×

ถึงเวลาโลกลูกหนังจัดระเบียบเอเจนต์ฟุตบอลจอมละโมบ

14.09.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • เอเจนต์ฟุตบอลกลายเป็นส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ของวงการฟุตบอลในปัจจุบัน เป็นผู้กำหนดทิศทางของวงการอยู่ข้างหลัง จากแค่กุมอนาคตของนักฟุตบอล ณ เข็มนาฬิกาเดินไป พวกเขาสามารถกำหนดอนาคตของสโมสรฟุตบอลได้เลยว่าจะรุ่งหรือร่วง
  • ตามบันทึกว่าเอาไว้ว่า เอเจนต์ฟุตบอลน่าจะมีตั้งแต่ในช่วงปี 1890 และในยุคสมัยนั้นพวกเขาทำหน้าที่ทุกอย่างจริงๆ ตั้งแต่ดูแลเรื่องค่าตอบแทน ไปจนถึงการจัดหานักฟุตบอลมาตั้งทีม
  • โลกได้รู้จักกับ ‘ซูเปอร์เอเจนต์’ คนแรกอย่าง ปินี ซาฮาวี ที่อยู่เบื้องหลังการย้ายทีมของนักฟุตบอลดังอย่าง ริโอ เฟอร์ดินานด์, ยาป สตัม และ ฮวน เซบาสเตียน เวรอน ที่ทั้งหมดย้ายมาอยู่กับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด สโมสรที่เขาสนิทเป็นพิเศษ เพราะเป็น ‘เพื่อน’ ของ เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน
  • ปัจจุบันเอเจนต์ฟุตบอลไม่ได้เป็นแค่เอเจนต์ของนักฟุตบอล แต่ยังเป็นเอเจนต์ของสโมสรฟุตบอลด้วย เราเรียกการปฏิบัติแบบนี้ว่า ‘Dual Representation’

ในวงการฟุตบอลช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผมคิดว่าเราน่าจะพอได้เห็นกันครับว่ามีความพยายามที่จะ ‘ชำระ’ ให้วงการที่แปดเปื้อนอย่างหนัก กลับมาสะอาดอีกครั้ง

 

เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงใน 2 องค์กรเสาหลักของโลกฟุตบอล อย่างฟีฟ่าและยูเอฟ่า ที่เปลี่ยนตั้งแต่ตัวประมุขลงมาจนถึงระดับผู้บริหาร และลามไปถึงโครงสร้างขององค์กร

 

นักการเมืองลูกหนังผู้กุมอำนาจแต่เดิมจำนวนมาก ถูกขจัดให้พ้นไปจากวงการโดยไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม แม้กระทั่ง โจเซฟ เอส. แบลตเตอร์ อดีตประธานฟีฟ่า และ มิเชล พลาตินี อดีตประธานยูเอฟ่า ก็ไม่สามารถเอาตัวรอดได้

 

แต่หนึ่งใน ‘วงจรอำนาจ’ ที่ยังคงอยู่รอดปลอดภัย ไม่มีใครทำอะไรพวกเขาได้มากนักในช่วงที่ผ่านมาคือ ‘เอเจนต์’ หรือนายหน้าตัวแทนของนักฟุตบอลที่นับวันมีแต่จะทรงอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ ในวงการ และแน่นอนว่า พวกเขาร่ำรวยมหาศาลขึ้นทุกวันเวลานาที

 

โดยเฉพาะเอเจนต์ที่ทำมาหากินในลีกที่เงินทองสะพัดมากที่สุดในโลกอย่างพรีเมียร์ลีก ซึ่งเปรียบดังขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า เป็นแผ่นดินทอง ‘เอลโดราโด’ ที่ไม่ว่าจะขุดผืนดินลงไปตรงไหนก็เจอเพชรนิลจินดาที่ตรงนั้น

 

พวกเขากลายเป็นส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ของวงการฟุตบอลในปัจจุบัน เป็นผู้กำหนดทิศทางของวงการอยู่ข้างหลัง จากแค่กุมอนาคตของนักฟุตบอล ณ เข็มนาฬิกาเดินไป พวกเขาสามารถกำหนดอนาคตของสโมสรฟุตบอลได้เลยว่าจะรุ่งหรือร่วง

 

นั่นทำให้สโมสรอย่าง วูล์ฟแฮมป์ตัน วันเดอเรอร์ส ในอังกฤษถึงขั้นดึงเอเจนต์คนดังอย่าง ฮอร์เก เมนเดส เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสโมสร เพื่อใช้ ‘อำนาจ’ และ ‘สายใย’ ของเขาในการช่วยดึงนักฟุตบอลฝีเท้าดีเข้ามาเสริมทีม และได้ผลตอบลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมกับการได้เลื่อนชั้นสู่พรีเมียร์ลีกในฤดูกาลนี้

 

เพียงแต่อำนาจที่มากเกินไปก็เป็นภัยได้ในเวลาเดียวกัน

 

พวกเขาต้องถูกจัดการครับ และปฏิบัติการนั้นได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

 

 

นิยามและประวัติแบบย่อของเหล่าเอเจนต์

ในนิยามและความหมายของเอเจนต์ ความจริงแล้วไม่มีอะไรมากไปกว่าการเป็น ‘ตัวแทน’ ของใครคนสักคน ซึ่งในวงการฟุตบอลหมายถึงตัวแทนของนักฟุตบอล

 

หน้าที่หลักๆ ของพวกเขาคือ การเจรจาต่อรองเรื่องผลประโยชน์แทนที่ของนักฟุตบอล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของค่าตอบแทน เงินโบนัส ระยะเวลาของสัญญา และในยุคปัจจุบันมีเรื่องของค่าลิขสิทธิ์ภาพลักษณ์ ไปจนถึงการรับงานพรีเซนเตอร์ต่างๆ

 

มากกว่านั้นคือ เรื่องของการดูแลทุกข์สุขในชีวิต เป็นพี่ เป็นเพื่อน เป็นที่ปรึกษา ลูกป่วย เมียไม่สบาย เงินไม่พอใช้ ก็ได้เอเจนต์นี่แหละครับที่ดูแลให้

 

เอเจนต์หลายคนดูแลนักฟุตบอลในระดับสตาร์มาตั้งแต่อ้อนแต่ออก ตั้งแต่ยังเป็นเด็กหัวเกรียนไล่เตะลูกฟุตบอลอยู่ข้างถนน จนได้ดิบได้ดีกลายเป็นดาวดวงเด่นของวงการ

 

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกที่นักฟุตบอลจำนวนมากจะรักและผูกพันกับเอเจนต์ของตัวเองค่อนข้างมาก พวกเขาไว้ใจในระดับที่กล้าฝากอนาคตไว้ในมือเลยทีเดียว เพื่อที่ตัวเองจะโฟกัสกับการทำหน้าที่ในสนามเป็นหลัก

 

และหากอยากลองจัดระดับความสัมพันธ์ดู เราจะพบว่า เอเจนต์อยู่ในลำดับที่สำคัญที่สุด มากกว่าหรือใกล้เคียงกับครอบครัว รองลงมาคือเส้นทางอาชีพและความสำเร็จ ก่อนจะไปถึงสโมสร และคนที่สำคัญน้อยที่สุด (ขออภัยที่ต้องกล่าวความจริง) คือแฟนฟุตบอล

 

ในวันที่ต้องตัดสินใจ เสียงร้องนับหมื่นนับแสนของแฟนบอลไม่มีความหมายเท่ากับคำพูดไม่กี่คำของเอเจนต์ว่าจะให้อยู่หรือไปจากสโมสร

 

หรือบางครั้งอาจใช้แค่แววตาโดยไม่ต้องเอ่ยวาจาเลยสักคำ

 

สำหรับเอเจนต์ฟุตบอลนั้นเหมือนจะเป็นอาชีพใหม่ แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นอาชีพที่มีมาแต่ดั้งเดิม ใกล้เคียงกับการกำเนิดของเกมฟุตบอลสมัยใหม่ในอังกฤษเลยทีเดียว

 

ตามบันทึกว่าเอาไว้ว่า เอเจนต์ฟุตบอลน่าจะมีตั้งแต่ในช่วงปี 1890 และในยุคสมัยนั้นพวกเขาทำหน้าที่ทุกอย่างจริงๆ ตั้งแต่ดูแลเรื่องค่าตอบแทน ไปจนถึงการจัดหานักฟุตบอลมาตั้งทีม

 

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นยุคข้าวยากหมากแพง ผู้คนจำนวนมากก็หันมาหาลำไพ่พิเศษด้วยการเป็นเอเจนต์นักฟุตบอล ซึ่งก็มีคนที่ประสบความสำเร็จได้รายได้เสริมมาจุนเจือปากท้องครอบครัวกันพอสมควร

 

จนในช่วงระหว่างปี 1950-1960 ที่เอเจนต์ฟุตบอลเริ่มที่จะเป็นอาชีพเฉพาะที่ทำหน้าที่ดูแลนักฟุตบอลเป็นหลักอย่างมืออาชีพ

 

หมุดหมายที่สำคัญเกิดขึ้นในปี 1957 เมื่อ ‘The Gentle Giant’ จอห์น ชาร์ลส์ ดาวดังของลีดส์ ยูไนเต็ด ย้ายไปยูเวนตุส ด้วยค่าตัวมากถึง 65,000 ปอนด์ ซึ่งทุบสถิติค่าตัวสูงสุดเดิมในยุคนั้นถึง 2 เท่า

 

คนที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จคือ เท็ดดี ซัมเมอร์ฟิลด์ เอเจนต์ของเขาที่เคยทำหน้าที่ในการเจรจาให้เหล่าเซเลบริตี้คนดังทางวงการโทรทัศน์มาก่อน

 

จากนั้นคือ เทรเวอร์ ฟรานซิส นักฟุตบอลเจ้าของค่าตัว 1 ล้านปอนด์คนแรก ที่ได้ เดนนิส โรช เอเจนต์ส่วนตัวที่ช่วยทำให้เกิดการย้ายทีมครั้งประวัติศาสตร์เมื่อปี 1979

 

และเมื่อโลกฟุตบอลเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากกฎบอสแมน ที่ทำให้นักฟุตบอลเป็นอิสระจากสโมสร นั่นเป็นการเปิดช่องให้อำนาจในการต่อรองจากเดิมที่อยู่กับสโมสร ตกไปอยู่ในมือของนักเตะแทน และนักฟุตบอลนั้นได้มอบอำนาจให้อยู่ในมือของเอเจนต์ต่ออีกทอด

 

นั่นทำให้โลกได้รู้จักกับ ‘ซูเปอร์เอเจนต์’ คนแรกอย่าง ปินี ซาฮาวี ที่อยู่เบื้องหลังการย้ายทีมของนักฟุตบอลดังอย่าง ริโอ เฟอร์ดินานด์, ยาป สตัม และ ฮวน เซบาสเตียน เวรอน ที่ทั้งหมดย้ายมาอยู่กับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด สโมสรที่เขาสนิทเป็นพิเศษ เพราะเป็น ‘เพื่อน’ ของ เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน

 

จากนั้นคือ ฮอร์เก เมนเดส เอเจนต์ลูกหนังผู้เป็นตัวแทนของ คริสเตียโน โรนัลโด ซูเปอร์สตาร์ผู้เจิดจรัสที่สุดของโลก, เคีย ชูรับเชียน ผู้ช็อกโลกด้วยการนำ คาร์ลอส เตเวซ และ ฮาเวียร์ มาสเชราโน สองเพชรเม็ดงามของอาร์เจนตินา ย้ายมาอยู่กับเวสต์แฮม ยูไนเต็ด ด้วยสัญญาแบบพิลึกพิลั่น และ มิโน ไรโอลา ผู้ที่ดูแลทั้ง ซลาตัน อิบราฮิโมวิช และ พอล ป็อกบา รวมถึง มาริโอ บาโลเตลลี ในปัจจุบัน

 

พวกเขาคือเหล่าซูเปอร์เอเจนต์ที่ประสบความสำเร็จ และความสำเร็จของพวกเขากลายเป็นปัญหาของวงการฟุตบอลมากขึ้นเรื่อยๆ

 

เพราะสโมสรฟุตบอลเริ่มทนไม่ไหว

 

และพวกเขาต้องการตอบโต้

 

ปิดฉาก Dual Representation ยุคสมัยแห่งการกอบโกย

ในช่วงปิดฤดูกาลที่ผ่านมา เหล่าประธานของสโมสรฟุตบอลในพรีเมียร์ลีก ซึ่งเป็นลีกที่ได้รับผลกระทบสูงสุดในวงการ ได้มีการลงมติร่วมกัน และเห็นชอบที่จะจัดการเหล่าเอเจนต์ไม่ให้เหิมเกริมไปมากกว่านี้

 

สิ่งที่พวกเขาตัดสินใจจะทำคือ การแบนไม่ให้สโมสรฟุตบอลจ่ายเงินให้กับเอเจนต์

 

ฟังดูแล้วอาจจะงง ในเมื่อเอเจนต์เป็นนายหน้าของนักฟุตบอลแล้ว ทำไมสโมสรต้องจ่ายเงินให้ด้วย?

 

เรื่องเป็นแบบนี้ครับ จริงอยู่ที่เอเจนต์เป็นนายหน้าของนักฟุตบอล และคนที่ควรจะเป็นคนจ่ายค่าตอบแทนให้กับเขาคือ นักฟุตบอลที่จะต้องหักเปอร์เซ็นต์ให้ (ตามแต่ตกลง เช่น 25-30% ของเงินรายได้) แต่ในช่วงที่ผ่านมา เอเจนต์ฟุตบอลเรียกรับประโยชน์จากสโมสรฟุตบอลด้วย เพื่อให้เกิดการเจรจาย้ายทีม

 

หรือพูดอีกนัยคือ ปัจจุบันเอเจนต์ฟุตบอลไม่ได้เป็นแค่เอเจนต์ของนักฟุตบอล แต่ยังเป็นเอเจนต์ของสโมสรฟุตบอลด้วย

 

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าสโมสร A อยากได้นักเตะ B จากสโมสร C เพื่อให้การย้ายทีมสำเร็จไปได้ด้วยดี พวกเขานอกจากจะต้องจ่ายค่าตัวให้กับสโมสร C และค่าเหนื่อยของนักเตะ B แล้ว อีกคนที่พวกเขาจะต้องจ่ายให้คือ เอเจนต์ D

 

เราเรียกการปฏิบัติแบบนี้ว่า ‘Dual Representation’ ซึ่งแม้จะปฏิบัติกันจนเป็นธรรมเนียม แต่จริงๆ แล้วมันผิด เพราะเป็นผลประโยชน์ที่ทับซ้อนกันอย่างชัดเจน

 

ที่เด็ดกว่านั้นคือ บางกรณีเข้าข่าย Tripple Representation หรือเป็นนายหน้าให้กับทั้งนักฟุตบอล สโมสรที่จะซื้อ และสโมสรที่จะขาย เรียกว่าครบวงจร และดีลที่ว่าคือ ดีลการย้ายทีมจากยูเวนตุสมาแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ของ พอล ป็อกบา เมื่อปี 2016 ที่ค่าตัวเป็นสถิติโลกในเวลานั้นด้วยเงิน 89 ล้านปอนด์

 

ในเงินจำนวนนั้นถูกโยกเข้าบัญชีของ มิโน ไรโอลา เอเจนต์ของป็อกบา ถึง 41 ล้านปอนด์! เพราะเขาเป็นตัวแทนของทั้ง 3 ฝ่าย เรียกว่า เป็นศูนย์กลางของการเจรจาทั้งหมด

 

เรื่องที่ผิดอีกอย่างคือ การที่เอเจนต์เป็นตัวแทนของนักฟุตบอลและสโมสรฟุตบอล คือการที่สโมสรถูกร้องขอให้จ่ายเงินค่าตอบแทนให้กับเอเจนต์ จะทำให้นักฟุตบอลนั้นได้รับเงินรายได้ลดลง และนำไปสู่การเสียภาษีที่น้อยลงไปด้วย

 

พูดง่ายๆ คือ เป็นวิธีการหลบเลี่ยงภาษีอีกแบบ ซึ่งทางการอังกฤษ หน่วยงานในการดูแลเรื่องภาษี HM Revenue & Customs (HMRC) กำลังจับตามองอยู่อย่างใกล้ชิด และร้องขอเอกสารหลักฐานการรับจ่ายเงินทั้ง 2 ขา จากฝ่ายของสโมสรและเอเจนต์

 

การเจรจาแบบ Dual Representation นั้นมีเยอะมากครับ โดยในการเจรจา 541 ครั้งในพรีเมียร์ลีกเมื่อฤดูกาลที่แล้ว รวมทั้งการย้ายทีมแบบถาวร การย้ายทีมแบบยืมตัว และการต่อสัญญาใหม่ เอเจนต์ทำหน้าที่แบบ Dual Representation มากถึง 426 ครั้ง หรือคิดเป็น 79%

 

ทีมแชมป์แมนเชสเตอร์ ซิตี้ มีการเจรจา 52 ครั้ง และทุกครั้งเป็นการเจรจาแบบ Dual Representation ขณะที่ทีมอย่างอาร์เซนอล, ลิเวอร์พูล และแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็ทำในแบบเดียวกันเกือบทุกดีล

 

โดยจำนวนเงินที่สโมสรต้องจ่ายออกไปมากถึง 211 ล้านปอนด์ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเมื่อ 12 เดือนก่อนหน้าถึง 37 ล้านปอนด์

 

ดังนั้น การตอบโต้ด้วยการที่สโมสรสั่งแบนตัวเอง (ความจริงคือ จะใช้อำนาจของสมาคมฟุตบอลในการสั่งแบน) ไม่ให้จ่ายเงินแก่เอเจนต์ จะทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง

 

โดยที่ไม่มีใครบอกได้ว่ามันจะกระเทือนถึงขั้นไหน

 

แค่กลีบดอกไม้ หรือดวงดาว

 

เด็ดปีกเอเจนต์กระเทือนถึงใคร

ในการตอบโต้ของเหล่าสโมสรฟุตบอล มีคำถามที่น่าสนใจว่า แล้วพวกเขาไม่กลัวเอเจนต์จะแว้งกัดหรือ ไม่กลัวที่จะเสียนักฟุตบอลตัวเก่งไปจากทีม เพราะพลังความแค้นของเอเจนต์หรือ

 

แม้จะไม่มีสำนักข่าวไหนเขียนถึง แต่เรื่องนี้มันก็พอจะคาดเดากันได้ครับว่าไม่ใช่สโมสรจะไม่กลัว

 

เพียงแต่หากปล่อยให้มันเป็นแบบนี้ต่อไป แบบนั้นน่ากลัวกว่า

 

สำหรับเอเจนต์ พวกเขาจะยังมีรายได้จากการเจรจาอยู่เหมือนเดิม แต่จะกลับไปได้รับทางเดียวเหมือนในอดีตคือ จากนักฟุตบอล ไม่ใช่สโมสรฟุตบอล

 

ส่วนจะได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับนักฟุตบอลในสังกัดของพวกเขาเอง (จริงๆ แล้วเราควรจะบอกว่า นักฟุตบอลคือนายจ้างที่จ้างเอเจนต์มาดูแลพวกเขามากกว่าด้วยซ้ำ)

 

การทำแบบนี้ทำให้นักฟุตบอลรู้ว่า ที่ผ่านมาสโมสรแบกรับค่าใช้จ่ายของเอเจนต์แทนพวกเขามากขนาดไหน ซึ่งว่ากันว่า ครึ่งหนึ่งของรายได้ของเอเจนต์ในปัจจุบันมาจากสโมสรที่แบกรับแทน

 

และเพื่อกันไม่ให้เอเจนต์ใช้อำนาจของพวกเขาในการเอาคืน มีการคิดกฎที่จะให้นักฟุตบอลเปลี่ยนวิธีการจ่ายเงินให้กับเอเจนต์ใหม่

 

จากเดิมที่จะจ่ายเป็นก้อนใหญ่ก้อนเดียวเมื่อการเจรจาลุล่วง (เช่น ตกลง Agent Fee กันไว้ที่ 5 ล้านปอนด์ วันเซ็นสัญญา เอเจนต์ก็รับเงิน 5 ล้านปอนด์เลย) เปลี่ยนมาเป็นการทยอยจ่ายตามระยะเวลาของสัญญาที่ทำไว้กับสโมสร

 

เช่น หากนักฟุตบอลเซ็นสัญญากับสโมสร 5 ปี และมีการตกลง Agent Fee ที่ 5 ล้านปอนด์ ก็จะให้แบ่งจ่ายปีละ 1 ล้านปอนด์แทน

 

ทำแบบนี้จะทำให้เอเจนต์ไม่กล้าที่จะบีบให้นักฟุตบอลย้ายทีม เพราะจะทำให้พวกเขาเองก็ได้รับเงินไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย

 

ถ้ามันเป็นไปตามนี้จริง คนที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือ เอเจนต์ฟุตบอลเองที่ถูกลดทอนอำนาจของพวกเขาลง

 

เพียงแต่หากมองในอีกแง่ มันก็คือการนำสมดุลของอำนาจในการเจรจาให้กลับมาอยู่ที่ตรงกลางอีกครั้งระหว่างสโมสร นักฟุตบอล และเอเจนต์

 

แน่นอนว่า ไม่มีใครรู้ครับว่าสุดท้ายแล้วปฏิบัติการนี้จะสำเร็จไหม และแค่ไหน และหากมันประสบความสำเร็จจริงจะมีลีกอาชีพอื่นที่กล้าเดินตามพรีเมียร์ลีกไหม

 

แต่อย่างน้อยก็ดีกว่างอมืองอเท้าไม่ทำอะไรเลย

 

แบบนั้นถึงอยู่เป็นก็เหมือนตายครับ

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

FYI
  • ในบรรดา 20 สโมสรพรีเมียร์ลีก ทีมที่จ่ายให้เอเจนต์มากที่สุดในฤดูกาลที่แล้วคือ ลิเวอร์พูล 26.7 ล้านปอนด์
  • ทีมที่จ่ายน้อยที่สุดแต่ก็ยังจ่ายคือ ฮัดเดอร์สฟิลด์ 2.4 ล้านปอนด์
  • ทีมที่มีการเจรจาในแบบ Dual Representation มากที่สุดคือ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ 52 ครั้ง รองลงมาคือ สโต๊ค ซิตี้ 33 ครั้ง (จาก 34 ครั้ง)
  • กฎเพิ่มเติมเกี่ยวกับเอเจนต์ที่มีการคาดว่าจะต้องใส่เพิ่มคือ เอเจนต์ทุกคนที่ทำงานในอังกฤษจะต้องผ่านการทดสอบ และจะต้องเปิดบัญชีในสหราชอาณาจักร โดยเงินรายได้จากการเจรจาทุกครั้งจะต้องเข้าออกที่บัญชีนี้เท่านั้น
  • เอเจนต์จะต้องเปิดเผยรายการเดินบัญชีให้สมาคมฟุตบอลทุกปี
  • ในปัจจุบันมีการยกย่องซูเปอร์เอเจนต์ 5 คน ได้แก่ ฮอร์เก เมนเดส, มิโน ไรโอลา, เคีย ชูรับเชียน, โจนาธาน บาร์เนตต์ และ เฟร์นานโด เฟลิเซวิช ซึ่งทั้งหมดนี้ทำเงินรายได้มากกว่า 200 ล้านปอนด์ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา และมูลค่าของนักฟุตบอลในสังกัดของพวกเขารวมกันสูงถึง 2,000 ล้านปอนด์
  • ปินี ซาฮาวี ซูเปอร์เอเจนต์ในตำนาน ปัจจุบันวัย 74 ปี ถอยออกมาอยู่หลังฉากมากขึ้น แต่ยังเป็นบุคคลสำคัญในวงการที่สามารถเชื่อมถึงใครก็ได้บนโลก และอยู่เบื้องหลังการย้ายทีมสำคัญๆ เช่น การย้ายทีมของ เนย์มาร์ จากบาร์เซโลนามาปารีส แซงต์ แชร์กแมง ที่เป็นสถิติโลกก็เกิดขึ้นได้เพราะซาฮาวีที่ช่วยปลดล็อกให้ทุกฝ่าย
  • ฟีฟ่ามีความพยายามในการจัดระเบียบเอเจนต์มาตั้งแต่ปี 2015 โดยเดิมให้เป็นอำนาจของแต่ละลีกที่จัดการออกใบอนุญาตให้เอเจนต์เอง แต่กำลังมีการเตรียมตรากฎใหม่ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับพรีเมียร์ลีก โดยคาดหวังว่าจะสามารถบังคับใช้ได้ในปีหน้า
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising