มนุษย์อย่างเราๆ ต่างมีเรื่องที่อยากจะลืมกันทั้งนั้นแหละ อย่างคุณ คุณอาจจะเคยฉี่ราดกางเกงสมัยประถมต่อหน้าคนเป็นสิบ หรือเคยเผลออ้วกและนั่งหลับคาบาร์ แถมเพื่อนสนิทคุณก็ยืนหัวโด่อยู่ตรงนั้น พร้อมถ่ายรูปเก็บไว้เป็นหลักฐาน ถ้านับเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้คุณรู้สึกอายหรือรู้สึกผิด มันอาจทำให้คุณรู้สึกกล้าๆ กลัวๆ ในการใช้ชีวิต อาจรู้สึกประหม่าหรือกังวลเมื่อตัวเองกลับไปตกอยู่ในสถานการณ์เดิมๆ อีก
แต่ถ้าเราพูดถึงไอ้เรื่องที่คุณอยากจะลืมเนี่ย มันคือ ‘ใครสักคนหนึ่ง’ ที่เคยผ่านมาในชีวิต และสร้างความทรงจำร่วมกับคุณไว้มากมายทั้งดีและชั่ว ไม่ได้หมายถึงแค่การลืมเพียงตัวบุคคล แต่ยังรวมไปถึงการลืมทุกสิ่งอย่างที่เขาเคยทำกับคุณมาทั้งหมด ฟังดูเป็นเรื่องยากที่จะต้องรับมือ และคุณก็รู้อยู่แก่ใจว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลยกับการลืมใครได้อย่างรวดเร็วขนาดนั้น บางทีแค่ช่วงเวลาเสี้ยววินาทีขณะกำลังพลิกตัวนอน เสียงของใครสักคนของคุณอาจโผล่แวบเข้ามาในหัว เพียงเพราะเขาเคยบอกเราว่า ‘เธอนอนตะแคงซ้ายสิ จะได้ไม่เป็นกรดไหลย้อน’
เมื่อความรู้สึกดีๆ ยังวนเวียนอยู่ ภาพจำของเขายังชัดเจนเหมือนเดิมทุกอย่าง แล้วเราจะเอาอะไรไปลืมเขาได้?
ในส่วนก้นบึ้งสุดของหัวใจ เรารู้ว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะแข็งแรงมากพอที่จะลืมใครไปได้ง่ายๆ หรอก อย่างน้อยๆ เขาคนนั้นอาจวนเวียนผ่านร่างกายคุณ ผ่านความรู้สึกอยู่เสมอ เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าคุณกำลังรู้สึกสูญเสียความมั่นคงทางจิตใจ เมื่อขาดเขา โดนบอกเลิก หรือแยกจากกันไป หรือคุณอาจเป็นคนที่กลัวการจะอยู่คนเดียว รู้สึกกลัวที่จะถูกละเลย ทอดทิ้ง
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายเหตุผลที่ทำให้คุณลืมใครสักคนไม่ลงจริงๆ อาจเป็นเพราะคุณยังมีไอเดียของ ‘รักโรแมนติก’ อยู่ในหัว คุณอาจเชื่อว่าความรักที่เกิดขึ้นจะต้อง ‘Live Happily Ever After’ อยู่ด้วยกันไปจนชั่วนิรันดร์ประหนึ่งเจ้าหญิงเจ้าชายในโลกดิสนีย์ และเมื่อไม่เป็นดั่งที่คุณคาดหวัง คุณก็ทำใจยอมรับในข้อนั้นไม่ได้ และพยายามที่จะหาเหตุผลร้อยแปดมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า ‘ทำไมถึงเป็นแบบนี้ ทำไมถึงเป็นแบบนั้น’ แล้วอย่างนี้จะลืมลงได้ยังไงล่ะ?
โจเอลและคลีเมนไทน์ จากภาพยนตร์เรื่อง Eternal Sunshine of the Spotless Mind
ครั้นจะไปลบความทรงจำเกี่ยวกับเขาออกจากสมองง่ายดายเหมือนในภาพยนตร์เรื่อง Eternal Sunshine of the Spotless Mind (2004) ของผู้กำกับ มิเชล กอนดรี (Michel Gondry) ก็ดูเป็นเรื่องเกินตัว เพ้อเจ้อไปหน่อย เพราะการลบความทรงจำในหนังเรื่องนี้ถูกนำเสนอในเชิงวิทยาศาสตร์ ที่เราสามารถลบความทรงจำเกี่ยวกับบุคคลใดบุคคลหนึ่งอย่างง่ายดายเพียงแค่ใส่ที่ครอบหัว แต่สิ่งที่ทำให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนจากหนังเรื่องนี้คือ ตัวละครเอกทั้ง โจเอล (รับบทโดย จิม แคร์รีย์) และ คลีเมนไทน์ (รับบทโดย เคต วินสเลต) พบว่า ระหว่างที่โจเอลกำลังถูกล้างความทรงจำเกี่ยวกับคลีเมนไทน์ เขาเองก็ไม่ได้อยากจะ ‘ลืม’ เธอขนาดนั้น เมื่อมาค้นพบความจริงที่ว่า ความรักและความรู้สึกดีๆ ที่มีระหว่างกันมันฝังอยู่ในความรู้สึกอย่างท่วมท้น ฉะนั้นต่อให้อยากจะลืม แต่ความรู้สึกมันฝังใจ เราก็แทบจะต่อต้านสิ่งนั้นไม่ได้ และบางทีเราอาจจะลืมใครสักคนจริงๆ ไม่ได้เลยด้วยซ้ำ
ภาพยนตร์เรื่อง ความจำสั้น แต่รักฉันยาว
เช่นกันในกรณีของ ‘ฝ้าย’ (รับบทโดย ญารินดา บุนนาค) จากภาพยนตร์เรื่อง ความจำสั้น แต่รักฉันยาว ก็เป็นอีกอาการของคนที่ ‘ลืมไม่เป็น’ ซึ่งหากลองเอาตัวคุณเองไปใส่ในตัวละครนี้ก็คงรู้สึกแย่มากๆ เช่นกัน ด้วยความที่เธอเลิกรากับคนที่มีสถานะเป็น ‘สามี’ แต่ยังต้องพบเจอกันอยู่บ่อยๆ แถมยุคนั้นยังเป็นช่วงเริ่มต้นการมาถึงของโซเชียลมีเดียอย่าง Hi5 หากคุณเคยชมหนังเรื่องนี้ จะพบฉากหนึ่งที่เธอนั่งคร่ำครวญร้องไห้อยู่หน้าคอมพิวเตอร์ พลางเลื่อนดูรูปสามีเก่ากับแฟนใหม่อย่างโศกา นับเป็นภาพจำแรกๆ ของโซเชียลมีเดียที่กลายมาเป็น ‘ผีร้าย’ ตามหลอกหลอน
สิ่งที่คุณไม่ควรทำเลยคือ การติดตามชีวิตของคนรักเก่า หรือคนคนนั้นที่คุณอยากจะลืม โดยเฉพาะในยุคโซเชียลมีเดียเช่นนี้ และการติดตามในทีนี้ไม่ใช่แค่ฟอลโลว์ แต่เราหมายถึง Stalking ขั้นสะกดรอยตามในทุกๆ แพลตฟอร์ม ไม่เอานะ ไม่ควรอย่างยิ่ง เพราะจงจำไว้เสมอว่า ยิ่งเห็นก็ยิ่งรู้สึก ยิ่งเห็นก็ยิ่งเจ็บปวด แต่เราก็เข้าใจได้ว่าสิ่งนี้เป็นพฤติกรรมที่ใครๆ ก็เคยทำ อย่างน้อยๆ ก็คือช่วงหลังจากเลิกรากันไป คุณยังอยากเข้าไปเห็นว่าเขาใช้ชีวิตเป็นอย่างไร เศร้าเหมือนฉันไหมนะ? มีคนใหม่หรือยัง และคนใหม่ของเขาเป็นใคร? ซึ่งไม่ช่วยอะไรให้ดีขึ้นเลย และถ้าคุณใจแข็งมากพอ เราแนะนำให้คุณบล็อกเขาไปเสีย ไม่ต้องคอยนั่งคีปลุคว่าการกระทำดังกล่าวจะดูไม่คูล เหมือนเด็กๆ มัธยมที่เลิกกันก็ต้องบล็อกกัน คืนของให้กัน เพราะเราเชื่อว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้มแข็งขนาดยังสามารถเห็นหน้าหรือใช้ชีวิตโดยมี ‘เขา’ ผ่านหูผ่านตาอยู่ตลอดเวลา
หลังจากนั้นถ้าคุณอยากจะลืมเขาอย่างจริงจัง คุณต้องเริ่มต้นทำความเข้าใจกับตัวเองว่า สิ่งที่ทำให้คุณกับเขาเลิกรากันคืออะไร? จดเหตุผลเหล่านั้นไว้ในใจ หรือถ้ากลัวไม่เข้มข้นพอ คุณควรจดไว้ในสมุดบันทึกของคุณก็ได้กันลืม เมื่อเข้าใจเหตุผลตรงนั้นได้เร็วขึ้น คุณก็จะก้าวผ่านมันไปได้อย่างรวดเร็ว และเมื่อรู้สึกพร้อมมากพอจะเริ่มต้นลืมเขาจริงๆ คุณต้องหากิจกรรมอื่นๆ ทำเพื่อลดความฟุ้งซ่าน ออกไปเจอเพื่อน หรือหากิจกรรมที่คุณ ‘ไม่เคยทำ’ มาพิสูจน์หรือท้าทายตัวเอง ทั้งการลองสมัครยิม หาหนังสือมาอ่าน ไปเที่ยวบาร์หาเครื่องดื่มอร่อยๆ กิน ที่สำคัญต้องลองเปิดโอกาสให้ตัวเองได้พบเจอคนใหม่ๆ ในทีนี้ไม่ใช่หาคนรักใหม่หรอกนะ แต่เราหมายถึงการได้ลองพบปะพูดคุย หรือสร้างโอกาสที่จะเกิดความสัมพันธ์ใหม่ๆ ในชีวิตมากกว่า
“แต่ฉันก็ไม่ได้อยากลืมเขาไปเสียหมด อย่างน้อยเราก็มีเรื่องราวดีๆ ร่วมกันมา” เสียงอันอ่อนแอของตัวเองดังขึ้นมาในใจ แต่คุณต้องเข้าใจตรงนี้นะว่า ไม่ใช่เรื่องผิดถ้าคุณจะยังรักในอดีต และยังรักเขาอยู่ เราไม่รู้หรอกว่าวันเวลาที่คุณมีกับเขาคนนั้นของคุณมันหอมหวานแค่ไหน เพราะในฐานะเพื่อนที่คอยฟังและให้คำปรึกษากับคนอื่นๆ และในฐานะผู้เล่าเรื่องความรักของตัวเองให้คนอื่นฟัง เรามักจะหยิบยกแต่ปัญหาขึ้นมาพูดคุยกัน เพราะในช่วงเวลาที่ดีแสนดี ก็มีแค่คุณและเขาที่เข้าใจกัน ดังนั้น เราจึงไม่ได้คะยั้นคะยอให้คุณต้องลืม ต้องเลิกคิดถึงเขา แต่เราอยากให้คุณเก็บสิ่งดีๆ เหล่านั้นไว้ และ ‘ก้าวต่อไป’ ซึ่งเราเรียกสิ่งนี้ว่าการให้อภัย ไม่ใช่อภัยเพื่อให้เขารู้สึกดี แต่เป็นการให้อภัยเขาเพื่อปลดปล่อยตัวเองออกจากความรู้สึกนี้ไป และเมื่อไรที่คุณรู้สึกว่าคุณยอมรับมันไม่ได้สักที คุณแค่นึกถึงครั้งที่คุณมีความสุขกับเขา และก็จำไว้เสมอว่า ไม่เคยไม่มีใครทำเรื่องผิดพลาด คุณอาจจะพลาดที่มาเจอเขา หรือเขาอาจจะทำเรื่องผิดพลาดกับคุณ และความทรงจำเหล่านั้นล้วนแต่เป็นประสบการณ์ที่มนุษย์เราต้องพบเจอ
ถึงคุณคนนั้นของคุณ ของเรา หรือของใครก็ตาม คนที่เคยเข้ามาและไม่เคยผ่านออกไปไหนอีกเลย เขายังวนเวียนอยู่ในทุกชั่วโมงยามของการใช้ชีวิต เขาอาจเคยบอกคุณว่าให้นอนตะแคงซ้าย กรดจะได้ไม่ไหลย้อน หรือเคยบอกว่าเขาอยากจะลูบศีรษะเราอย่างแผ่วเบาก่อนนอนทุกคืน
เชื่อไหมว่าคำพูดไม่กี่คำของเขายังฝังจำให้เราคิดถึงเขาอยู่เสมอและยากจะลืมเลือนไป และต่อให้ปฏิเสธตัวเองแค่ไหนว่าไม่รู้สึกอะไรกับเขาอีกแล้วก็ตาม หรืออยากจะลืมเขามากเท่าไร เขาก็ยังปรากฏตัวอยู่ในทุกสถานที่ที่เคยไปด้วยกัน ทั้งยังอาศัยอยู่ในทุกซอกหลืบของความรู้สึกคุณเสมอ
…แต่คุณอย่าลืมว่า คุณเองก็อาจจะเป็นความทรงจำที่เขาอยากลืมเหมือนกันนะ
ลองทำความเข้าใจเรื่องจิตวิทยาหลังการเลิกราได้ในพอดแคสต์ R U OK ตอน ‘5 ขั้นตอนทางจิตวิทยาของการอกหัก และถ้าเศร้าหนักเกินเยียวยาไปหาจิตแพทย์ได้ไหม’
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า