×

New Business ของ ปตท. กับอนาคตและความยั่งยืนของประเทศไทย ทำไมต้องเริ่มต้นด้วยยารักษาโรคมะเร็ง [Advertorial]

23.11.2020
  • LOADING...
New Business ของ ปตท. กับอนาคตและความยั่งยืนของประเทศไทย ทำไมต้องเริ่มต้นด้วยยารักษาโรคมะเร็ง [Advertorial]

HIGHLIGHTS

8 mins read
  • สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดการณ์ว่า ปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ เมื่อเวลานั้นมาถึง ความต้องการในเรื่องของการดูแลรักษาสุขภาพยิ่งมีแต่จะเพิ่มมากขึ้น การที่เราจะเอาแต่พึ่งพาต่างประเทศทั้งหมดนั้นอาจไม่ใช่คำตอบ
  • ‘Life Science’ Business ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นั้นกำลังอยู่ในช่วงของการก่อตัว มีทั้งธุรกิจที่เกี่ยวกับยาและการรักษาโรค (Pharmaceutical) โภชนาการและสารอาหารเพื่อป้องกันการเกิดโรค (Nutrition) และวัสดุการแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิต (Advanced Materials)
  • นับเป็นการช่วยเตรียมกับสังคมไทยในการเข้าสู่ ‘Aging Society’ พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อนำพาประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืน 

คนไทยแทบทุกคนต่างรู้จักกันดีว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นั้นเป็นบริษัทด้านพลังงานของประเทศไทย ทว่าเมื่อไม่นานมานี้มีข่าวออกมาว่า ปตท. ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์และองค์การเภสัชกรรม ทำข้อตกลงความร่วมมือการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีววัตถุเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ โดยมุ่งเน้นไปที่ยารักษาโรคมะเร็ง นอกจากนี้ ปตท. ยังได้ลงนามในสัญญาที่จะพัฒนาและก่อสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งทั้งยาเคมีและชีววัตถุเพื่อทดแทนการนำเข้า รวมถึง ปตท. ยังมีแผนที่จะร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ พัฒนาเวชภัณฑ์ที่ใช้ในการแพทย์และผลิตภัณฑ์โภชนาการที่เป็นประโยชน์และจำเป็นต่อร่างกาย

 

THE STANDARD คิดว่านี่เป็นเรื่องที่น่าสนใจเป็นอย่างมากว่าเพราะเหตุใด บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้นำด้านพลังงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านพลังงาน วิศวกรรม และเทคโนโลยีของประเทศไทยจึงมีความสนใจในธุรกิจ Life Science เราจึงได้พูดคุยกับ ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ทำให้ได้พบว่าธุรกิจใหม่ของ ปตท. นั้นมีความสำคัญต่ออนาคตและความยั่งยืนของประเทศไทยเป็นอย่างมาก  

 

ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ 

รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 

 

ทำไมบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่มีความเชี่ยวชาญด้านพลังงาน วิศวกรรม และเทคโนโลยี จึงให้ความสนใจธุรกิจ Life Science 

หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับ ปตท. ในฐานะองค์กรด้านพลังงาน และเป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมปิโตรเคมีต้นน้ำให้เกิดขึ้นในประเทศไทย เมื่อ 30 ปีที่แล้วนับตั้งแต่เจอก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย และมีการก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติและโรงงานปิโตรเคมี ทดแทนการนำเข้าและเป็นวัตถุดิบพื้นฐานในการต่อยอดอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งปัจจุบันภารกิจดังกล่าวได้เสร็จสิ้นลงไปแล้ว แต่หากมองไปในอนาคตของประเทศไทยที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ Thailand 4.0 ไทยจำเป็นต้องมีการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็น New S-Curve ของประเทศ ในแง่ของธุรกิจ ปตท. เองก็เหมือนกับองค์กรทั่วๆ ไปที่ต้องมีการวางแผน วางวิสัยทัศน์ และกำหนดโครงสร้างการลงทุนทางธุรกิจ จากธุรกิจดั้งเดิมมาสู่ธุรกิจปัจจุบันและธุรกิจใหม่ที่จะต่อยอดองค์กรให้เติบโตได้ต่อเนื่อง ซึ่ง ปตท. มองว่าธุรกิจ Life Science มีความสอดคล้องกับทรัพยากรและการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ของประเทศและโลก และเป็นธุรกิจที่จำเป็นที่จะต้องพัฒนาให้เกิดขึ้นในประเทศในอีก 10-20 ปีข้างหน้า

 

จากธุรกิจเดิมมาสู่ธุรกิจปัจจุบัน และธุรกิจใหม่ที่จะต่อยอดไปสู่อนาคต ซึ่งในส่วนของธุรกิจใหม่นั้น เรามองไปถึงเรื่องของ ‘Bioeconomy’ ที่ใช้ความรู้และนวัตกรรมทางด้านชีววิทยาหรือวิทยาศาสตร์ชีวภาพมาช่วยพัฒนาการผลิตสินค้าและบริการ เช่น การเกษตร อาหาร สุขภาพ การแพทย์ และพลังงาน ให้มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืนครับ

 

New Business นี้สอดคล้องกับพันธกิจในการดูแลสังคมของ ปตท. และจะสามารถช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยให้มีความยั่งยืนได้อย่างไร

อย่างที่ทุกคนก็คงจะทราบกันดีครับว่าประเทศไทยเรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย หรือ Aging Society ซึ่งเมื่อประชากรของเรามีอายุมากขึ้นแล้วก็จะมีปัญหาทางด้านสุขภาพตามมาทั้งโรคติดต่อและไม่ติดต่อตามความเสื่อมของร่างกาย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทั้งคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ เพราะเมื่ออายุยืนขึ้น เราทุกคนก็คงอยากจะอยู่อย่างมีสุขภาพดี มีความกระฉับกระเฉง มีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยกันทั้งนั้น การที่ประเทศต้องนำเข้ายาจากต่างประเทศมากๆ ก็จะทำให้ประเทศเราไม่สามารถพึ่งพาตัวเองทางด้านนี้ได้ เกิดความยากลำบากในการเข้าถึงยาของประชาชน และเป็นภาระทางด้านงบประมาณของทางราชการ จึงถือเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับประเทศและสังคมไทย

 

 

การที่เราต้องนำเข้ายาจากต่างประเทศมากๆ
ก็จะทำให้ประเทศเราไม่สามารถพึ่งพาตัวเองทางด้านนี้ได้
จึงถือเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับประเทศและสังคมไทย  

 

เทคโนโลยีและการลงทุนต่อเนื่องในระยะยาวเป็นเหตุผลอย่างหนึ่งที่ ปตท. หันมาให้ความสนใจกับธุรกิจใหม่นี้ 

โลกอนาคตข้างหน้านั้นจะมีเทคโนโลยีสำคัญอยู่ 3 อย่างที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของมนุษย์ อย่างแรกก็คือ Digital ซึ่งหลายคนก็น่าจะได้เห็นอิทธิพลของดิจิทัลกันไปแล้ว เทคโนโลยีอย่างที่สองคือเรื่องของ Advanced Materials ก็คือวัสดุล้ำสมัย เช่น พลาสติกมูลค่าเพิ่มอย่างพวกรถยนต์หรือเครื่องบิน ซึ่งแต่เดิมใช้วัสดุที่เป็นโลหะ แต่เทรนด์ในอนาคตต่อไปนี้จะใช้พลาสติก เพราะว่ามีน้ำหนักเบาและขึ้นรูปได้ง่ายกว่า สามารถสร้างให้ทนทานกว่า รวมไปถึงการทำเครื่องมือแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นหลอดฉีดยาหรือพวกเครื่องมือวิเคราะห์อะไรต่างๆ หรือแม้กระทั่งหน้ากากอนามัยก็มีองค์ประกอบของพลาสติกที่เป็นตัวกรอง ฯลฯ และสุดท้ายคือเทคโนโลยีชีวภาพ Biotechnology ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับเรื่องพลังงานและพลาสติกชีวภาพ อาหารเพื่อสุขภาพ และยารักษาโรค 

 

ในเรื่องของดิจิทัล ทุกบริษัทในกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลายของ ปตท. ได้นำดิจิทัลเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและลดต้นทุนอยู่แล้ว ขณะที่ Advanced Materials บริษัทในกลุ่ม ปตท. ไม่ว่าจะเป็น GC และ IRPC ก็พร้อมจะทำในส่วนนี้เพื่อต่อยอดจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเดิมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีชีวภาพ โดยเฉพาะอาหารและยา ซึ่งเป็นเรื่องใหม่และต้องใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงจากผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา ใช้เงินลงทุนและเวลาในการวิจัยและพัฒนา ซึ่งจะรับผิดชอบโดย ปตท. ที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะหากประเทศไทยไม่มีการลงทุนจะทำให้เราต้องพึ่งพาต่างประเทศมากจนเกินไป ทั้งๆ ที่ประเทศไทยเรามีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถทางด้านสาธารณสุข และมีความหลากหลายทางชีวภาพ หากทุกภาคส่วนช่วยกันดำเนินการอย่างเป็นระบบครบวงจร ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและแสวงหาองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ เราก็มีโอกาสพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย โดย ปตท. มีความพร้อมที่จะดำเนินการในธุรกิจนี้

 

 ปตท. จะช่วยทำให้ประเทศไทยของเรามีความมั่นคงขึ้น

 

 

ประเทศไทยของเรามีความได้เปรียบตรงที่
เราเป็นสังคมเกษตรกรรมและมีความหลากหลายทางชีวภาพ
ดังนั้นเราจึงควรจะหันมานำสิ่งที่เรามีความได้เปรียบด้านวัตถุดิบตรงนี้
มาพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่ม 

 

ฟังดูเหมือนธุรกิจใหม่ของ ปตท. จะช่วยทำให้ประเทศไทยของเรามีความมั่นคงขึ้น
เราหวังไว้เช่นนั้นครับ เพราะถ้าเราพัฒนาเทคโนโลยีพวกนี้ได้ ประเทศเราก็จะมีความมั่นคงทางด้านสุขภาพและสาธารณสุขมากขึ้น การทำให้คนไทยแข็งแรง มีสุขภาพที่ดี คนป่วยได้รับการดูแลที่ดี ปัญหาสังคมก็จะน้อยลง นอกจากนี้ก็ยังเป็นการช่วยยกระดับให้วัตถุดิบในประเทศให้มีมูลค่าสูงขึ้น การเข้าไปทำเรื่องนี้ของ ปตท.​ จึงตอบโจทย์ทั้งเรื่องของเทคโนโลยี เศรษฐกิจ และสังคมอีกด้วย

 

แล้วทำไมจึงเริ่มต้นด้วยความร่วมมือกับองค์การเภสัชกรรมและสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ โดยมุ่งเน้นไปที่ยารักษาโรคมะเร็ง
จากข้อมูลพบว่าสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนในบ้านเราคือโรคมะเร็ง ซึ่งมีปัจจัยมาจากการใช้ชีวิต สิ่งแวดล้อม การที่เราไม่ระมัดระวังในเรื่องของการบริโภค ฯลฯ ทำให้อัตราการป่วยเป็นโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นทุกปี ทั้งนี้อัตราการป่วยเป็นมะเร็งใน 1 ปีของประชากรของไทยมีจำนวนมากกว่า 1.2 แสนคน และมีอัตราเสียชีวิตถึงปีละ 8 หมื่นคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง ปัญหาของคนที่ป่วยคือต้องใช้เงินในการรักษา การเข้าถึงยาที่มีคุณภาพจึงเป็นภาระค่อนข้างมากของผู้ป่วยและญาติ ในปีหนึ่งๆ ประเทศไทยต้องนำเข้ายารักษาโรคมะเร็งกว่าประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว

 

ทั้งที่ปัจจุบันการรักษาโรคมะเร็งนั้นวิวัฒนาการดีขึ้นเรื่อยๆ อย่างในสมัยก่อนเราอาจจะทำคีโมหรือใช้ยาซึ่งไปฆ่าทุกเซลล์ในร่างกาย แต่การรักษาโรคมะเร็งสมัยใหม่นั้นมีการให้ยาเฉพาะจุด ทำให้ไม่เกิดผลข้างเคียง ช่วยให้ผู้ป่วยเจ็บป่วยทรมานน้อยลง รวมไปถึงการสร้างยาชีววัตถุที่ช่วยให้การรักษามีความแม่นยำและสัมฤทธิ์ผลมากขึ้น แต่ก็ต้องแลกด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นตามมา ฉะนั้นเราจึงคิดกันว่าแทนที่ประเทศไทยต้องนำเข้ายารักษาโรคมะเร็งจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียว ทำไมเราไม่ลองผลิตยากันเอง นี่จึงเป็นที่มาของโครงการความร่วมมือระหว่าง ปตท. กับสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการวิจัยรักษาโรคมะเร็ง และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการผลิตยา โดยจะใช้โครงการนี้เพิ่มความก้าวหน้าทางการแพทย์ของไทยให้เป็นศูนย์กลางในภูมิภาค สามารถนำผลงานวิจัยที่คิดค้นได้ไปต่อยอดในระดับอุตสาหกรรม

 

อยากให้อธิบายถึงความเชี่ยวชาญและจุดแข็งของ ปตท. ซึ่งเมื่อจับมือร่วมกับ องค์การเภสัชกรรมและสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์แล้วจะช่วยเติมเต็มและสนับสนุนให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จลุล่วงไปด้วยกันได้อย่างไร
เรื่องของยารักษาที่ต้องนำมาใช้กับผู้ป่วยจำเป็นต้องผ่านการวิจัยมาเป็นอย่างดีครับ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์นั้นเป็นคณะแพทย์แล้วก็เป็นโรงพยาบาลรักษาโรคมะเร็งที่มีทั้งเคสผู้ป่วยและทีมแพทย์ ทีมนักวิจัยเพื่อคิดค้นการรักษา ส่วนองค์การเภสัชกรรมก็เป็นรัฐวิสาหกิจซึ่งทำหน้าที่และมีความเชี่ยวชาญในการผลิตและจำหน่ายยา มีเครือข่ายอยู่ทั้งในและต่างประเทศ สามารถขายยาให้กับทุกโรงพยาบาลในประเทศไทย

 

ส่วน ปตท. นั้น สิ่งที่เรามีก็คือประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในการบริหารโครงการขนาดใหญ่ เรามีความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรม ซึ่งเมื่อทั้ง 3 องค์กรร่วมมือกันนั้น ในขณะที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์เป็นคนคิดค้นพัฒนายาโรคมะเร็ง ปตท. ก็จะเป็นคนออกแบบสร้างโรงงานร่วมกับองค์การเภสัชกรรม เมื่อโรงงานเสร็จแล้ว องค์การเภสัชกรรมก็จะเอาสูตรยามาผสมแล้วก็ผลิตยาภายใต้การควบคุมคุณภาพขององค์การเภสัชกรรม รวมไปถึง ปตท. อาจทำหน้าที่นำยาไปทำตลาดในต่างประเทศที่ ปตท. ได้มีการเข้าไปลงทุนในธุรกิจอื่นๆ ก่อนหน้านี้

 

ตอนนี้ความคืบหน้าของโครงการนี้เป็นอย่างไร อยู่ในขั้นตอนไหน
ยาที่เรากำลังทำกันอยู่ไม่ใช่ยาต้นแบบ (Original Drug) แต่เป็นยาสามัญ (Generic Drug) ที่คุณสมบัติทางเภสัชวิทยาใกล้เคียงกับตัวยาต้นตำรับ สามารถนำไปรักษาผู้ป่วยได้เช่นกัน โดยก่อนจะนำออกจำหน่ายได้นั้นต้องนำไปขึ้นทะเบียนยาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของไทย มีการตรวจสอบโรงงานและผลวิจัยทางคลินิกรองรับ ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่องค์การเภสัชกรรมช่วยพัฒนาและดำเนินการให้

 

ส่วน ปตท. รับหน้าที่ในส่วนของการออกแบบและบริหารโครงการ ขณะนี้เราอยู่ในขั้นตอนการออกแบบโรงงาน ก่อนที่องค์การเภสัชกรรมจะอนุมัติและทำการเปิดประมูลการก่อสร้างโรงงานที่จังหวัดระยอง ซึ่งมีกำหนดการเริ่มก่อสร้างในปี 2565 และจะแล้วเสร็จในปี 2567 หลังจากนั้นก็น่าจะใช้เวลา 3 ปีในการผลิตยาและขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา คาดว่าจะสามารถนำยาออกสู่ตลาดเพื่อทดแทนการนำเข้าได้ในราวปี 2570 ครับ ซึ่งก็อย่างที่บอกว่าการวิจัยยานั้นปกติใช้เวลากันนานมากนับสิบปี เพราะการวิจัยและพัฒนายาเป็นสิ่งที่ต้องลงทุนเยอะ ที่สำคัญและถือเป็นความท้าทายอีกอย่างก็คือเรื่องของระบบการควบคุมคุณภาพที่จะผิดพลาดไม่ได้เลย เพราะเกี่ยวข้องกับชีวิตคน แถมเรายังต้องส่งไปขายทั่วโลกด้วย ดังนั้นเพื่อให้มีมาตรฐานความปลอดภัยที่แน่นอนจึงต้องใช้เวลานาน แต่ด้วยความร่วมมือของทั้งสององค์กรทำให้เราสามารถร่นระยะเวลาไปได้ถึง 3 ปีครับ และน่าจะทำให้ลดต้นทุนยาลงได้เมื่อเทียบกับมูลค่าการนำเข้า 30-50% ครับ แต่เหนือสิ่งอื่นคือเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทยในการพัฒนาธุรกิจทางด้าน Life Science ให้เป็น New S-Curve 

 

 

ประเทศไทยเราก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย 

แน่นอนว่าคนส่วนใหญ่จะหันมาห่วงใยสุขภาพกันเยอะขึ้น 

การเข้าไปสู่ธุรกิจนี้ของ ปตท.​ จึงตอบโจทย์ทั้งเรื่องของเทคโนโลยี 

เศรษฐกิจ และสังคม

 

อยากให้ช่วยอธิบายว่าธุรกิจ Life Science ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ในอนาคตของ ปตท. นั้นมีความสำคัญอย่างไรกับสังคมผู้สูงวัยที่กำลังจะมาถึงของไทย 

ประเทศไทยเราก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย แน่นอนว่าคนส่วนใหญ่จะหันมาห่วงใยสุขภาพกันเยอะขึ้นครับ อย่างที่บอกว่าทุกวันนี้เรามีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม มลพิษ รวมถึงไลฟ์สไตล์สมัยใหม่ที่ทำให้คนเป็นโรคต่างๆ กันมากขึ้น การดูแลรักษาสุขภาพโดยเฉพาะในเรื่องของยาจึงเป็นสิ่งจำเป็นมาก เราจะเอาแต่พึ่งพาต่างประเทศอย่างเดียวไม่ได้ เพราะจะทำให้ต้นทุนในการรักษานั้นแพง มีคนพูดว่า “ทำงานมาทั้งชีวิต เก็บเงินมาเพื่อจะจ่ายค่ายา ค่าหมอ” เดี๋ยวนี้มีโรคใหม่ๆ อย่างโรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ ฯลฯ ซึ่งเมื่ออายุมากขึ้นก็มีความเสี่ยงที่จะเป็น แถมโรคพวกนี้ต้องกินยาตลอดเวลา ถ้าเราไม่อยากจะต้องรักษาก็ต้องป้องกันด้วยการเลือกกินของดีมีประโยชน์ อย่างคนที่อายุเยอะจะกินน้ำตาลหรือไขมันมากก็ไม่ได้ จึงได้มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นโภชนาการออกมาตอบโจทย์ 

 

ธุรกิจ Life Science นั้นเกี่ยวข้องกับทั้งการรักษา นั่นคือยา รวมถึงการป้องกันด้วยโภชนาการและเวชภัณฑ์การรักษา ซึ่งถ้าเราพัฒนายาได้เมื่อไร การทำผลิตภัณฑ์โภชนาการก็จะง่ายแล้ว และเราก็กำลังพัฒนาร่วมกับสถาบันวิจัยอย่าง สวทช. เกี่ยวกับการทำโภชนาการ รวมถึงกำลังทำ Medical Device ที่เป็นเวชภัณฑ์อย่างหน้ากากอนามัย ถุงมือยาง ชุดตรวจต่างๆ ฯลฯ ซึ่งเป้าหมายที่ ปตท. มุ่งหวังเอาไว้ก็คือในอนาคตภายในสัก 10 ปีข้างหน้า เราจะมีพอร์ตโฟลิโอของธุรกิจ Life Science และ Advanced Materials อยู่ที่ประมาณ 10-15% ในธุรกิจทั้งหมดของเรา


เพื่อในวันที่ประเทศไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงวัยในอนาคตที่กำลังจะมาถึง เราจะได้เห็นคนไทยมีสุขภาพดีและแข็งแรงกันถ้วนหน้า 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์ 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising