×

ราชภัฏกังวลหนัก หลังจำนวนนักศึกษาลดลง 2 ปีติด

26.12.2018
  • LOADING...

อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเผย กลุ่มราชภัฏกำลังเผชิญกับจุดต่ำสุด หลังจากยอดเด็กตกลงมา 2 ปีแล้ว แม้จำนวนผู้สมัครในสาขาครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์ยังได้รับความนิยมก็ตาม พร้อมปรับหลักสูตรบูรณาการการเรียนเพื่อให้นักศึกษาจบใหม่ทำงานในสถานประกอบการได้ทันที

 

ผศ.ดร.เรืองเดช วงศ์หล้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) เผยถึงสถานการณ์จำนวนนิสิตนักศึกษาที่เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศผ่านระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส ประจำปีการศึกษา 2562

 

รอบที่ 1 รอบแฟ้มสะสมผลงาน พบว่าจำนวนผู้สมัครในสาขาครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์ยังได้รับความนิยม มีผู้สมัครเรียนจำนวนมาก คาดว่าจะสามารถรับนิสิตนักศึกษาครูได้ตามเป้าหมาย ส่วนสาขาวิชาอื่นๆ ก็ยังไม่พบสิ่งผิดปกติ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่เห็นภาพชัดเจนว่าสถานการณ์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศจะมีปัญหาหรือไม่ ซึ่งต้องรอผลการรับสมัครรอบที่ 2 โควตา ที่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม ปี 2562

 

ผศ.ดร.เรืองเดช กล่าวต่อไปว่าเหตุผลที่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) แสดงความกังวลว่าปี 2562 จะเป็นปีเผาจริงของมหาวิทยาลัยไทยและจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษานั้น ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏก็มีการเตรียมการหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการปรับหลักสูตรหรือปิดบางหลักสูตรไปบ้าง แต่เนื่องจากกลุ่มผู้เรียนของมหาวิทยาลัยราชภัฏกับมหาวิทยาลัยเดิมสังกัด ทปอ. เป็นคนละกลุ่มกัน นักศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏอยู่ในชุมชนท้องถิ่นที่ต้องการเรียนในภูมิลำเนาตนเอง ไม่อยากย้ายไปเรียนที่อื่น ก็จะเข้าเรียนกับมหาวิทยาลัยราชภัฏ

 

“มหาวิทยาลัยราชภัฏติดตามสถานการณ์และห่วงใยกรณีเด็กลดและเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยมาตลอด พบปัญหาเด็กลดลงอย่างฮวบฮาบมาตั้งแต่ 2 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏคงมาถึงจุดต่ำสุดแล้ว ส่วนปี 2562 ก็คงไม่ลดลงไปกว่านี้” ผศ.ดร.เรืองเดชกล่าว

 

นอกจากนี้ ผศ.ดร.เรืองเดช ยังเผยต่อว่าตอนนี้มีสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เข้ามาแนะนำให้มหาวิทยาลัยราชภัฏผลิตบัณฑิตตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน โดยร่วมมือกับสถานประกอบการในการผลิตบัณฑิต เรียกว่าหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการการเรียนกับการทำงาน หรือ Work Integrated Learning (WIL) จัดการเรียนการสอนร่วมกับสถานประกอบการ นำนิสิตนักศึกษาเข้าไปเรียนและทำงานในสถานประกอบการเป็นเวลา 2 ปี เมื่อนักศึกษาเรียนจบ สถานประกอบการก็สามารถคัดเลือกคนเข้าทำงานได้ เพราะเห็นแววตั้งแต่เรียน โดยหลักสูตรนี้ส่วนใหญ่จะเป็นสาขาวิชาชีพ เช่น การจัดการอาหาร, การท่องเที่ยว, ไฟฟ้า หรือจัดหลักสูตรร่วมกับบริษัท ซีพี ออลล์ เมื่อจบแล้วก็เข้าทำงานในร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising