‘เหล็ก’ คำนี้ฟังดูช่างห่างเหินกับชีวิตประจำวันของเราเหลือเกิน เพราะถ้าพูดถึงเหล็ก สิ่งที่ตามมาคือภาพของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ถ้าใกล้เข้ามาหน่อยก็คงจะเป็นยานยนต์หรือไม่ก็งานก่อสร้างที่อยู่อาศัย ทว่าสำหรับผู้บริหารหนุ่มวัย 36 ปี ผู้คลุกคลีมากับความร้อน ความแข็งแกร่งทนทานของเหล็กมาตั้งแต่เด็กอย่าง วินท์ สุธีรชัย CEO บริษัทผลิตเหล็กกลางน้ำ Prime Steel Mill คำว่า ‘เหล็ก จากมุมมองของคนทำเหล็กนั้นลึกซึ้งไปถึงโครงสร้างของการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และประเทศ ทั้งยังไกลไปถึงสินค้าสถานะพิเศษที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาและจีนเคยนำมาเป็นสินค้าการเมืองเล่นเกมกำแพงภาษีการค้าระหว่างประเทศมาแล้ว
ดังนั้นบทสนทนาว่าด้วย ‘เหล็ก’ ถัดจากบรรทัดนี้ จึงเป็นเหมือนการเปิดมุมมองของคนเบื้องหลังสู่เบื้องหน้า กะเทาะผนังปูนเพื่อที่จะให้รู้ว่า เหล็กเส้นทุกเส้นที่ซ่อนอยู่ล้วนซ่อนนัยสำคัญของเหล็กที่ส่งถึงการพัฒนาเศรษฐกิจและประเทศไว้ทั้งสิ้น
เหล็กเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คนทั่วไปคาดคิด
สมัยผมเข้ามาในวงการใหม่ๆ ผมก็นึกไม่ออกครับว่าเหล็กคืออะไร แต่พอเรามานั่งคิดดูนะครับ ในปูนก็มีเหล็กเส้น บนเพดานก็จะมีโครงฝ้าเหล็ก โต๊ะเก้าอี้ก็เป็นเหล็ก บนถนนก็มีรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ที่เป็นเหล็ก บนอากาศเครื่องบินก็เหล็ก ในน้ำก็มีเรือ มีโครงสร้างของเหล็ก อุปกรณ์สื่อสาร เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ชิ้นเล็กๆ ก็เหล็ก หันซ้ายหันขวานี่รอบตัวเราก็เหล็กทั้งนั้น ซึ่งแม้เมืองไทยจะมีการใช้เหล็กอยู่มาก แต่เรายังคงเป็นเพียงผู้ผลิตกลางน้ำและปลายน้ำ ยังไม่ได้เป็นประเทศต้นน้ำในการถลุงเหล็ก ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ แบ่งตามสถานะของเหล็ก ถ้าเป็นของเหลว 1,300 องศาเซลเซียสขึ้นไป อันนี้คือต้นน้ำ เราสามารถปรุงเหล็กได้ตามความต้องการที่จะนำไปใช้ 700-1,300 องศาเซลเซียส มีลักษณะหยุ่นๆ เรียกกลางน้ำ ต่ำกว่า 700 คือปลายน้ำ ซึ่งก็คือของแข็ง เช่น รถยนต์ ซึ่งเมืองไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีการผลิตเหล็กกลางน้ำสูงและเป็นแชมป์มาโดยตลอด เฉพาะเหล็กรีดร้อนรวมกันน่าจะมีประมาณ 4-5 ล้านตันต่อปี ส่วนปริมาณการใช้งานอยู่ประมาณนี้ ประมาณ 4-5 ล้านตันต่อปีเช่นกัน
Prime Steel Mill อยู่ตรงองศาเซลเซียสที่เท่าไรในอุตสาหกรรมเหล็ก
Prime Steel Mill บริษัทผลิตเหล็กกลางน้ำ เช่น รีดร้อน ท่อเหล็ก จริงๆ เราเคยเป็นอุตสาหกรรมปลายน้ำมาก่อน ตัวผมเองก็เคยทำงานในบริษัทเหล็กที่เป็นอุตสากรรมปลายน้ำ ฉะนั้นเราจึงรู้ว่าอุตสาหกรรมปลายน้ำที่มีอยู่ในเมืองไทยคิดอย่างไร มีความต้องการอะไร มีความกังวลอะไร มีเพน (Pain) อะไรบ้าง ในอดีตอุตสาหกรรมเหล็กกลางน้ำในเมืองไทยมีแค่ 2 กลุ่ม เราเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ที่เพิ่งเข้ามาในรอบ 20 ปี อย่างที่บอกว่าเรารู้ว่าเพนของปลายน้ำคืออะไร Prime Steel Mill จึงเกิดขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ตรงนั้น เป็นการจับมือกันระหว่าง 2 บริษัทคู่แข่งคือ กลุ่มเอเชีย เมทัล จำกัด (มหาชน) และกลุ่มเดอะสตีล จำกัด (มหาชน) เรามีความปวดร้าวที่เหมือนกัน เรามีเพนก็คือการซื้อวัตถุดิบที่ค่อนข้างมีปัญหาในประเทศไทย ทำให้เกิดการชักชวนกัน เปลี่ยนจากคู่แข่งเป็นคู่ค้า ก่อตั้ง Prime Steel Mill วันที่ 9 มกราคม 2014 แล้วก็เริ่มผลิตเดือนกันยายนปี 2015
เป้าหมายของการเปลี่ยนจากคู่แข่งเป็นคู่ค้า
เราอยากให้เกิดการ Vertical Integration ระหว่างกลุ่มที่ใช้เหล็ก เป็นการจับมือกันระหว่างกลางน้ำ ปลายน้ำ สู่ลูกค้าสูงสุด เนื่องจากการที่เราจะไปต่อสู้กับสินค้าในต่างประเทศหรือสินค้านำเข้าได้ ก่อนอื่นเราต้องมีต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำที่แข็งแรง เราถึงจะมี Finished goods สินค้าสุดท้ายที่ต้นทุนต่ำสำหรับผู้ใช้งาน ปกติเหล็กของเราเองก็ถูกเอาไปใช้ในการสร้างเครื่องจักรและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ส่งออก เราก็คาดหวังว่าเราจะสามารถวิจัยและพัฒนาคู่กับลูกค้าแล้วก็สร้าง Supply Chain ที่แข็งแกร่งเพื่อที่จะไปสู้กับตลาดโลกได้
ความฝันสูงสุดในฐานะคนที่ทำงานอยู่กับเหล็กมาทั้งชีวิต
การขยับจากอุตสาหกรรมเหล็กกลางน้ำขึ้นไปเป็นต้นน้ำเป็นความใฝ่ฝันของคนในวงการเหล็กทุกคน เป็นความใฝ่ฝันที่อยากจะเห็นโรงถลุงเหล็กในประเทศไทย เนื่องจากว่าอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ในการพัฒนาประเทศ ไม่ว่าเราจะสร้างเครื่องจักร โรงไฟฟ้า รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ เรือ เครื่องบิน ล้วนต้องใช้เหล็กหลายชนิดมาก ไม่ว่าจะเป็นอิเล็กทรอนิกส์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าก็ต้องใช้เหล็กหลายชนิด ซึ่งเราไม่สามารถแปรรูปเป็นแบบลิควิดได้แบบอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ เราไม่สามารถปรุงแต่งเหล็กให้เหมาะเจาะกับการใช้งานได้ด้วยตัวเราเอง นี่จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมเราไม่สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทคโนโลยีได้อย่างที่เราต้องการ เพราะอุตสาหกรรมเหล่านี้ต้องใช้เหล็กหลายชนิด
ถ้าเราทำเหล็กต้นน้ำเองไม่ได้ เราก็ต้องไปซื้อจากประเทศอื่น แต่ถ้าเขามีผลิตภัณฑ์เหล็กที่เขาผลักดันอยู่ เขาก็จะไม่ซัพพอร์ตเรา เช่น สมมติถ้าเราจะไปซื้อเหล็กรถยนต์ที่ญี่ปุ่น แต่ญี่ปุ่นเขาไม่อยากขาย เพราะเขาอยากจะผลักดันรถยนต์ของเขามากกว่า มันก็ทำให้การพัฒนาประเทศค่อนข้างเหนื่อย
เป็นไปได้ไหมในการที่ประเทศไทยจะก้าวสู่ประเทศต้นน้ำของการผลิตเหล็ก
ถามว่ามีความเป็นไปได้ไหมในประเทศไทย ผมว่าในเรื่องทางด้านเศรษฐกิจ ในเรื่องของทางด้านธุรกิจมันไปได้ เพราะว่าไทยเรามีความต้องการใช้เหล็กสูงมาก ในอดีตคือสูงที่สุดในอาเซียน ราว 16-17 ล้านตันต่อปี ซึ่งเพิ่งจะมาถูกเวียดนามแซงเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง ตอนนี้ที่เวียดนามเขาพุ่งไป 18-19 ล้านตัน เราเป็นที่หนึ่งในอาเซียนมาโดยตลอด ต่อให้เราไม่มีโรงถลุงก็เถอะ แต่เรามีปริมาณการใช้ที่เยอะมาก ซึ่งอุตสาหกรรมเหล็กมันอยู่ที่การใช้ ไม่ได้อยู่ที่มีวัตถุดิบหรือเปล่า
อย่างอันดับ 2 อันดับ 5 ของโลกคือ ญี่ปุ่น เกาหลี สองประเทศนี้ก็ไม่มีสินแร่เป็นของตัวเอง แต่เขามีอุตสาหกรรมปลายน้ำ มีความต้องการใช้ อย่างญี่ปุ่นก็จะมีกลุ่มรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เกาหลีมีอุตสาหกรรมการต่อเรือ รถยนต์ โทรศัพท์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งใช้เหล็กมหาศาล คุ้มค่าที่จะทำ อย่างของบ้านเราปริมาณการใช้ที่ผ่านมาอยู่ที่เกือบ 20 ล้านตันต่อปี เป็นสัดส่วนที่เหมาะสมพอดี สามารถสร้างโรงถลุงเหล็กขนาดใหญ่ได้สบาย
หากวันหนึ่งไทยก้าวสู่อุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ สิ่งที่พบความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน
สิ่งที่เปลี่ยนคือเศรษฐกิจประเทศไทยดีขึ้นแน่นอน เพราะถ้ามีอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำบ้านเราจะสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นไฮเทคโนโลยีได้ สามารถผลิตรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ โดยเฉพาะรถยนต์ EV (Electric Vehicle) มอเตอร์ไซค์ EV ที่กำลังเริ่มเป็นกระแสโลก คนไทยเรามีศักยภาพในการทำร้อยเปอร์เซ็นต์ รถเมล์ไฟฟ้า รถเก็บขยะไฟฟ้า รถดับเพลิงไฟฟ้าสามารถเริ่มต้นได้เลยทันที ในอดีตสาเหตุที่ไทยเราไม่สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าเราไม่สามารถผลิตเครื่องยนต์เองได้ ทำให้เราไม่สามารถผลิตรถยนต์เองได้ทั้งคัน แต่พอเป็นระบบรถยนต์ไฟฟ้า ระบบ EV พวกนี้สามารถกระโดดข้ามเรื่องการผลิตเครื่องยนต์ไปได้เพราะไม่ต้องใช้เครื่องยนต์แล้ว พอไม่ต้องใช้เครื่องยนต์ ทำให้ทุกชิ้นส่วนรถประเภทนี้สามารถผลิตในประเทศไทยได้ทันที ณ วันนี้
ความยากของไทยในการก้าวสู่การเป็นประเทศผู้ผลิตเหล็กต้นน้ำ
ความยากของโรงถลุงในประเทศไทยก็คือเรื่องของสิ่งแวดล้อม เพราะว่าท่าเรือน้ำลึกที่เหมาะกับการตั้งโรงเหล็กมีอยู่ไม่กี่ท่าเรือ แต่ก็ไม่ใช่ว่าเหล็กจะเป็นศัตรูกับสิ่งแวดล้อมเสมอ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ ซึ่งเป็น 2 ประเทศที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมาก แต่ก็สามารถสร้างโรงถลุงเหล็กได้ อย่าง ฮุนได สตีล ซึ่งเป็นกลุ่มของฮุนได มอเตอร์ ในประเทศเกาหลีใต้ เพิ่งตั้งโรงถลุงเหล็กเมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมา เกาหลีใต้ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่กังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมมาก โรงงานฮุนได สตีลทำสำเร็จ เพราะว่าเขาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมาก แม้เขาจะใช้ถ่านหินเป็นพลังงาน แต่เขาก็จะสร้างโกดังเก็บเป็นระบบปิด สร้างโกดังเก็บถ่านหิน สร้างโกดังเก็บสินแร่ ทำให้ไม่มีฝุ่นละอองออกมา แล้วเครื่องจักรก็ทันสมัย มีเครื่องดักมลภาวะต่างๆ จริงๆ อุตสาหกรรมยิ่งใหญ่ เขายิ่งมีเงินทุนที่จะไปลงทุนในเรื่องของการแก้เรื่องมลภาวะ
การพัฒนานวัตกรรมเหล็กของ Prime Steel Mill
บ้านเหล็กน็อกดาวน์คือนวัตกรรมที่เราเพิ่งจะเปิดตัวไปได้ไม่นานนี้ ความจริงแล้วนวัตกรรมนี้เกิดจากเพนส่วนตัวของผมเอง เนื่องจากผมเพิ่งสร้างบ้านมาได้ไม่นาน ผมก็จะเจอเรื่องเวลาของการทำงานที่ไม่เป็นไปตามที่วางไว้ ไหลไปเรื่อยๆ 1 ปีไม่เสร็จ 2 ปีไม่รู้จะเสร็จหรือเปล่า ทำให้งบประมาณไหลไปเรื่อยๆ งบที่เราจะใช้ก็จะเกินไปเรื่อยๆ ทำให้เราอยากจะมีบ้านที่สามารถสร้างได้รวดเร็ว คุมเวลาได้ คุมงบก่อสร้างได้ โจทย์ของบ้านเหล็กน็อกดาวน์จึงเป็นการร่วมกันระหว่างผู้ออกแบบแล้วก็บริษัทผู้ผลิตเหล็ก ผลิตบ้านที่ติดตั้งได้รวดเร็ว สามารถขยายและลดขนาดได้ตามสถานการณ์ของชีวิต ซึ่งเหมาะสำหรับสังคมไทยเป็นอย่างมาก
สำหรับคนโสด เพิ่งจบมหาวิทยาลัย อาจจะมีเงินไม่มาก ต้องการบ้านไซส์เล็กๆ ก่อนเพื่ออยู่ตัวคนเดียว เราก็มีบ้านเหล็กน็อกดาวน์ไซส์เล็ก 15-20 ตารางเมตร มีห้องนอน เตียง โต๊ะอาหาร ครัวนิดหน่อย ต้นทุนไม่มาก จากนั้นพอเริ่มมีครอบครัว มีลูก ก็สามารถใช้บ้านเดิมนี่แหละต่อขยายได้ เพิ่มเป็น 2 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ หรือมีครัวที่ใหญ่ขึ้น คล้ายๆ เลโก้ที่ต่อเพิ่มได้ ถอดผนัง เพิ่มผนัง ทำให้ยาวขึ้น ทำให้กว้างขึ้น ต่อเติมจากหลังเดิมได้เลย นอกจากนี้ถ้าเกิดผ่านไปคุณพ่อคุณแม่มาอยู่ด้วย เราก็ขยายห้องเป็น 3-4 ห้องนอนได้ ย้ายสถานที่ได้ เพิ่มลดขนาดได้ แล้วผนังที่เป็นเหล็กทั้งสองด้านก็มีฉนวนกันความร้อน มีความสวยงามตรงที่สามารถเปลี่ยนสีเหล็ก เปลี่ยนลายเหล็ก ทุกวันนี้เหล็กสามารถมีลายไม้ ลายหินอ่อน ลายอิฐ ลายปูนได้หมด สามารถทำได้หมด
อนาคตที่อยากจะเห็นในอุตสาหกรรมเหล็กไทย
คือเวลาเราพูดถึงอุตสาหกรรมเหล็ก มันเลี่ยงไม่ได้ที่จะพูดถึงอุตสาหกรรมที่ใช้เหล็ก ผมมองว่าถึงเวลาแล้วที่ทั้งผู้ผลิตวัตถุดิบแล้วก็ทางผู้ที่ใช้วัตถุดิบควรจะจับมือกัน เหมือนในต่างประเทศ ทำการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกัน มันจะเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการในประเทศไทยเรา ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต่างประเทศเขาทำกันมานานแล้ว แต่บ้านเราไม่ค่อยทำกัน บ้านเราค่อนข้างต่างคนต่างทำ ผมจึงอยากจะเห็น Supply Chain ที่แข็งแรงในประเทศไทยโดยการจับมือกันระหว่างผู้ผลิตเหล็กกับผู้ใช้เหล็กให้มากขึ้น เพื่อความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมเหล็กในบ้านเรา
ติดตามเรื่องราวชีวิตของ วินท์ สุธีรชัย ได้ที่ www.facebook.com/WSuteerachai
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า