×

เพราะไม่อยากจ่ายค่าชดเชย? Quiet Firing การทำให้พนักงานดิ่งจนถึงขีดสุดและยอมลาออกไปเอง

07.09.2022
  • LOADING...

ขณะที่ Quiet Quitting เป็นพฤติกรรมที่พบได้บ่อยขึ้นในหมู่พนักงาน ในทางกลับกัน Quiet Firing ก็เป็นพฤติกรรมของนายจ้างที่กำลังถูกพูดถึงอย่างร้อนแรงในโลกออนไลน์ และหลายคนมีความเห็นว่าเป็นพฤติกรรมที่ควรได้รับการแก้ไขโดยด่วนยิ่งกว่า Quiet Quitting เสียอีก เพราะเป็นพฤติกรรมที่โหดร้ายมาก

 

Quiet Firing คือการที่นายจ้างอยากจะกำจัดพนักงานคนหนึ่งออกไปให้พ้นโดยไม่ต้องทำเรื่องการเลิกจ้างหรือไล่ออก ด้วยการทำให้วันเวลาในการทำงานของพนักงานคนนั้นเลวร้ายที่สุด กดความรู้สึกของพนักงานคนนั้นให้ดิ่งที่สุด จนพนักงานคนนั้นรู้สึกว่าตัวเองไม่มีทางเลือก และยอมลาออกไปด้วยตัวเอง 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

น่าเศร้าที่การสำรวจของ LinkedIn พบว่ามีพนักงานมากกว่า 80% ที่เคยพบเจอกับการ Quiet Firing จากนายจ้าง ไม่ว่าจะพบเจอกับตัวเอง หรือพบเจอพฤติกรรมแบบนี้ในบริษัท

 

และยังมีโพสต์พูดคุยถึงเรื่อง Quiet Firing ใน LinkedIn อีกด้วย ว่าสาเหตุของพฤติกรรมเหล่านี้คือการบริหารจัดการที่ล้มเหลวของพนักงานระดับหัวหน้าที่ไม่สามารถทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีได้ หากพนักงานคนหนึ่งทำงานไม่ได้ตรงตามเป้า แทนที่จะพูดคุย สอนงาน วางแผนปรับปรุงเปลี่ยนแปลง พวกเขากลับเลือกที่จะทำสิ่งที่โหดร้ายอย่างการ Quiet Firing แทน ซึ่งในโพสต์นั้นมีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นนับหลายร้อย

 

เหตุผลเบื้องหลังของ Quiet Firing ก็อาจจะดูมืดมนสักเล็กน้อย แต่นั่นเป็นเพราะนายจ้างไม่อยากจ่ายค่าชดเชยหากต้องไล่พนักงานคนหนึ่งที่ไม่ได้ทำความผิดมหันต์ออกตามระบบ ซึ่งเหตุผลเบื้องหลังนี้ไม่ได้มีใครคิดไปเองแต่อย่างใด เพราะแม้แต่นักกฎหมายแรงงานเองยังมองเห็น Christopher Achkar นักกฎหมายแรงงานคนหนึ่งให้ความเห็นกับเรื่อง Quiet Firing เอาไว้ว่า “บางคนใช้วิธีการ Quiet Firing เพื่อช่วยให้บริษัทไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย”

 

สัญญาณของการ Quiet Firing นั้นมีหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มงานขึ้นอย่างหนักหน่วงจนผิดสังเกต การถูกเมินไม่สนใจจะให้ทำงานอะไรเลย การไม่ให้เข้าร่วมประชุม การถูกฝ่ายบุคคลเรียกพบทั้งที่ไม่ได้ทำความผิดอะไรร้ายแรง การไม่ได้เลื่อนตำแหน่งหรือปรับตำแหน่งลง หรือแม้กระทั่งการไม่ได้รับการปรับเงินเดือนประจำปีในกรณีที่ทำงานที่นี่มาเป็นระยะเวลานานแล้ว

 

เมื่อพนักงานคนหนึ่งถูกด้อยค่าโดยหัวหน้างาน บรรยากาศในการทำงานนั้นไม่ได้ดีเหมือนเดิมอีกต่อไป ประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานก็จะลดลง สุขภาพจิตก็อาจจะพังทลายตามลงไปด้วย นำไปสู่การตัดสินใจลาออก และนั่นจะทำให้นายจ้างไม่ได้รู้สึกผิดกับสิ่งที่ทำลงไป ทั้งที่นายจ้างเองก็รู้อยู่แก่ใจว่ากำลังทำอะไรกับพนักงานคนนี้

 

และถ้าสงสัยว่ากำลังโดน Quiet Firing อยู่หรือเปล่า อแมนดา ฮัดสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรบุคคล ก็ให้คำแนะนำเอาไว้ว่าอย่าเพิ่งด่วนสรุป ให้ลองคุยกับหัวหน้างานดูก่อน ลองถามเขาด้วยคำถามปลายเปิดอย่างการอธิบายว่าช่วงนี้กำลังเจอกับอะไร และมันเป็นความตั้งใจของเขาหรือเปล่า

 

ที่สำคัญที่สุดคือการเก็บบทสนทนาเอาไว้เป็นหลักฐาน ไม่ว่าจะด้วยการอัดเสียง หรือการส่งอีเมลสรุปการสนทนาให้หัวหน้างาน ซึ่งจะทำให้มีหลักฐานเก็บเอาไว้ว่าหัวหน้างานพูดอะไรออกมาบ้าง ถ้าหากว่าในอนาคตมีการดำเนินการตามกฎหมายจะได้มีหลักฐานเป็นชิ้นเป็นอัน เพราะถึงแม้จะเป็นการยินยอมลาออกของพนักงานเอง แต่ถ้ารูปการณ์เป็นการถูกบีบบังคับ ก็สามารถปรึกษาเพื่อดำเนินการตามกฎหมายได้

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising