×

เปิดสาเหตุค่าไฟเดือนมกราคม-เมษายน 67 มีแนวโน้มปรับขึ้น เหตุจากต้นทุนเชื้อเพลิงสูงขึ้น

โดย THE STANDARD TEAM
20.11.2023
  • LOADING...
ค่าไฟฟ้า

HIGHLIGHTS

  • การคำนวณประมาณค่า Ft ที่เพิ่มขึ้นในงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2567 มีสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้า ราคาก๊าซธรรมชาติที่สูงขึ้นกว่างวดก่อน และอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง 
  • กกพ. ได้มีมติเห็นชอบผลการคำนวณประมาณค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) งวดเดือนมกราคม-เมษายน 2567 เป็น 3 กรณี โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นในกรณีต่างๆ ผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ระหว่างวันที่ 10-24 พฤศจิกายน 2566
  • โดยค่า Ft ในงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2567 สูงขึ้นกว่างวดปัจจุบัน เนื่องจากรัฐบาลตรึงค่าไฟฟ้าไว้ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย หากรัฐบาลต้องการให้ค่าไฟฟ้าไม่สูงขึ้น หรือลดลงมากกว่า 3 กรณีที่ กกพ. ได้คำนวณไว้ ก็จะต้องมีนโยบายว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

คมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 ในการประชุม กกพ. ได้มีมติเห็นชอบผลการคำนวณประมาณค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) งวดเดือนมกราคม-เมษายน 2567 เป็น 3 กรณี ประกอบด้วย

 

กรณีที่ 1 ค่า Ft ประมาณการจำนวน 64.18 สตางค์ต่อหน่วย และเงินที่ต้องชำระคืนต้นทุนคงค้างของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวน 95,777 ล้านบาทในงวดเดียว รวมเท่ากับ 216.42 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เป็น 5.95 บาทต่อหน่วย

 

กรณีที่ 2 ค่า Ft ประมาณการจำนวน 64.18 สตางค์ต่อหน่วย และเงินที่ต้องทยอยชำระคืนต้นทุนคงค้างของ กฟผ. จำนวน 95,777 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 3 งวด งวดละ 31,926 ล้านบาท รวมเท่ากับ 114.93 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐาน ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เป็น 4.93 บาทต่อหน่วย

 

กรณีที่ 3 ค่า Ft ประมาณการจำนวน 64.18 สตางค์ต่อหน่วย และเงินที่ต้องทยอยชำระคืนต้นทุนคงค้างของ กฟผ. จำนวน 95,777 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 6 งวด งวดละ 15,963 ล้านบาท รวมเท่ากับ 89.55 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐาน ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เป็น 4.68 บาทต่อหน่วย

 

คมกฤชกล่าวว่า การคำนวณประมาณการค่า Ft ที่เพิ่มขึ้นในงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2567 สาเหตุหลักมาจากการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าเป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้นถึง 61% จากการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ประกอบกับราคาก๊าซธรรมชาติที่สูงขึ้นกว่างวดก่อน และอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง 

 

นอกจากนี้ ยังต้องมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มาใช้ในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เนื่องจากการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเอราวัณในอ่าวไทยยังอยู่ที่ประมาณ 200-400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และจะเพิ่มปริมาณผลิตเป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในเดือนเมษายน 2567 จึงต้องนำ LNG เข้ามาทดแทน โดยราคา Spot LNG อยู่ที่ 16.91 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู เพิ่มขึ้น 20% จากงวดก่อนหน้า และอัตราแลกเปลี่ยนคาดว่าจะอยู่ที่ 35.83 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 5% จากงวดก่อนหน้า

 

สำหรับราคาเชื้อเพลิงที่นำมาคำนวณค่า Ft ในงวดนี้ ประกอบด้วย ราคา Pool Gas ประมาณการ 387 บาทต่อล้านบีทียู เพิ่มขึ้นจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 18 กันยายน 2566 ที่ให้ใช้ราคา 305 บาทต่อล้านบีทียู หรือเพิ่มขึ้น 27%, ราคาน้ำมันเตา 23.09 บาทต่อลิตร เพิ่มขึ้น 7%, ราคาน้ำมันดีเซล 26.65 บาทต่อลิตร เพิ่มขึ้น 3%, ราคาลิกไนต์ (กฟผ.) 820 บาทต่อตัน เท่ากับงวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566 และราคาถ่านหินนำเข้าเฉลี่ย (IPP) 4,826.56 บาทต่อตัน เพิ่มขึ้น 60% ส่วนสัดส่วนก๊าซธรรมชาติใน Pool Gas รวมทั้งหมด 3,634 พันล้านบีทียูต่อวัน เพิ่มขึ้น 4% แบ่งเป็นอ่าวไทย 1,510 พันล้านบีทียูต่อวัน ลดลง 1%, เมียนมา 511 พันล้านบีทียูต่อวัน ลดลง 6% และ LNG 1,613 พันล้านบีทียูต่อวัน เพิ่มขึ้น 13%

 

ค่าไฟฟ้า

 

ทั้งนี้ ค่า Ft ประมาณการและแนวทางการจ่ายคืนต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. สำนักงาน กกพ. ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นในกรณีต่างๆ ผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ระหว่างวันที่ 10-24 พฤศจิกายน 2566

 

โดยค่า Ft ในงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2567 สูงขึ้นกว่างวดปัจจุบันในเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566 ที่รัฐบาลตรึงค่าไฟฟ้าไว้ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย ซึ่งหากรัฐบาลต้องการให้ค่าไฟฟ้าไม่สูงขึ้น หรือลดลงมากกว่า 3 กรณีที่ กกพ. ได้คำนวณไว้ ก็จะต้องมีนโยบายว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

 

นอกจากนี้ กกพ. ยังมีมติรับทราบภาระต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจริงงวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2566 โดยจากสถานการณ์ราคา LNG ในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงในช่วงกลางปี 2566 ส่งผลให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าจริงที่เกิดขึ้นในรอบ Ft งวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2566 มีค่าต่ำกว่าประมาณการ ประกอบกับมีเงินส่งคืนส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติจากการดำเนินการตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 ที่กำหนดให้ ปตท. ต้องคิดค่าก๊าซธรรมชาติในรอบเดือนมกราคม-เมษายน 2566 ตามราคาประมาณการ 

 

ทำให้มีเงินค่าต้นทุนส่วนเกินก๊าซธรรมชาตินำมาคืนเป็นส่วนลดค่าก๊าซธรรมชาติในรอบเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2566 เพิ่มเติม ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจริงในรอบเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2566 มีค่าต่ำกว่าประมาณการ และทำให้ กฟผ. มีภาระต้นทุนคงค้างลดลงเหลือ 95,777 ล้านบาทในปลายเดือนสิงหาคม 2566

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising