×

นี่คือ ‘การแก้แค้น’ รู้จัก ‘การอดหลับอดนอนเพื่อชดเชยความรู้สึกผิดที่เวลาว่างไม่พอ’ นิสัยที่กำลังทำร้ายสุขภาพ

14.09.2022
  • LOADING...
Revenge Bedtime Procrastination

เคยไหมที่รู้สึกอยากมีเวลา 48 ชั่วโมงต่อวัน?

 

เคยไหมที่รู้สึกตารางแน่นจนไม่มีเวลาสันทนาการหรือทำในสิ่งที่อยากทำ?

 

เคยไหมที่รู้สึกว่ารถติดเหลือเกิน และการเดินทางไป-กลับที่ทำงานกินเวลาชีวิตจนไม่มีเวลาทำอะไร?

 

เคยไหมที่รู้สึกเฟลกับการจัดการตารางไม่ได้ นอกเรื่อง นอกแผน หรือผลัดการทำงานกับสิ่งที่ต้องทำไปเรื่อยๆ?

 

เคยไหมที่ทำงานเลยหรือล่วงเวลาจนรู้ตัวอีกทีจากเช้าก็กลายเป็นค่ำ และวนกลับมาที่การนอนแล้ว?

 

และเคยไหมที่หาทางออกให้กับทุกสิ่งทุกอย่างที่กล่าวไปด้วยการ ‘อดนอนตอนกลางคืน’?


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


นอนน้อยลงเพื่อเวลาชีวิตที่มีมากขึ้น ไลฟ์สไตล์ที่เริ่มเป็นที่นิยมของคนยุคปัจจุบัน Revenge Bedtime Procrastination หรือการอดนอนเพื่อล้างแค้น คือการที่คนคนหนึ่งเลือกจะผลัดเวลานอนและทำในสิ่งที่อยากทำ โดยการยอมสละเวลาที่ร่างกายควรได้รับการพักผ่อนและฟื้นฟู เนื่องมาจากความรู้สึกโทษตัวเองที่ไม่สามารถหาเวลาว่างคลายความเครียดที่ได้รับและสะสมมาในแต่ละวันได้ การนอนดึกหรือนอนน้อยจึงเป็นการใช้สูตรแฮ็กเพื่อโกงเวลา

 

คำว่า ‘ล้างแค้น’ ถูกนำมาใช้กับการนอนโดยมีที่มาจากผู้คนในประเทศจีน ที่รู้สึกอยากแก้แค้นที่ตัวเองไม่มีเวลาว่างสักที เครียดก็เครียด เหนื่อยก็เหนื่อย จะเอาเวลาที่ไหนไปพัก การอดนอนเพื่อล้างแค้นจึงเกิดขึ้น และคำนิยามพฤติกรรมนี้ก็ได้แพร่หลายและถูกนำไปใช้ทั่วโลกกับพฤติกรรมที่เราๆ ทำกันอยู่แล้วแต่ไม่เคยตั้งชื่อให้กับมัน

 

การล้างแค้นด้วยการนอนดึกมีความสวยหรูและน่าเย้ายวนตรงที่มักเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ไม่มีใครมาห้ามปรามเรา พระอาทิตย์ตกหรือเป็นช่วงเวลาที่พ้นจากการถูกตีกรอบโดยตารางใดๆ แล้ว

 

จิตใต้สำนึกจึงสั่งเราอย่างไม่รู้ตัวว่าจากนี้ไปจะมีเวลาอีกยาวไกลจนถึงเช้า ทำให้ไร้กังวลและทำสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ไม่ว่าจะเป็นเล่นเกม ดูหนัง ดูซีรีส์ ไถหน้าฟีดเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ไอจี ดูยูทูบ คุยโทรศัพท์ ซื้อของออนไลน์ พบปะประชาชนได้อย่างเอ็นจอยราวกับไม่มีสิ่งที่เรียกว่านาฬิกาอยู่ จากนั้นผลักภาระหน้าที่แห่งความเหนื่อยล้าและง่วงเหงาหาวนอนให้กับตัวเองในอนาคตแทน

 

สาเหตุและรูปแบบพฤติกรรมที่บ่งบอกว่าคุณกำลังล้างแค้นด้วยการอดนอน

  • การอดนอนที่นำไปสู่เวลานอนรวมต่ำ
  • การหาเหตุผลให้ตัวเองนอนดึก ตั้งแต่เหตุผลเบาไปจนถึงเหตุผลหนักแน่น
  • รู้ว่ามีผลเสีย รู้ว่าไม่ดี รู้ว่าจะเหนื่อยล้า แต่ก็เต็มใจ

 

หลักๆ แล้วการล้างแค้นด้วยการอดนอนมักมีผลมาจากการไม่สามารถจัดการเวลาในช่วงกลางวันได้ ไม่ว่าจะเป็นการที่ต้องทำงานอย่างต่อเนื่องและว่างแค่ช่วงพักกินข้าว (หรือแย่กว่าคือไม่มีแม้แต่เวลานั่งกินข้าวและให้เวลากับเรื่องนี้อย่างเหมาะสม) การเกิดอาการขี้เกียจเพราะคิดว่ากลางคืนยังมีเวลาทำ หรือจะเป็นการผลัดหน้าที่ในการจัดการกับข้าวของและที่อยู่อาศัย เช่น การกวาดถูบ้าน ซักผ้า จนล่วงเลยมาถึงเวลานอนและวันต่อๆ ไป

 

ทั้งหมดเกี่ยวข้องกับการควบคุมตัวเอง (Self-Control) และระเบียบวินัยต่อตนเอง (Self-Regulation) แต่ถึงอย่างนั้นก็มีข้อโต้แย้งว่าไม่เสมอไป มีหลายคนที่สามารถควบคุมตัวเองได้ และมีวินัยทั้งในการทำงานกับการจัดการกับตารางงาน แต่ก็ยังเกิดความรู้สึกว่ามีเวลาเท่าไรก็ไม่พออยู่ดี จึงทำให้การนอนเป็นสิ่งที่สามารถผลัดได้ แต่สิ่งที่อยากทำต้องมาก่อน หรือกล่าวได้ว่า ‘เลือกจะไม่นอน’ นั่นเอง

 

Sleep Foundation ได้ทำการแบ่งประเภท Revenge Bedtime Procrastination ว่าสามารถเกิดได้สองรูปแบบหลักๆ คือแบบแรก ผลัดเวลาก่อนที่ตัวเองจะอาบน้ำหรือเดินทางไปถึงเตียง ที่เรียกว่า ‘Bedtime Procrastination’ และแบบที่สอง คือการผลัดเวลาเมื่อตัวเองถึงเตียงแล้ว แต่ยังมีอะไรที่อยากทำอยู่ งั้นเดี๋ยวค่อยนอนก็ได้นะ ที่เรียกว่า ‘While-in-Bed Procrastination’

 

แต่ไม่ว่าจะอย่างแรกหรืออย่างหลัง ทั้งสองรูปแบบเสียสุขภาพทั้งคู่ ถึงแม้ว่าการถึงเตียงแล้วดูเข้าใกล้การนอนหลับมากกว่าก็ตาม

 

อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้คนยุคปัจจุบันมีแนวโน้มจะแก้แค้นด้วยการอดนอนมากขึ้น สืบเนื่องมาจากช่วงเวลาในการเกิดโรคระบาดเชื้อโควิดที่ผู้คนต่างก็ทำงานแบบ Work from Home การทำงานที่ไหนก็ได้ทำให้เวลางานอาจเพิ่มมากขึ้นจากการประชุมระยะไกลที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ หรือขั้นตอนและปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นจากการไม่ได้เดินทางเข้าออฟฟิศ กับเวลาเข้างาน-เลิกงานที่มีเส้นที่พร่ามัวกว่าในสภาวะปกติ และการทำงานที่อาจใช้เวลามากกว่าเนื่องจากสิ่งแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย ขาดแรงกระตุ้น และถูก Distract หรือเกิดอาการอู้ได้ง่าย

 

ส่งผลให้สุดท้ายการแก้แค้นก็ยังเกิดขึ้นอยู่ดี และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากกว่าในสภาวะปกติอีกด้วย จนส่งผลให้จากสถิติแล้วเกือบ 40% ของผู้คนทั่วโลกมีปัญหาการนอนรวนตั้งแต่เกิดเหตุระบาดของโควิด

 

ผลกระทบของการล้างแค้นด้วยการอดนอน

การนอนดึกเพื่อล้างแค้นนี้ส่งผลเสียให้เกิด Sleep Deprivation หรือภาวะนอนหลับไม่เต็มอิ่ม อันมีผลมาจากการนอนไม่เพียงพอ ที่มีตั้งแต่ระดับชั่วคราวจนถึงระดับเรื้อรัง ตั้งแต่ระดับร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ เช่น ทำให้เกิดอาการเหนื่อยล้าระหว่างวัน (Fatigue), ง่วงซึม เชื่องช้า ราวกับมาแค่ร่างเปล่า (Daytime Sleepiness), ซุ่มซ่าม สติสัมปชัญญะไม่ครบถ้วน (Clumsiness)

 

รวมไปถึงส่งผลต่อระบบการคิดอ่าน เรียนรู้ และจดจำ หงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย ระบบการตัดสินใจด้วยเหตุผลมีประสิทธิภาพต่ำกว่าที่เคย น้ำหนักลดและเพิ่มจากระบบเผาผลาญร่างกายที่เกิดอาการรวน กับที่มีแววจะเลวร้ายคือร่างกายเริ่มต่อต้านการนอนจากเหตุนอนไม่เป็นเวลา และกลายเป็นโรคนอนไม่หลับ (Insomnia) อย่างไม่รู้ตัว จนเมื่อรู้ตัวอีกที แม้จะไม่เป็นคนเจ้าคิดเจ้าแค้นแล้วก็อาจสายไปเสียแล้ว

 

นอกจากนี้การนอนดึกเพราะต้องการใช้เวลาสันทนาการ (อันเนื่องมาจากความเครียดสะสมในช่วงกลางวันของวันนั้นๆ) ยังส่งผลให้ระดับฮอร์โมนและสารเคมีในสมองไม่คงที่ ซึ่งส่งผลให้เกิดความเครียด หดหู่ง่าย และความวิตกกังวลในวันถัดไปที่อาจมีมากกว่าเดิม จนมีความต้องการล้างแค้นเช่นนี้เรื่อยๆ วนลูปเป็นวงจรไม่สิ้นสุด และยังอันตรายอย่างยิ่งกับผู้ที่ขับขี่พาหนะไปทำงาน รวมไปถึงส่งผลให้วัคซีนป้องกันเชื้อโควิดทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพเช่นกัน

 

วิธีการป้องกันไม่ให้มีพฤติกรรมชอบแก้แค้น

นิสัยไม่ดีแก้ได้ด้วยนิสัยที่ดี ในเมื่อการล้างแค้นส่งผลเสีย การไม่คิดแค้นและให้อภัยตัวเองบ้างจึงเป็นวิธีการแก้ในขั้วตรงข้ามอย่างได้ผล ซึ่งมีหลากหลายวิธีที่นอกจากจะช่วยจัดการกับพฤติกรรมชอบแก้แค้นได้แล้ว ยังเพิ่มประสิทธิภาพที่ได้จากการนอนหลับอีกด้วย

 

  • เริ่มจากสร้างวงจรนอนหลับให้เพียงพอในวันแรก ตั้งเป้าในรายวัน และทำมันต่อไปในอีกวันโดยคิดแบบเดิม
  • จัดเตียงและสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการนอน 
  • สร้างความทรงจำให้ที่นอนเป็นที่นอน ส่วนที่นั่งเล่นเป็นที่อื่น เพื่อให้ร่างกายเข้าสู่การนอนได้ง่ายขึ้น 
  • มีกิจวัตรหรือกระบวนการในการเข้าสู่การนอนหลับที่ชัดเจน
  • ตื่นและนอนเป็นเวลา แม้กระทั่งในวันหยุด
  • หลีกเลี่ยงการดื่มคาเฟอีนและแอลกอฮอล์
  • หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จำพวกอุปกรณ์มือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก ครึ่งชั่วโมงหรือมากกว่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้แสงจากอุปกรณ์เหล่านี้กระตุ้นให้สมองตื่นตัวจนเกิดอาการนอนไม่หลับ
  • ทำกิจกรรมเบาๆ ผ่อนคลาย เช่น อ่านหนังสือ นั่งสมาธิ เหยียดร่างกาย
  • หลับในห้องที่ปิดไฟและมืดสนิท
  • ที่สำคัญที่สุด ผ่อนปรนกับตัวเองและไม่กดดันตัวเองในเรื่องมีเวลาไม่พอ เพราะการนอนสำคัญกับร่างกายกว่าในระยะยาว เปลี่ยนแรงกดดันและความเครียดเป็นการลองจัดสรรเวลาที่ดี (แม้ว่านั่นอาจหมายถึงการเปลี่ยนหรือปรับลดปริมาณงานก็ตาม) และการเข้าใจตัวเองว่าไม่สามารถแบกรับทุกอย่างที่มากเกินไปในเวลาที่จำกัดได้

 

แม้จะมีคำกล่าวว่า ‘ถ้าให้อภัยเมื่อไรจะได้แก้แค้น’ แต่การล้างแค้นนี้ไม่ได้เหมือนในโฆษณาเซียงเพียวอิ๊วที่เรามีเว่ยเส้าเทียนให้ชี้ดาบใส่หน้าแล้วพูดว่า ‘วันนี้คือวันตายของเจ้า’ จากนั้นฟันดาบโช้งเช้งด้วย หากแต่คนที่เราล้างแค้นไม่ใช่ใครอื่นนอกจากตัวเราเอง

 

อ้างอิง: 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising