โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ระบุว่า “ถ้า วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ชนะสงครามในยูเครน เขาจะไม่หยุดเพียงแค่นั้น” ไบเดนยังคาดการณ์อีกว่า “ปูตินมีแนวโน้มที่จะโจมตีประเทศพันธมิตร NATO ในอนาคต…และเราจะปล่อยให้รัสเซียชนะสงครามครั้งนี้ไม่ได้”
คำถามที่ตามมาคือ รัสเซียมีแผนจะโจมตี NATO จริงหรือ?
ท่าทีของรัสเซีย
ปูตินปฏิเสธคำกล่าวอ้างของผู้นำสหรัฐฯ ที่ระบุว่ารัสเซียมีแผนการที่จะเตรียมโจมตี NATO ในอนาคต พร้อมทั้งชี้ว่า คำกล่าวอ้างนี้ถือเป็น ‘เรื่องไร้สาระโดยสิ้นเชิง’
โดยผู้นำรัสเซียให้สัมภาษณ์ผ่านสถานีโทรทัศน์ Rossiya ว่า รัสเซียไม่มีเหตุผล ไม่มีผลประโยชน์ทั้งในทางภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจ การเมือง รวมถึงการทหาร ที่จะทำให้รัสเซียตัดสินใจเผชิญหน้ากับบรรดาประเทศสมาชิก NATO ทั้งยังกล่าวเสริมว่า ไบเดนอาจกำลังพยายามปลุกกระแสความกลัวขึ้นมา เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของสหรัฐฯ ภายในภูมิภาคดังกล่าว
นักวิชาการจำนวนไม่น้อยยังเชื่อว่า รัสเซียไม่น่าจะมีแผนการเตรียมโจมตีประเทศพันธมิตร NATO ที่ยึดโยงและเกี่ยวพันกันไว้ด้วยมาตรา 5 ที่บัญญัติไว้ว่า การโจมตีประเทศสมาชิกใน NATO ประเทศใดประเทศหนึ่ง ‘จะเท่ากับเป็นการโจมตีสมาชิกทุกประเทศ’ เพราะนั่นอาจทำให้รัสเซียมีต้นทุนที่ต้องจ่ายสูงมาก และอาจบานปลายกลายเป็นสงครามใหญ่ หากรัสเซียตัดสินใจที่จะทำการเช่นนั้นจริง
ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-รัสเซีย
ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศไม่ค่อยสู้ดีนักนับตั้งแต่ช่วงสงครามเย็น ก่อนที่ความสัมพันธ์จะยิ่งตกต่ำลงถึงขีดสุดในรอบหลายทศวรรษ นับตั้งแต่กองทัพรัสเซียตัดสินใจ ‘ปฏิบัติการพิเศษทางการทหาร’ เข้าไปรุกรานและทำสงครามในประเทศเพื่อนบ้านอย่างยูเครนเมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2022
ตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ปี สหรัฐฯ ถือเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการช่วยเหลือและสนับสนุนทางด้านเงินทุนและด้านการทหารให้แก่ยูเครน ขณะนี้สหรัฐฯ ส่งมอบแพ็กเกจความช่วยเหลือให้แก่ยูเครนแล้วกว่า 1.11 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.87 ล้านล้านบาท) เพื่อช่วยยูเครนสกัดกั้นการรุกคืบของกองทัพรัสเซีย และช่วยให้ยูเครนยึดดินแดนบางส่วนคืนมาได้สำเร็จ
พัฒนาการล่าสุดของสงคราม
สงครามระหว่างกองทัพรัสเซียกับยูเครนนั้นยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกของยูเครนที่นับเป็นสมรภูมิรบที่สำคัญมาโดยตลอด ขอบเขตความเสียหายและยอดผู้เสียชีวิตยังคงเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งในขณะนี้สงครามเริ่มได้รับอิทธิพลจากความหนาวเย็นในยุโรป ทำให้การสู้รบทางการทหารอาจมีความยากลำบากมากยิ่งขึ้น
ขณะที่ความพยายามของ โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ที่เดินทางเยือนสหรัฐฯ เพื่อเข้าพบกับไบเดน และร้องขอให้สหรัฐฯ ยังคงส่งมอบแพ็กเกจช่วยเหลือยูเครนในการทำสงครามกับรัสเซียต่อไป แต่อาจไม่ได้เป็นไปอย่างที่หวัง หลังสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ จากพรรครีพับลิกันบางส่วนขัดขวางแพ็กเกจความช่วยเหลือมูลค่า 6.14 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.14 ล้านล้านบาท) พร้อมเรียกร้องให้ทำเนียบขาวสหรัฐฯ หันมาจัดการกับปัญหาผู้อพยพในแถบพื้นที่บริเวณชายแดนของสหรัฐฯ ก่อนประเด็นภายนอกประเทศ
ทางด้าน ดร.อดุลย์ กำไลทอง อาจารย์พิเศษด้านรัสเซียศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า “กองทัพรัสเซียมีความอดทนสูงมาก แม้เผชิญกับสภาพอากาศที่เลวร้าย” พร้อมทั้งคาดการณ์ว่า “สงครามรัสเซีย-ยูเครนในครั้งนี้อาจยืดเยื้อนานถึง 5 ปี และรัสเซียต้องการที่จะชนะสงครามครั้งนี้ให้ได้ โดยมองยูเครนเป็นตัวชี้วัดที่จะช่วยพิสูจน์ว่ารัสเซียจะยังคงเป็นมหาอำนาจโลกอยู่หรือไม่
“ขณะที่การเปลี่ยนแปลงด้านการเมืองในยูเครน ยุโรป รวมถึงสหรัฐฯ อาจเป็นชอร์ตคัตที่นำไปสู่จุดเปลี่ยนหรือลงนามอะไรกันได้ในอนาคต”
แฟ้มภาพ: Drew Angerer / Getty Images
อ้างอิง:
- www.aljazeera.com/news/2023/12/17/nonsense-putin-rejects-biden-claim-that-russia-plans-to-attack-nato
- www.cnbc.com/2023/12/07/ukraine-war-live-updates-latest-news-on-russia-and-the-war-in-ukraine.html
- www.reuters.com/world/europe/putin-says-bidens-remark-about-russian-plan-attack-nato-is-complete-rubbish-2023-12-17/