ถ้าคุณจำเป็นต้องเลือกระหว่างได้ 20,000 บาทชัวร์ๆ หรือโอกาส 50-50 ที่จะได้ 40,000 บาทหรือไม่ได้อะไรเลย คุณจะเลือกอะไรครับ
โอเค แล้วสมมติว่าถ้าผมดัดแปลงตัวเลือกทั้งสองตัวนิดหน่อย โดยการเปลี่ยนคำว่า ‘ได้’ เป็นคำว่า ‘เสีย’ แบบนี้
เสีย 20,000 บาทชัวร์ๆ หรือโอกาส 50-50 ที่จะเสีย 40,000 บาทหรือไม่เสียอะไรเลย คุณจะเลือกอะไรครับ
Prospect Theory
ผมเชื่อว่าในคำถามข้อแรก เกือบทุกๆ ท่านคงจะเลือกตัวเลือก ‘ได้ 20,000 บาทชัวร์ๆ’ แทนที่จะยอมเสี่ยงโชค 50-50 เพื่อที่จะได้ 40,000 บาทหรือไม่ได้อะไรเลย พูดง่ายๆ ก็คือคนเราส่วนใหญ่เวลาที่เราจำเป็นต้องตัดสินใจระหว่างการได้อะไรชัวร์ๆ หรือการเสี่ยงเพื่อที่จะให้ได้ผลตอบแทนที่เยอะกว่าหรือไม่ได้อะไรเลย คนส่วนใหญ่มักไม่ค่อยชอบการเสี่ยงสักเท่าไร (Risk averse)
แต่สำหรับคำถามที่สอง ผมเชื่อว่าหลายๆ คนที่เลือกตัวเลือก ‘ได้ 20,000 บาทชัวร์ๆ’ ในข้อแรกได้เปลี่ยนไปเลือกที่จะเสี่ยง ‘โอกาส 50-50 ที่จะเสีย 40,000 บาท หรือไม่เสียอะไรเลย’ แทนที่จะยอม ‘เสีย 20,000 บาทชัวร์ๆ’
พูดง่ายๆ ก็คือคนเราส่วนใหญ่เวลาที่เราจำเป็นต้องตัดสินใจระหว่างการเสียอะไรชัวร์ๆ หรือการเสี่ยงเพื่อที่จะต้องเสียมากกว่าหรือไม่ต้องเสียอะไรเลย คนเราส่วนใหญ่มักจะชอบการเสี่ยงมากกว่า (Risk seeking)
ทำไมคนเราถึงไม่ชอบเสี่ยงในสิ่งที่อาจจะได้มา แต่กลับกล้าเสี่ยงเพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียไป
นักจิตวิทยา แดเนียล คาห์นแมน (Daniel Kahneman) และเอมอส ทเวอร์สกี (Amos Tversky) ได้ให้เหตุผลเอาไว้ว่า ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าคนเราเกลียดการเสียมากกว่าชอบการได้ (หรือ Loss Aversion นั่นเอง)
และเพราะ Loss Aversion ตัวนี้ ทำให้คนเรายอมที่จะจ่ายเงินแพงๆ ให้กับบริษัทประกันชีวิต ถึงแม้ว่าโอกาสที่เราจะเสียชีวิตคูณกันกับเงินประกันที่เราจะได้รับมักจะน้อยกว่าการจ่ายเงินค่าประกันทุกๆ เดือนเป็นสิบๆ ปีก็ตาม
และในทางกลับกันคนเราส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยอยากจะเสี่ยงลงทุนเพิ่มในธุรกิจที่กำลังไปได้ด้วยดี ถ้าการลงทุนเพิ่มนั้นมีการเสี่ยง ถึงแม้อาจจะเป็นการเสี่ยงที่น้อยนิดซึ่งอาจทำให้เราต้องขาดทุนเท่ากับกำไรที่อาจจะได้มาจากการลงทุนเพิ่มเติม
แดเนียล คาห์นแมน และเอมอส ทเวอร์สกี เรียกทฤษฎีทั้งสองนี้ว่า Prospect Theory
จะแต่งงานดี หรือจะหย่าดี
Prospect Theory ยังสามารถนำมาใช้อธิบายพฤติกรรมของคนเราที่มีต่อความเสี่ยงอย่างอื่นได้เหมือนกัน ยกตัวอย่างดังต่อไปนี้นะครับ
สมมติว่าคุณเป็นผู้หญิงที่อายุประมาณ 30 ต้นๆ และยังโสดอยู่ สมมติอีกว่าคุณอยากที่จะพบกับใครสักคนเพื่อมาเป็นคู่ชีวิตของคุณ และถ้าสามารถเลือกได้คุณก็อยากจะมีคู่มากกว่าจะอยู่เป็นโสดไปเรื่อยๆ ถ้าคุณจำเป็นต้องเลือกตัวเลือกระหว่าง
ผู้ชายที่เข้ามาจีบคุณคนปัจจุบัน ผู้ชายคนนี้โอเค หน้าตาก็งั้นๆ แต่คุณก็รู้สึกพอใจกับเขา (ถึงจะไม่ได้ชอบเขาแบบหัวปักหัวปำก็ตาม ซึ่งถ้าให้แต่งกับผู้ชายคนนี้ก็คงจะแต่งได้ และก็คงจะเลือกแต่งกับคนนี้แทนการอยู่เป็นโสด พูดง่ายๆ ก็คือคุณรู้แน่ๆ เลยว่าการได้แต่งกับผู้ชายคนนี้ชีวิตของคุณก็จะมีความสุขมากกว่าการต้องอยู่คนเดียวไปเรื่อยๆ แน่ๆ
หรือเสี่ยงไม่เอาผู้ชายคนที่กำลังจีบคุณอยู่เพื่อไปหาผู้ชายที่หน้าตา นิสัย และฐานะดีกว่า โดยคุณ (รวมทั้งคนรอบข้างและหมอดูของคุณด้วย) คิดว่าโอกาสที่คุณจะพบกับผู้ชายในดวงใจของคุณภายในเวลา 5 ปีนั้นน่าจะอยู่สักประมาณ 50% แต่อีก 50% ที่เหลือก็คือโอกาสที่คุณจะไม่เจอกับใครที่อยากคบกับคุณเลย (พูดง่ายๆ ก็คือคุณมีโอกาส 50-50 ที่จะเจอชายในดวงใจหรือขึ้นคานไปเลยตลอดชีวิต)
ถามว่าคุณจะเลือกตัวเลือกอะไรครับ ระหว่างแต่งกับคนที่คุณโอเคด้วย หรือเสี่ยงดวงเอาเพื่อที่จะได้มาซึ่งคนที่ดีกว่าคนที่เข้ามาปัจจุบัน
เอาใหม่ สมมติเหมือนเดิมว่าคุณเป็นผู้หญิงอายุประมาณ 30 ต้นๆ แต่แทนที่จะโสด คุณได้แต่งงานเรียบร้อยไปแล้ว สมมติอีกว่าสามีของคุณเป็นคนที่ทำให้คุณต้องทุกข์ใจอยู่ตลอด คุณไม่มีความสุขกับการอยู่กินกับเขาเท่าไร พูดง่ายๆ ก็คือคุณไม่ได้รักเขาเหมือนเดิมแล้ว สำหรับคุณ การใช้ชีวิตแต่งงานกับเขานั้นแย่ยิ่งกว่าการกลับไปเป็นโสดเสียอีก
คุณมีความคิดว่าถ้าคุณตัดสินใจที่จะหย่าแล้วไปหาใหม่ โอกาสที่คุณจะได้คนที่แย่กว่าคนนี้นั้นมีอยู่ประมาณ 50% (เพราะคุณทราบดีว่าคุณดูคนไม่ค่อยจะเป็น และโอกาสที่ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยและแย่ยิ่งกว่าเดิมนั้นอยู่ที่ 50-50) ส่วนอีก 50% ที่เหลือคุณคิดว่าคุณน่าจะเจอคนที่ดีกว่านี้ หรือถ้าไม่เจอก็อยู่เป็นโสดก็ได้
ถามว่าคุณจะเลือกตัวเลือกอะไรครับระหว่างการเสี่ยงที่จะหย่าแล้วเสี่ยงดวงกันกับคนที่อาจจะเข้ามาใหม่ในอนาคตที่อาจจะแย่กว่า หรือยอมทนๆ อยู่ไปเรื่อยๆ โดยที่คุณรู้ว่าคุณไม่ได้มีความสุขมากเท่าที่คุณควรจะมี
ซึ่งถ้าดูกันในเชิงทฤษฎี Prospect Theory แล้วละก็ ผู้หญิงส่วนใหญ่ก็น่าจะเลือกที่จะแต่งกับคนปัจจุบันในข้อแรก (Risk averse) และเลือกที่จะหย่าในข้อที่สอง (Risk seeking)
ยิ่งไปกว่านั้นทฤษฎีที่ว่านี้ยังสามารถนำมาใช้อธิบายได้อีกว่าทำไมคนที่เล่นการพนัน หรือคนที่เล่นหุ้นแล้วเสียสะสมมาเรื่อยๆ ถึงยอมที่จะเสี่ยงพนันต่อไปเรื่อยๆ (ซึ่งก็อาจจะส่งผลทำให้ยิ่งเสียเพิ่มขึ้นไปอีก)
ยกตัวอย่าง (เพื่อให้เห็นภาพ) นะครับ สมมติว่าคุณเพิ่งเสียเงินจากการลงทุนไป 40,000 บาท แล้วคุณมีตัวเลือกระหว่างได้ 20,000 บาทชัวร์ๆ หรือโอกาส 50-50 ที่จะได้ 40,000 บาทหรือไม่ได้อะไรเลย
ผมเชื่อว่าหลายๆ ท่านมักจะเปลี่ยนใจมาเลือกที่จะเสี่ยงกับโอกาส 50-50 ที่จะได้ 40,000 บาทหรือไม่ได้อะไรเลยในกรณีนี้ (แทนที่จะเลือกการได้ 20,000 บาทชัวร์ๆ) ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าการสูญเสียเงินจากการลงทุนไป 40,000 บาทนั้นเป็นอะไรที่เจ็บปวด และถ้าเรามีโอกาสที่จะเสี่ยงเพื่อที่จะได้เงินมาลบความเจ็บปวดนั้นได้ เราก็มักจะกล้าเสี่ยงเพื่อให้ได้สิ่งนั้นมา (เราเรียกอคติทางด้านพฤติกรรมตัวนี้ว่า The break-even effect) เพียงแต่ว่าการเสี่ยงในชีวิตจริงของคนเราส่วนใหญ่นั้นมักจะเป็นการเสี่ยงที่อาจจะทำให้เรายิ่งเสียมากขึ้นเข้าไปอีก อย่างเช่นการเล่นการพนันทั่วไป เป็นต้น
ทฤษฎี Prospect Theory จึงเป็นทฤษฎีจิตวิทยาที่สำคัญมากทฤษฎีหนึ่ง และก็เป็นทฤษฎีที่ทำให้ แดเนียล คาห์นแมน ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ไปเมื่อปี ค.ศ. 2002 (ซึ่งเอมอส ทเวอร์สกีก็คงจะได้รับไปด้วยกันถ้าเขาไม่ได้เสียชีวิตไปด้วยโรคมะเร็งในปี ค.ศ. 1996)
Photo: Nisakorn Rittapai
อ้างอิง:
- Kahneman, D. and Tversky, A., 1979. Prospect Theory: An Analysis of Decision under Risk. Econometrica, 47(2), pp.263-292.