-M ไปยังเบลารุส ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งขีปนาวุธทิ้งตัวและขีปนาวุธร่อน ทั้งในเวอร์ชันปกติและนิวเคลียร์” กระทรวงต่างประเทศรัสเซียสรุปการประชุมโดยอ้างคำพูดของปูติน

 

Iskander-M เป็นระบบขีปนาวุธนำวิถีเคลื่อนที่ที่ได้รับการตั้งชื่อรหัสว่า SS-26 Stone โดย NATO ซึ่งขีปนาวุธนำวิถีทั้งสองของระบบมีพิสัยไกลถึง 500 กิโลเมตร (300 ไมล์) และสามารถติดหัวรบปกติหรือหัวรบนิวเคลียร์ได้

 

ทั้งนี้ หลายส่วนของการประชุมระหว่างสองผู้นำถูกถ่ายทอดผ่านทางโทรทัศน์

 

“มินสก์ต้องพร้อมสำหรับทุกสิ่ง แม้แต่การใช้อาวุธร้ายแรงเพื่อปกป้องบ้านเกิดของเรา ตั้งแต่เบรสต์ไปจนถึงวลาดิวอสต็อก” ลูกาเชนโกกล่าว และเขายังขอความช่วยเหลือในการสร้างอากาศยานทางทหารของเบลารุส ที่มีความสามารถด้านนิวเคลียร์อีกด้วย

 

ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและชาติตะวันตกเพิ่มสูงขึ้นนับตั้งแต่รัสเซียส่งทหารเข้าไปในยูเครนเมื่อ 4 เดือนก่อน โดยกล่าวหาว่า NATO วางแผนที่จะยอมรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิก และใช้เป็นฐานในการคุกคามรัสเซีย ความเคลื่อนไหวของรัสเซียไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก แต่ยังกระตุ้นให้สวีเดนและฟินแลนด์ ประเทศใกล้เคียงที่อยู่ทางเหนือของรัสเซีย สมัครเข้าเป็นสมาชิกของ NATO ด้วย

 

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ลิทัวเนียได้สร้างความขุ่นเคืองให้กับรัสเซีย ด้วยการปิดกั้นการขนส่งสินค้าที่ขนส่งข้ามอาณาเขตของลิทัวเนียจากรัสเซียผ่านเบลารุส ไปยังดินแดนแถบบอลติกของรัสเซียที่คาลินินกราด ภายใต้การคว่ำบาตรของยุโรป ซึ่งรัสเซียระบุว่า นี่คือ ‘การปิดล้อม’ แต่ลิทัวเนียกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวมีผลต่อการขนส่งสินค้าปกติบนเส้นทางดังกล่าวเพียง 1% และการเดินทางของผู้โดยสารนั้นไม่ได้รับผลกระทบ

 

คาลินินกราดเป็นดินแดนกว้างใหญ่ทางตะวันตกสุดของรัสเซีย และเป็นดินแดนเพียงแห่งเดียวที่ห้อมล้อมด้วยรัฐสมาชิกของสหภาพยุโรป (EU) โดยมีลิทัวเนียคั่นกลางระหว่างคาลินินกราดกับเบลารุส ซึ่งเป็นชาติพันธมิตรสำคัญของรัสเซีย ขณะที่ทางใต้ของคาลินินกราดมีชายแดนประชิดกับโปแลนด์ทางเหนือ ส่วนฝั่งตะวันตกอยู่ติดกับทะเลบอลติก ด้วยเหตุนี้จึงมีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ เนื่องจากเป็นทางออกสู่ทะเลที่สำคัญของรัสเซีย

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising