×

5 ขั้นตอนทางจิตวิทยาของการอกหัก และถ้าเศร้าหนักเกินเยียวยาไปหาจิตแพทย์ได้ไหม

05.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time index

02:57 ความรู้สึกที่เราต้องเผชิญเมื่ออกหัก

03:10 ขั้นที่ 1 ปฏิเสธ

07:03 ขั้นที่ 2 โกรธ

09:37 ขั้นที่ 3 ต่อรอง

13:49 ขั้นที่ 4 เศร้าเสียใจ

21:56 ขั้นที่ 5 ยอมรับความจริงได้จริงๆ

24:50 ถ้าเสียใจจนไม่ไหว อยากไปพบจิตแพทย์จะเกินไปหรือเปล่า

27:28 ทำไมความเสียใจถึงอยู่กับเรายาวนาน

สำหรับคนที่อกหักอาจกำลังรู้สึกว่า เวลาของความเจ็บปวดนี้มันช่างผ่านไปอย่างเชื่องช้า และยาวนานเกินกว่าจะรับไหว

 

R U OK เอพิโสดนี้ ปอนด์ ยาคอปเซ่น และ ดุจดาว วัฒนปกรณ์ นักจิตบำบัดด้วยการเคลื่อนไหว เลยชวนกันมาทำความเข้าใจอาการอกหักด้วยมุมมองทางจิตวิทยา ว่ากว่าจะผ่านเศร้าที่ยาวนาน เราจะต้องผ่านขั้นตอนทางความรู้สึกอะไร ทำอย่างไรถึงจะดีขึ้น และถ้ารู้สึกเสียใจเกินกว่าจะรับมือ การเดินเข้าไปหาผู้เชี่ยวชาญก็ไม่ใช่เรื่องที่เกินไป

 


 

5 ขั้นตอนทางจิตวิทยาที่เราต้องเผชิญหน้าเมื่ออกหัก

อกหัก เป็นประสบการณ์ทางความรักที่ใครหลายคนต้องเคยผ่านมาในชีวิต ทั้งเป็นความไม่สมหวังที่เราแอบชอบเขา เพิ่มดีกรีขึ้นมาหน่อยอย่างการรักคนที่ดูเหมือนมีความหวังแต่สุดท้ายเขาไม่ได้รักเราตอบ หรืออย่างการเลิกลากับใครสักคนที่เคยร่วมใช้ชีวิตกันมาด้วยเหตุผลต่างๆ นานาที่จนแล้วจนรอดเราไม่เข้าใจ แต่ทุกครั้งที่ความรักไม่ประสบความสำเร็จ สิ่งที่ตามมาแน่ๆ คือ ความเสียใจ แล้วแต่เบอร์เล็กเบอร์ใหญ่ แล้วแต่ความผูกพัน เหตุผลในการเลิก หรือบางครั้งก็ขึ้นอยู่กับสกิลการรับมือที่เริ่มแก่กล้าขึ้นตามจำนวนความรักที่ผ่านไป

 

แต่ไม่ว่าจะครั้งนี้หรือครั้งไหน เมื่อเราต้องเผชิญหน้ากับความสูญเสีย สำหรับทางจิตวิทยาแล้วมีทฤษฎีหนึ่งที่อธิบายวิธีการรับมือของมนุษย์ด้วย 5 ขั้นตอน ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่ใช่ฮาวทูในการก้าวข้ามความเสียใจหรือวิธีการเลิกรักใครสักคน แต่เราอยากชวนตามความรู้สึกตัวเองให้ทันว่าตอนนี้กำลังดำเนินไปถึงขั้นไหน ควรทำอย่างไรให้ไม่เข้าใกล้ปัจจัยเสี่ยง เมื่อสุดท้ายเราค่อยๆ เห็นตัวเองทีละขั้นอาจมีกำลังใจว่าตอนนี้เราได้เดินทางผ่านมาตั้งไกล และใกล้ความสุขมากขึ้นทุกที ไม่ต้องเชื่อทั้งหมดก็ได้เพราะสุดท้ายอย่างที่เรารู้กันว่าความรักคือสิ่งมหัศจรรย์และละเอียดอ่อนกว่าที่จะมีทฤษฎีอะไรจะอธิบายมันได้

 

1. ปฏิเสธ (Denial)

คือปฏิกิริยาแรกเมื่อต้องรับมือกับความเสียใจ ซึ่งเป็นสัญชาตญาณป้องกันตัวเองของมนุษย์เมื่อเวลาเจออะไรที่ไม่ทันตั้งตัว และรู้สึกว่าตอนนี้ยังรับมือกับมันไม่ไหวเลยเลือกที่จะปฏิเสธมันออกไปก่อน อย่างตอนที่เราโดนบอกเลิกทางโทรศัพท์ ความรู้สึกแรกที่แวบขึ้นมาในใจจะรู้สึกคือ เหวอ ช็อก และไม่เชื่อว่าเป็นความจริง แถมในเวลาที่รวดเร็วมาก เรายังสามารถหาเหตุผลต่างๆ ขึ้นมาสนับสนุนในใจ เขาน่าจะพูดเอาคืนให้เราเจ็บช้ำน้ำใจบ้างล่ะ เขากำลังเครียดเรื่องงานอยู่แล้วไม่รู้จะระบายออกทางไหนบ้างล่ะ ที่เป็นอย่างนี้เพราะตอนนั้นเรากำลังรู้สึกเหมือนถูกความผิดหวังก้อนใหญ่จู่โจมเราอย่างไม่ทันตั้งตัว เราเลยผลักออกและแสดงอาการไม่พร้อมจะดีลอะไรทั้งนั้น

 

หากอยู่ในขั้นตอนนี้คนเป็นเพื่อนสามารถอยู่ข้างๆ ได้โดยที่ไม่ต้องแสดงพยายามโยนความจริงเข้าใส่ อย่างการแคปหน้าจอแฟนของเพื่อนที่คุยกับผู้หญิงคนอื่นมายื่นให้เพื่อนดู อย่าเพิ่ง เพราะตอนนี้เพื่อนเราแสดงออกแล้วว่ายังไม่พร้อมจะรับมือกับความจริง หรือในขณะเดียวกันก็ไม่ต้องช่วยเพื่อนตั้งหน้าตั้งตาปฏิเสธ เพราะยิ่งทำแบบนี้จะทำให้เพื่อนเราก้าวสู่สเตปต่อไปได้ยากขึ้น ท่องไว้ว่าแค่อยู่ข้างๆ เพื่อนเราก็พอ ไม่ต้องแสดงความเห็นอะไรเป็นวิธีที่ดีที่สุดแล้ว

 

2. โกรธ (Anger)

เป็นระยะที่เราเริ่มยอมรับความจริงได้มากขึ้น ตัวตนหรืออัตตาของเราจึงแสดงออกมาด้วยการที่รู้สึกว่าไม่มีใครที่จะมีสิทธิทำแบบนี้กับเรา ภาพที่เห็นชัดที่สุดสำหรับความรู้สึกขั้นตอนนี้คือผู้หญิงคนหนึ่งที่เดือดดาล ด่าอีกฝ่ายเสียๆ หายๆ ทำไมเธอทำอย่างนี้ ทำไมมีสิทธิอะไรถึงมาทำอย่างนี้กับชีวิตของฉัน หรือสำหรับบางคนแล้วเลือกที่จะปล่อยพลังความโกรธนี้ไปที่มือที่สามหรือคนที่ทำให้ความรักครั้งนี้พัง แทนที่จะปล่อยไปที่คนกลางเพราะรู้สึกว่ายังรักอยู่ เราเลยเห็นภาพมือที่สามถูกคอมเมนต์ด่ากลางเฟซบุ๊ก หรือสมัยมัธยมเราก็เคยยกเพื่อนไปรุมมองหน้าหาเรื่องผู้หญิงอีกคนที่แย่งแฟนเราไป หรือสำหรับบางคนแล้วก็เลือกที่จะหาที่รองรับด้วยการโทษฟ้าโทษฝน ทำไมเราถึงซวยอย่างนี้ที่มาเจอผู้ชายคนนี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความรู้สึกตอนนี้เราจะกลายเป็นคนคลั่งเสียศูนย์ประมาณเพลงปาน ธนพร เวอร์ชันดุร้ายอยู่พักหนึ่ง

นี่เป็นธรรมชาติของมนุษย์เมื่อเจออะไรยากเกินกว่าจะรับมือ ก็เลยตั้งคำถามกับมัน ช่วงเวลานี้ในหัวของเราเลยมีแต่คำว่า ทำไม ทำไม และทำไม

3. ต่อรอง (Bargaining)

ความรู้สึกของเราเมื่ออยู่ในสเตปนี้คือจะเริ่มหาทางที่จะไม่สูญเสียคนที่รักไป เลยเริ่มต่อรองด้วยวิธีต่างๆ ด้วยหวังว่าสุดท้ายแล้วจะกลับมาเป็นเหมือนเดิม อย่างต่อรองว่าถ้าเราเคยทำตัวไม่ดีเราก็พร้อมจะเปลี่ยนแปลงตัวเองทุกอย่าง ถ้าเราเคยละเลย ไม่เคยใส่ใจเท่าที่ควรเราก็จะปรับปรุงตัวเสียใหม่ เราจะเลิกนัดคนในทินเดอร์แค่เธออย่าทิ้งฉันไปได้ไหม หรือสำหรับบางคนต่อรองกับคนรักไม่พอ ยังต่อรองกับฟ้าฝนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยการบนบานศาลกล่าวให้เขากลับมาเป็นเหมือนเดิมก็เป็นไปได้ ไม่ต้องมองไปที่ไหนเพื่อนเราหรือตัวเราเองก็เคยทำ

 

หรืออีกพฤติกรรมหนึ่งของคนที่อยู่ในสเตปนี้ จะพยายามง้อแฟนด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งอาจประสบความสำเร็จด้วยการที่อีกฝ่ายยอมคืนดี หรือไม่ประสบผลสำเร็จอะไรก็ได้ การที่เราทำอย่างนี้เหมือนเราเริ่มมีสติและตรรกะมากขึ้นด้วยการวิเคราะห์จุดด้อยของตัวเอง วางแผนพยายามหาทางออก

การพยายามง้อขอคืนดี เป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ที่เมื่อรู้สึกสูญเสีย จะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีอำนาจไปขณะหนึ่ง การทำแบบนี้จึงเป็นวิธีเพื่อดึงอำนาจการควบคุมกลับมาเป็นของเรานั่นเอง

4. เศร้าเสียใจ (Depression)

คนเราเมื่อต่อรองไปพักหนึ่งก็จะเริ่มเหนื่อยและเริ่มค้นพบความจริงว่าสิ่งต่างๆ ที่พยายามเพียรทำมาไม่มีทางได้ผล เราก็กำลังจะก้าวเข้าสู่เฟสของความเศร้าเสียใจ ซึ่งเป็นภาพที่คนเห็นชัดที่สุดเวลาที่มีคนอกหัก ทั้งยืนเปียกใต้ฝักบัว นั่งริมหน้าต่าง ฟูมฟาย ฝนตก กระจกแตก ร้องไห้คร่ำครวญถึงความสัมพันธ์ครั้งที่ผ่านพ้นไป ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในระยะนี้คือ ภาวะเศร้า ซึ่งคือคนละอย่างกับการเป็นโรคซึมเศร้า แต่ก็เป็นไปได้ที่ความเศร้าโศกเสียใจที่มาจากการอกหักนั้นจะนำพาไปสู่โรคซึมเศร้าจริงๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องระวัง โดยเฉพาะเพื่อนหรือคนรอบข้างควรนั่งข้างๆ ให้กำลังใจและคอยสังเกตพฤติกรรมของคนที่อกหักด้วย

 

บทบาทสำคัญที่สุดของเพื่อนในระยะนี้คือการอยู่เป็นเพื่อนโดยไม่ตัดสิน เพียงแต่เมื่อไรที่เห็นเพื่อนเราเริ่มอาการย่ำแย่ เดินไปเจอของขวัญวันเกิดที่แฟนเก่าเคยให้เลยร้องไห้อย่างไม่ลืมหูลืมตา ก็เพียงแค่อนุญาตให้เพื่อนแสดงความเสียใจนั้นออกมาเพราะว่ามันโอเคมากที่จะเสียใจเพราะใครเจออย่างนี้ก็จะเสียใจ ปล่อยให้เพื่อนใช้โควตาการร้องไห้ให้เต็มที่โดยไม่บอกให้เพื่อนหยุดร้อง ตำหนิว่าร้องเป็นเด็กๆ หรือบังคับให้เพื่อนเข้มแข็ง เหล่านี้คือสิ่งไม่ควรทำ ให้เพื่อนเป็นไปตามธรรมชาติโดยเราไม่ต้องแทรกแซงใดๆ เป็นสิ่งที่ดีที่สุด

 

5. ยอมรับความจริงได้จริงๆ (Acceptance)

เป็นช่วงที่เราเริ่มมีสติเห็นความจริงแล้วว่า เราเกิดการสูญเสียขึ้น เขาคนนั้นได้เดินจากเราไปจริงๆ เราเริ่มยอมรับความกลวงโหว่ที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ แม้ว่าจะยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่มีความสุขก็ตาม แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่สงบ เริ่มอยู่กับปัจจุบัน และเริ่มตระหนักว่าเราสามารถอยู่คนเดียวได้ แม้จะอยู่อย่างคนที่เว้าแหว่งก็ตาม ช่วงนี้ทางที่ดีควรหากิจกรรมหรืองานอดิเรกที่ส่งผลดีกับตัวเองทำ จะทำให้เรามุ่งหน้าไปในทางที่เป็นประโยชน์กับตัวเอง

 

อยากหมายเหตุไว้ว่าความรู้สึกที่ต้องผ่านโดยเฉพาะขั้นที่ 1-4 นั้น สามารถกระโดดสลับไปสลับมาได้ตลอดเวลา อย่างถ้าเราอยู่ในช่วงฟูมฟายชุดใหญ่แต่มีโอกาสกลับไปเจอแฟนเก่าแล้วยังเห็นแววตาเขามีความหวัง เราอาจจะอยากกลับไปต่อรอง หรือเสียใจอยู่แต่เพิ่งพบสาเหตุจริงๆ ว่าเขาไม่ได้อยากมีใครแต่เขานอกใจไปหาคนอื่น เราก็อาจจะกลับไปโกรธใหม่ได้ เพราะฉะนั้นให้บอกตัวเองว่ามันเป็นเรื่องธรรมชาติที่เราจะกลับไปกลับมา และมันโอเคที่จะเป็นแบบนั้น เพียงแค่อนุญาตให้ตัวเองรู้สึกไปตามนั้น ไม่ต้องฝืนเข้มแข็งเพียงแต่ต้องรู้เท่าทันจนไม่มีอะไรรุนแรงทั้งกับตัวเองและคนอื่น ปล่อยให้เวลาค่อยๆ พาเราก้าวไปข้างหน้า รู้ตัวอีกทีเราอาจจะถึงสเตปที่ 5 และกำลังจะมีความสุขอยู่ก็ได้

 

ถ้าเสียใจมากอยากเดินเข้าไปหาจิตแพทย์จะเกินไปไหม

หลายคนเมื่ออ่านบทความนี้แล้วอาจรู้สึกว่าตัวเองหมกมุ่นอยู่ในสเตปที่ 4 คือความเศร้าโศกและไม่สามารถหลุดพ้น ทำอะไรก็ไม่ดีขึ้นทั้งออกไปเที่ยวกับเพื่อนเพื่อลืมเรื่องเก่าๆ หรือพยายามเปลี่ยนแปลงชีวิตด้วยการเปลี่ยนกิจวัตรประจำวัน เข้าวัดฟังธรรมแล้วก็ยังไม่เป็นผล การเดินเข้าไปหาจิตแพทย์ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถทำได้ โดยอย่าคิดว่าเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ เพราะในสเตปที่ 4 นี้เป็นช่วงเวลาที่สุ่มเสี่ยงที่จะนำพาไปสู่อาการทางจิตเวชต่างๆ ทั้งโรคซึมเศร้า หรือโรควิตกกังวล ฉะนั้นเมื่อไม่แน่ใจการเดินเข้าไปหาผู้เชี่ยวชาญอาจทำให้เราพบทางเลือกนอกจากความเสียใจที่เราเลือกเป็นอยู่ก็ได้ ไม่ต้องกลัวเพราะไม่มีจิตแพทย์คนไหนจะแซวคนไข้ว่าอกหักถึงกับต้องมาหาหมอ คงไม่มี

 

แต่สำหรับใครที่พึงพอใจที่จะอยู่ในความเสียใจ ปั่นความเศร้าให้ยาวนานต่อไปเรื่อยๆ เพราะรู้สึกว่ายังไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องหลุดพ้น ยังรู้สึกดีที่เพื่อนยังประคบประหงมหรือดูแลมากกว่าตอนที่เราเข้มแข็งก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เราเคารพความชอบของทุกคน แต่อยากให้สำรวจตัวเองสักหน่อยว่าเราใช้เวลาอยู่ตรงนี้ยาวนานเกินไปไหม มันจะนำพาไปสู่พฤติกรรมอื่นๆ ที่ไม่ส่งผลดีกับตัวเรา ไม่อยากออกไปเจอเพื่อน ทำงานก็ไม่ฟังก์ชัน อย่างนี้ก็คงไม่เวิร์ก ลองถามตัวเองง่ายๆ แล้วกันว่าแฟร์ไหมที่จะปล่อยให้ชีวิตเป็นแบบนี้ เพราะนี่คือชีวิตของเราและคือชีวิตเดียวที่เราต้องดูแล

 

แต่ก็มีบางคนที่อกหักแล้วควรต้องไปพบจิตแพทย์โดยด่วน คือคนที่อยู่ในขั้นตอนทางความรู้สึกขั้นตอนแรกๆ แล้วไม่สามารถก้าวผ่านไปได้ อย่างเช่นบางคนเลิกรากับแฟนไปนานแล้ว แต่กลับเข้าใจว่าทุกอย่างยังเหมือนเดิมและบอกทุกคนเพราะเชื่อจริงๆ ว่าวันหนึ่งแฟนจะกลับมา คอยปฏิเสธอยู่เรื่อยไปโดยไม่มองความจริง อาการนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งของโรคบางอย่างที่ควรให้ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์และช่วยเหลือ

 

เรารู้ว่าอาการอกหักไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะไม่ใช่แค่เรื่องความรู้สึก แต่สำหรับบางคนคือการวางแผนชีวิตที่ผิดพลาดและต้องเริ่มใหม่ทั้งหมด ใครที่ผ่านไปแล้ววันหนึ่งอาจจะกลับมาหัวเราะกับความฟูมฟาย เดินกลางฝน โพสต์เฟซบุ๊กประชดประชัน อย่างนั้นเราขอแสดงความยินดีด้วย แต่สำหรับคนที่ยังจมอยู่กับความทุกข์และไม่รู้จะก้าวข้ามอย่างไร ไม่ต้องไปเร่งเวลาให้มันผ่านไป แค่เรายังเจ็บ แสดงว่าเรายังรู้สึกและยังมีชีวิต มีชีวิตที่เหลือให้เราใช้ต่อ ให้เราลืมตาขึ้นมาในวันใหม่ และที่สำคัญให้รู้ไว้ว่าชีวิตนั้นมันเป็นของเรา

 


 

Credits

 

The Hosts ปอนด์ ยาคอปเซ่น, ดุจดาว วัฒนปกรณ์

 

Show Creator อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Episode Producer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์

Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

Music Westonemusic.com

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising