×

ร้านอาหารชั้นนำทั่วซิดนีย์ทยอยปิดกิจการ พิษเศรษฐกิจซบเซา ทำผู้บริโภคประหยัดค่าใช้จ่าย

09.06.2024
  • LOADING...

สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า ร้านอาหารชั้นนำหลายแห่งในนครซิดนีย์ของออสเตรเลีย ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่รวมสุดยอดร้านอาหารชั้นนำทั่วโลกไว้ กำลังเผชิญกับวิกฤต เนื่องจากร้านอาหารที่มีชื่อเสียงที่สุดบางแห่งประกาศปิดตัวลง ขณะที่อีกหลายแห่งตกเป็นเหยื่อของวิกฤตค่าครองชีพที่กำลังดำเนินอยู่ และผลกระทบที่ยืดเยื้อจากการระบาดครั้งใหญ่ของโควิด 

 

รายงานระบุว่า หนึ่งในร้านอาหารที่ปิดตัวไปก็มีร้านอาหารจีนอย่าง Redbird และร้านในเครืออย่าง Tequila Daisy ขณะที่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาก็มีร้าน Lucky Kwong ของเชฟชื่อดัง Kylie Kwong ที่เปิดมา 35 ปี ประกาศเตรียมปิดกิจการในเดือนกรกฎาคม โดยยังมีร้านอาหารชื่อดังในละแวกใกล้เคียงเตรียมปิดกิจการตามไปด้วยเช่นกัน โดยเจ้าของกิจการส่วนใหญ่ยอมรับว่าสู้ไม่ไหว และภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็รุนแรงกว่าวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2008-2009

 

ทั้งนี้ บรรดาเจ้าของร้านอาหารต่างให้เหตุผลของการตัดสินใจอำลาวงการว่า เป็นผลสืบเนื่องจากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ประเดประดังกันเข้ามา ไล่ตั้งแต่อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ค่าจ้างที่สูงขึ้น ไปจนถึงราคาข้าวของวัตถุดิบที่สูงขึ้น รวมถึงบาดแผลที่ยังไม่หายดีจากช่วงวิกฤตโควิดระบาดที่ทำให้ผู้บริโภคเลือกประหยัดการใช้จ่ายด้วยการงดกินอาหารนอกบ้าน โดยยังไม่รวมถึงการปรับกฎระเบียบการทำงานใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือนสิงหาคม โดยมีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับคนงานชั่วคราว รวมถึงค่าจ้าง ก็เป็นสิ่งที่บรรดาเจ้าของร้านอาหารในซิดนีย์พากันโอดครวญว่าเป็นการซ้ำเติมปัญหาให้เพิ่มมากขึ้น 

 

ทั้งนี้ CreditorWatch Pty Ltd. ผู้ให้บริการข้อมูลทางการเงิน ระบุว่า อัตราการล้มละลายของธุรกิจการบริการในออสเตรเลีย ซึ่งขณะนี้แตะระดับสูงสุดในรอบ 5 ปีแล้ว กำลังยกระดับความรวดเร็วมากขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยเป็นสาเหตุสำคัญ

 

Suresh Manickam ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของกลุ่มอุตสาหกรรม Restaurant and Catering ในออสเตรเลีย ชี้ให้เห็นถึงต้นทุนรายวันที่เพิ่มขึ้นในการบริหารร้านอาหาร ซึ่งรวมถึงต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับพลังงานและอัตราดอกเบี้ยด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ผู้บริโภคยังระมัดระวังการใช้จ่ายเงินมากขึ้นอีกด้วย ทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารเผชิญกับความท้าทายหลายประการ และปัจจัยเกือบทั้งหมดในการดำเนินธุรกิจที่เพิ่มขึ้น

 

ข้อมูลของรัฐบาลระบุว่า ภาคที่พักและบริการด้านอาหารถือเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากการก่อสร้างในออสเตรเลีย โดยมีการล้มละลาย 1,751 ครั้งในช่วง 11 เดือน (ข้อมูลถึงเดือนพฤษภาคม) เทียบกับ 1,127 รายการในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และ 713 รายการในช่วงก่อนหน้า โดยกิจการส่วนใหญ่คือผู้ประกอบการขนาดย่อยถึงขนาดกลางที่มีเงินสดสำรองต่ำ 

 

กระนั้นก็มีร้านอาหารบางแห่งในซิดนีย์พยายามปรับตัวให้รอดด้วยการขยายเวลาให้บริการยาวนานขึ้น และปรับต้นทุนเพื่อลดราคาขาย หวังดึงดูดผู้บริโภคให้เข้ามาใช้บริการ ซึ่งวิธีการดังกล่าว เจ้าของร้านส่วนหนึ่งระบุว่า สามารถยื้อเวลาไปได้อย่างน้อย 12-15 เดือน และหวังว่าภาครัฐจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้น 

 

ทั้งนี้ ความกดดันในธุรกิจร้านอาหารไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในประเทศออสเตรเลียหรือเฉพาะร้านอาหารระดับไฮเอนด์เท่านั้น โดย Red Lobster เครือร้านอาหารฟาสต์แคชชวลของสหรัฐฯ ได้ยื่นฟ้องล้มละลายตามมาตรา 11 ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เนื่องจากปัญหาข้อตกลงวัตถุดิบกุ้ง พร้อมด้วยแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและค่าแรงที่สูงขึ้น ท่ามกลางเหตุผลต่างๆ ซึ่งตามรายงาน มีร้าน Red Lobster ประมาณ 100 แห่งจากเกือบ 600 แห่งที่มีกำหนดปิด

 

ขณะเดียวกัน ร้านอาหารไฟน์ไดนิ่งชั้นนำก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น โดย noma ในกรุงโคเปนเฮเกน ซึ่งได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางว่าเป็นร้านอาหารชั้นนำของโลก ประกาศว่าจะปิดตัวลงในปี 2025 ขณะที่ร้านเก่าแก่อย่าง Le Gavroche อายุ 57 ปีในกรุงลอนดอน ก็ได้ปิดตัวลงเมื่อต้นปีที่ผ่านมาเช่นกัน 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising