×

‘ผีลิฟต์แดง’ การต่อสู้ทางวัฒนธรรมและการธำรงเรื่องเล่าเหตุการณ์ความรุนแรง 6 ตุลา 2519

06.10.2021
  • LOADING...
ผีลิฟต์แดง

เรื่องเล่าตำนานลิฟต์แดงและเหตุการณ์ 6 ตุลา

 

หากกล่าวถึงตำนานลิฟต์แดงธรรมศาสตร์ หลายต่อหลายคนคงเคยได้ยินได้ฟังเรื่องราวเล่าขานมาบ้างไม่มากก็น้อย

 

แต่สำหรับเด็กจากรั้วแม่โดมหรือเด็กธรรมศาสตร์แล้วนั้น อาจจะกล่าวได้ว่าแทบทุกคนคงไม่มีใครไม่เคยได้ยินเรื่องเล่าเกี่ยวกับตำนานลิฟต์แดงหรือเรื่องผีลิฟต์แดง

 

โดยเฉพาะเด็กคณะศิลปศาสตร์ ศูนย์ท่าพระจันทร์ ซึ่งเป็นคณะที่ตั้งของตัวลิฟต์แดงที่ยังคงใช้กันอยู่จนถึงทุกวันนี้ แม้ตัวลิฟต์จริงๆ จะถูกเปลี่ยนใหม่ แต่รางลิฟต์ยังคงเป็นรางเก่าที่เกิดเหตุการณ์อยู่ ส่วนประตูลิฟต์สีแดงตัวเดิมก็ถูกนำไปตั้งไว้ที่ระเบียงบันไดทางขึ้นตึกระหว่างชั้น 4 ขึ้นชั้น 5 เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงเหตุการณ์ความรุนแรงที่เคยเกิดขึ้น

 

ตำนานลิฟต์แดงถูกเล่าต่อกันจากรุ่นสู่รุ่นว่า ในวันที่ 6 ตุลา 2519 วันที่เกิดเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษา เช้าวันนั้นขณะที่ทหารและตำรวจบุกเข้ามหาวิทยาลัยเพื่อปราบนักศึกษาอย่างรุนแรง นักศึกษาจำนวนมากที่อยู่ในธรรมศาสตร์ก็ต่างพากันหนีตาย หลายคนกระโดดลงจากตึกคณะศิลปศาสตร์สู่แม่น้ำเจ้าพระยา บ้างก็ถูกจับ ถูกทำร้าย ถูกฆ่าเหมือนไม่ใช่คน

 

ขณะที่หนีตายกันนั้น มีนักศึกษากลุ่มหนึ่งลงลิฟต์หนีมาชั้นล่างเพื่อหนีการไล่ล่าของพวกทหาร แต่เมื่อประตูลิฟต์เปิดออกปรากฏว่าเจอทหารถล่มยิงนักศึกษาในลิฟต์จนตายหมด และเลือดของนักศึกษากลุ่มนั้นก็สาดกระเซ็นเต็มลิฟต์ และเล่าต่ออีกว่าภายหลังจากเหตุการณ์คลี่คลายลง ปรากฏว่าเลือดที่ติดอยู่ลิฟต์นั้นไม่สามารถล้างออกได้ ทางมหาวิทยาลัยจึงต้องนำสีแดงมาทาทับเพื่อปกปิดคราบเลือด กลายเป็นตำนานลิฟต์แดงที่เล่าขานกันมา

 

ไม่เพียงแต่เรื่องเล่าเหตุการณ์ความรุนแรงของลิฟต์แดงเท่านั้น แต่ยังปรากฏเรื่องเล่าเกี่ยวกับ ‘ผีลิฟต์แดง’ ด้วย จากที่ผู้เขียนซึ่งเป็นอดีตนักศึกษาคณะศิลปศาสตร์คนหนึ่งที่ใช้ลิฟต์แดงแทบทุกวันสมัยเรียนหนังสือ ก็เคยได้ยินเรื่องเล่ามาจำนวนมากเช่นกัน

 

รุ่นพี่บางคนก็เล่าให้ฟังว่า มีรุ่นพี่บางคนเคยลงลิฟต์คนเดียว แต่ขณะลงลิฟต์นั้นกลับปรากฏเงาคนจำนวนมากในกระจก รุ่นพี่บางคนก็เล่าว่ามี บางคนอยากลองของโดยได้ไปใช้ลิฟต์เองตอนช่วงเย็นๆ แล้วก็มาบอกเพื่อนว่า “ไม่เห็นจะมีใครในกระจกเลยนะ ไม่เจออะไรเลย ปกติทุกอย่าง” แต่เพื่อนกลับบอกว่า “มึงเห็นกระจกได้ยังไง เขาเพิ่งยกกระจกออกไปเมื่อไม่กี่วัน” หรือแม้แต่บางคนเข้าไปใช้ลิฟต์ แต่ลิฟต์กลับเตือนว่า ‘น้ำหนักเกิน’ ทั้งที่อยู่คนเดียวในลิฟต์ เรื่องราวเหล่านี้ถูกเล่าส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นในหมู่นักศึกษาธรรมศาสตร์ ส่วนตัวผู้เขียนเองก็เคยเจอครั้งหนึ่งเหมือนกัน แต่ตอนนั้นอยู่กับเพื่อนอีก 2 คน แล้วอยู่ๆ ลิฟต์ก็เตือน ‘น้ำหนักเกิน’ ตอนนั้นก็รู้สึกกลัว แต่ในใจก็คิดว่า ‘ไม่มีอะไรหรอก ลิฟต์มันคงเก่า’  

 

เรื่องเล่าเหล่านี้ไม่ได้มีเพียงแค่ในรั้วธรรมศาสตร์ แต่ยังถูกนำไปผลิตซ้ำเพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับเรื่องราวสยองขวัญ ทั้งในแง่ของตัวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและเรื่องราวลี้ลับที่เกิดขึ้นในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการนำไปเล่าในรายกายโชว์เรื่องราวอาถรรพ์ ถูกนำไปผลิต หรือเป็นหนึ่งในเรื่องราวภาพยนตร์สยองขวัญ เช่น ภาพยนตร์เรื่อง มหาลัยสยองขวัญ ปี 2552 ภาพยนตร์รวมเรื่องสั้น 4 เรื่องที่เล่าถึงอาถรรพ์เรื่องเล่าผีๆ ใน 4 มหาวิทยาลัยใหญ่ที่ถูกเล่าขานกัน หรือภาพยนตร์เรื่อง โคลิค เด็กเห็นผี ปี 2549 โดยมีเนื้อเรื่องกล่าวถึงเด็กคนหนึ่งที่อดีตชาติเคยเป็นทหารที่ฆ่านักศึกษาในเหตุการณ์ และวิญญาณของเหล่านักศึกษากลับมาทวงความชอบธรรมคืน เป็นต้น

 

ผีลิฟต์แดงคือการต่อสู้ทางวัฒนธรรม

 

ในแง่หนึ่งหลายคนอาจจะมองเรื่องเล่า ‘ตำนานลิฟต์แดง’ กับ ‘ผีลิฟต์แดง’ เป็นเพียงเรื่องเล่าลี้ลับทั่วไปที่เกิดขึ้นในวัฒนธรรมผีๆ แบบไทย แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว ‘ผี’ ในความหมายหนึ่งคือ Soft Power (อำนาจอ่อน) ประเภทหนึ่ง ที่ใช้เพื่อต่อสู้กับอำนาจทางวัฒนธรรมอื่นๆ ในสังคม

 

การศึกษาภาพยนตร์ผีของอาจารย์กำจร หลุยยะพงศ์ ในปี 2552 ได้วิเคราะห์ให้เห็นว่าผีไทยที่ปรากฏในภาพยนตร์ส่วนใหญ่ที่เป็นผีผู้หญิง มักจะตามมาแก้แค้นผู้ชายที่เคยกระทำความรุนแรงต่อเขา ภายใต้วัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ในสังคมไทย โดยการใช้อำนาจของความเป็นผี เช่น ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ, ผีช่องแอร์ ที่ผู้หญิงถูกข่มขืนจนตายแล้วกลับมาแก้แค้นหรือทวงความชอบธรรม ดังนั้น หากจะกล่าวถึงเรื่องเล่าผีลิฟต์แดงก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน แต่เป็นการต่อสู้ทางวัฒนธรรมระหว่างผีประชาชนผู้บริสุทธิ์กับรัฐอำมหิต

 

การธำรงประวัติศาสตร์เรื่องราวความรุนแรงที่รัฐพยายามทำให้ลืม

 

ไม่เพียงเท่านั้น ผู้เขียนยังมองว่าความสำคัญอีกประการหนึ่งของ ‘เรื่องเล่าผีลิฟต์แดง’ คือการธำรงเรื่องราวเหตุการณ์ความรุนแรงที่รัฐกระทำต่อประชาชนอย่างเหี้ยมโหด และเป็นการธำรงเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่พยายามถูกทำให้ลืมโดยรัฐรูปแบบหนึ่ง ดังนั้น การเล่าต่อเรื่องผีลิฟต์แดง หรือการถูกนำไปผลิตซ้ำในรูปแบบต่างๆ ที่ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นข้างต้น คือส่วนหนึ่งของการตอกย้ำให้พวกเรา ‘จำ’ และ ‘ไม่ลืม’ ความโหดร้ายของรัฐต่อประชาชนที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519

 

หากจะใช้แนวคิดทางพุทธศาสนาในการอธิบายการธำรงเรื่องเล่าของ ‘ผีลิฟต์แดง’ ในความหมายทางพุทธศาสนา ‘ผี’ ถูกจัดให้เป็นสิ่งที่เรียกว่า ‘สัญญา’ หรือสัญญาเจตสิก หมายถึง ‘ความจำได้หมายรู้’ เช่น จำสิ่งที่ปรากฏได้ทางตา รับรู้และรู้สึกได้ทางใจ ซึ่งเป็นหนึ่งในขันธ์ 5 (รูป, เวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณ) พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ เราจะรับรู้เรื่องผีหรือกลัวผีได้ เราต้องมี ‘สัญญา’ กับผีก่อน หรือพูดง่ายๆ คือ ต้องมีความทรงจำหรือการรับรู้เรื่องราวนั้นๆ เช่น ถ้าเรารู้ว่าบ้านนั้นมีการฆ่ากันตาย เราก็จะกลัวผี แต่หากเราไม่รู้อะไรเลย เราก็จะไม่กลัวและไม่มีสำนึกว่าบ้านนั้นจะมีผีจนกลัวเราจะรับรู้

 

เช่นเดียวกันเรื่องผีลิฟต์แดงที่ถูกสร้างและผลิตซ้ำอยู่อย่างต่อเนื่อง ก็เกิดขึ้นจากความทรงจำและการรับรู้ถึงเหตุการณ์ความรุนแรงอันโหดเหี้ยมอำมหิต ดังนั้น เรื่องเล่า ความน่ากลัว การหลอกหลอน จึงเกิดขึ้นจาก ‘สัญญา’ ที่เรามีต่อเหตุการณ์ และการผลิตซ้ำเรื่องเล่าก็คือการส่งต่อ ‘สัญญา’ หรือการธำรงเรื่องราวนั้นให้กลายเป็นความทรงจำของคนในสังคมต่อไปเรื่อยๆ

 

ดังนั้น เราจึงอาจจะสรุปได้ว่า ถ้าเรายังมีสัญญากับผีลิฟต์แดง ก็เท่ากับว่าเรื่องราวเหตุการณ์ความรุนแรงนั้น พวกเรายัง ‘จำ’ และ ‘ไม่ลืม’ และยังคงส่งต่อความทรงจำนั้นไปจากรุ่นสู่รุ่น ส่วนในทางกลับกัน หากวันหนึ่งเรื่องราวผีลิฟต์แดงได้เลือนหายไปจากความทรงจำของพวกเรา ก็เท่ากับว่าเหตุการณ์ความรุนแรงนั้นอาจจะถูกทำให้ ‘ไม่จำ’ และ ‘ถูกทำให้ลืม’ ได้แล้วอย่างสมบูรณ์ โดยรัฐหรือใครก็ตามที่พยายามทำอยู่

 

อ้างอิง: 

  • กำจร หลุยยะพงศ์ และ สมสุข หิมวิมาน, หลอน รัก สับสน ในหนังไทย : ภาพยนตร์ไทยในรอบสามทศวรรษ (พ.ศ. 2520-2547), สำนักพิมพ์ศยาม, 2552
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising