×

ถ้าออกไปประท้วงแล้วเวลาสมัครงานจะถูกบริษัทหมายหัวไหมครับ?

31.07.2020
  • LOADING...
ถ้าออกไปประท้วงแล้วเวลาสมัครงานจะถูกบริษัทหมายหัวไหมครับ?

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • ทีนี้ตอบคำถามที่น้องๆ ส่งมา ถ้าถามพี่ว่าจะโดนบริษัทหมายหัวไหมที่ออกไปประท้วง พี่คิดว่าก็มีทั้งจริงและไม่จริง คือแน่นอนว่าตอนสัมภาษณ์เขาไปดูโซเชียลมีเดียของน้องก่อนอยู่แล้วอย่างที่น้องบอก แต่ประเด็นที่พี่คิดว่าสำคัญไม่ใช่ว่าประท้วงหรือไม่ประท้วง แต่เป็นการนำเสนอของน้องมากกว่า
  • ถ้าการประท้วงของน้องหยาบคาย ใช้ถ้อยคำที่ไม่สุภาพ พี่คิดว่าอันนี้น่าห่วง เพราะต่อให้เชื่อแบบเดียวกับน้องว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลง แต่ข้อความของน้องที่ได้เห็นมันหยาบ ถ้าพี่ต้องรับคนที่สามารถพ่นคำหยาบในพื้นที่สาธารณะได้โดยที่เขาไม่ตะขิดตะขวงใจเลย พี่ก็อาจจะรู้สึกว่าน้องไม่มีวุฒิภาวะในการแสดงออกที่เพียงพอที่จะรับมาทำงาน ตรงนี้มากกว่าที่พี่คิดว่าจะมีผล

Q: ผมเป็นนักศึกษาที่อยากให้บ้านเมืองมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น และก็คิดว่าเราต้องทำอะไรสักอย่างที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าเราออกไปประท้วงเคลื่อนไหวทางการเมืองตอนนี้ เราจะถูกบริษัทต่างๆ หมายหัวไหมครับเวลาสมัครงาน เพราะรู้มาว่าเวลาสมัครงาน บริษัทจะดูประวัติของเรา บางทีก็แอบเข้าไปดูโซเชียลมีเดียของเรา พ่อแม่ผมก็เป็นห่วง ทะเลาะกันบ่อยเรื่องความเห็นทางการเมือง เขาเห็นผมจะออกไปประท้วงก็ว่าทุกทีว่าไม่คิดถึงอนาคตตัวเองหรือ ต่อไปจะหางานทำได้หรือ ในคอมเมนต์โซเชียลมีเดียทั้งหลายก็ชอบบอกว่าจะไม่รับพวกนักศึกษาเข้าไปทำงานหรอก พี่คิดว่าจริงไหมครับที่บริษัทต่างๆ จะหมายหัวนักศึกษาที่ออกไปประท้วง พวกผมจะมีงานไหมครับ

 

A: คำถามที่น้องถามมานั้นเป็นหนึ่งในคำถามที่คนส่งมาหาผมเยอะมากที่สุดในช่วงนี้ ปัญหาบ้านเมืองต่างๆ มากมาย (หรือจะบอกว่าบ้านเมืองเราไม่มีปัญหาล่ะครับ) ส่งผลให้คนรุ่นใหม่ออกมาส่งเสียงกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างที่… นานแล้วที่ไม่ได้เห็นพลังของคนรุ่นใหม่ในระดับนี้ และอย่างที่น้องบอกครับ มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวด้วยเหตุผลต่างกันไป และส่วนหนึ่งก็ออกมาคอมเมนต์อย่างที่น้องบอกเลยนั่นแหละครับว่า ออกมาประท้วงแบบนี้ระวังจะไม่มีงาน บริษัทจะไม่รับ

ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าที่มาออกตัวคอมเมนต์กันแบบนั้น จริงๆ มีอำนาจในการตัดสินใจรับพนักงานจริงหรือเปล่า หรือก็เป็นลูกจ้างเหมือนกันนี่แหละ แล้วนั่นคือการแสดงออกในนามบริษัทไหม หรือเฉพาะบุคคล ในโซเชียลเราก็เปรี้ยวกันได้ทุกคนแหละครับ เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปใส่ใจทุกคอมเมนต์ในโซเชียลมีเดียครับ ให้เรามีวิจารณญาณของเราเองว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกที่ควร

ผมเคยได้คุยกับคนรุ่นใหม่หลายคนเลยว่าเขามองหางานแบบไหน มองหาองค์กรแบบไหน เท่าที่พี่ได้สัมผัส พวกเขาไม่ได้แค่มองหางานแบบไหนก็ได้ แต่เขามองหางานที่มี Purpose หรือมีเป้าหมายที่มากไปกว่าการทำงานหาเงินแล้วก็จบกันไป เขามองหาองค์กรที่มีความเชื่อแบบเดียวกับเขา มีวิสัยทัศน์แบบเดียวกับเขา เขาจะมองดูว่าองค์กรมีความคิดเห็นอย่างไรกับประเด็นสังคมที่เกิดขึ้น ขับเคลื่อนสังคมไปในทิศทางไหน เพราะองค์กรเป็นส่วนหนึ่งของสังคม องค์กรที่เอาแต่ตั้งหน้าตั้งตาหาเงินทำกำไรแต่ไม่สนใจความเป็นไปในสังคม ไม่ขับเคลื่อนสังคมไปในทางที่ดี องค์กรแบบนั้นก็ไม่ได้น่าดึงดูดสำหรับคนรุ่นใหม่เท่าไร

ขนาดผมทำงานอยู่บริษัทใหญ่โต เชื่อไหมครับว่าพอได้คุยกับคนรุ่นใหม่ที่ทำงานอยู่ที่เดียวกัน พวกอายุของบริษัทที่ยาวนาน ผลกำไรที่ได้เป็นอันดับหนึ่ง ฯลฯ มันไม่ได้มีผลต่อความอยากทำงานของคนรุ่นใหม่เท่าไร พวกเขาบอกผมว่า แทนที่จะมาบอกว่าบริษัทได้ผลกำไรเท่าไร ทำไมไม่บอกว่าบริษัทเราเปลี่ยนแปลงสังคมไปอย่างไรบ้าง น่าคิดนะครับ และเวลาที่ทีมหรือองค์กรวางเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ไว้มากไปกว่าการตั้งผลกำไร แต่เป็นไปเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ผมสังเกตว่าคนรุ่นใหม่จะมีพลังในการทำงานมากกว่าเดิม

ถ้าดูในต่างประเทศ เวลาเกิดประเด็นทางสังคมอะไรขึ้นมา แบรนด์ต่างๆ เขาพร้อมจะส่งเสียงออกมาเลยว่าแบรนด์คิดอย่างไรกับประเด็นสังคมเหล่านั้น ดูอย่าง Black Lives Matter เราจะได้เห็น Nike, Facebook, Google ฯลฯ ออกมาประกาศจุดยืนทันที และเมื่อจุดยืนของบริษัทเป็นจุดยืนร่วมกับที่เรามี เราก็รู้สึกภูมิใจ รู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง รู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับบริษัทไปด้วย แต่บริษัทที่ไม่หือไม่อือใดๆ ต่อประเด็นทางสังคม บริษัทแบบนี้ก็จะถูกมองว่าไม่สนใจสังคม ไม่มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนสังคมไปในทางที่ดี เอาแต่หากำไร

ถ้าคุณค่าที่เรายึดถือเป็นคุณค่าเดียวกับบริษัท เราก็จะดึงดูดซึ่งกันและกัน บริษัทก็อยากได้คนที่เชื่อในคุณค่าแบบนั้น คนที่เชื่อในคุณค่าแบบนั้นก็มองหาบริษัทที่เชื่อแบบเดียวกัน

ทีนี้ลองมามองดูว่า แล้วคุณค่าที่คนรุ่นใหม่ยึดถือคืออะไรบ้าง เท่าที่ผมเห็น แน่นอนคือเสรีภาพในการแสดงออก ความเชื่อว่าทุกคนมีความเท่าเทียมกันและต้องเคารพคุณค่าของกันและกัน เมื่อพวกเขาเห็นปัญหาหรือรู้สึกว่าอะไรเป็นปัญหา เขาก็ตั้งคำถาม เขากล้าถาม และกล้าฝันว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นได้ และพวกเขารังเกียจการบูลลี่ เพราะพวกเขาเชื่อว่าคนทุกคนมีค่า เมื่อเขาทำงาน เขาก็ต้องมองหาบริษัทที่เชื่อแบบเดียวกัน เชื่อว่าทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงออกในที่ทำงานได้ กล้าพูดถึงปัญหาที่มีในที่ทำงานได้ ไม่ยอมรับการเหยียดหรือการมีลำดับขั้นศักดินาในที่ทำงาน บริษัทแบบนี้แหละครับคือบริษัทที่คนรุ่นใหม่อยากทำงานด้วย

ที่เล่ามาก็เลยจะบอกว่า คนในบริษัทที่ออกมาบอกว่า เด็กพวกนี้สร้างความวุ่นวายให้บ้านเมือง ถ้าเด็กพวกนี้มาสมัครงานจะไม่รับเลย ผมก็เลยอยากบอกว่า อย่าเพิ่งออกตัวแรงนะพี่นะ เพราะพี่อาจจะไม่ใช่องค์กรที่คนรุ่นใหม่เขาอยากทำงานด้วยตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว มาฟึดฟัดฮึดฮัด แต่จริงๆ น้องเขาไม่ได้จะแคร์บริษัทพี่อยู่แล้ว น้องจะบอกได้ว่า แล้วไงใครแคร์ พี่จะหน้าแตกเอา

แล้วเอาจริงๆ นะครับ บริษัทที่คนรุ่นใหม่ไม่ชายตามอง ไม่มีแรงงานที่เป็นคนรุ่นใหม่เข้าไป บริษัทก็จะไม่มีอะไรใหม่ๆ ด้วย โลกยิ่งเปลี่ยนแปลงไปเร็วขึ้น ถ้ามีแต่คนเดิมๆ ความคิดเดิมๆ ทำงานแบบเดิมๆ ไม่มีคนรุ่นใหม่เข้ามา คนเดิมๆ ก็ร่วงโรยไป บริษัทก็จะไม่ทันโลกเอาได้ เป็นผลเสียกับองค์กรไปด้วย ทำอย่างไรล่ะทีนี้

เรื่องนี้อยู่ที่มุมมองว่า เรามองการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่เท่ากับความวุ่นวาย หรือมองว่าคือการแสดงออกว่ามีปัญหาที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง เวลาเขาพูดแล้วเราฟังแล้วคิดตามหรือเราห้ามเขาพูด ประณามที่เขาพูดในสิ่งที่เราไม่อยากฟัง เวลาเขาบอกว่ามีปัญหาเกิดขึ้นแล้วเราอยากแก้ปัญหาหรือโกรธที่เขาบอกว่าเขามีปัญหา

เวลาที่มีคนเอาปัญหาที่เคยซุกอยู่ใต้พรมมาวางไว้บนพรมให้เห็นและบอกว่ามันต้องแก้ไข เรามองว่าปัญหาคือสิ่งที่ต้องแก้ หรือคนที่เอาปัญหาขึ้นมาคือสิ่งที่ต้องแก้ ผมใช้คำนี้บ่อยๆ “เราห่วงคนหรือเราห่วงพรม”

ทีนี้ตอบคำถามที่น้องๆ ส่งมา ถ้าถามพี่ว่าจะโดนบริษัทหมายหัวไหมที่ออกไปประท้วง พี่คิดว่าก็มีทั้งจริงและไม่จริง คือแน่นอนว่าตอนสัมภาษณ์เขาไปดูโซเชียลมีเดียของน้องก่อนอยู่แล้วอย่างที่น้องบอก แต่ประเด็นที่พี่คิดว่าสำคัญไม่ใช่ว่าประท้วงหรือไม่ประท้วง แต่เป็นการนำเสนอของน้องมากกว่า คือถ้าการประท้วงของน้องหยาบคาย ใช้ถ้อยคำที่ไม่สุภาพ พี่คิดว่าอันนี้น่าห่วง เพราะต่อให้เชื่อแบบเดียวกับน้องว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลง แต่ข้อความของน้องที่ได้เห็นมันหยาบ ถ้าพี่ต้องรับคนที่สามารถพ่นคำหยาบในพื้นที่สาธารณะได้โดยที่เขาไม่ตะขิดตะขวงใจเลย พี่ก็อาจจะรู้สึกว่าน้องไม่มีวุฒิภาวะในการแสดงออกที่เพียงพอที่จะรับมาทำงาน ตรงนี้มากกว่าที่พี่คิดว่าจะมีผล

เรื่องนี้น่าจะเป็นผลดีกับการเคลื่อนไหวของน้องด้วย เพราะต่อให้ ‘แก่น’ ของการเคลื่อนไหวเป็นแก่นที่ดี มีสาระ แต่มันถูกเคลือบด้วยความหยาบคาย คนก็อาจจะไม่ตีประเด็นเรื่องความหยาบคาย ความไม่เหมาะสมในการใช้ถ้อยคำ เขาก็จะไม่มามองที่ ‘แก่น’ ของน้องจะกลายเป็นจุดอ่อนไปได้ 

 

มันก็คงมีบางบริษัทที่ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่น้องประท้วง แต่อย่างที่พี่บอก พี่คิดว่าบริษัทเหล่านั้นก็อาจจะไม่ใช่บริษัทที่น้องจะอยากทำงานด้วยอยู่แล้ว เพราะความเชื่อคนละแบบ หรือถ้าจะมาตัดสินน้องเพียงเพราะน้องเคลื่อนไหวทางการเมือง พี่ก็คิดว่ามันตื้นเขินไป แต่ก็มันก็บอกได้เหมือนกันว่าเขาเป็นองค์กรแบบไหน มันมีที่อื่นๆ อีกมากที่เขาน่าจะเชื่อวิถีทางเดียวกับน้อง มีเป้าหมายเดียวกับน้อง แบบนั้นน่าจะอยู่ด้วยกันได้ดีกว่า

สิ่งที่น่าคิดก็คือ ต่อให้เราได้งานที่ดี แต่สังคมไม่ดี สังคมเป็นไปในทางอยุติธรรม มีการใช้อำนาจในทางมิชอบ มีการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ เราจะเติบโตต่อไปได้อย่างไร นี่เป็นสังคมแบบที่เราอยากใช้ชีวิตอยู่จริงๆ หรือ

แล้วถ้าไปทำงานแล้วเห็นว่าองค์กรมีปัญหาอะไรที่ควรแก้ พี่เป็นกำลังใจให้น้องลงมือแก้ปัญหานั้นด้วย เอาปัญหาที่ซุกอยู่ใต้พรมมานานขึ้นมาแก้ไข เป็นเสียงให้กับคนที่ไม่มีเสียง พร้อมกับขับเคลื่อนองค์กรให้เปลี่ยนแปลงสังคมในทางที่ดีขึ้น องค์กรของน้องจะได้เติบโต สังคมของเราจะได้พัฒนา

ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์มาที่ Facebook: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ (Facebook.com/Toffybradshawwriter)

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising