ด้วยตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดที่ไต่เป็นกราฟ ‘ขาขึ้น’ ทำให้รัฐบาลต้องออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 28) ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 โดยมีผลอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคมเป็นต้นไปอีกอย่างน้อย 14 วัน
สิ่งที่มีผลกระทบต่อ ‘ธุรกิจอาหาร’ มากที่สุดคือ จากประกาศในครั้งก่อนๆ ร้านที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ของ 13 จังหวัดที่อยู่ในประกาศ จากที่ห้ามเพียงการนั่งกินในร้านแต่ซื้อกลับบ้านและเดลิเวอรีได้ กลายเป็นต้องปิด 100% แม้แต่ ‘เดลิเวอรี’ ก็ขายไม่ได้ เรียกว่าตัดท่อน้ำเลี้ยงที่เหลืออยู่เพียงท่อเดียวออกไปในทันที
“ครั้งนี้หนักกว่าครั้งก่อนๆ มาก เพราะประกาศที่ออกมาในตอนแรกไม่ชัดเจน กว่าจะตีความกันว่าต้องปิดร้าน 100% ไม่สามารถซื้อกลับบ้านและเดลิเวอรี เรามีเวลาไม่ถึง 36 ชั่วโมงในการเตรียมตัว” ผู้ประกอบการร้านอาหารแบบคีออสรายหนึ่งกล่าวกับ THE STANDARD WEALTH “นี่คือเกมแห่งการ Survivor”
กว่า 95% ของร้านตั้งอยู่ในศูนย์การค้า ทำให้ผู้ประกอบการรายนี้ต้องเร่งปรับตัวยกใหญ่ หนึ่งในนั้นคือการประกาศหาพื้นที่สำหรับตั้งครัวชั่วคราวสำหรับขายผ่านออนไลน์ ซึ่ง “เรายังไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าจะขายได้ไหม แต่ก็ต้องปรับตัวไว้ก่อน อย่างน้อยจะได้มีรายได้เข้ามาหล่อเลี้ยงพอให้ธุรกิจอยู่ได้ มีเงินจ่ายพนักงาน เรายังไม่หวังถึงกำไร”
หลังจากประกาศออกไปก็ได้รับการติดต่อเข้ามาจำนวนมากจากบรรดาผับและบาร์ที่ถูกปิดมาอย่างยาวนาน ซึ่งเบื้องต้นนั้นผู้ประกอบการรายนี้ได้วางแผนที่จะเปิดร้านชั่วคราว 15-20 แห่ง โดยการปรับตัวครั้งนี้มาพร้อมกับต้นทุนที่เพิ่มเข้ามา ตีคร่าวๆ ว่าแต่ละร้านต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มอย่างน้อย 30,000 บาทต่อร้าน มีการเซ็นสัญญาเช่าในเบื้องต้น 14 วัน
“เรามีการปรับตัวมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยสะสมเงินทุนเพื่อร้องรับกับวิฤกต ซึ่งครั้งนี้ก็ได้นำมาใช้จริงๆ แต่สิ่งที่น่าห่วงมากกว่าเราคือ ร้านเล็กๆ ที่เปิดในห้างและมีสายป่านที่ไม่ยาวพอ การปิดครั้งนี้อาจะเป็นการตอกตะปูปิดฝาโลง หลายร้านคงจะไม่ได้กลับมาเปิดอีกแล้ว”
สำหรับมาตารการเยียวยาที่เพิ่งได้รับการเห็นชอบนั้น “ไม่มีความใกล้เคียงกับคำว่าเพียงพอเลย นี่เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดวิกฤตมา 1 ปีกว่าๆ ที่เราเพิ่งจะได้รับการเยียวยา
“วันนี้เราไม่ต้องการคำว่าเยียวยาแล้ว ขอแค่แก้วิกฤตที่เกิดขึ้นให้เร็วที่สุด อีกอย่างคือเราอยากรู้ว่า ทำไมรอบนี้ถึงได้สั่งปิด 100% เรื่องอื่นๆ เรายังพอเข้าใจได้ แต่เรื่องนี้เราไม่เข้าใจจริงๆ อย่างได้คำอธิบายที่ชัดเจนจากรัฐบาล” ผู้ประกอบการร้านอาหารกล่าว พร้อมกับทิ้งท้ายว่า “เราอยากเห็นคำขอโทษอย่างจริงใจจากรัฐบาลสักครั้ง”
ขณะที่ผู้ประกอบร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบ (Full Service) อีกรายกล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ในทิศทางเดียวกันว่า “เราเข้าใจว่ากินในร้านไม่ได้ แต่ช่องทางเดลิเวอรีก็ขายไม่ได้อันนี้เราไม่เข้าใจ และนี่กลายเป็นภาระที่เพิ่มเข้ามาเพราะต้องไปหาครัวข้างนอก แทนที่จะสามารถใช้ครัวที่เรามีอยู่”
ผู้ประกอบการรายนี้ระบุว่า แม้แต่ตัวเองที่เป็นร้านใหญ่แต่โดนปิดมาหลายครั้ง สายป่านแทบไม่เหลือแล้ว ปกติยอดขายจากการกินในร้านคิดเป็นสัดส่วนกว่า 80-90% ที่เหลืออีก 10-20% มาจากเดลิเวอรี แต่รอบนี้โดนปิดหมด ทำให้ช่องทางที่รายได้จะเข้ามาแทบเป็น 0
“ตอนนี้เหมือนเรากำลังถูกอุดจมูก ไม่มีช่องทางให้เราหายใจแล้ว เราจึงอยากให้รัฐทบทวนคำสั่งตรงนี้ อย่างน้อยก็ให้ร้านในห้างเปิดขายแบบเดลิเวอรีบ้าง ให้เราได้หายใจ มีรายได้เข้ามาประครองธุรกิจบ้าง” ผู้ประกอบการอาหารกล่าว
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ออกมาประเมินก่อนหน้านี้ว่า ‘ตลาดร้านอาหาร’ ในปี 2564 จะยังสามารถเติบโต 1.4-2.6% อยู่ที่มูลค่า 4.10-4.15 แสนล้านบาท ซึ่งภาพคนละด้านกับปี 2563 ที่หดตัวลง 6% กระนั้นมูลค่าของธุรกิจร้านอาหารในปี 2564 ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำกว่าปี 2562
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ธุรกิจร้านอาหารยังต้องเผชิญกับปัจจัยลบรอบด้าน รวมถึงการแข่งขันที่เข้มข้น ตลาดจนกำลังซื้อของลูกค้าที่ไม่ได้อู้ฟู่อีกแล้ว อันเป็นผลมาจากวิกฤตโควิด ซึ่งผู้ประกอบการร้านอาหารทั้ง 2 แห่งแสดงความคิดเห็นกับ THE STANDARD WEALTH ว่า กำลังซื้อลดลงจริง ทำให้ต้องอัดโปรโมชันมากขึ้นเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ ซึ่งผลที่ได้ก็มีไม่มากนัก
ขณะเดียวกัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินอีกว่า โดยในปี 2564 นี้ ร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบ (Full Service) เช่น ร้านอาหารไฟน์ไดนิ่ง ร้านอาหารบุฟเฟต์ รวมถึงร้านอาหารที่เจาะกลุ่มลูกค้าเฉพาะ เช่น นักท่องเที่ยวต่างชาติ จะเป็นกลุ่มที่ได้รับแรงกดดันมากกว่ากลุ่มอื่นๆ
ด้านข้อมูลจาก SCBS ที่สอบถามไปยัง บมจ.เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป (ZEN), บมจ.อาฟเตอร์ ยู (AU) และ บมจ.โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา (CENTEL) โดยบริษัทต่างๆ ให้ข้อมูลว่า ห้างสรรพสินค้าในพื้นที่ควบคุมเข้มงวดสูงสุด 13 จังหวัด ได้ส่งจดหมายแจ้งให้ร้านอาหารปิดบริการ ซึ่งรวมถึงปิดการใช้ครัวในการทำเดลิเวอรีและ Take Away ด้วย
มาตรการนี้เข้มข้นกว่ามาตรการตอนเดือนเมษายน 2563 ที่ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้ายังสามารถตั้งบูธในบริเวณชั้นล่างของห้างและใช้ครัวของร้านในการให้บริการ เดลิเวอรีและ Take Away ได้ ในขณะที่คอมมูนิตี้มอลล์ยังไม่ได้มีประกาศทางการออกมาให้กับผู้ประกอบการร้านอาหาร
จากการประเมินเบื้องต้น สาขาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล (ส่วนใหญ่จะอยู่ในห้างสรรพสินค้า) คิดเป็นประมาณ 80-90% ของรายได้ของ ZEN และ AU และประมาณ 40% ของรายได้จากธุรกิจอาหารของ CENTEL
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการอยู่ในระหว่างการหาพื้นที่ทำครัวกลาง (Cloud Kitchen) เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางในการเดลิเวอรีแทน แต่ก็น่าจะมีผลกระทบเชิงลบในช่วงแรกจากจำนวนสาขาที่ต้องปิดลง และครัวกลางอาจจะยังไม่สามารถให้บริการได้เต็มที่
ภาพ: Lauren DeCicca/Getty Images
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: