×

‘อสังหาฯ’ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกปีหน้าแนวโน้มรุ่ง เหตุดอกเบี้ยต่ำ นักลงทุนมองหาทางเลือกเพิ่มผลตอบแทน

โดย THE STANDARD TEAM
29.12.2020
  • LOADING...
‘อสังหาฯ’ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกปีหน้าแนวโน้มรุ่ง เหตุดอกเบี้ยต่ำ นักลงทุนมองหาทางเลือกเพิ่มผลตอบแทน

หนังสือพิมพ์ South China Morning Post รายงานอ้างผลการศึกษาของ JLL ที่ระบุว่าการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ปี 2021 มีแนวโน้มจะฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้ 15-20% โดยอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับด้านโลจิสติกส์และการขนส่งจะได้รับความสนใจและเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการเติบโตของตลาด เนื่องจากมีความต้องการใช้งานจากทั้งผู้ประกอบการค้าปลีก บริษัทผู้ใหบริการด้านสุขภาพ และผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ที่ต่างก็ต้องการพื้นที่ในการเก็บและจัดส่งสินค้า

 

ทั้งนี้ JLL บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังริมทรัพย์ชั้นนำยังระบุว่าอีกว่า ภายใต้สถานการณ์ที่ผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดอื่นๆ อยู่ในระดับต่ำเช่นเดียวกันกับอัตราดอกเบี้ย อสังหาริมทรัพย์เพื่อการโลจิสติกส์ เช่น โกดัง ท่าเรือ มีแนวโน้มจะได้รับความนิยมจากนักลงทุนเมื่อเทียบกับอาคารสำนักงาน

 

กระนั้น การลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่สร้างและให้เช่าที่อยู่อาศัยอย่าง หอพัก, Co-Living และศูนย์บริการดูแลผู้สูงอายุ ก็มีโอกาสที่จะเติบโตได้ดีในปี 2021 เช่นกัน

 

Stuart Crow หัวหน้ากรรมการบริหารฝ่ายตลาดทุนประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ JLL กล่าวว่า กระแสทุนเริ่มไหลกลับเข้ามายังตลาดอสังหาริมทรัพย์ของภูมิภาคในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ และน่าจะได้เห็นนักลงทุนแห่ทะลักเข้ามามากขึ้นในช่วงปีหน้า หลังเริ่มมีความมั่นใจในตลาดเอเชียแปซิฟิกมากขึ้น

 

“ในระยะยาว การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ของภูมิภาคยังอยู่ในด้านบวก เนื่องจากนโยบายดอกเบี้ยต่ำ ทำให้นักลงทุนต้องการตามล่าหาตัวเลือกที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า” Crow กล่าว

 

ทั้งนี้ ข้อมูลรายงานของ JLL อีกฉบับซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาพบว่า อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ถือเป็นหนึ่งในไม่กี่อุตสาหกรรมที่สามารถยืดหยัดฝ่าฟันวิกฤตการะบาดของไวรัสโควิด-19 มาได้ โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2020 ขณะที่ปริมาณการลงทุนซื้อขายในตลาดอสังหาริมทรัพย์ลดลง 32% มีเพียงสิ่งปลูกสร้างเพื่อการโลจิสติกส์เท่านั้นที่มีปริมาณลดลงเพียง 6%

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising