×

ศิลปะจากหนังสือของปู่ และร่องรอยของพ่อในหนังสือจิตบำบัดของ ดุจดาว วัฒนปกรณ์

16.01.2019
  • LOADING...

คนฟัง THE STANDARD Podcast หลายคนคงคุ้นเสียงของ ดุจดาว วัฒนปกรณ์ โฮสต์ประจำรายการ R U OK พอดแคสต์ที่ว่าด้วยเรื่องพฤติกรรมและสุขภาพจิตที่ออกอากาศเป็นประจำทุกวันอังคารและศุกร์ แต่ใครอีกหลายคนรู้จักเธอในฐานะนักจิตบำบัดด้วยศิลปะการเคลื่อนไหวคนแรกของประเทศไทย, ผู้ช่วยผู้อำนวยการอาวุโสด้านการสื่อสาร หรือแม้แต่การเป็นศิลปินผู้สร้างสรรค์การเล่าเรื่องด้วยภาษากายของกลุ่มละครร่วมสมัย B-Floor Theatre แต่ไม่ว่าด้านไหนก็ตามที่ประกอบขึ้นเป็นดุจดาว เธอผ่านวัยเด็กที่รายล้อมไปด้วยหนังสือและบรรยากาศของการอ่านในครอบครัว มีพ่อเป็นนักอ่าน และปู่เป็นนักเขียน การอ่านส่งผลต่อเธอแทบทุกช่วงของชีวิต แม้กระทั่งวันนี้ที่ไม่ว่าจะฐานะจิตบำบัดหรือศิลปินผู้สร้างสรรค์ แรงบันดาลใจเหล่านั้น ก็มีร่องรอยของหนังสือรวมอยู่ด้วย

 

ในมุมมองของนักจิตบำบัดแล้ว การอ่านถือเป็นการบำบัดอย่างหนึ่งหรือเปล่า

ถ้าเราตีความว่าการบำบัดคือการเอาเข้า ถ่ายเท หมุนเวียน การอ่านมันก็มีบางส่วนที่ถือเป็นการบำบัด ถ้านึกไม่ออกให้ลองนึกภาพการบำบัดน้ำเสียดูค่ะ คนเรามีบางอย่างที่เสีย มันก็จะมีบ่อพักน้ำเสีย บ่อบำบัดน้ำเสีย และสุดท้ายเมื่อผ่านการบำบัดมันก็จะออกมาเป็นน้ำที่ดีขึ้น การบำบัดก็เป็นลักษณะนั้น ฉะนั้นแล้วการทำให้ผ่อนคลาย ถ่ายเทความเครียด มันก็คือการบำบัด เพียงแต่มันเป็นเลเยอร์ชั้นบน แต่สำหรับบางคนที่การอ่านมันพาเข้าไปถึงโลกภายในมันก็เป็นการบำบัดที่ลึกขึ้น

 

แล้วคุณได้ใช้หนังสือเป็นเครื่องมือในการบำบัดหรือเปล่า

เราไม่ได้ใช้หนังสือเพื่อการบำบัดเลย เพราะเรารู้จักหนังสือก่อนที่จะรู้จักการบำบัดด้วยซ้ำ การอ่านของเราอยู่ในครอบครัวค่ะ ปู่ (พ.ต.อ. ลิขิต วัฒนปกรณ์) เป็นนักเขียน พ่อเราก็เขียนไดอะรีทุกวัน เราเลยโตมากับครอบครัวนักอ่าน พอโตขึ้นหน่อย อาที่ทำงานอยู่สำนักพิมพ์ผีเสื้อก็เอาหนังสือมาให้อ่าน ฉะนั้น เราจึงเป็นคนอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก พอขึ้นมัธยมฯ หนังสืออ่านนอกเวลาที่หลายคนโดนบังคับให้อ่าน เราอ่านไปหมดแล้วตั้งแต่ประถมฯ ทั้งหมดมันเลยไม่ได้ทำให้เราต้องหาหนังสือเพื่อการบำบัด แต่มันกลายเป็นว่าอยู่ในวิถีชีวิตตั้งแต่โตมา

 

พอเข้ามหาวิทยาลัยและมีเงินซื้อหนังสือเองได้ เราก็เริ่มอ่านหนักขึ้น เพราะเรียนอยู่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์​ ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัยก็มีร้านหนังสือเดินทาง เราได้หนังสือจากร้านนี้ค่อนข้างมาก นี่ยังไม่รวมถึงหนังสือเรียนที่ต้องอ่านอยู่แล้ว และหนังสือแปลที่แลกกันอ่านกับเพื่อน มันเหมือนเป็นช่วงฟอร์มอัตลักษณ์ของตัวเอง เลยต้องพยายามขวนขวายอ่านสิ่งนั้นสิ่งนี้ พอแลกกันอ่านปุ๊บ เราก็จะได้คุยกันในกลุ่มเพื่อนที่รักการอ่าน บทสนทนาเรามันก็พาลงไปอีกเลเยอร์หนึ่ง เฮ้ย เราชอบตัวเองตอนนั้นมาก เพราะแม้ว่าเราจะไม่ได้ไปเที่ยวด้วยกันกับเพื่อน แต่อ่านหนังสือเล่มเดียวกัน แล้วได้ขบคิดในประเด็นที่เห็นต่างกัน หรือมีประสบการณ์ที่เหมือนกัน แล้วเราก็มานั่งคุยกัน มันโคตรเฮลตี้เลย

 

การพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในสิ่งที่อ่าน มันทำให้เราเข้าใจตัวเองขึ้นอย่างไร

มันเหมือนที่คนพูดกันเลยค่ะ ว่าบางทีอ่านหนังสือเล่มเดียวกัน เรายังคิดไม่เหมือนกัน หลายครั้งที่เพื่อนถามว่าเราคิดอย่างไร เราจะเห็นคำตอบเป็นอีกแบบ สิ่งที่เราเดาหรือตีความจากหนังสือมันก็คือ การแสดงทัศนคติและมุมมองของเรา และถ้าสังเกตดีๆ เราจะได้ยินเสียงตัวเองที่ลากจูงไปซัพพอร์ตความคิดนั้นของเรา ที่มันแตกต่างจากคนอื่น เพราะฉะนั้น ถ้าเราทันความคิดของตัวเอง รู้ว่าความคิดลากเรามาทางนี้ เพราะเรามีประสบการณ์แบบนี้ มันก็ช่วยให้รู้จักตัวเองมากขึ้น เพราะทุกอย่างที่อยู่ระหว่างบรรทัดที่นักเขียนไม่ได้เขียนเอาไว้แต่เราเอาไปเติม มันก็คือตัวเราเอง หรือแม้แต่ภาพในหัวที่เกิดขึ้นจากที่นักเขียนบรรยายกับภาพในหัวของคนอื่น มันคือฟิล์มคนละม้วนอยู่แล้ว ถ้าเรารู้จักที่จะขยายมันออกมา ก็จะเห็นว่า เราเอาข้อมูลส่วนไหนในชีวิตมาแปะทับลงไปบ้าง

“เพราะทุกอย่างที่อยู่ระหว่างบรรทัดที่นักเขียนไม่ได้เขียนเอาไว้ แต่เราเอาไปเติม มันก็คือตัวเราเอง”

 

เมื่อหนังสือมีผลต่อเลเยอร์ที่ลึกขึ้นเหมือนที่คุณว่า มีหนังสือสักเล่มไหมที่เปลี่ยนแปลงความคิดหรือพฤติกรรมของคุณ

เล่มนี้ค่ะ A Million Little Pieces ซึ่งเขียนโดยคนที่เป็นแอลกอฮอลิก ติดยา เขาเข้าไปอยู่ในสถานบำบัด 6 สัปดาห์ และได้ถ่ายทอดประสบการณ์ช่วงเวลาเหล่านั้นออกมา เพื่อนที่เรียนบำบัดด้วยกันที่ประเทศอังกฤษเป็นคนแนะนำให้อ่านค่ะ ช่วงนั้นเราไม่ได้อ่านหนังสืออย่างอื่นมากนัก นอกจากตำราเรียน หนังสือเล่มนี้เลยเป็นเล่มแรกในรอบ 2 ปี แต่มันก็เหมือนเทกซ์ค่ะ (หัวเราะ) เพราะเขากำลังเล่าเรื่องที่เขาอยู่ในห้องบำบัดว่าเขาเจออะไร แต่จุดที่มันเปลี่ยนคือ จากเดิมที เราเป็น Dance Movement Therapy เราก็เคยเจอคนไข้ติดยา ก่ออาชญากรรม หรือมีอาการทางจิต แต่เราไม่ค่อยแม่นเรื่องภาษา พูดว่าควรจะพูดอะไรกับคนไข้บ้าง เพราะเราไม่ได้ถูกเทรนมาทางนั้น แต่หนังสือเล่มนี้มันคือการขมวดทุกอย่างของการใช้ภาษาของนักบำบัด ที่ตั้งคำถามให้คนไข้เพียงสั้นๆ แต่มันทำงานหนักมาก เพราะบอกวิธีการสะท้อนพฤติกรรมคนให้เป็นภาษาพูดว่าทำอย่างไร ยิ่งเล่มนี้เขียนโดยคนที่ติดเหล้า ติดยาจริงๆ มันยิ่งทำให้เราเข้าไปลึกในจิตใจของเขา รู้สึกถึงความพังพินาศ ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมเราถึงรู้สึก ‘กูเข้าใจมึงนะ’

 

คงเพราะคนเขียนเขาเขียนมาจากประสบการณ์ตรงจริงๆ ที่เขาติดเหล้ามาเป็น 10 ปี ติดโคเคนมา 3 ปี หนักจนขนาดว่าฟันหน้าเขาหายไปทั้งแถบ ขณะที่เขานั่งเครื่องบินอยู่ เขาไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่ากำลังเดินทางไปไหน และหมอกำลังพูดกับเขาว่า ต้องเข้าสถานบำบัด ไม่อย่างนั้นแล้วเขาจะตายก่อนที่จะอายุ 24 ทั้งหมดในหนังสือเล่มนี้จึงคือการเล่าจากมุมมองฝั่งของเขาที่สภาวะทางความรู้สึกแบบเดียวกับชื่อหนังสือ คือแตกเป็นร้อยเป็นล้านเสี่ยง แม้แต่ตอนที่พูดอยู่แล้วนึกถึงเรื่องในหนังสือ เรายังรู้สึกสั่นๆ อยู่เลย เรารู้สึกคอนเน็กต์กับหนังสือเล่มนี้มากๆ ไม่รู้ทำไม

 

 

เพราะมันช่วยให้คุณสื่อสารกับผู้ป่วยได้ดีขึ้นหรือเปล่า

มันช่วยให้เราเข้าใจผู้ป่วยมากกว่า ว่าบางทีที่เขาเงียบ หรือโดนคำถามบางอย่าง เขากำลังรู้สึกอะไรอยู่ หนังสือเล่มนี้บรรยายจนเราเข้าใจลึกซึ้งแบบที่ตำราเรียนไม่มีทางให้เราได้

 

ไม่หรอก (นิ่งคิด) คำถามเมื่อกี้ที่ถามเราว่า ทำไมเราถึงชอบหนังสือเล่มนี้ เพราะมันทำงานกับเรามาก เราเพิ่งนึกออกว่าทำไมนึกถึงหนังสือเล่มนี้แล้วเสียงเราสั่น ใช่ พ่อเราเป็นแอลกอฮอลิก พ่อเราเสีย แล้วเราไม่เข้าใจมุมเขาหรอก ตอนนี้เรา (เงียบนาน) เข้าใจแล้ว มันเต็มไปด้วยความเจ็บปวด

 

เราลองเชื่อมโยงการอ่านกับเรื่องของตัวเองแบบเดียวกับที่คุณนึกถึงคุณพ่อได้ใช่ไหม

ใช่ เริ่มจากคำถามอะไรก็ได้ แต่ลองฟังสิ่งที่เราเชื่อมโยงดู อาจจะลองถามตัวเองว่าทำไมถึงชอบหนังสือเล่มนี้ อ๋อ เพราะรักเพื่อนคนที่ให้หนังสือเล่มนี้มาก ถ้าอย่างนั้นลองถามตัวเองต่อไปสิว่าเพราะอะไร แต่สำหรับหนังสือเรื่อง A Million Little Pieces เนื้อเรื่องมันคอนเน็กต์กับประสบการณ์ตรงของเรา คอนเน็กต์กับคนที่เราอยากจะเข้าใจเขา แต่เราเข้าใจเขาไม่ได้ทั้งหมด แต่ก็ได้ความรู้สึกนั้นจากการอ่านหนังสือเล่มนี้ จะอ่านผ่านเอาสนุกก็ได้ แต่ถ้าเรามีเวลานั่งคิดว่าทำไมหนังสือเล่มนี้ หรือบทสนทนาของตัวละครนี้มันทำงานกับเรามาก ทุกคนเคยเป็นใช่ไหมคะ ที่อ่านหนังสือไปแล้วต้องหยุดเพื่อร้องไห้ ถ้าเราหยุดแป๊บหนึ่งแล้วกลับไปดูประโยคที่มันมากระทบเรา แล้วลองตั้งคำถามกับมันดู เราก็อาจเชื่อมโยงกับเรื่องราวในตัวของเราได้

 

 

เท่าที่เล่ามา นอกจากคุณพ่อแล้ว คุณปู่ก็ดูเหมือนมีอิทธิพลกับชีวิตคุณค่อนข้างมาก

เรารู้ว่าปู่เป็นนักเขียน แต่เราแทบไม่มีหนังสือของปู่เลย เราก็เลยเริ่มตามล่าหนังสือเหล่านั้นจากร้านหนังสือเก่าและในอินเทอร์เน็ต และเร็วๆ นี้ เราก็จะมีโปรเจกต์กับร้อยต้นสนแกลเลอรี เพราะเพื่อนเราคนหนึ่งเขาเป็นศิลปินเพนต์ภาพถ่ายกับปกหนังสือเก่า แล้วเขามีนิทรรศการอยู่ถึงปลายเดือนมีนาคม แล้วหลังจากนั้นจะเป็นงานของเราที่จะไปเพอร์ฟอร์มที่นั่น ซึ่งเป็นปกหนังสือเก่าเหมือนกัน และเล่มนั้นเป็นหนังสือของปู่เราชื่อ สัตว์มนุษย์ หนังสือมันว่าด้วยเรื่องครอบครัวชาวนาที่จนและโดนนายทุนเอาเปรียบ แถมใช้ทุกวิธีเพื่อให้ชาวนาส่งลูกสาวมาขัดดอก ลูกสาวก็ต้องมาด้วยความกตัญญู เพราะกลัวว่าพ่อไม่มีนาทำ นายทุนมีเมียอยู่แล้ว แต่ก็ยังเอาคนใช้ในบ้านเป็นเมีย มีลูกลูกก็ไม่ดี เอาแต่ใจ เพราะถือว่าบ้านรวย ส่วนพี่ชายของผู้หญิงที่โดนเอาไปขัดดอก ก็พยายามไปหาเงินมาให้ แต่ด้วยความที่เป็นโจร ก็โดนจับไปหลายที ปู่เราเป็นตำรวจ เพราะฉะนั้นเรื่องแบบนี้คือเรื่องที่เขาเจอมาจริงๆ เขาก็เอามาเขียน โดยนัยด่าพวกนายทุน

 

พอเราได้อ่านเรื่องนี้เลยสนใจ เลยเอาบางประเด็นคำถามหรือบางไดอะล็อกมาทำเป็นการแสดง โดยเราไม่ได้เล่าเรื่องจากหนังสือ แต่จะหยิบคำถามจากสมัยนั้นเอามาคุยกับคนสมัยนี้ว่าคุณรู้สึกอย่างไร แต่ละรอบจะเชิญศิลปินคนอื่นมานั่งกับเรา เราก็จะคุยกับเขา โดยที่เราและคนดูจะไม่ได้ยินเสียงของเขา แต่ให้ความรู้สึกเหมือนไปสวนสัตว์ ศิลปินเขาจะได้กล้าโชว์ความเป็น ‘สัตว์มนุษย์’ ในตัวเขาเอง

 

สุดท้าย ในฐานะนักจิตบำบัด ถ้าอยากสร้างพฤติกรรมรักการอ่านในบ้านควรเริ่มต้นอย่างไร

เอาง่ายๆ ค่ะ สมมติว่าเราเห็นพ่อเป็นไอดอล แล้วบังเอิญพ่อเป็นคนรักการอ่าน เราก็จะอยากเป็นแบบเขา เพราะเราเห็นว่าคนที่อ่านหนังสือเยอะๆ วิธีที่เขาตอบคำถามคนอื่นมันต่างออกไป มันเลยเป็นเหมือนแบบอย่างในบ้านว่า เป็นแบบนี้แล้วมันเวิร์ก แล้วยิ่งสมัยเราที่ไม่มีอย่างอื่นให้สนใจ กลับมาจากเล่นนอกบ้านแล้วเห็นสันหนังสือเรียงเป็นพรืด สุดท้ายเราก็ต้องหยิบอ่านสักวัน แต่ห้ามสั่งเลยนะ เพราะถ้าสั่งเมื่อไร ลูกจะเกลียด แล้วมันจะกลายเป็นหน้าที่ ทำให้เขาเห็นเป็นตัวอย่าง จนเขาเกิดความอยากของเขา เขาจะหยิบขึ้นมาอ่านเอง

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

FYI
  • LIT Fest เทศกาลหนังสือสนุกไฟลุกพรึ่บ! ลงทะเบียนเข้างาน LIT Fest @LITFest2019 ได้ที่ www.zipeventapp.com/e/LIT-Fest-2019 หรือผ่านทางแอปพลิเคชัน ZipEvent โชว์ QR CODE ที่บูธ Registration เพื่อรับสายรัดข้อมือ สมุดโน้ต และโปสเตอร์ฟรี
  • LIT Fest คือเทศกาลหนังสือสุดสนุกครั้งแรกของเมืองไทย อารมณ์ประมาณงานสัปดาห์หนังสือแต่งงานกับเทศกาลดนตรี แล้วมีลูกเป็นงาน LIT Fest
  • เทศกาลหนังสือ ดนตรี ศิลปะ ในสวนที่คุณจะได้พบกับไอเดียบรรเจิดจากกว่า 30 สำนักพิมพ์ กระทบไหล่ชนแก้วปิกนิกกับนักเขียน นักแปล บรรณาธิการกว่า 100 คน เต้นรำชิลๆ กับ 15 วงดนตรี เอ็นจอยกับ Book Club ลับสมองจนไฟลุก สนุกกับหนัง ละครเวที แสงสีกลางแจ้งเคล้าลมหนาว ในบรรยากาศสบายๆ อิ่มอร่อยกับอาหารที่ได้แรงบันดาลใจจากหนังสือ
  • งานจัดวันที่ 18-20 มกราคม 2019 เวลา​: งานภายในอาคารเริ่ม​ 13.00​ น. / งานกลางสนามเริ่ม 16.00​-22.00 น. ที่มิวเซียมสยาม
  • ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ m.facebook.com/LITFest.th/
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising