สถานการณ์ของผู้ลี้ภัยทั่วโลกยังคงวิกฤต โดยเฉพาะกรณีของชาวโรฮีนจาที่เผชิญหน้ากับความรุนแรง จนต้องลี้ภัยออกจากเมียนมากว่า 725,000 คน นับตั้งแต่ช่วงปลายเดือนสิงหาคม ปี 2017 พวกเขามุ่งหน้าสู่ค่ายกูตูปาลองในบังกลาเทศ ที่รองรับผู้ลี้ภัยเกือบ 1 ล้านคน นับเป็นค่ายผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แม้ระยะเวลาจะผ่านไปถึง 1 ปีกว่า แต่ก็ยังแทบจะมองไม่เห็นอนาคตและโอกาสที่พวกเขาจะได้กลับบ้าน และได้ใช้ชีวิตอยู่กับคนที่พวกเขารักอย่างที่เคยเป็นมา
THE STANDARD มีโอกาสพูดคุยกับ ปู-ไปรยา ลุนด์เบิร์ก นักแสดงและนางแบบที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทูตสันถวไมตรีของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR Goodwill Ambassador) คนแรกของไทยและเอเชียแปซิฟิก หลังจากเดินทางกลับจากการเยี่ยมผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาที่ค่ายกูตูปาลอง รวมถึงพูดคุยเกี่ยวกับประสบการณ์การทำงานด้านผู้ลี้ภัยที่เธอทำมาตลอดระยะเวลาเกือบ 5 ปี
สุดท้ายแล้วเขาก็ไม่ได้ต่างอะไรจากปู ที่ต้องการจะอยู่กับครอบครัว อาศัยอยู่กับคนที่เรารักในสถานที่ที่เราเรียกว่า ‘บ้าน’
บรรยากาศที่ค่ายกูตูปาลองเป็นอย่างไรบ้าง
จริงๆ ปูไปมาแล้วหลายแคมป์ แต่แคมป์นี้เป็นแคมป์ที่โหดที่สุดเท่าที่เคยไปมา การเดินทางค่อนข้างลำบากและใช้ระยะเวลา กว่าจะถึงค่ายก็ใช้เวลาหมดไปวันหนึ่งแล้ว ต้องรออีกวันถึงจะได้เดินพูดคุยกับผู้ลี้ภัย และดูการทำงานของ UNHCR
วันนั้นเป็นวันที่ค่อนข้างโหดพอสมควรเพราะฝนตกหนัก บังกลาเทศเป็นประเทศที่มีปัญหาเรื่องมรสุมมาโดยตลอด มีปัญหาดินถล่ม มีความเสี่ยงสูง ถนนหนทางก็ค่อนข้างมีโคลนเยอะ สถานที่มีความแออัดมาก เต็นท์ที่พักก็เป็นเพียงเต็นท์พลาสติก เต็นท์ผ้าแบบเบสิกที่สุด ถ้าจะไปไหนก็ต้องเดินเท้า เพราะรถเข้าไปไม่ถึง
ปูรอมา 4 ปีกว่า รอวันที่จะได้เจอผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจา ได้ช่วยเหลือและลงพื้นที่โดยตรงเป็นครั้งแรก การเดินทางไปที่กูตูปาลองในครั้งนี้ เป็นประสบการณ์ที่เปลี่ยนชีวิตของปู ทำให้ปูรู้สึกว่าวิกฤตในครั้งนี้เราควรจะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือพวกเขาในฐานะเพื่อนมนุษย์
ชาวโรฮีนจาไม่ได้เป็นแค่ผู้ลี้ภัย แต่เขายังเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ปัญหาของพวกเขาซับซ้อนกว่าที่เราเห็น ที่ค่ายแห่งนี้รองรับผู้ลี้ภัยถึง 900,000 คน และกว่า 55% เป็นเพียงเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เป็นครั้งแรกที่ปูเห็นเด็กเป็นผู้นำครอบครัว หลายคนเจอความโหดร้ายมาตลอดทั้งชีวิต สูญเสียคนในครอบครัว พลัดพรากจากบ้านและคนที่รัก ถูกกดขี่ ถูกล่วงละเมิด จนบอบช้ำทั้งทางร่างกายและจิตใจ ยังไม่นับรวมปัญหาอื่นๆ เช่น ปัญหามรสุม ปัญหาสุขภาวะอนามัยต่างๆ พวกเขาที่นั่นต้องการความช่วยเหลือเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ปูยังมีโอกาสเข้าไปยังบริเวณ Transit Center ซึ่งเป็นจุดนัดพบแรกที่ผู้ลี้ภัยจะมาลงทะเบียน ฉีดวัคซีน ทานอาหารและดื่มน้ำ รวมถึงค้นหาสมาชิกในครอบครัวของพวกเขาที่อาจจะเดินทางมาถึงค่ายก่อนหน้านี้แล้ว เพื่อให้พวกเขาได้กลับมาอยู่ร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง เพราะปูและ UNHCR เชื่อว่า เราไม่ควรแยกสมาชิกในครอบครัวออกจากกัน ทุกคนควรที่จะได้อยู่ด้วยกัน และที่สำคัญปูเป็นห่วงอนาคตของพวกเด็กๆ ที่นั่น ชีวิตของพวกเขาจะเป็นอย่างไร หากไม่ได้รับการช่วยเหลือและสนับสนุนจากประชาคมโลก
ตลอดระยะเวลาการทำงาน 4 ปีกว่าของปู ปูแสดงความเสียใจไม่ต่ำกว่า 100 ครั้ง ปูอยากทำได้มากกว่านี้ ปูอยากช่วยเหลือพวกเขา
อะไรคือสิ่งที่ผู้ลี้ภัยต้องการมากที่สุด
ปูคิดว่า ความปลอดภัย ความคุ้มครอง อาหาร น้ำ ยารักษาโรค การศึกษา ฟังดูเยอะนะคะ แต่ก็เยอะจริงๆ ทุกอย่างเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการเยียวยาแก้ไขอย่างเร่งด่วน ยิ่งไปกว่านี้เวลาปูได้มีโอกาสเข้าไปพูดคุยกับผู้ลี้ภัย และถามพวกเขาว่า ‘คุณต้องการให้ UNHCR ช่วยเหลือคุณอย่างไร’ ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ถ้าประเทศต้นทางปลอดภัย ทุกคนก็อยากจะกลับบ้านพร้อมกับครอบครัวของพวกเขา สุดท้ายแล้วเขาก็ไม่ได้ต่างอะไรจากปู ที่ต้องการจะอยู่กับครอบครัว อาศัยอยู่กับคนที่เรารักในสถานที่ที่เราเรียกว่า ‘บ้าน’
เรื่องเล่าจากค่ายผู้ลี้ภัยเรื่องไหนที่พอได้รับฟังแล้วรู้สึกสะเทือนใจที่สุด
ปกติเวลาเราไปค่ายผู้ลี้ภัย เรามักจะได้ฟังเรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อหลายปีที่แล้ว แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ปูฟังเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นกับตัวผู้ลี้ภัยเองที่ได้สูญเสียคนที่เขารัก นั่นเป็นครั้งแรกที่เขาถามปูกลับว่า ‘UNHCR จะช่วยเขาอย่างไรได้บ้าง’ ผู้ลี้ภัยแต่ละพื้นที่อาจมีเหตุผลที่จะต้องลี้ภัยแตกต่างกัน แต่พวกเขาล้วนประสบพบเจอกับสถานการณ์ที่โหดร้าย นำไปสู่การพลัดพรากและสูญเสียไม่ต่างกัน
ปูได้มีโอกาสพูดคุยกับชาวโรฮีนจาครอบครัวหนึ่งที่เพิ่งจะเดินทางมาถึงค่ายกูตูปาลองได้เพียง 12 วัน เธอชื่อราเบีย เธอเล่าให้ปูฟังว่า เธออายุเท่ากับปู เธอตัดสินใจที่จะไม่ออกเดินทางจนกว่าลูกน้อยของเธอจะอายุได้ 1 ปี พอลูกเธออายุครบ เธอก็ออกเดินทางพร้อมกับครอบครัวอื่นๆ อีกหลายครอบครัว ก่อนที่จะพลัดหลงกับญาติและใช้เวลาเดินทางอยู่นานหลายวัน ลูกน้อยวัยเพียง 1 ขวบเสียชีวิตในอ้อมกอดของราเบีย เนื่องจากความเหนื่อยล้าและภาวะขาดอาหาร เธอจำใจฝังลูกไว้ตรงนั้น อดทนเดินทางต่อจนถึงค่ายและเข้าขอรับความช่วยเหลือจาก UNHCR
อีกเคสหนึ่งที่ปูคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องที่สะเทือนใจที่สุดคือ ชาวโรฮีนจาคนหนึ่งอุ้มลูกเขาอยู่บนเรือ แล้วคลื่นซัดมา ทำให้ลูกน้อยวัยเพียง 8 เดือนของเขาพลัดหล่นออกจากมือ ตกลงไปในน้ำ เขาทำได้แต่เพียงมองดูลูกจมน้ำเสียชีวิตไปต่อหน้าต่อตา ปูไม่อาจคาดเดาได้เลยว่า พวกเขาเจ็บปวดแค่ไหนกับการสูญเสียที่พวกเขาต้องเผชิญ การไม่มีบ้าน การไม่รู้ว่าเมื่อไรเราจะได้กลับบ้านอีกครั้ง การไม่มีรัฐที่จะคอยปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของพวกเขา และปูทำได้แค่เพียงแสดงความเสียใจต่อพวกเขา ตลอดระยะเวลาการทำงาน 4 ปีกว่าของปู ปูแสดงความเสียใจไม่ต่ำกว่า 100 ครั้ง ปูอยากทำได้มากกว่านี้ ปูอยากช่วยเหลือพวกเขา
เรากำลังพูดถึงผู้คนระดับหลักล้านคนที่ไม่มีที่ไป ปูอยากจะใช้ชื่อเสียงของผู้หญิงที่ชื่อ ปู ไปรยา กับสิ่งที่มีคุณค่า ไม่เช่นนั้นแล้ว ปู ไปรยา คืออะไร เป็นนางแบบ ดารา ขายของ เป็นพรีเซนเตอร์ แล้วอย่างไรต่อ
ปูตั้งคำถามมาตลอดเลยว่า ทำไมชีวิตคนเราถึงไม่ยุติธรรม ปูเองก็ไหว้พระ ปูเองก็ภาวนา ทำไมปูได้ในสิ่งที่ปูขอ ปูเชื่อว่าบนเรือพวกเขาก็ขอเหมือนกัน แต่ทำไมพวกเขาไม่รอด ทำไมลูกเขาเสียชีวิต มันเป็นเรื่องที่ฟังดูแล้วไม่ยุติธรรมเลยจริงๆ ปูคิดว่า พวกเขาทุกคนมีคุณค่า แต่ทำไมพวกเขาถึงถูกปฏิบัติราวกับคนไร้ค่า นั่นคือเหตุผลหนึ่งที่ปูอินกับ UNHCR มาก เพราะปูเชื่อเสมอว่า การคุ้มครองมนุษย์และเห็นคุณค่าของมนุษย์เป็นเรื่องที่สำคัญ
พอฟังไปเรื่อยๆ แล้วจะพบว่า แต่ละเรื่องจะคล้ายๆ กันหมด เราจะรู้เลยว่าที่เขาตัดสินใจลี้ภัยมา เป็นเพราะความไม่ปลอดภัยในชีวิตที่พวกเขาจะต้องเผชิญ มนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครอง แต่ชาวโรฮีนจาเป็นเคสที่ละเอียดอ่อนและซับซ้อนมาก นอกจากจะมีสถานะเป็นผู้ลี้ภัยแล้ว ยังเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติที่ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางตัวเองได้อีก ไม่รู้ว่าอนาคตของตัวเองจะเป็นอย่างไร แม้แต่ UNHCR เองก็ยังรู้สึกถึงความท้าทายในการเยียวยาแก้ไขเรื่องนี้เพียงลำพัง เราต้องการการสนับสนุนจากประชาคมระหว่างประเทศ ปูมองว่าทางออกเดียวของเรื่องนี้คือ แรงกดดันจากคนทั่วโลกที่มองเห็นว่า วิกฤตผู้ลี้ภัยเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องได้รับการเยียวยาแก้ไขอย่างจริงจัง
ในฐานะคนไทยคนหนึ่ง ปูรักบ้านเกิดของปู ปูรักครอบครัวของปูมาก ถ้าวันหนึ่งที่ปูต้องลี้ภัยออกจากบ้านของตัวเอง โดยไม่รู้ว่าข้างหน้าจะเจออะไรบ้าง สูญเสียลูก คุณพ่อ คุณแม่ และคนที่เรารักขณะเดินทาง คงเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามาก ปูมองมาตลอดว่า ผู้ลี้ภัยเป็นกลุ่มคนที่นอกจากจะพบเจอกับความสูญเสีย ไม่มีบ้านให้กลับ ไม่มีสัญชาติ ไม่มีความคุ้มครอง นี่เป็นเรื่องที่เราในฐานะมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันในสังคมโลก ควรจะตระหนักและมอบความช่วยเหลือให้แก่กัน เพราะขณะนี้มีผู้ลี้ภัยทั่วโลกสูงถึง 68 ล้านคน เป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงมาก เป็นปัญหาที่ไม่ได้ไกลตัวเราเลย และปูไม่ชอบเรียกมันว่า ‘ปัญหา’ เพราะว่าความทรมานของเพื่อนมนุษย์เป็นวิกฤตที่เราทุกคนควรช่วยกัน
การทำหน้าที่ ‘ทูตสันถวไมตรีของ UNHCR’ เปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้หญิงที่ชื่อ ‘ปู ไปรยา’ อย่างไรบ้าง
ปูเริ่มต้นเข้ามาทำงานกับ UNHCR หลังจากที่ปูเห็นข่าวของโรฮีนจาในแล็ปท็อป คนส่วนใหญ่มักคิดว่า คนในวงการบันเทิงน่าจะไม่ค่อยได้ติดตามข่าวสารรอบโลก แต่สำหรับปู นี่เป็นวิธีเดียวที่ปูจะได้หายใจ เมื่อก่อนเวลาปูอ่านข่าว ปูก็จะเห็นคำว่า โรฮีนจา ซีเรีย และมองว่านั่นเป็นเพียงแค่คำคำหนึ่ง ไม่ได้เป็นเรื่องใกล้ตัว จนปูได้มีโอกาสชมคลิปของชาวโรฮีนจาบนเรือ และใต้ท้องเรือเพื่อหนีเอาชีวิตรอดและเริ่มต้นชีวิตใหม่ เมื่อราวๆ 4 ปีครึ่งที่ผ่านมา ปูเครียดมากและรู้สึกว่าต้องลงมือทำอะไรสักอย่าง เพื่อช่วยเหลือพวกเขา ปูเลยตัดสินใจอีเมลหา UNHCR หลายปีที่ผ่านมาเป็นการฝึกงานของปู ปูอยากจะเรียนรู้ทุกอย่างและทำงานในด้านนี้อย่างจริงจัง
ตลอดระยะเวลาที่ได้มีโอกาสเป็นหนึ่งในกระบอกเสียงและหนึ่งในแรงสนับสนุนให้กับผู้ลี้ภัย สิ่งที่เปลี่ยนแปลงปูที่สุดคือ ปูเริ่มเห็นแล้วว่า ไม่มีมนุษย์คนไหนที่มีคุณค่ามากกว่ากัน ทัศนคติของปูเปลี่ยนไปและมองว่า ทุกคนควรจะมีสิทธิเท่าเทียมกัน พ่อคุณไม่ได้มีคุณค่ามากกว่าพ่อปู ลูกปูในอนาคตก็ไม่ได้มีคุณค่ามากกว่าลูกคุณ ทุกคนเท่าเทียมกัน และปูเป็นใครที่จะมาตัดสินว่าพวกเขาไม่สมควรที่จะได้รับความช่วยเหลือ ปัญหานี้ไม่ใช่แค่การเอาข้าว เอาผ้าห่ม เอาขวดน้ำยื่นให้เขาแล้วจะจบ มันซับซ้อนและมีหลายๆ ปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง เรากำลังพูดถึงผู้คนระดับหลักล้านคนที่ไม่มีที่ไป ปูอยากจะใช้ชื่อเสียงของผู้หญิงที่ชื่อ ปู ไปรยา กับสิ่งที่มีคุณค่า ไม่เช่นนั้นแล้ว ปู ไปรยา คืออะไร เป็นนางแบบ ดารา ขายของ เป็นพรีเซนเตอร์ แล้วอย่างไรต่อ เราอยู่ในยุคมิลเลนเนียลส์ เราควรหาความหมายและคุณค่าให้กับตัวเอง
ทัศนคติของปูเปลี่ยนหลังจากได้เห็นความโหดร้ายและความรุนแรงของโลก และคิดว่า ในฐานะที่ปูอาจจะเป็นคนที่มีโอกาสมากกว่าพวกเขา ปูอยากจะมอบโอกาสเหล่านั้นให้กับคนที่ไม่มีโอกาส เพราะไม่เช่นนั้นใครจะเป็นคนหยิบยื่นโอกาสให้กับพวกเขา ปูไม่อยากเห็นคนอื่นทรมาน แค่เพราะสัญชาติ ศาสนา สีผิว ภาษา รสนิยมทางเพศหรืออะไรก็ตาม ไม่มีใครควรจะรู้สึกว่า เขาไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมนี้ ทุกคนเป็นเจ้าของสังคมนี้ร่วมกัน และนั่นคือสิ่งที่เปลี่ยนชีวิตของผู้หญิงที่ชื่อ ‘ปู ไปรยา’ ไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อได้มาทำงานกับ UNHCR
คนไทยมักจะมองว่า เรื่องแบบนี้อาจจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้กับเรา ปูก็หวังและเชื่อว่าจะเป็นอย่างนั้น แต่ปูก็เชื่อว่าชาวซีเรีย ชาวโรฮีนจาเองก็คงเคยคิดเหมือนกันว่า เขาไม่มีทางที่จะเป็นผู้ลี้ภัย ถ้าเรามองว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องไกลตัว วันหนึ่งถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับเรา และไม่มีประเทศไหนรู้สึกที่อยากจะช่วยเหลือเรา ในวันนั้นเราจะทำอย่างไร
เป้าหมายในการทำงานด้านผู้ลี้ภัยและสิ่งที่ ‘ปู ไปรยา’ อยากจะให้เกิดขึ้นมากที่สุด
ปูอยากจะทำงานด้านนี้ทั้งชีวิต เพราะปูรู้สึกว่า UNHCR ต่างจากองค์กรอื่น UNHCR พยายามเข้าไปให้ความช่วยเหลือชีวิตเพื่อนมนุษย์ ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ในสถานะใดก็ตาม ปูทำงานด้านนี้มา 4 ปีกว่าแล้ว และคิดว่าจะทำต่อไปเรื่อยๆ ปูอยากช่วยเหลือพวกเขาจริงๆ ปูไม่เคยเรียนมาด้านนี้ ปูไม่ได้มีความรู้เท่ากับเจ้าหน้าที่ของ UN ปูเป็นเพียงนักแสดง นางแบบ ที่ผ่านมาปูค้นหาความหมายและคุณค่าของการมีชีวิตอยู่มาโดยตลอด คิดเสมอว่า เราเกิดมาทำไม การได้มาทำงานตรงนี้ร่วมกับ UNHCR ได้เปลี่ยนโลกและเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างในตัวปู ปูจะเป็นกระบอกเสียงและช่วยเหลือกลุ่มผู้ลี้ภัยอย่างสุดพลังเท่าที่ปูจะทำได้
ภารกิจที่ปูได้ทำ ปูมองว่านี่ไม่ใช่แค่เป็นการเอาผ้าห่มกับเต็นท์ให้กับคน แต่เป็นการมอบศักดิ์ศรีและคุ้มครองชีวิตพวกเขา การช่วยเหลือผู้อื่นเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตของปูมีคุณค่า ปูมีความสุขทุกครั้งที่ได้ลงมือทำ ปูเลยอยากจะทำงานด้านนี้ตลอดไป
สำหรับปูตอนนี้ การสร้างความรับรู้ ปรับมุมมองเกี่ยวกับประเด็นผู้ลี้ภัย ทำให้ทุกคนตระหนักถึงความโหดร้ายของวิกฤตในครั้งนี้แ ละอยากจะมีส่วนร่วมเป็นเรื่องสำคัญ มีคนจำนวนไม่น้อยกลัวคำว่า ‘ผู้อพยพ’ กลัวคำว่า ‘ผู้ลี้ภัย’ หลายคนยังไม่เข้าใจว่าสองคำนี้แตกต่างกันอย่างไร ปูอยากจะให้ทุกคนลองเปิดใจ มองสาเหตุของปัญหา ทำความเข้าใจว่าเราจะสามารถปรับมุมมองอะไรได้บ้างโดยเริ่มต้นจากตัวเรา มองออกไปเกินเส้นพรมแดน มองเกินคำว่า สีผิว ภาษา ศาสนา และความเชื่อทางการเมือง โดยมองเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง
ประเด็นผู้ลี้ภัยนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัว ไม่ใช่แค่เรื่องของตัวเลขเชิงสถิติ ผู้ลี้ภัยในบางเคสเกิดขึ้นเพราะความขัดแย้งภายในประเทศ คนไทยมักจะมองว่า เรื่องแบบนี้อาจจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้กับเรา ปูก็หวังและเชื่อว่าจะเป็นอย่างนั้น แต่ปูก็เชื่อว่าชาวซีเรีย ชาวโรฮีนจาเองก็คงเคยคิดเหมือนกันว่า เขาไม่มีทางที่จะเป็นผู้ลี้ภัย ถ้าเรามองว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องไกลตัว วันหนึ่งถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับเรา และไม่มีประเทศไหนรู้สึกที่อยากจะช่วยเหลือเรา ในวันนั้นเราจะทำอย่างไร ปูไม่ได้กำลังจะบอกว่า คนไทยจะต้องออฟเฟอร์ทุกอย่างในการช่วยเหลือ แต่สิ่งแรกที่ปูต้องการจากคนไทยทุกคน คือ การลองเปิดใจและปรับเปลี่ยนทัศนคติเชิงลบที่มีต่อพวกเขา
ปัญหาที่สำคัญในเวลานี้คือ คนเรามักเลือกที่จะใช้อารมณ์และความรุนแรง ทัศนคติของคุณจะไม่มีคุณค่าเลย ถ้าทัศนคตินั้นสร้างความรุนแรง ปูอยากจะได้ยินทัศนคติของคนที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกที่มีผลกระทบต่อสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่หายากมากในสังคมยุคนี้ ปูอยากจะให้คนไทยอย่าใช้ความโกรธในสถานการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะเวลาใช้สื่อโซเชียล ความโกรธเหล่านั้นไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก แต่ถ้าคุณรู้สึกว่า สิ่งนี้ไม่ถูกต้องจริงๆ คุณควรจะเริ่มต้นลงมือ ทำเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านั้น
เราจะเริ่มต้นช่วยเหลือผู้ลี้ภัยเหล่านี้ได้อย่างไร
ไม่ยากเลยค่ะ ปูเข้าไปที่ Contact Us และส่งอีเมลถึง UNHCR ว่า เราอยากจะช่วยเหลือการทำงานของพวกเขา เราอยู่ในยุคโซเชียลออนไลน์ที่เราสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ด้วยการคลิกหรือปลายนิ้วสัมผัสเพียงไม่กี่ครั้ง สิ่งแรกที่คุณจะต้องทำก็คือ เรียนรู้สิ่งที่คุณอยากจะช่วย อาจจะไม่ใช่แค่ประเด็นผู้ลี้ภัย อาจจะเป็นประเด็นเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน การศึกษาภายในประเทศ เด็กยากจน น้องสุนัขจรจัด ประเด็นต่างๆ ที่คุณสนใจ เรียนรู้ว่าปัญหาเหล่านั้นเกิดขึ้นได้อย่างไรในสังคม พอเรียนรู้แล้วและมีความรู้สึกในใจว่า ฉันอยากจะช่วย อยากจะลงมือทำจริงๆ ลองพิจารณาดูว่า เราสามารถช่วยเหลือพวกเขาด้วยวิธีการไหนได้บ้าง ซึ่งอาจจะนอกเหนือจากการบริจาคเงิน ลองติดต่อสอบถามพวกเขา ปูเชื่อว่าทุกองค์กร ทุกหน่วยงาน ทุกรัฐบาลต้องการความช่วยเหลือจากพวกเราทุกคน
วิกฤตผู้ลี้ภัยเป็นประเด็นที่ต้องเยียวยาแก้ไขในระยะยาว เพราะพวกเขาอาจจะต้องอยู่ในสถานะของผู้ลี้ภัยไปอีก 30 ปี ซึ่งก็เกือบจะครึ่งชีวิตของพวกเขาแล้ว เด็กที่เกิดในค่ายก็อาจถือได้ว่าเป็นผู้ลี้ภัยทั้งชีวิต นี่คือคำตอบของคำถามว่า ทำไมปูและ UNHCR ถึงเป็นกระบอกเสียงเชิญชวนให้ทุกคนร่วมช่วยเหลือร่วมกันบริจาคมาโดยตลอด
“อยากช่วยปูไหมคะ”
มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการให้ความช่วยเหลือ และบรรเทาวิกฤตด้านผู้ลี้ภัยกับ ปู ไปรยา ได้ที่: www.unhcr.org/thailand.html หรือร่วมปันน้ำใจผ่านช่องทาง www.unhcr.or.th/donate/namjaiforrefugees?hl=1
To Stand: #WithRefugees
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์