×

กรมชลประทาน กางแผนยุทธศาสตร์ปรับตัวสู่ ‘องค์กรอัจฉริยะ’ มุ่งสร้างความมั่นคงด้านน้ำ พร้อมชี้แจงทุกประเด็นเรื่องน้ำที่คนไทยต้องรู้ [Advertorial]

โดย THE STANDARD TEAM
30.09.2021
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • ภารกิจของ ประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานคนที่ 34 หลังการเข้ารับตำแหน่งตั้งแต่ต้นปี 2564 ยังคงเดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์กรมชลประทาน 20 ปี สู่การเป็น ‘องค์กรอัจฉริยะ’ ที่ขับเคลื่อนองค์กรภายใต้หลักคิด RID TEAM เราจะก้าวไปด้วยกัน 
  • โครงการมากมายที่เกิดขึ้นในแผนยุทธศาสตร์เฟสแรก ปี 2561-2565 นำไปสู่การสร้างความมั่นคงทางด้านน้ำ ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการวางแผนพัฒนาประเทศ  
  • น้ำเค็ม น้ำท่วม น้ำแล้ง และแผนการแก้ไขของกรมชลประทานคืออะไร คำตอบอยู่ในบทความนี้ 

การเข้ารับตำแหน่งอธิบดีกรมชลประทานคนที่ 34 ของ ประพิศ จันทร์มา เพื่อสานต่อภารกิจหน้าที่สำคัญขององค์กรในช่วงที่สถานการณ์น้ำ 2 ปีที่ผ่านมาไม่สู้ดีนัก การขับเคลื่อนองค์กรให้เดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์กรมชลประทาน 20 ปี ไปพร้อมกับการลงพื้นที่และแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำจึงเป็นความท้าทายที่ต้องเผชิญหน้า เพื่อสร้างมั่นคงด้านน้ำให้กับประเทศไทย

 

“องค์กรจะเดินหน้าได้ต้องอาศัยพลังแห่งการร่วมมือร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวของคนในองค์กร เพื่อไปสู่เป้าหมายเดียวกัน” อธิบดีประพิศบอกถึงหัวใจสำคัญที่ทำให้การทำงานของกรมชลประทานในหลายโครงการประสบความสำเร็จในช่วงหลายปีที่ผ่านมา  

 

 

RID TEAM เราจะก้าวสู่การเป็นองค์กรอัจฉริยะที่มุ่งสร้างความมั่นคงทางด้านน้ำไปด้วยกัน

“ภารกิจของกรมชลประทาน คือ มุ่งมั่นที่พัฒนาแหล่งน้ำและบริหารจัดการแหล่งน้ำ ให้เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานที่มั่นคงและเพียงพอต่อสภาวะของน้ำตามธรรมชาติในปัจจุบัน แต่การจะเดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทุกคนในองค์กรต้องก้าวไปด้วยกัน เพราะเป้าหมายของกรมชลประทาน คือ การเป็นองค์กรอัจฉริยะที่มุ่งสร้างความมั่นคงทางด้านน้ำ เพื่อเพิ่มคุณค่าการบริการภายในปี 2580 ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ผมไม่มีทางทำให้เกิดขึ้นได้ถ้าขาดองค์กรที่แข็งแกร่ง ซึ่งองค์กรที่แข็งแกร่งต้องพัฒนาศักยภาพและเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากร สร้างความเข้าใจและความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งขององค์กร บุคลากรของเราทุกคนจึงเดินหน้าภายใต้หลักคิด RID TEAM เราจะก้าวไปด้วยกัน ในการสานพลังน้ำให้เป็นหนึ่ง”

 

นโยบาย RID TEAM ดังกล่าว ประกอบไปด้วยหลักคิด R (Reliable) เชื่อถือได้, I (Innovation) หลากหลายนวัตกรรม, D (Development) นำสู่การพัฒนา และหลักปฏิบัติ T (Transparency) ปฏิบัติงานด้วยความโปร่งใส, E (Efficiency) ปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ A, (Accountability) ปฏิบัติงานด้วยความรับผิดชอบ และ M (Masterful) ปฏิบัติงานด้วยความรู้และความเชี่ยวชาญ  

 

 

จากนโยบายนำไปสู่กลยุทธ์ 5 ข้อ เพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรอัจฉริยะที่มีส่วนในการพัฒนาประเทศ คือ 

  1. พัฒนาแหล่งน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทานตามศักยภาพของลุ่มน้ำให้เกิดความสมดุล
  2. เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการให้เพียงพอ ทั่วถึง และเป็นธรรม
  3. ป้องกันและบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำตามภารกิจอย่างเหมาะสม
  4. สร้างเครือข่ายและการมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาและการบริหารจัดการน้ำในระดับพื้นที่
  5. ปรับเปลี่ยนสู่องค์กรอัจฉริยะ


อธิบดีประพิศอธิบายเพิ่มเติมว่า แผนยุทธศาสตร์กรมชลประทาน 20 ปี แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 4 ช่วง ช่วงละ 5 ปี โดยในเฟสแรก เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2561-2565 ผลการดำเนินงานด้านการสร้างความมั่นคงด้านน้ำ ภาพรวมจนถึงปัจจุบัน (ปี 2564) เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 1,446,092 ล้านไร่ และเพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บ 908.60 ล้าน ลบ.ม. และในจำนวนดังกล่าวมีพื้นที่รับประโยชน์จากการดำเนินงาน 7.17 ล้านไร่ และครัวเรือนรับประโยชน์ 6.61 ล้านครัวเรือน 

 

“ในเฟสแรกเราเน้นสร้างรากฐานที่มั่นคงไปพร้อมกับการขับเคลื่อนโครงการที่เคยดำเนินการต่อเนื่อง อย่างโครงการอันเนื่องมากจากพระราชดำริที่ต้องขับเคลื่อนทั้งหมด 3,541 โครงการ จนถึงตอนนี้ดำเนินการก่อสร้างแล้วกว่า 3,272 โครงการ แบ่งเป็นก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ 1,111 โครงการ ฝาย 869 โครงการ และอื่นๆ เช่น จัดหาน้ำ อาคารบังคับน้ำ สถานีสูบน้ำ 1,292 โครงการ เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 3.42 ล้านไร่ เพิ่มปริมาตรเก็บกัก จำนวน 6,776 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มพื้นที่รับประโยชน์ จำนวน 4.92 ล้านไร่ และครัวเรือนรับประโยชน์ จำนวน 601,000 ครัวเรือน” 

 

 

ทั้งนี้ โครงการขนาดใหญ่ที่สำคัญ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับประเทศ เช่น โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล จ.แม่ฮ่องสอน ที่จะช่วยเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกฤดูแล้งในโครงการกําแพงเพชรและโครงการเจ้าพระยาใหญ่ ผันน้ำเติมเขื่อนภูมิพล สนับสนุนน้ำต้นทุนเพื่อผลิตน้ำประปา, โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.อุตรดิตถ์ บรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภค, โครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง เพื่อเติมน้ำให้แหล่งเก็บกักน้ำเดิมให้มีปริมาณน้ำต้นทุนที่มั่นคง รวมทั้งบรรเทาปัญหาอุทกภัยด้วยการดักน้ำหลากจากพื้นที่รับน้ำตอนบน หรือโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อรองรับแผนการพัฒนาพื้นที่ EEC 10 ปี

 

รวมไปถึงโครงการในอนาคตที่รองรับนโยบายการบริหารจัดการน้ำในเฟสที่ 2 ปี 2564-2568 ได้แก่ โครงการเหลียวหลัง ปรับปรุงอาคารชลประทานและระบบชลประทานให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ, โครงการเพิ่มประสิทธิภาพฯ อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง, โครงการเพิ่มเพิ่มประสิทธิภาพฯ ด้วยการขุดลอกเพิ่มความจุ, โครงการอาคารบังคับน้ำในลำน้ำสายหลัก/สายรอง, โครงการก่อสร้าง/พัฒนาแก้มลิง รวมถึงแผนการก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าในลำน้ำสายหลักและสายรอง  

 

แม้วัตถุประสงค์ของทุกโครงการข้างต้นจะมีเป้าหมายเดียวกัน คือ การสร้างความมั่นคงทางด้านน้ำ แต่ในฐานะประชาชนที่วันนี้กำลังเผชิญปัญหาเกี่ยวกับน้ำมากมาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำแล้ง น้ำท่วม น้ำเค็ม หรือเกษตรกรไม่มีน้ำใช้พอเพียงในการทำเกษตร แล้วโครงการทั้งหมดที่กล่าวมาจะช่วยแก้ปัญหาเหล่านั้นได้อย่างไร โดยเฉพาะปัญหาน้ำเค็มที่ดูจะรุนแรงขึ้นทุกปี

  

ประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน


น้ำต้นทุนน้อย ส่งผลกระทบน้ำเค็มรุกหนัก เกินเกณฑ์ควบคุม

“การรุกตัวของน้ำเค็มเกิดจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นอิทธิพลจากน้ำทะเลหนุนสูง ลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ และปัจจัยสำคัญคือ ปริมาณน้ำจืดไม่เพียงพอในการผลักดันความเค็มที่เกิดจากอิทธิพลน้ำทะเลหนุนสูง ประเทศไทยมี 4 เขื่อนหลักในการบริหารจัดการน้ำ ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ แต่ก็ยังไม่เพียงพอกักเก็บน้ำต้นทุน เพราะความต้องการใช้น้ำมากขึ้นทั้งด้านเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อน

 

“กรมชลประทานจึงมีโครงการผันน้ำจากแม่น้ำยวมมาเติมเขื่อนภูมิพล จะเห็นว่าแม่น้ำยวมปีหนึ่งไหลลงทะเลไม่น้อยกว่า 3,000 ล้าน ลบ.ม. หากโครงการเพิ่มน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพลสำเร็จ สิ้นฤดูฝน เขื่อนภูมิพลจะมีปริมาณน้ำประมาณ 4,000-5,000 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่เขื่อนมีความจุเกือบ 10,000 ล้าน ลบ.ม. ช่องว่างตรงนี้ที่สามารถเอาจากน้ำยวมมาเติมในช่วงหน้าฝน และบริหารจัดการให้ดี ใช้ประมาณ 1,800 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี ที่เหลือสต๊อกเก็บไว้ 4 ปี ก็จะมีน้ำเต็มเขื่อน ในแง่การเกษตรจากเดิมที่เราไม่สนับสนุนน้ำในปีที่น้ำน้อย ก็สามารถใช้น้ำส่วนนี้เหลือเกษตรได้” 

  

 

“แน่นอนว่าปัญหาน้ำแล้ง น้ำต้นทุนไม่พอ มันส่งผลให้ปัญหาน้ำเค็มวิกฤต ยกตัวอย่างปี 2562-2564 ซึ่งเป็นปีแล้ง ปริมาณน้ำต้นทุนน้อย ประกอบกับความต้องการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอในการผลักดันความเค็ม สังเกตว่าปีไหนน้ำมาก หลังจากนั้น 1 ปีความเค็มจะอยู่ไกลจากสถานีสูบน้ำดิบสำแล แต่ปีไหนน้ำน้อย ความเค็มก็ขึ้นสูง ในขณะที่การประปาก็ยังต้องสูบน้ำวันหนึ่ง 5-6 ล้าน ลบ.ม. กรมชลประทานก็ประสานงานกับการประปาในการจะบริหารจัดการ เช่น ดูอิทธิพลน้ำขึ้น น้ำลง ช่วงน้ำขึ้นให้ลดการสูบน้ำ หรือออกมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลักดันความเค็ม และในอนาคตกรมชลประทานมีแผนจัดการแหล่งน้ำเพิ่มเติม เพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าว” อธิบดีประพิศกล่าว

  

โครงการสำคัญตามแผนการเพิ่มพื้นที่ชลประทานเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม ตามแผนนโยบาย ปี 2561-2565 ปัจจุบันผลสัมฤทธิ์การดำเนินงาน ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 1,419.85 ล้าน ลบ.ม. และพื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้น 1.8210 ล้านไร่ เช่น โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำต้นทุนของเขื่อน ตอบสนองความต้องการใช้น้ำด้านการเกษตร อุปโภคบริโภค และภาคอุตสาหกรรม, โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.อุตรดิตถ์ เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภคของราษฎรที่อพยพจากบริเวณพื้นที่ถูกน้ำท่วมเหนือเขื่อนสิริกิติ์, โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อผันน้ำเลี่ยงตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา ช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในเขตพื้นที่ตัวเมือง และอีกหลายโครงการที่กรมชลประทานมั่นใจว่าจะช่วยบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

‘กำหนดพื้นที่ กำหนดคน จัดสรรทรัพยากร’ 3 แนวทางจัดการปัญหาน้ำท่วม

ส่วนประเด็นเรื่องภัยธรรมชาติ น้ำท่วม ฝนไม่ตก ถึงจะรู้ว่าเป็นสิ่งที่ควบคุมยาก แต่ประชาชนก็คาดหวังที่จะได้เห็นการเตรียมรับมือของกรมชลประทานมากไปกว่าการเยียวยาหลังประสบเหตุ 

 

“กรมชลประทานได้นำบทเรียนจากเหตุการณ์ที่ผ่านมาเพื่อปรับปรุงแก้ไขทุกปี นำไปสู่ ‘แผนเผชิญเหตุ’ ที่ใช้การ ‘กำหนดพื้นที่ กำหนดคน จัดสรรทรัพยากร’ เป็นแนวทางปฏิบัติ ตั้งแต่การกำหนดหาพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและน้ำแล้งในเขตชลประทานทุกภาคของประเทศไทยเป็นประจำ เพื่อเตรียมความพร้อม ซึ่งพื้นที่เสี่ยงเราวิเคราะห์จากสถิติที่เกิดขึ้นในอดีต พอรู้พื้นที่เสียงก็กำหนดคน เตรียมคนในทุกพื้นที่ รับผิดชอบเฝ้าจุดเสี่ยง เพื่อประสานงานกับหน่วยงานท้องถิ่น แจ้งให้ประชาชนในพื้นที่เตรียมพร้อมกับสถานการณ์ล่วงหน้าได้ทันท่วงที และจัดสรรทรัพยากร เครื่องมือต่างๆ ไปจนถึงการกำจัดวัชพืชในแม่น้ำลำคลองต่างๆ พร้อมทั้งตรวจสอบความมั่นคงของอาคารชลประทานให้สามารถใช้งานได้ตลอดเวลา” 

 

อธิบดีประพิศยอมรับว่า ช่วงฤดูฝน กรมชลประทานมีภารกิจที่จะลดผลกระทบจากอุทกภัยให้มากที่สุด ด้วยการวางแผนระยะยาว ใช้หลักการ ‘ต้นเก็บ กลางหน่วง ปลายระบาย’ “ต้นเก็บ หมายถึง ข้างบนต้องมีอ่างเก็บน้ำ เช่น แม่น้ำ ปิง วัง น่าน แม่น้ำปิงมีเขื่อนภูมิพล แม่น้ำวังมีเขื่อนกิ่วลม และแม่น้ำน่านมีเขื่อนสิริกิต์ ยกเว้นแม่น้ำยมที่ยังไม่มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ แล้วมาอาศัยตรงกลางน้ำว่าจะหน่วงอย่างไร โดยใช้ฝาย ประตูน้ำ และแก้มลิงที่เรามีอยู่ จากวันนี้ไปอีก 5 ปี กรมชลประทานกำลังพัฒนาอ่างเก็บน้ำอีกหลายแห่ง เพื่อกักยอดน้ำให้ได้อีกกว่า 500 ล้าน ลบ.ม. ส่วนกลางน้ำ วันนี้เรามีการเพิ่มสันฝายให้หน่วงน้ำได้ 3 ล้าน ลบ.ม.”

  

 

องค์การน้ำแห่งสหประชาชาติ เตือนภายในปี 2568 โลกอาจเผชิญกับการขาดน้ำอย่างรุนแรง

อธิบดีประพิศกล่าวว่า ประเด็นนี้สร้างความท้าทายให้กับกรมชลประทานอย่างมาก ในด้านบทบาท ความรับผิดชอบ ศักยภาพในการบริหารจัดการน้ำทั้งในปัจจุบันและอนาคต ที่จะต้องประสบผลสำเร็จภายใต้ยุทธศาสตร์น้ำ 6 ด้าน คือ การจัดการอุปโภคบริโภค การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต การบริหารจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย การจัดการคุณภาพน้ำ การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน และการบริหารจัดการ 

 

“หากดูในวัตถุประสงค์ของทุกโครงการที่กรมชลประทานดำเนินงาน จะพบว่าเราดำเนินการพัฒนาและจัดหาแหล่งน้ำสำรอง เพื่อเพิ่มปริมาณต้นทุนให้เพียงพอสำหรับความมั่นคงทุกภาคส่วน ทั้งการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นพื้นที่ชลประทาน บริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนน้ำ และช่วยป้องกันบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำ ล้วนแล้วแต่เป็นการทำงานในหลายมิติ ซึ่งมีความท้าทายอย่างยิ่ง กับคำถามที่ว่าประเทศไทยจะรับมือกับวิกฤตขาดน้ำรุนแรงได้หรือไม่นั้น ต้องดูว่า หากกรมชลประทานสามารถเดินหน้าได้ตามแผน เชื่อว่าประเทศไทยจะยังไม่เข้าสู่วิกฤตขาดแคลนน้ำในระยะเวลาอันใกล้อย่างแน่นอน” 


ความมั่นคงด้านน้ำเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการวางแผนพัฒนาประเทศ

“คงต้องบอกว่า การพัฒนาและเพิ่มจำนวนแหล่งกักเก็บน้ำ คือเครื่องมือที่จะสร้างความมั่นคงด้านน้ำ ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการวางแผนพัฒนาประเทศ” อธิบดีประพิศเน้นย้ำถึงภารกิจหลักของกรมชลประทาน ที่แม้จะต้องดำเนินงานสร้างความมั่นคงควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาด้านน้ำต่างๆ ก็ตาม  

 

ปัจจุบันกรมชลประทานขยายขอบเขตการพัฒนาแหล่งน้ำให้ครอบคลุมภาคอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว โดยเฉพาะในโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ เช่น โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน (SEC) ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NNEC) 

 

โครงการสำคัญที่จะแล้วเสร็จและสามารถช่วยแก้ปัญหาน้ำได้ครอบคลุมทุกภาคส่วน เช่น โครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ (ระยะที่ 2) จ.สงขลา ซึ่งเป็น 1 ในโครงการที่ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำของประเทศได้เร็วที่สุด คลองระบายน้ำความยาว 20.937 กม. สามารถระบายน้ำได้ 1,200 ลบ.ม. ต่อวินาที ป้องกันและลดผลกระทบในพื้นที่ได้กว่า 12,500 ไร่ จะสร้างเสร็จในปี 2565 หรือโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้อ่างเก็บน้ำประแสร์ได้กว่า 140 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี 

 

อธิบดีประพิศชี้แจงว่า “กรมชลประทานมีการพัฒนาพื้นที่ชลประทานและพื้นที่แหล่งน้ำควบคู่กัน ตามแผนยุทธศาสตร์จะเพิ่มพื้นที่ชลประทานภายในปี 2580 ประมาณ 19 ล้านไร่ และจะเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักอีก 13,000 ล้าน ลบ.ม. นอกจากการพัฒนาแหล่งน้ำจากการสร้างใหม่ เราก็นำโครงการที่เรามีอยู่เดิมว่ามีโครงการไหนมีศักยภาพพัฒนาเพิ่ม เช่น การเพิ่มความจุของอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่เดิม ยกตัวอย่าง อ่าง ก. มีปริมาณน้ำไหลผ่านทั้งปี 100 ล้าน ลบ.ม. เก็บ 50 ล้าน ลบ.ม. ศักยภาพที่เหลืออยู่อีก 50 ล้าน ลบ.ม. ลงทะเล เราจะเก็บเพื่มอีก 10 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะส่งไม่ได้กระทบกับประชาชนรอบข้างเพราะกันระดับน้ำสูงสุดไว้แล้ว จึงใช้ช่องว่างตรงนี้ให้เกิดประโยชน์”   

 

 

ปีนี้กรมชลประทานยังสนองนโยบายรัฐบาลด้วยการสนับสนุนการใช้น้ำในพื้นที่ ‘เกษตรแปลงใหญ่’ มุ่งส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเกษตรกรกว่า 400,000 ราย กลุ่มเกษตรแปลงใหญ่กว่า 6,800 กลุ่ม บนพื้นที่ 6,600,000 ไร่

 

“เกษตรแปลงใหญ่คือการรวมแปลงที่ปลูกอะไรเหมือนๆ กัน ทำพร้อมกัน สามารถจัดสรรน้ำได้ตามปริมาณและเวลาที่เกษตรกรต้องการ ทำให้ใช้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน และสร้างอำนาจการต่อรองด้านการผลิตและการจำหน่ายให้กับเกษตรกรได้มากขึ้น สอดคล้องกับโมเดล เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด ภายใต้ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิตของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งจะส่งเสริมให้เกษตรกรจับกลุ่มรวมตัวกันทำเกษตรแปลงใหญ่ พัฒนาไปสู่ GAP ปลูกพืชอินทรีย์ตามที่ตลาดต้องการ นำไปสู่การค้าขายออนไลน์ มีการใช้ระบบ Smart Farm เข้ามาช่วยบริหารจัดการ เช่น ระบบน้ำหยด โซลาร์เซลล์ เซ็นเซอร์ และโดรน

 

“กรมชลประทานเตรียมพัฒนาระบบชลประทานให้มีความพร้อมรองรับการใช้น้ำของเกษตรกร โดยต้องมองโครงสร้างใหม่ การมีน้ำเต็มศักยภาพเพียงอย่างเดียวไม่พอ ต้องวิเคราะห์ตามภูมิสังคมและความต้องการแต่ละพื้นที่ เช่น พื้นที่ภาคใต้ปลูกข้าวเป็นส่วนน้อย เน้นปลูกพืชสวนและผลไม้ เพื่อให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัด เน้นการทำเกษตรวิถีใหม่ด้วยการปลูกพืชใช้น้ำน้อย หรือการเพาะปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง ทั้งนี้ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559-2564 กรมชลประทานสนับสนุนแหล่งน้ำในพื้นที่โครงการแปลงใหญ่ทั้งสิ้น 605 โครงการ สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 143,709 ไร่ ความจุน้ำได้ 19.84 ล้าน ลบ.ม.” อธิบดีประพิศกล่าว 

 

ย้อนถาม…แล้วกรมชลประทานมองว่าอะไรคือปัญหาน้ำที่น่ากังวลใจที่สุด จะใช่ปัญหาเดียวกันหรือไม่

“คงเป็นปัญหาเรื่องคุณภาพน้ำ ทั้งในด้านความเค็ม ซึ่งเราก็เร่งแก้ไขสถานการณ์อย่างเต็มที่อย่างที่กล่าวไป และอีกประเด็นทีน่ากังวลคือ น้ำเสียไหลลงสู่ลำน้ำ ยิ่งมีน้ำต้นทุน ปริมาณน้ำจืดที่ใช้ในการผลักดันความเค็มและเจือจางน้ำเสียก็เพิ่มขึ้นได้ แต่ปัญหาน้ำเสียในระยะยาวจำเป็นต้องขอความร่วมมือจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชน ทั้งภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และประชาชนทั่วไป ให้ตระหนักถึงปัญหาและช่วยกันรักษาแหล่งน้ำไม่ให้เกิดดปัญหาเสื่อมโทรมของแหล่งน้ำ ผมเชื่อว่าทุกคนเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้ปลายทางของปัญหาเบาบางลงได้

 

“ส่วนภารกิจสร้างความมั่นคงทางด้านน้ำให้กับประเทศนั้น กรมชลประทานจะมุ่งมั่นเดินหน้าปฏิบัติภารกิจอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน” อธิบดีประพิศกล่าวทิ้งท้าย  

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising