ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 การ จัดพอร์ต ของนักลงทุนควรจับตา 3 ประเด็นหลักที่ส่งผลต่อการลงทุน ได้แก่
- การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก โดยเฉพาะการเลือกตั้งยุโรปช่วงที่ผ่านมา ซึ่งผลการเลือกตั้งที่ออกมาอาจส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนด้านนโยบายตามมา เช่นเดียวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ที่ถือเป็นความไม่แน่นอนหลักสำหรับเศรษฐกิจโลกในช่วงที่เหลือของปีนี้เช่นกัน
- ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจจีน ที่แม้จะดีขึ้นในระยะสั้น แต่ระยะปานกลางมีแนวโน้มชะลอตัวจากปัญหาเชิงโครงสร้าง
- ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่แม้จะลดลงแต่ยังไม่หมดไป โดยเฉพาะการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้า
หากผู้ลงทุนต้องการให้พอร์ตลงทุนรับมือกับความเสี่ยงจากทั้ง 3 ประเด็นหลักนี้ รวมถึงพร้อมรับสถานการณ์อื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต SCB CIO มองว่า ลำดับแรกเลยคือ ผู้ลงทุนต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนภายใต้ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
ในกรณีที่ผู้ลงทุนรับความเสี่ยงได้ค่อนข้างต่ำ เราแนะนำให้ลงทุนบนพอร์ตลงทุนระยะยาว 1 ปีขึ้นไป (Core Portfolio) เพียงอย่างเดียวและภายใต้พอร์ตลงทุนนี้ เน้นที่การลงทุนเพื่อสร้างกระแสเงินสด ผ่านการลงทุนในตราสารหนี้ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำเป็นหลัก
ส่วนในกรณีที่ผู้ลงทุนรับความเสี่ยงได้ปานกลางถึงสูง ควร จัดพอร์ต ลงทุนด้วยการแบ่งเงินลงทุนออกเป็น 2 ส่วน เงินลงทุนส่วนแรกใช้สำหรับการลงทุนบน Core Portfolio เน้นการลงทุนระยะยาว โดยในพอร์ตลงทุนนี้จะเน้นเรื่องการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย ไม่ต้องปรับพอร์ตลงทุนบ่อยครั้ง เพื่อคาดหวังผล 3 วัตถุประสงค์หลักจากการลงทุน ได้แก่
- สร้างกระแสเงินสดผ่านการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้ภาคเอกชนคุณภาพสูง (Investment Grade) ระยะสั้น โดยเฉพาะในสหรัฐฯ เนื่องจากตลาดตราสารหนี้ยังมีความเสี่ยงจำกัด หลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) ยังมีแนวโน้มปรับตัวลดลงตามการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางต่างๆ ในช่วงครึ่งปีหลัง และผลตอบแทนยังอยู่ในระดับสูงเทียบกับอดีต
- สร้างการเติบโตให้พอร์ตด้วยการลงทุนในหุ้นที่ต้านทานได้ทุกสภาวะ เช่น หุ้นกลุ่ม Quality Growth ที่มีงบการเงินแข็งแกร่ง มีกำไรต่อเนื่อง มีเงินทุนไหลเข้า และราคายังถูก ได้แก่ หุ้นสหรัฐฯ กลุ่มอื่นๆ นอกเหนือจากหุ้นขนาดใหญ่ที่สุด 7 ตัวในตลาด (Magnificent 7) ที่ยังปรับตัวขึ้นตาม Magnificent 7 ไม่ทันในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะหุ้นที่สอดรับกับแนวโน้มการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) รวมถึงหุ้นอินเดีย และหุ้นจีน A-Share
- ป้องกันความเสี่ยงและรักษาสมดุลให้พอร์ตจากเงินเฟ้อ รวมถึงความเสี่ยงประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ ด้วยการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกในกลุ่ม Private Credit และทองคำ
ขณะที่เงินลงทุนส่วนที่ 2 เป็นการลงทุนผ่านพอร์ตระยะสั้น ลงทุนน้อยกว่า 1 ปี (Opportunistic Portfolio) เพื่อเพิ่มโอกาส โดยปัจจุบันเราแนะนำทยอยลงทุนในตลาดหุ้นจีน H-Share ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ตลาดหุ้นเวียดนาม และตลาดหุ้นยุโรปอยู่
สำหรับตัวอย่างกรณีที่ผู้ลงทุนรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้สูง แนะนำให้ลงทุนบน Core Portfolio ไม่น้อยกว่า 80% และลงทุนผ่าน Opportunistic Portfolio ไม่เกิน 20%
โดยภายใต้ Core Portfolio จะมีการจัดสรรสัดส่วนเงินลงทุนในสินทรัพย์ใกล้เคียงเงินสด 5%, ตราสารหนี้ 32%, สินทรัพย์ทางเลือก ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) หรือกองทุนผสม 4%, หุ้นไทย 7%, หุ้นประเทศพัฒนาแล้ว 40%, หุ้นประเทศตลาดเกิดใหม่ 7% และสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ทองคำ 5%
ทั้งนี้ ผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง แต่ไม่เชี่ยวชาญหรือไม่มีเวลาในการจัดสรรสัดส่วนในแต่ละสินทรัพย์ลงทุนผ่าน Core Portfolio เอง สามารถลงทุนผ่านกองทุนผสมที่มีผู้จัดการกองทุนคอยปรับพอร์ตตามสถานการณ์แทนได้ เช่น กองทุน SCBGA(A) ซึ่งเป็นตัวแทนของ Core Portfolio ได้ดี เนื่องจากภายในกองทุนแบ่งการลงทุนออกเป็น 2 ส่วน คือ
- ลงทุนกองทุนหลัก (Core Fund) ผ่านกองทุนผสม JB Dynamic Asset Allocation Fund สัดส่วนประมาณ 70% ขณะที่อีกประมาณ 30% ลงทุนกองทุนเสริม (Satellites) เน้นสร้างสมดุลให้กับพอร์ตโดยรวม ซึ่งคัดเลือกกองทุนที่ลงทุนโดยบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์
นอกจากนี้เรามองว่าในสภาวะตลาดการลงทุนที่ยังมีความผันผวน การลงทุนในหุ้นกู้อนุพันธ์ (Structured Product) ซึ่งเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับลูกค้ากลุ่ม High Net Worth Individuals โดยสามารถใช้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงรับมือกับความผันผวนได้ เช่น ผลิตภัณฑ์ Inverse Floater THOR Complex Return ที่มีระยะเวลาลงทุน 1 ปี ระดับความเสี่ยงปานกลางค่อนข้างต่ำ มีการแบ่งเงินลงทุน 2 ส่วน
ส่วนแรก จะลงทุนผ่านตราสารหนี้และเงินฝากคุณภาพดี เมื่อครบกำหนดอายุกองทุน จะได้รับเงินลงทุนส่วนนี้คืนพร้อมผลตอบแทน ซึ่งเป็นส่วนที่ลดความเสี่ยงจากการขาดทุนเงินต้นได้
ส่วนที่สอง ผลตอบแทนส่วนเพิ่มลงทุนในสัญญาแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Swap: IRS) โดยอ้างอิงแบบผกผันกับการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงตลาดซื้อคืนพันธบัตรภาคเอกชนระยะข้ามคืนระหว่างธนาคาร (Thai Overnight Repurchase Rate: THOR) ที่เคลื่อนไหวสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดยส่วนนี้จะให้ผลตอบแทนแบบลอยตัวสวนทางกับอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง มีการกำหนดอัตราขั้นต่ำและขั้นสูงของการจ่ายผลตอบแทนไว้ โดยจะพิจารณาระดับเพดานอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง THOR ทุก 3 เดือน
หากผู้ลงทุน จัดพอร์ต ลงทุนสอดคล้องกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เน้นการลงทุนระยะยาว กระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย รวมถึงปรับสัดส่วนการลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์แล้ว ไม่ว่าจะมีความเสี่ยงจากการลงทุนอะไรเกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา ในที่สุดพอร์ตการลงทุนก็จะผ่านพ้นความเสี่ยงและมุ่งหน้าสู่เป้าหมายการลงทุนที่เราวางไว้ได้
คำเตือน:
- การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
- กองทุน SCBGA(A) มีความเสี่ยงระดับ 5 คือ เสี่ยงปานกลางค่อนข้างสูง
- การลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยงสูงหรือซับซ้อนสูง มีความแตกต่างจากการลงทุนในผลิตภัณฑ์การลงทุนทั่วไป ผู้ลงทุนควรขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากผู้ประกอบธุรกิจก่อนลงทุน
- หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงเป็นตราสารที่มีความซับซ้อนมากกว่าหุ้นกู้ทั่วไป เนื่องจากเป็นตราสารที่ประกอบด้วยตราสารหนี้และอนุพันธ์แฝง (Embedded Derivatives) โดยการลงทุนในหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง จะมีความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องหลายด้าน เช่น ความเสี่ยงของปัจจัยอ้างอิง และความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ออกตราสาร
- ผู้ลงทุนมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียเงินลงทุนทั้งหมดหรือบางส่วน หากหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงชุดใดไม่ได้มีการคุ้มครองเงินต้นในจำนวนร้อยละ 100% ของมูลค่าที่ตราไว้ นอกจากนั้นหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงยังเป็นตราสารที่มีสภาพคล่องต่ำและมีตลาดรองที่มีขอบเขตจำกัด ดังนั้นผู้ลงทุนจะต้องศึกษาและทำความเข้าใจรายละเอียดอย่างถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจลงทุน
- การลงทุนในหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงนี้เป็นธุรกรรมที่ไม่ใช่ ‘เงินฝาก’ และธุรกรรมการลงทุนในหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงดังกล่าวจะไม่ได้รับความคุ้มครองจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากแต่อย่างใด
- เนื่องจากกองทุนไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ผู้ลงทุนอาจขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน / หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้
- ศึกษาข้อมูลกองทุนหลักและหนังสือชี้ชวนกองทุนรวมเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด
- สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ SCB Call Center โทร. 0 2777 7777